หนังสือเรียนมักจะดูธรรมดาๆ แต่วันนี้หนังสือเรียนสายวิทย์เรากำลังถูกออกแบบให้สวยขึ้น สนุกขึ้น เหมาะกับผู้ใช้ และชวนเด็กๆ ให้ซุกซนมากขึ้น ด้วยฝีมือของสตูดิโอออกแบบแนวหน้าของเมืองไทย
สสวท. องค์กรสำคัญในการพัฒนาวงการศึกษาวิทยาศาสตร์ตัดสินใจจับมือกับสตูดิโอชื่อยาว Pink Blue Black & Orange หนึ่งในสตูดิโอกราฟิกชั้นนำของเมืองไทย ร่วมออกแบบระบบแนวทางทางภาพให้กับหนังสือเรียน เป็นการรวมพลังกันของสององค์กรจากโลกวิทย์กับโลกศิลปะเพื่อทำ ‘หนังสือเรียนให้เป็นหนังสือดี’
‘สยาม อัตตะริยะ’ นักออกแบบกราฟิกชั้นนำของเมืองไทย ปัจจุบันเป็นหัวเรือของบริษัท Pink Blue Black & Orange คาแรคเตอร์พิเศษของพี่สยามที่ปรากฏในงานออกแบบเสมอคือความสนุกสนานและความฉูดฉาดที่มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรง โปรเจกต์ร่วมกับ สสวท. นี้ทางสตูดิโอรับหน้าที่ออกแบบวางระบบในทางภาพ (visual design) เช่น วางสไตล์ วางระบบฟอนต์ และการจัดเลย์เอาท์ ให้กับหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในสี่วิชาหลักของ สสวท. ปัจจุบันมีการใช้ในหนังสือเรียนชั้น ป.1 ป.4 ม.1 ม.4 เรียบร้อยแล้ว
เมื่อนักออกแบบที่บอกว่างานออกแบบไม่ใช่แค่เพื่อความสวย และเด็กไทยซนน้อยไปหน่อย มาร่วมออกแบบหนังสือ ในที่สุดแล้วงานออกแบบ งานภาพ จะทำหนังสือเรียนให้กลายเป็นหนังดีๆ ได้อย่างไร ‘ภาพ’ และแง่มุมทางศิลปะในหนังสือเรียนวิทย์ๆ ความสนุกและงานออกแบบจะช่วยทำให้วิชาขมๆ น่ากลัวน้อยลงได้จริงไหม
The MATTER : ตีโจทย์ในการออกแบบหนังสือเรียนอย่างไร
สยาม : เราไม่เคยมองว่าการออกแบบเป็นการทำอะไรให้มันดูเรียบร้อยสวยงามอย่างเดียว การออกแบบเป็นกระบวนการที่เราจะเข้าไปจัดการเงื่อนไขต่างๆ ภายใต้ข้อจำกัด เราคาดหวังผลบางอย่างจากสิ่งที่เราทำ ส่วนมากเป็นเรื่องฟังก์ชั่น เป้าสำคัญของเราคือเราอยากเข้าไปแตะถึงระดับอารมณ์ความรู้สึกของคน เราอยากทำอะไรที่มีความหมาย พอเรามานั่งดูว่าหนังสือเรียนมันมีคุณค่า มีความหมายกับใคร เราก็พบว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของระบบการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศเรา
เรามองว่าเราสามารถใช้งานออกแบบสร้างหรือหล่อหลอมให้คนที่อ่านหรือเห็นหนังสือเล่มนี้มีคุณสมบัติบางอย่างได้ไหม เช่น ทำให้รู้สึกว่ามีความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของคนทุกคน ตัวเองมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ พัฒนาตัวเองได้ แม้ว่าตัวคนนั้นอาจจะไม่ถนัดการเรียน สมมติว่ามีองค์ประกอบอะไรบางอย่าง เช่นภาพประกอบอาจทำให้คนนั้นค้นพบความสามารถในการคิด ในการตั้งคำถาม ในการสังเกต หรือ ในทางศิลปะ เช่นว่าภาพประกอบไปสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากวาดรูป แบบนี้เราก็ถือว่างานออกแบบเรามันมีค่า มันไม่ได้ให้ข้อมูลเฉยๆ
