ดัชนีตลาดหุ้นที่พุ่งทะลุ 1,800 จุด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึง ‘ข่าวใหญ่’ ที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว
ข่าวที่ว่าก็คือข่าวคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศก้องออกมาว่า – จะทำให้คนจนหมดประเทศไทย!
ข่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว คือการที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศไว้ในงานสัมมนา Thailnad 2018 บอกว่าปี 2018 นี้ จะเป็นปีที่เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ของประเทศไทย โดยประโยคที่ถูกสื่อนำไปประโคมโหมข่าวมากที่สุด ก็คือประโยคที่ว่า – ปี 2018 นี้ รัฐบาลจะทำให้ ‘คนจนหมดประเทศ’ ทำให้คนเอาไปล้อกันขำๆ ว่าประโยคนี้หมายถึง ‘คนจน’ หมดไปจากประเทศ หรือ ‘คน’ จะ ‘จนหมดทั้งประเทศ’ กันแน่
แต่ – เพื่อความยุติธรรม, ต้องบอกว่าจริงๆ คุณสมคิดไม่ได้พูดออกมาแบบนี้นะครับ คุณสมคิดพูดว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยตั้งเป้าให้คนไทยพ้นจากความยากจนในปีหน้าต่างหาก ซึ่งก็มีรายละเอียดต่างๆ แต่สรุปความพอได้ว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาโดยใช้นโยบาย ‘ประชารัฐ’ รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ และปลดล็อกเงินท้องถิ่นสองแสนล้านบาท ฯลฯ ดังที่หลายคนคงได้ยินรายละเอียดกันไปบ้างแล้ว
แล้วพอย่างเท้าเข้าปีหมา ปรากฏว่าดัชนีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นสุดตัว แถมยังมีตัวเลขเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะตัวเลข GDP ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (หรือ สศช.) ที่ดูดีเอามากๆ มาประกอบอีก โดย สศช. บอกว่าไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว GDP ของเราพุ่งขึ้นมาที่ 4.3% (ขยายตัวจาก 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า) พร้อมคาดการณ์ต่อไปว่า ในปี 2018 นี้ GDP จะขยายตัวได้ถึง 3.6 – 4.6% โดยให้เหตุผลว่ามีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เยอะแยะ เศรษฐกิจโลกก็ดี ภาครัฐก็ใช้จ่ายเงินมากขึ้น ภาคเอกชนก็ปรับตัวได้ดีขึ้น การจ้างงาน การส่งออก การลงทุนอะไรๆ ก็ดีไปหมด ตัวเลขเงินเฟ้อก็ไม่สูงมาก ตัวเลขทั้งหลายสดใสปิ๊งปั๊งทีเดียว
ก็เลยทำให้น่าเชื่อตามคุณสมคิดอยู่ครามครันนะครับ ว่า ‘ความยากจน’ น่าจะหมดไปจากประเทศพร้อมๆ กับ ‘คนจน’ ในปีนี้ได้แน่ๆ เพราะอะไรๆ มันดูสว่างไสวไปทุกทางอย่างนี้
แต่เอ๊ะ! แล้วทำไมเท่าที่พบเห็นด้วยสายตาแบบจุลภาค จากคน ‘บ้านๆ’ ทั่วๆ ไป ทั้งในกรุงเทพฯ ตามซอกเล็กซอกน้อยของเมือง รวมไปถึงคนรู้จักในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม ถึงได้มีแต่คนบ่นว่าเศรษฐกิจแย่เอามากๆ ทั้งนั้นเลยล่ะครับ
‘คนจน’ กำลังจะหมดไปจากประเทศจริงๆ หรือ?
แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมว่าแรกสุดเราอาจต้องมาหานิยามกันเสียก่อนดีไหมครับ ว่า ‘คนจน’ นั้นคือใคร
ถ้าเราดูโดยพิจารณาจาก ‘เส้นแบ่งความยากจน’ (Poverty Line) พบว่าในระดับโลก เขาบอกว่า ‘คนจน’ ก็คือคนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1.25 เหรียญ ซึ่งสมมุติคิดง่ายๆ ว่าหนึ่งเหรียญเท่ากับ 34 บาท ก็จะเท่ากับรายได้เดือนละราว 1,275 บาท ซึ่งต้องถือว่าต่ำมาก ดังนั้น คนจนระดับโลกจึงเรียกได้เต็มปากว่า ‘จน’ แน่ๆ
แล้วตัวเลขของไทยล่ะ เป็นอย่างไร?
ในไทย ถ้าใช้วิธีคิดแบ่งแยกความรวยความจนโดยดูจากเส้นแบ่งความยกจน พบว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานออกมาว่า เส้นแบ่งความยากจนของไทยในปี 2559 (คือก่อนปีที่แล้ว) จะอยู่ที่รายได้ 2,667 บาท/คน/เดือน คือใครมีรายได้ต่ำกว่านี้ ถึงจะถือว่าเป็นคนจน ซึ่งถ้าไปดูตัวเลขของ สศช. (ดูได้ที่นี่ social.nesdb.go.th) เมื่อคิดรวมๆ แล้ว จะมีคนจนทั้งประเทศอยู่ที่ราวๆ ห้าล้านแปดแสนคน โดยภาคที่มีคนจนมากที่สุด คือภาคอีสาน มีคนจนอยู่ราวสองล้านสี่แสนคน ส่วนกรุงเทพฯ มีคนจนอยู่ราวแสนหนึ่งหมื่นแปดพันคน
ทำไมดูน้อยจัง!
ต้องบอกคุณก่อนนะครับ ว่าเส้นแบ่งความยากจนนี่ มันไม่ได้แน่นอน ตัวเลขรายได้ที่ว่านี้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามปัจจัยและการคำนวณต่างๆ หลายอย่าง แต่เอาเป็นว่า อยากชวนคุณมาดูว่า ถ้าใช้เส้นแบ่งความยากจนเป็นเกณฑ์วัด แล้วดูเป็นระยะเวลานานๆ ประเทศไทยเรามี ‘จำนวนคนจน’ เพิ่มขึ้นหรือลดน้อยลงมากน้อยอย่างไร
ปรากฏว่า ถ้าเราดูตัวเลขของ สศช. ตั้งแต่ปี 2543 มาจนถึงปี 2559 (ตามภาพข้างล่าง หรือเข้าไปดูได้ที่ social.nesdb.go.th/SocialStat) เราจะเห็นได้เลยนะครับ ว่าจำนวนคนจนนั้น ‘ลดลง’ มาโดยตลอด (ต้องบอกว่ากราฟนี้มาจากในเว็บนะครับ เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ค่อยสวยงามนัก และตัวเลขจำนวนคนนั้นคิดเป็นต่อพันคนนะครับ)
ถ้าดูจากกราฟนี้ จะเห็นได้เลยว่า – ความฝันที่จะทำให้ประเทศไทยปลอดพ้นจากความยากจนในปีนี้ (หรือเร็วๆ นี้) ก็ไม่น่ายากเย็นเท่าไหร่ เพราะแนวโน้มคนจนมันลดลงอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้ามาดูตัวเลขรายได้เดือนละ 2,667 บาทต่อคนหรือต่ำกว่า (ที่มีอยู่ห้าล้านแปดแสนคนทั่วประเทศ) หลายคนคงอุทานออกมาว่า – เฮ้ย! คนที่มีรายได้แค่นี้ จะมีความเป็นอยู่ที่พอดีพอเพียงต่อความเป็นมนุษย์ได้อย่างไรกันเล่า แล้วถ้าคิดแบบนี้ คนที่มีรายได้สักเดือนละสามสี่พันบาท (ซึ่งเอาเข้าจริงก็แทบไม่มีทางอยู่ได้จริง โดยเฉพาะ ‘คนจนเมือง’ ในกรุงเทพฯ) คนเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นคนจนหรอกหรือ แล้วอย่างนี้ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงคนที่มีรายได้ตาม ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ คือวันละ 300 บาทด้วย เพราะสมมติว่าทำงานแค่เดือนละ 20 วัน หยุดไปเสีย 10 วัน ก็ยังมีรายได้ราวเดือนละ 6,000 บาท จะไปเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น ‘คนจน’ ได้อย่างไรกัน
รวยๆ กันทั้งนั้นเลย
แต่กระนั้น ภาครัฐเองก็ดูเหมือนจะมี ‘หลายมาตรฐาน’ ต่อการจะเรียกใครว่าเป็น ‘คนจน’ อยู่เหมือนกันนะครับ เพราะถ้าไปดูการลงทะเบียนคนจน (หรือจริงๆ เรียกว่า ‘โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ’) ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เราจะพบว่าเกณฑ์ในการกำหนดว่าเป็นคนจนก็คือ ต้องมีรายได้ไม่เกินปีละหนึ่งแสนบาท ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับมีรายได้อยู่ที่เดือนละราว 8,333 บาท พบว่าคนที่มาลงทะเบียนคนจนเมื่อสิ้นสุดโครงการ มีมากถึง 14.1 ล้านคน
แค่ตัวเลขสองแบบนี้ เราก็จะเห็นได้แล้วนะครับว่า – การจะบอกว่าใคร ‘จน’ บ้าง จึงเป็นเรื่องที่ยากอยู่ เพราะขึ้นอยู่กับเกณฑ์การวัดคนละแบบกัน แถมนอกเหนือไปจากนี้ ยังมีวิธีวัด ‘ความจน’ ได้อีกหลายแบบ เช่น วัดที่รายได้เฉลี่ย ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย เทียบกับค่าครองชีพของสังคมนั้นๆ หรือวัดที่ตัวแปรซับซ้อนอื่นๆ เช่นตัวเลขสัดส่วนคนจนหรือ Poverty Incidence, ช่องว่างความยากจนหรือ Poverty Gap Ratio หรือดูสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ที่เรียกว่า Gini Coefficient ฯลฯ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คุณรู้ไหมครับว่ามีการทำสถิติวิจัยโน่นนั่นนี่กันทั่วโลกในหลากหลายสังคม และพบข้อสรุปที่น่าสนใจคล้ายๆ กันทั่วโลก เกี่ยวกับคนจนและคนรวย
ข้อสรุปที่ว่าก็คือ – เป็นคนจนนั้น ‘แพง’ กว่าการเป็นคนรวย!
The Economist มีบทความชื่อ It’s Expensive to be Poor – เป็นคนจนนั้นแพง (ดูได้ที่นี่ www.economist.com แต่มีข้อแม้ว่าคุณต้องรวยพอที่จะสมัครสมาชิก The Economist ได้ด้วยนะครับ), Washington Post ก็เคยมีบทความชื่อ The High Cost of Poverty: Why the Poor Pay More – ต้นทุนแห่งความจน: ทำไมคนจนต้องจ่ายมากกว่า (ดูได้ที่นี่ www.washingtonpost.com) หรือ The Atlantic ก็เคยมีบทความ It is Expensive to be Poor (ชื่อเกือบเหมือนของ The Economist เลย ดูได้ที่นี่ www.theatlantic.com)
