หากคุณรักที่จะหมุนตัวกลางฟลอร์ท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตา กิจกรรม ‘เต้นสวิง’ อาจเป็นรักแรกของคุณ
วันเสาร์ที่ผ่านมา กลุ่ม Bangkok Swing จัดอีเว้นต์ใหญ่ชื่อคึกคัก Diga Diga Doo เป็นครั้งที่ 2 โดยมีทั้งวงดนตรีสวิงแจ๊ส นักเต้นสวิงระดับโลกมาโชว์ ในงานสนุกสนานคึกคักไปด้วยนักเต้นที่แสนโปร ไปจนนักเต้นมือใหม่ กิจกรรมที่ดูย้อนยุค Old School แต่กลับมาบูมอีกครั้งในเวลาไม่กี่ปี ช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ๆให้ผู้คนทุกวัยปลดปล่อยตัวตนไปตามเสียงดนตรีและการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสนุกสนาน
แม้ดูเหมือนการเต้นจะใช้พลังร่างกายสูง แต่สมองของมนุษย์ก็ทำงานอย่างคึกคักไม่แพ้กัน (บางครั้งอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ) เมื่อดนตรีและการเคลื่อนไหวมีความหมาย วิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยงเหล่านี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คุณยากจะหักห้ามใจเมื่อดนตรีที่คุณชื่นชอบบรรเลง พร้อมๆ กับคู่เต้นที่ถูกจริตอยู่ข้างกาย
Power of Music
อิทธิพลของดนตรีส่งผลต่อสมอง จังหวะดนตรีที่คึกคักสนุกสนานกระตุ้นสมองส่วนการให้รางวัลบริเวณ Orbitofrontal cortex ที่มักควบคุมพฤติกรรมและการแสดงออกทางอารมณ์ (ถ้าแหวกดู มันอยู่หลังดวงตานิดๆ) สมองส่วนนี้ทำงานพร้อมๆ กับสมองส่วนกลางที่ชื่อว่า ‘Ventral Striatum’ ดนตรีบีทดีๆ ทำให้สมองทั้ง 2 ส่วนทำงานอย่างเป็นจังหวะและกระตุ้นให้เราเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับท่วงทำนอง
Why it’s fun?
ตามธรรมชาติมนุษย์ฟังดนตรีในรูปแบบของจังหวะ (Rhythmic) เมื่อเราเคลื่อนไหวพร้อมกับจังหวะที่ลงตัว เช่น โยกย้ายและออกสเต็ปก้าวตามจังหวะ สมองจะเชื่อมโยงไปยังส่วนให้รางวัล (Reward area) และส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย (Motor Area) เมื่อจังหวะดนตรีและการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ในระนาบเดียวกัน เข้ากันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย พวกเรามักรู้สึกเบิกบานใจจากการเข้าจังหวะ ‘ฮอร์โมนเอ็นโดฟีน’ จะหลั่งออกมาเพื่อมอบประสบการณ์อันพึงพอใจทุกๆ ครั้งที่คุณทำมันสำเร็จ
Join Us
ปกติแล้วเวลาเราเห็นคนอื่นเต้น พวกเราก็อยากร่วมด้วย อันเป็นผลของเซลล์ในสมองที่ชื่อว่า ‘นิวรอนกระจกเงา’ (Mirror neurons) พบได้ในสมองส่วน Cortex แกนกลางประมวลผล ที่ถูกกระตุ้นเมื่อคุณเห็นคนอื่นๆ กำลังสวิงอย่างสนุกสนาน มันทำหน้าที่คล้ายกระจกเงาสมชื่อ พวกเราจึงพยายามเต้นพร้อมๆ กันโดยไม่ทันตั้งตัว ‘นิวรอนกระจกเงา’ นี่เองที่มนุษย์พยายามเรียนรู้และถ่ายทอดจากประสบการณ์ผู้อื่น และเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของ Community
หรือแม้กระทั่งคุณได้เห็นนักเต้นมืออาชีพโชว์ลีลาสวิงเด็ดๆ จนต้องร้อง “ว้าว” เพราะ สมองไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าพวกเขาจะแสดงท่วงท่าอันเหลือเชื่ออะไรตามมาอีก ความ Surprise จึงเป็นอาหารชั้นดีที่สมองคุณเรียกร้องอยู่เสมอ
การเต้นทำให้เราผูกพันกัน
ไม่มีอะไรเป็นสากลโลกอีกแล้วที่ดึงดูดร่างกายให้เป็นส่วนหนึ่งของเสียงเพลง มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การเต้นแบบคู่ หรือหมู่คณะ กระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมที่แน่นแฟ้น แต่นักวิจัยสายสังคมมองไปอีกมิติว่า แท้จริงแล้วมนุษย์พยายามลบตัวตนเดิมเพื่อให้แนบสนิทไปกับกลุ่มทางสังคมที่เขาปรารถนา และเต้นกับผู้อื่นๆ ก็เป็นกลยุทธ์ที่เราอยากให้กลุ่มยอมรับ
ส่วนนักวิจัยกลุ่มชีวเคมีก็แย้งว่า การเต้นนั้นทำให้คุณปลดปล่อยฮอร์โมนต่างหาก เราอยู่ภายใต้อิทธิพลของเคมี เหมือนกิจกรรมออกกำลังกายอื่นๆ โมเลกุลของฮอร์โมนเหล่านี้ทำให้เกิด ‘Bonding Effect’ กระตุ้นให้เราออกจากโลกส่วนตัวและสานสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในกลุ่ม
แต่ไม่ว่าจะจับด้วยทฤษฎีไหน ก็ถูกหมด การเต้นทำให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น
Bronwyn Tarr นักจิตวิทยา (และเป็นนักเต้นด้วย) จากมหาวิทยาลัย Oxford เกณฑ์วัยรุ่นจากโรงเรียนมัธยมในบราซิล มาร่วมเต้นรำด้วยเพลงคึกๆ ที่ความเร็ว 130 บีทต่อนาที พบว่าผู้ร่วมกิจกรรมที่เต้นตามจังหวะและออกสเต็ปพร้อมๆ กับคนอื่น รู้สึกว่าตัวเองสนิทกับคู่เต้นมากขึ้นโดยใช้เวลาอันสั้น
และการเต้นก็ยังใช้เป็นเครื่องมือในการเยียวยาความเจ็บปวด ในวารสารวิชาการ Biology Letters ตีพิมพ์ในปี 2015 พบว่านักเต้นมีความอดทนต่อความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น นักบำบัดยังเห็นโอกาสอีกมากจากการใช้การเต้นช่วยเยียวยาบาดแผลอันเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจของคนไข้ เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่า การเต้นเพิ่มความฟิตให้กับร่างกาย ลดภาวะเครียด และเสริมสร้างความนับถือตนเอง
ในกรณีผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน การเต้นช้าๆ ช่วยลดความซึมเศร้าจากการบำบัดขั้นพื้นฐาน การเต้นจึงเป็นมากกว่าการสันทนาการ แต่มันสามารถเยียวยามนุษย์ได้เลยทีเดียว
Cover Photo by Leica Thailand