เราเลยพยายามตั้งเงื่อนไขในการออกแบบ หลักๆ แล้วก็ทำให้รู้สึกว่ามันง่าย รู้สึกว่ามันเป็นของเขา ไม่ได้รู้สึกว่ามันสูงส่ง ไม่ใช่ผู้ใหญ่น่ากลัว ไม่เห็นแล้วรู้สึกว่าเราไม่มีปัญญาจะรู้เรื่องหรอก ให้ไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด ในแง่ของความรู้สึก หนังสือเรียนรุ่นมานะมานีมีผลสะเทือนกับชีวิตคนรุ่นผมมาก เราไม่ได้รู้สึกว่ามันคือหนังสือเรียน แต่เป็นหมือนเพื่อนเรา เราโตมาด้วยกัน เราผ่านเรื่องราวต่างๆ มาด้วยกัน เราอยากให้มีในหนังสือคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นไปได้ เป้าหมายคือแบบนั้น
The MATTER : ทำยังไงให้หนังสือเรียนไม่น่ากลัว
สยาม : ด้านหนึ่งอยู่ที่เนื้อหา ทาง สสวท. เองก็พยายามทำให้เชื่อมโยงกับชีวิต ในส่วนของภาพ เราคิดว่ามันควรจะเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับเขา เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันที่เขาเห็น เช่น หน้าปกวิชาเลขของชั้น ม.4 เราทำเรื่องเลขยกกำลัง เราทำเป็นรูปซอมบี้ เป็นการ์ตูนช่อง ช่องแรกมีซอมบี้หนึ่งตัว ต่อมามีสองตัว ต่อมามีสี่ตัว เพราะว่ามันกัดคน แล้วทวีขึ้นเป็นยกกำลัง จริงๆ มันเสี่ยงนะ ทั้งกับลูกค้าและกับเรา มันใช้เรื่องอื่นก็ได้ที่จะไม่ถูกตั้งคำถามแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าเราอยากจะทดลอง เพราะจริงๆ เด็กๆ หรือแม้แต่ลูกผมเองก็เล่นเกม ดูการ์ตูนมีซอมบี้ ซอมบี้ก็เป็นเหมือนเพื่อนเขาคนนึง แล้วเพื่อนเขาคนนี้ทำไมจะมาอยู่บนปกหนังสือเรียนไม่ได้ มากกว่าที่เราจะไปทำให้มันดูน่ากลัว มีแต่สมการ
The MATTER : งานออกแบบกับวงการวิทยาศาสตร์ดูไม่ค่อยได้ทำงานด้วยกันเท่าไหร่ พอต้องทำงานนี้เจอปัญหาบ้างไหม
สยาม : เราพยายามจะหาพวกด้วยการบอกว่ากระบวนการออกแบบของเรามันเป็นกระบวนการแบบวิทยาศาสตร์นะ
เริ่มต้นเราตั้งข้อสังเกต ตั้งสมมุติฐาน เกิดคำถาม หาข้อมูล แล้วเราก็มาทดลองหาความเป็นไปได้ต่างๆ พอเรามั่นใจแล้วเราก็ทดสอบด้วยการทำตัวต้นแบบ หนังสือเรียนที่ออกแบบขึ้นมา เราก็ส่งผ่านอาจารย์ไปให้เด็กๆ แล้วขอฟีดแบคกลับมา พอเราได้ผลมา เราก็มาพัฒนาจนค่อนข้างเข้าที่ เราถึงค่อยปล่อยออกไปใช้จริง ดังนั้นมันเลยไม่ใช่แบบที่ผมนิมิตไอ้นี่ขึ้นมา ทุกอย่างมันเป็นเหตุเป็นผล มันไม่มีอะไรเป็น subjective พอเราคุยกันในแง่ของ objective พอสิ่งที่เขาเห็นมันตอบสนองกับ objective หรือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ มันก็เลยคุยกันง่าย
เราในฐานะนักออกแบบเราก็มีกลยุทธ์เนอะ กลยุทธ์ที่จะทำยังไงให้ลูกค้ายอมรับเราก่อนที่จะไปถึงนักเรียนที่เป็นปลายทาง เราต้องทำให้คนอนุมัติที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นครู เป็นนักวิชาการ เข้าใจในเป้าประสงค์ของเราก่อน ให้เชื่อมั่น คล้อยตามเรา เพราะสิ่งที่เราทำมันก็เสี่ยง
The MATTER : หลังจากตัดสินใจเสี่ยงและงานออกแบบออกมาแล้ว ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง
สยาม : เราตั้งเป้าว่า เราอยากจะให้มันดูสนุก ดูง่าย ชวนเด็กๆ คิด เด็กๆ ตั้งคำถาม เวลาทำ เราก็ไม่ได้มองว่าเราทำหนังสือไทยหรือหนังสืออะไร คือเรามองว่าเราอยากทำหนังสือดีๆ ให้โลกใบนี้ พอเราไปดูกระทั่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มันไม่ค่อยมีหนังสือเรียนที่ปกและข้างในมันได้รับการออกแบบแบบหนังสือตามชั้นหนังสือเลย ดังนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่าเราทำหนังสือเรียน แต่เรากำลังทำหนังสือดีๆ ขึ้นมา อาจจะเป็นหนังสือนิทาน หนังสือเด็ก หรือแม็กกาซีนที่มันมีภาพประกอบที่ประณีต อันนี้คือมุมที่เราคิด
จากตรงนั้นจะมีการใช้ไวยากรณ์ทางภาพ งานภาพประกอบเด่นๆ บางครั้งมักจะมีการใส่ความคิด มีการเปรียบเปรย หรือมีความเหนือจริงที่บางทีนำเสนอเนื้อหาได้ดีกว่ารูปที่ตรงไปตรงมา เราคิดว่าวิธีแบบนี้มันทำงานเพราะมันกระตุ้นให้เราคิด ทำให้คนเติมเต็มจินตนาการที่ไม่สามารถเล่าได้ข้อความด้วยเยอะๆ ด้วยความที่รูปมันผิดปกติ มันทำให้คนคิดต่อแล้วเก็ตได้ เหมือนกับมันปิ๊งขึ้นมาในอีกสองวินาทีให้หลัง ไอ้การปิ๊งตรงนี้คือประสบการณ์ที่เขาเกิดปฏิกิริยากับสื่อหรือกับการสื่อสาร
ในขณะที่เป้าของอาจารย์อาจจะมองว่ามันคือภาพประกอบทางวิชาการ มันต้องการความถูกต้อง ต้องมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ เคร่งขรึม มีความสมจริง ตรงนี้ก็อาจจะมีช่องว่างที่กว้างพอสมควร เป้าของเราคือทำเพื่อเด็ก ให้นักเรียนรู้สึกว่ามันเป็นของเขา ซึ่งจะเป็นเกม การ์ตูน เป็นอะไรก็ได้ แต่ในมุมของอาจารย์ที่เห็นหนังสือเรียนแบบนี้มาตลอด อย่างที่บอกว่าเรารีเสิร์ชมา หนังสือทั้งโลกก็เป็นแบบนี้ ซึ่งก็ไม่ผิด
พอมุมมองต่างกันก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ มีทั้งอาจารย์ที่เชื่อในแนวทางเรา บางส่วนก็มีที่ไม่ยังมั่นใจ ผมคิดว่าก็ต้องใช้เวลา เพราะทุกคนเห็นแบบนี้มาทั้งชีวิต ผมเองมาทำเล่มนี้เล่มแรก แต่ทางอาจารย์เขาทำมาทั้งชีวิต ตรงนี้ต้องใช้เวลา
