เขาว่าการศึกษาคือการลงทุน และการลงทุนก็อาจทำให้คุณเป็นหนี้! แน่ล่ะ หนังสือเรียนในระดับมหาวิทยาลัยยุคนี้อาจทำให้คุณกระเป๋าแห้ง ทุนการศึกษาเกือบครึ่งต้องแบ่งไปเป็นค่าหนังสือเรียนทุกๆเทอม อย่างนั้นนักศึกษาต้องเป็นผู้แบกรับภาระทั้งหมดงั้นหรือ?
ระบบการศึกษาควรช่วยเหลือพวกเขาอย่างไรบ้าง และความก้าวหน้าของ Open Information จะลดภาระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาองค์ความรู้ได้หรือเปล่า? เรากำลังเรียกร้องให้มี Open Educational Resources อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเพื่อนักเรียนกระเป๋าหนักหรือกระเป๋าแบนก็ตาม
กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง อาจารย์ยังซ้ำเติมอีก
จำวันแรกที่คุณต้องเข้าเรียนเปิด Sec ของแต่ละวิชาในรั้วมหาวิทยาลัยได้ไหม อาจารย์แต่ละท่านจะเริ่มพิธีกรรมเดิมๆ โดยการร่ายมนต์คาถาด้วยแผนการสอน หรือที่เรียกว่า Course Syllabus ที่ฟังแล้วน่าง่วงนอน สะกดวิญญาณว่านักศึกษาควรรู้อะไรบ้างจากวิชานี้ และการสอบเก็บคะแนนกลางภาคและปลายภาคจะเป็นอย่างไร (ที่สำคัญคือเช็กชื่อด้วยไหม? จะได้ไม่เข้า)
จากนั้นฝันร้ายของคนเบี้ยน้อยหอยน้อยก็เป็นจริง เมื่ออาจารย์โชว์รายชื่อหนังสือที่เหล่านักศึกษาจำเป็นต้องไปอ่านเพิ่มเติมยาวเป็นหางว่าว (ซึ่งส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษ ที่พวกเราเรียกติดปากว่า Textbook) คุณเห็นรายชื่อหนังสือก็ต้องตาโตเท่าไข่ห่าน โอ้แม้เจ้า! หนังสือ Public Finance : A normative Theory ราคาเล่มละห้าพันกว่าบาท แค่เล่มเดียวคุณอาจต้องกินมาม่ายำปลากระป๋องไปถึงศตวรรษหน้าเลย หนังสืออ้างอิงเหล่านี้ราคาแพงหูดับตับไหม้ ถึงแม้จะไปขอถ่ายเอกสารก็ยังหนาเป็นร้อยๆ หน้า เหงือกแห้งอยู่ดี จะไปยืมในห้องสมุดก็ต้องแย่งชิงกับสหายร่วมชะตากรรมอีกนับร้อย ทั้งๆ ที่ในห้องสมุดมีสำรองเพียงไม่กี่เล่ม หรือตีสนิทรุ่นพี่ดี? เพื่อขอมรดกตกทอดจากสายรหัส เย็นนี้เข้าเน็ตซื้อหนังสือมือสองต่อจากคนอื่นก็ได้ แต่ไม่ว่าวิธีไหนมันก็จำเป็นต้องใช้เงินอยู่ดี
จะหัวเราะเยาะตัวเองแล้วกลืนน้ำตา “ไม่อ่านหรอกเฟ้ย” ก็ทำไม่ได้ มันสวนทางกับความใฝ่ดีที่อยากหาความรู้ประเทืองปัญญา แต่ดูตัวเลขในบัญชีพลางคำนวณค่าหนังสือเรียนทั้งหมดที่เทอมนี้ต้องซื้อ โรคหัวใจก็กำเริบทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็น ท้ายสุดก็ต้องมานั่งช่างน้ำหนักกับตัวเอง “หรือมันต้องซื้อจริงๆ หว่า”
Textbook ที่แพงจนยากจะเอื้อม
หนังสือเรียนราคาสูงที่คุณต้องซื้อในแต่ละเทอม เมื่อคิดรวมๆ กันในแต่ละวิชาเผลอๆ เกือบครึ่งของทุนการศึกษาที่คุณได้รับ (ซึ่งมันน้อยอยู่แล้ว) ค่าเล่าเรียนในปัจจุบันถือว่าค่อนข้างแพงสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย นับเป็นอุปสรรคในการศึกษาที่น้อยคนจะบ่นออกมา อาจารย์หลายคนก็แนะนำหนังสือด้วยความเคยชินจนลืมไปว่าราคาแต่ละเล่มก็ไม่ใช่น้อยๆ