The MATTER : ที่บอกว่าหนังสือเรียนควรจะสวย แปลว่าศิลปะก็สำคัญกระทั่งในห้องเรียนวิทยาศาสตร์
สยาม : ในความคิดผมนะ ผมมองว่านักวิทยาศาสตร์หรือคนมีชื่อเสียง ทุกคนเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทุกคนต้องเคยโดนของตกใส่หัว คนไปนอนแช่น้ำทุกวัน แต่มีแค่นิวตัน มีแค่อาร์คิมิดีสที่ยูเรก้าขึ้นมา เพราะเขาเห็นความเชื่อมโยง เห็นความเป็นไปได้ สามารถมองภาพใหญ่เชื่อมเป็นภาพเล็ก แล้วเกิดเป็นเงื่อนไขหรืออะไรบางอย่างที่คิดขึ้นมา แสดงว่าต้องเป็นจินตนาการที่ทำให้ความรู้มันเชื่อมต่อเข้าหากัน เกิดเป็นทฤษฎีใหม่ หรือเกิดการนำไปใช้
ความรู้มันคือการเอาข้อมูลมากอง ถึงวันนึงเราต้องสามารถจัดชุดข้อมูลบางอย่างเพื่อใช้มันเอาตัวรอดได้ หนังสือเรียนมันควรท้าทายเด็กๆ รู้สึกอย่างนี้ เคยเป็นมั้ยเวลาเรียนในห้องแต่พอวันนึงเราต้องใช้มัน แล้วเราใช้มันได้ เช่นเราคำนวนเวลาเดินทางเวลานั่งรถไปกับพ่อแม่ พอคิดขึ้นมาได้พ่อแม่เรากรี๊ดเลย พอเราทำได้เรารู้สึกเหมือนค้นพบทฤษฎีใหม่ของโลกนี้ เราตัวใหญ่ขึ้นมาเลย
เราอยากให้มันมีโมเมนต์ยูเรก้านี้กับเด็กๆ ทุกคน ไม่ใช่ว่าเรียนๆ ไปแล้ว โอ้ย ตอบผิดอีกแล้ว ไม่ใช่ แต่มันน่าจะเป็นแบบ…เรียนไปแล้วเขาสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน เข้ากับชีวิตจริง กับชีวิตประจำวัน ตรงนี้มันน่าจะเป็นโมเมนต์ที่มีค่า เราคิดว่าเด็กทั่วๆ ไป ควรจะได้รับรางวัลนี้จากการทุ่มเทเวลาในห้องเรียน ไม่ใช่แค่กับเด็กหัวดีหรือเด็กที่พ่อแม่พาไปติวแล้วถึงจะรอด ได้เกรดสี่ไม่กี่คนในห้องถึงจะรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการเรียน แล้วคนที่เหลือมันโดนทิ้ง ผมไม่ชอบวิธีนั้น ผมชอบแค่ว่า ถ้าหนังสือสวยๆ ทำให้เขาอยากวาดรูปเล่นบ้าง เชื้อเชิญให้เขาทำอะไรบางอย่างกับมัน แค่นั้นผมก็ว่ามันก็ไม่เสียเปล่าแล้ว
The MATTER : ทาง Pink Blue Black & Orange ดูจะเป็นสตูดิโอซนๆ ได้ใช้ความซนใส่ลงไปในการออกแบบหนังสือเรียนด้วยรึเปล่า
สยาม : เราพยายามจะซน เรารู้สึกว่าเด็กไทยมันเรียบร้อยไปหน่อยในสายตาครู เด็กดีคือเด็กเรียบร้อย แต่พวกเรารู้สึกว่าธรรมชาติของเด็กมันต้องซน มันต้องรื้อของ แล้วตรงนี้แหละคือการเรียนรู้ คือเราไม่ได้ให้เด็กรื้อหนังสือนะ ภาพของเราก็จะมีรายละเอียดบางอย่างซุกซ่อนอยู่ ให้มันรู้สึกสนุก อย่างซอมบี้ที่อยู่บนปกก็มีอาจารย์บอกว่า “มีคนชมมาว่าซอมบี้ตัวนี้พออยู่ในช่องถัดไปมันเดินเปลี่ยนท่าด้วย เขาเห็นว่ามันคือซอมบี้ตัวเดียวกัน” ตอนเอาไปทดสอบเด็กๆ เขาก็เห็นนะ บางคนก็บอกว่าเจ๋ง บางคนก็บอกว่างั้นๆ ความคิดมันหลากหลายอยู่แล้ว ความต้องการนึงของผมคือการก่อให้เกิดบทสนทนา เช่นว่า ทำไมมันถึงได้ทำแบบนี้ แค่นี้เราว่ามันมีค่าแล้ว อ๋อ เพราะมันคือซอมบี้ เพราะนู่นเพราะนี่ ถูกไม่ถูกไม่รู้ ไม่มีใครไปตอบ แต่มันทำให้เขาต้องถกเถียงกับเพื่อน แล้วพวกนี้มันคือกระบวนการที่ความรู้และทฤษฎีหลายๆ อย่างเกิดขึ้นมา
The MATTER : แนวทางภาพที่ทางสตูดิโอทำออกมาค่อนข้างมีหลายสไตล์ ทำไมถึงเลือกวางแนวทางภาพที่หลากหลาย
สยาม : ภาพแต่ละภาพเป็นลายมือของคนวาดคนละคนกัน เราไม่อยากให้เด็กได้รับอิทธิพลแค่สไตล์ใดสไตล์หนึ่ง การที่เด็กได้เจอหลายๆ สไตล์ มันมีความเป็นไปได้หลายๆ ทาง มีทั้งแนวสมจริง บางอันอาจจะอยากเขียนให้เป็นสัญลักษณ์ อยากเขียนให้เหนือจริง มันมีแนวทางที่หลากหลาย เผื่อวันไหนที่เด็กจะต้องเขียนภาพเพื่อเล่าเรื่อง การเจอหลายๆ สไตล์ เด็กก็จะได้ไม่ได้ถูกจำกัดแค่เงื่อนไขหรือสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง เผื่อว่าเด็กอาจจะหาแนวทางของตัวเองเจอในที่สุด
The MATTER : ด้วยโจทย์ต้องออกแบบหนังสือให้เด็กครอบคลุมหลายช่วงวัย มีวิธีการออกแบบเฉพาะอย่างไร
สยาม : เราจะมีออกแบบที่หลากหลายตามไปอายุ ไปตามช่วงวัย เด็กเล็กถ้าตามอุดมคติเลยควรจะเรียนรู้จากของจริง จากธรรมชาติ พอเด็กอายุสูงขึ้นภาพก็จะค่อนข้างมีรายละเอียด มีความซับซ้อนมากขึ้น มีความเป็นกราฟิก หรือภาษามีความเป็นสัญลักษณ์มากขึ้น เพราะเด็กสามารถในการอ่านภาษามากขึ้น เป็นการจัดการภาพประกอบของเนื้อหาที่แปรไปตามอายุ
เราแบ่งช่วงอายุออกเป็นสี่ช่วงวัย ประถมต้น ประถมปลาย มัธยมต้น มัธยมปลาย จริงๆ อยากแบ่งเยอะกว่านี้แต่จะลำบากคนที่รับงานไปทำต่อ อย่างง่ายที่สุดก็เช่น ถ้าเด็กโตยังมีการใช้การ์ตูนแบบเด็กประถมอยู่ เราคิดว่าเขาถือก็คงเขิน ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับเขา
เด็กเล็กสุดเราอยากให้เรียนรู้จากความงาม เรารู้สึกว่าเขาควรมีโอกาสได้เห็นอะไรที่ประณีต มีรายละเอียดที่งดงาม หนังสือเด็กดีๆ ทั้งของไทยและของต่างชาติมันจะคราฟต์มาก รายละเอียดสีสันตระการตา เราก็อยากทำหนังสือเรียนให้เด็กเล็กเป็นแบบนั้น และเด็กเล็กจะค่อนข้างสนใจเรื่องสัตว์ ถ้าเราทำรูปหรือถ่ายทอดผ่านสัตว์ต่างๆ เด็กๆ ก็จะรู้สึกเข้าถึงได้ พอเริ่มโตรายละเอียดต่างๆ ก็อาจจะน้อยลง เริ่มมีความสนใจไปสู่เรื่องรอบตัว เรื่องอาชีพ เรื่องรถ เรื่องเมือง จากเด็กเล็กที่เน้นเรื่องตาเห็นจับต้องได้ พอเป็นเด็กโตเริ่มกลายเป็นอะไรที่ไกลออกไปหรือใกล้เข้ามา อาจจะพวกเซลล์ อะตอม หรืออาจเป็นเรื่องนอกจักรวาลไปเลย