มีรายงานว่า ราคาหนังสือเรียนทั่วไปค่อนข้างสูง นักเรียนระดับปริญญาตรีต้องใช้เงินค่าหนังสือเฉลี่ย 1,200 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 42,000 บาทต่อปี) หรือ 40% ของค่าเล่าเรียนทั้งหมด แม้ค่าเล่าเรียนทั้งหมดได้เพิ่มขึ้นในรอบ 40 ปี แต่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของราคาหนังสือเรียนได้ เพราะราคาหนังสือเรียนเพิ่มขึ้นถึง 812% นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 โดยเฉพาะ 10-20 ปีที่ผ่านมา หนังสือวิชาเอกมีราคาเพิ่มขึ้นจนเห็นแล้วต้องปาดเหงื่อรัวๆ
มีงานวิจัยของ California State Auditor ปี 2008 ระบุว่ามหาวิทยาลัยแม้ในระดับชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีนโยบายในการลดราคาหนังสืออย่างจริงๆ จังๆ อย่างแจ๋วที่สุดก็คือการให้ส่วนลดแบบเปอร์เซ็นต์ และไม่มีกระบวนการทำความเข้าใจเลยว่า ภาระค่าหนังสือจะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของนักศึกษาอย่างไร อาจารย์บางท่านที่ทราบถึงข้อจำกัดเหล่านี้จึงเลี่ยงไปแนะนำหนังสืออื่นที่ถูกลงกว่าเดิม หรือไม่ก็อนุเคราะห์เงินของตัวเองให้นักศึกษาถ่ายเอกสารกันเป็นทอดๆ แต่การเรียนภายใต้บรรยากาศจำกัดจำเขี่ยมันก็น่าอดสูอยู่ไม่น้อย
ยินดีด้วยหากคุณกำลังเลือกเรียน 5 สาขานี้ ซึ่งเป็นกลุ่มวิชาที่มีหนังสือเรียนแพงที่สุด นั่นคือ เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ และจิตวิทยา
ซึ่งวิชาเศรษฐศาสตร์เองมีราคาหนังสือบางเล่มตกอยู่ที่ 317 ดอลลาร์ หรือประมาณเกือบ 1 หมื่นบาทเลยทีเดียว เพื่อนคนไหนยืมไปแล้วทำหาย ต้องล้างแค้นด้วยการเอาดาบซามูไรไปไล่ฟันริมชายหาดกันทีเดียว (แค้นกว่าเรื่อง ‘ล่า’ อีก)
คนเขียนหนังสือก็ต้องได้เงินสิ ก็คุณอ่านของเขานี้?
มีการถกเถียงอย่าเผ็ดร้อนถึงความสมเหตุสมผลของราคา Textbook ซึ่งมีผู้ชี้ประเด็นว่าหนังสือในแวดวงวิชาการโดยเฉพาะงานที่มาจากการทำวิจัย กำลังสร้างกำแพงสูงกีดกันคนอื่นๆ แท้จริงแล้วมันก็มาจากงานวิจัยที่รัฐเป็นผู้สนับสนุนมิใช่หรือ ไม่ก็จากงบประมาณสาธารณะ ซึ่งมันก็ควรจะ ‘ฟรี’ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ เหมือนอย่างองค์กร Public Library of Science (PLOS) ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อบริการสาธารณะทางด้านวิชาการ แต่มันก็ไม่ใช่ทุกกรณี เพราะสถาบันและสำนักพิมพ์ก็จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนการผลิตเองอยู่ดี
และหนังสือในหมวด STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ก็ล้วนมีพื้นฐานมาจากงานวิจัยที่สาธารณะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนทุนวิจัยกอปรเป็นองค์ความรู้ชุดหนึ่งกว่าศตวรรษ มันก็เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่จะเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาสู่มือคนรุ่นใหม่ๆในราคาที่สูงกว่าเก่า
จากสถิติที่ Forbes.com เคยนำเสนอในปี 2013 พบว่า หนี้การศึกษาของนักเรียนในสหรัฐสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ กำลังสร้างปัญหาในการพัฒนาสังคมเรียนรู้ของชาติ นักศึกษา 7 ใน 10 ต้องกู้ยืมเรียนอย่างไม่มีทางเลือก เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 25,000 เหรียญ ( 880,000 บาทต่อหัว) โดยภาระหนี้หนังสือเรียนสร้างปัญหาให้กับนักเรียนงบน้อยที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ
ใฝ่เรียน แต่งบน้อย หนังสือฟรีๆ เป็นไปได้ไหม?