The MATTER : หนังสือเรียนที่ได้รับการออกแบบแล้วจะช่วยให้วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นยาขมน้อยลงได้ไหม
สยาม : รูปแบบการเรียนในยุคนี้คือมันไม่ควรจะขมแหละ แค่เรากระตุ้นให้เขารู้สึกมีความสนใจอยากรู้ที่เหลือเขารู้เองได้ มันมีทุกอย่างในอินเทอร์เน็ต ถ้าเรายังทำในแบบสมัยก่อนอีก เขียนให้มันยากเข้าไว้ ให้ซับซ้อนเข้าไว้ ยังไงก็ขม ไม่ว่าจะออกแบบดีแค่ไหน เนื้อหาดีแค่ไหน ทุกอย่างมันไม่เปิดรับเขาเลย มันกันทุกคนออกไปหมดเลย
แต่อย่างกรณีที่เรากำลังทำกันอยู่ ทั้งที่ สสวท. ทำและการออกแบบรูปเล่มเอง ทุกคนมองว่ามันควรจะง่าย ควรจะเป็นของทุกคน เพราะข้อจำกัดของบ้านเรา ครูหลายๆ คนโดยเฉพาะที่ห่างไกล ไม่ได้จบสายวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์โดยตรง ฉะนั้น ถ้าหนังสือเรียน แบบเรียน คู่มือครู ไม่ช่วยครูแล้ว ครูยังไม่รอด เด็กจะรอดได้ยังไง หนังสือก็ต้องเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ครูสามารถจัดการกับเนื้อหาได้ สามารถวางแผนการสอน เพื่อประเมิน เพื่อเรียบเรียงการสอน สร้างสื่อที่เหมาะ หรือจัดกิจกรรมไปดูของจริง ไปดูใบไม้ ถ้าหนังสือเรียนเป็นกันเองกับคนในทุกระดับ มันก็จะเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเรียนไปเลย เรารู้สึกว่าจะเป็นการเรียนในห้อง เรียนนอกห้อง อ่านหนังสือหรือไม่อ่าน มันไม่มีผล เพราะได้สร้างคุณสมบัติบางอย่างไปในตัวเด็กแล้ว ให้เขาเป็นคนที่อยากเรียนรู้กระหายความรู้
The MATTER : ในฐานะพ่อและนักออกแบบ อยากออกแบบห้องเรียนแบบไหน
สยาม : ใจเราคิดว่า มันควรจะเริ่มที่ตัวเขา ว่าเขาอยากจะรู้อะไร หรืออยากจะทำอะไร ตรงนี้เหมือนตัวเขา commit เองแหละว่าเขาอยากจะทำ ดังนั้นไม่ว่ามันจะยาก ไม่ว่ามันจะซับซ้อน ขอแค่ทุกคนมาช่วยกันประคับประคองหรือหยิบยื่นเครื่องมือบางอย่างเพื่อให้เขาสามารถแสวงหาและค้นพบมันได้ด้วยตัวเอง
เราควรมองเด็กเป็นคนๆ ไป อย่างที่เราบอกว่าเด็กแต่ละคนเป็นเมล็ดพันธุ์ บางคนเป็นไม้ล้มลุก บางคนเป็นไม้ยืนต้น บางคนเป็นไม้ดอก บางคนเป็นผัก แต่เรากลับไปเร่งให้เขาอยู่ในห้องเดียวกัน ให้โตพร้อมกัน ให้บานพร้อมกัน ออกลูกเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้ไง เราคิดว่ามันก็จะต้องมีวิธีที่จะเลี้ยงดูบางอย่าง ปุ๋ยก็ควรจะต้องคนละชนิดกัน คนไหนต้องโดนแดดจะมาขังไว้ในห้องคงไม่ได้ ต้องให้เขาไปโดนแดด คนไหนต้องการน้ำเยอะหรือแร่ธาตุแบบไหน ก็ควรจะต้องให้แบบที่เหมาะกับเขา แล้วผมมองว่าเมื่อถึงเวลาบานมันก็ต้องบาน มันบังคับไม่ได้อยู่แล้ว
ฉะนั้น ก็แค่หาให้เจอว่าตัวเขาเหมาะอะไร แล้วก็จัดสิ่งแวดล้อม ไม่เหมาะกับกระถางก็ต้องเอาไปไว้ในป่า ก็ต้องให้เขาไปอยู่ในป่า ไม่ใช่เอาเขามาขังไว้ในนี้
The MATTER : นอกจากเรื่องภาพแล้ว ทางสตูดิโอยังออกแบบถึงระบบ เช่นเรื่องฟอนต์ด้วย
สยาม : เราออกแบบจนถึงตัวฟอนต์ที่ใช้ ชั้นเด็กเล็กเราก็ทำฟอนต์ลายมือให้ เป็นฟอนต์สำหรับดิสเพลย์ เพื่อทำเป็นพวกหัวข้อ ทำให้เขารู้สึกว่า เด็กๆ เขาเขียนลายมือ มันก็ไม่ค่อย formal หรือเป็นระเบียบอะไรนักหรอก เราก็เห็นว่ามันเป็นแรงบันดาลใจให้เขารู้สึก ท้าทายให้เขาเขียน ฝึกเขียนมากขึ้น แล้วมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ลายมือจะไม่สมบูรณ์แบบเหมือนตัวพิมพ์ เลยจัดฟอนต์ลายมือเป็นเฮดไลน์ของเด็กเล็ก
เรามีเรื่องขนาดที่เราจะมีการกำหนด มีตารางของขนาด เราก็ต้องเทสต์ดูว่าเด็กเล็กต้องใช้ฟอนต์ที่ใหญ่หน่อย ก็เลยทำฟอนต์ที่ใหญ่กว่าเพื่อให้เด็กอ่านได้ชัดเจน พอเด็กที่มีอายุมากขึ้นก็ใช้ฟอนต์เล็กลง ก่อนที่อาจารย์จะเอาไปเทสต์อีกรอบว่าเด็กอ่านได้ไหม เราเลยมีการวางระบบว่าแต่ละชั้นปีต้องใช้ฟอนต์เท่าไหร่ บางทีตัวเลขมันใหญ่ ภาษาไทยมันเล็ก ก็ต้องกลับไปแก้ที่ตัวฟอนต์อีกที มันเป็นกระบวนการที่เราพัฒนากลับไปกลับมากับผู้ใช้จริงๆ ในการวางระบบ เราก็วางกระทั่งเช่นระยะบรรทัด เช่นถ้าใช้ฟอนต์ขนาดนี้ ระยะบรรทัดควรเป็นเท่าไหร่ถึงจะพอดี
เราทำถึงขนาดว่าปกติอาจารย์เขียนคอนเทนต์ใน Word เราก็ไปทำเทมเพลตเหมือนเป็นอินดีไซน์ที่จัดหน้าแล้ว เหมือนอาจารย์เป็นคนวางเลย์เอาท์คร่าวๆ ไว้เลย เพื่อจะได้ทราบว่าเนื้อหามันยาวไปหรือสั้นไปให้สอดคล้องกับตำแหน่งที่จะต้องวางรูป เพราะบางครั้งคนออกแบบไม่เข้าใจความสำคัญของรูปที่จะต้องอยู่กับเนื้อหา ถ้าอาจารย์เขียนเนื้อหายาวไปแล้วพบว่ามันต้องมีรูปตรงนี้ อาจารย์จะต้องรีไรต์เนื้อหาของตัวเองเพื่อให้ได้กับตำแหน่งวางรูป เพราะฉะนั้นอาจารย์จะเป็นคนเห็นโครงภาพของหนังสือเรียนคร่าวๆ ก่อนที่จะมีการตกแต่งในรายละเอียดอื่นๆ ตรงนี้ทำให้ย่นระยะในการจัดการ จากผู้เขียนเนื้อหาไปถึงผู้ออกแบบจัดหน้ารูปเล่ม คนจัดหน้าก็จะไปทำในเชิงเทคนิคที่อาจารย์ทำไม่ได้ต่อไป แต่ถ้าอะไรที่อาจารย์ทำได้ก็จะได้จัดการได้ตั้งแต่ต้นทางคือตั้งแต่ตอนเขียนเนื้อหา
คือเรามองว่างานออกแบบมันเข้าไปช่วยกระบวนการทำงานมากกว่าแค่คอสเมติกจริงๆ เรามองว่างานออกแบบมันต้องทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เราคิดว่ามันควรจะเป็นแบบนั้น
ขอขอบคุณ