ปัญหาราคาหนังสือเรียนแพงเป็นประเด็นจำเป็นที่ระบบการศึกษาในแต่ละประเทศต้องรีบพิจารณาโดยด่วน ถึงแม้เราจะมีงานวิชาการระดับคุณภาพชนิดขึ้นแท่นเชิดชูบูชา แต่มันจะไม่มีประโยชน์เลยเมื่อไม่มีคนรุ่นใหม่ๆ นำองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ ในรัฐสภาของอเมริกามีวาระสำคัญชื่อว่า Affordable College Textbook Act เป็นร่างกฎหมายที่พยายามควบคุมให้หนังสือวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยถูกลงในระดับนักเรียนพอยอมรับได้ และเปิดทรัพยากรข้อมูลวิชาการทั้งหมดต่อสาธารณะ โดยไม่มีการเรียกเก็บเงิน หรือที่เรียกกันว่า ‘คลังจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศแบบเปิด’ (Open Education Resources : OER) โดยใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ต
OER ช่วยเป็นสะพานให้นักเรียนและผู้พิการเข้าถึงองค์ความรู้ที่กว้างกว่าเดิม และหลากหลาย Format มากขึ้น หนึ่งในหลายหน่วยงานที่ผลักดันเรื่องนี้และได้รับการชื่นชมว่าเป็นหัวหอกที่ดีคือ Bookshare.org ห้องสมุดออนไลน์ที่มีหนังสือกว่า 470,000 เล่ม ให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยมีองค์กรไม่แสวงหากำไร Benetech เป็นผู้ดูแลหลักของโครงการ
การเรียนรู้ในยุคนี้เติบโตขึ้นจากระบบ Cloud ที่ลดความซับซ้อนลง และระบบเน็ตเวิร์คที่เชื่อมโยงกัน ทำให้การแชร์องค์ความรู้ไม่มีขีดจำกัด กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หนังสือที่ค่าใช้จ่ายต่ำ เชื้อเชิญให้ทุกคนเข้าถึงมันได้ง่ายขึ้น
OER เริ่มมีความเป็น Mainstream ในวงการศึกษาที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่เพราะมันฟรี แต่มันมอบอิสรภาพให้กับนักเรียน และช่วยส่งเสริมให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการศึกษา
อย่างในประเทศไทย ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นว่าโครงการ OER ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชน สามารถสร้างผลกระทบวงกว้างให้กับวงการการศึกษาไทย โดยศูนย์สารนิเทศฯ มีทรัพยากรสารนิเทศหลากหลาย เช่น หนังสือ วิทยานิพนธ์ งานวิจัย วารสาร ซึ่งผู้สนใจสามารถนำข้อมูลจากสื่อเหล่านี้ไปต่อยอดได้ โดยหน่วยงานเจ้าของข้อมูลที่เข้าร่วมโครงการอนุญาตให้เปิดเผยต่อสาธารณะ และให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ (เพียงมีระเบียบมิให้เผยแพร่ในเชิงการค้า) แม้จะอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่ม แต่นับเป็นว่าปรับตัวให้เข้ากับความใจกว้างของการเรียนรู้ที่หลายองค์กรควรขยับตาม
แต่ที่ตลกและประชดประชันไม่น้อย คือ สายวิชาการ STEM วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เองกลับกลายเป็นสายวิชาที่หวงข้อมูลเป็นที่สุด และไม่ยอมปล่อยองค์ความรู้สู่ Open source ให้ง่ายๆ
วิธีการแชร์ความรู้ให้คนรุ่นหลังมันเปลี่ยนไปแล้ว หากเราต้องการให้พวกเขาประสบความสำเร็จ เราจึงต้องเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ที่พวกเขาเข้าถึง หนังสือฟรีช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าของหนังสือที่ไม่ได้มาจากตัวเงินที่เสียไป แต่จากความรู้ที่เขาต้องใช้เพื่อก้าวไปข้างหน้า
หนังสือเรียนควรเป็นมิตรกับพวกเรากว่านี้ มันควรจับต้องได้
องค์ความรู้ที่ไม่มีใครจับต้องได้เลย มันจะอยู่อย่างไม่คงทน และค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา
อ้างอิงข้อมูลจาก