ถ้าพูดแบบรวมๆ ว่าทำไมการเป็นคนจนถึง ‘แพง’ กว่าการเป็นคนรวย บทความของจากบล็อกของ Lauren Greutman จาก Huffinton Post (ดูที่นี่ www.huffingtonpost.com) และจาก mic.com (ดูได้ที่นี่ mic.com/articles) น่าจะสรุปความออกมาได้ชัดที่สุด แม้เป็นเรื่องของคนจนในสหรัฐอเมริกา แต่ก็สะท้อนภาพคล้ายๆ กันในสังคมอื่นๆ รวมถึงสังคมไทยด้วย โดยการที่ความจน ‘แพง’ กว่าความรวย เกิดข้ึนได้เพราะหลายเหตุผล เช่น
1. คนจนจ่ายเงินซื้อของใช้ในครัวเรือนสูงกว่าคนรวย : ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะคนรวยสามารถซื้อของได้ทีละมากๆ เมื่อซื้อทีละมากๆ ก็ย่อมได้ลดราคา เช่น ซื้อกระดาษชำระแพ็คใหญ่ๆ เฉลี่ยแล้วย่อมราคาถูกกว่าซื้อทีละม้วน ที่สำคัญก็คือ ยิ่งคุณเป็นลูกค้าที่จับจ่ายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ส่วนลดหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ นานา จากทั้งร้านค้า ธนาคาร และผู้ให้บริการบัตรเครดิตมากขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญก็คือ คนรวยจะมีพื้นที่เก็บของที่ใหญ่กว่า (เช่นตู้เย็นขนาดใหญ่กว่า) จึงสามารถเก็บของกินของใช้ได้มากกว่าด้วย
2. คนจนย่อมอยู่ในย่านที่ยากจน : การอยู่ในย่านที่ยากจนนอกจากจะเป็นย่านที่มีอาชญากรรมสูงแล้ว ยังเป็นย่านที่ไม่มีโรงเรียนดีๆ ไม่มีโรงพยาบาลดีๆ ผลลัพธ์ก็คือคนจนมีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากขึ้นมามีชีวิตดีๆ เหมือนคนที่อยู่ในย่านดีๆ เชิดหน้าชูตาเมืองได้ยากกว่ามาก เมื่อการศึกษาแย่กว่า แวดวงสังคมที่อาศัยอยู่แย่กว่า หน้าที่การงานย่อมแย่กว่าตามไปด้วย
3. คนจนมีสุขภาพแย่กว่าคนรวย : ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะคนจน (อย่างน้อยที่สุดก็ในอเมริกา) มักกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แม้เป็นอาหารราคาถูกกว่า แต่ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลก็ทำให้โดยรวมแล้ว วิถีชีวิตแบบคนจนนั้น ‘แพง’ กว่าคนรวย เรื่องนี้อาจไม่เป็นจริงนักในชนบทไทยที่ยังสามารถเก็บผักข้างรั้วกินได้อยู่ (แต่ก็น้อยลงทุกที) และถ้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุกคามเรามากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่แน่นักว่าภาพฝันแบบที่ว่าจะยังคงอยู่ไปได้นานสักแค่ไหน
4. ในอเมริกา คนจนต้องจ่ายรายได้คืนรัฐมากกว่าคนรวย : ข้อนี้ไม่ได้พูดถึงคนจนที่ไม่มีรายได้อะไรนะครับ แต่เป็นคนจนที่ต้องจ่ายภาษีคืนรัฐ ในปี 2015 เคยมีตัวเลขของ New York Times บอกว่าคนที่จนที่สุด (5% ล่างสุด) ในอเมริกา จะจ่ายภาษีเฉลี่ย 10.9% แต่คนที่รวยที่สุด (1% บนสุด) จ่ายภาษีแค่ 5.4% เท่านั้น เพราะคนรวยนั้นมีรายได้มหาศาลและซับซ้อน จึงมีปัญญาจ้างคนคำนวณภาษีที่เก่งๆ เพื่อหาทางเลี่ยงหรือหลบการจ่ายภาษีได้ แต่คนจนต้องนั่งทำภาษีเอง ซึ่งบ่อยครั้งที่ผิดพลาดและถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม
ถ้ามาดูในสังคมไทย เราจะเห็นกรณีคล้ายๆ กันหลายเรื่อง เช่น ถ้าคุณรวยมากพอ มีหลักประกันในชีวิตมากพอ คุณสามารถกู้เงินในระบบจากธนาคารที่ดอกเบี้ยถูกได้ แถมในบางกรณีก็ยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐอีก แต่คนจนทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องกู้นอกระบบ ทำให้เสียดอกเบี้ยมากกว่าเงินกู้ในระบบมาก หรือถ้าคุณยากจนมากเสียจนไม่มีความสามารถจะมี ‘บ้าน’ ที่มี ‘เลขที่บ้าน’ ได้ (เช่น อยู่ในชุมชนแออัด) สมัยก่อนก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าคนทั่วไป (ที่มีฐานะดีกว่า) ถึงสองเท่า เพราะต้องขอใช้ไฟฟ้าแบบใช้ไฟชั่วคราว (แต่เข้าใจว่าในปัจจุบันได้รับการแก้ไขหลักเกณฑ์นี้แล้ว) นอกจากนี้ กำไรจากการซื้อขายหุ้น (ที่คนรวยมักเป็นผู้ได้เปรียบ) ก็ไม่ต้องเสียภาษีด้วย
ภาพที่เราเห็นๆ อยู่ก็คือถ้าคุณเป็นคนจน แต่อยากได้ของดีๆ สักอย่างมาอยู่ในครอบครอง คุณจะไม่มีสิทธิพิเศษอะไรทั้งนั้น นอกจากต้องตะเกียกตะกายเก็บหอมรอมริบ เพื่อกำเงินไปซื้อของเหล่านั้นในราคาเต็ม แต่ยิ่งคุณรวยมากขึ้นเท่าไหร่ คุณจะยิ่งได้ ‘ส่วนลด’ ในชีวิตมากขึ้นเท่านั้น นั่นทำให้การเป็นคนจนเป็นเรื่องที่ ‘แพง’ กว่าการเป็นคนรวยไม่น้อยทีเดียว
ทีนี้กลับมาที่คำพูดของคุณสมคิด เรื่องที่ว่าจะทำให้ความยากจนพ้นไปจากประเทศไทยกันอีกสักรอบ คุณคิดว่าคุณสมคิดจะทำได้ไหม?
แม้จะมีคนค่อนแคะว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้น มันไม่ได้ ‘กระจาย’ ไปถึงคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป แต่ ‘กระจุก’ อยู่กับกลุ่มทุน และไม่ใช่กระจายไปในกลุ่มทุนรวยๆ ทั้งหมดด้วยนะครับ ทว่ากระจุกอยู่เฉพาะกับกลุ่มทุนบางกลุ่มที่ว่ากันว่ามีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเอาใจช่วยคุณสมคิดนะครับ โดยเฉพาะเมื่อเห็นตัวเลขคนจนที่ลดลงเรื่อยๆ และตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีงามมากขึ้นเรื่อยๆ ดูแล้วชื่นใจจะตายไป
แต่กระนั้น ก็อยากชวนคุณสมคิดและคนอื่นๆ มาช่วยกันดูกราฟนี้ที่มาจาก สศช. เองเป็นการปิดท้ายนะครับ (ดูกราฟได้ที่ social.nesdb.go.th)
กราฟนี้ผมครอปมาจากหน้าจอ เพราะว่ามันไม่ยอมแสดงผลแบบเต็มหน้าจอให้ คำอธิบายอะไรก็เลยอาจจะขาดๆ เกินๆ ไปหน่อย แต่สรุปก็คือ แท่งสีฟ้า เป็นกลุ่มคนจนที่สุด 20% ของประเทศ ส่วนแท่งสีเหลือง เป็นกลุ่มคนที่รวยที่สุด 20% ของประเทศ โดยสองแท่งที่อยู่ทางด้านซ้าย คือแท่ง ‘รายได้เฉลี่ย’ และสองแท่งที่อยู่ด้านขวา คือแท่งของ ‘รายจ่ายเฉลี่ย’ ของประชากรไทย ในปี 2558
คุณเห็นอะไรไหมครับ?
สิ่งที่ผมอยากชวนสังเกตก็คือ แท่งสีฟ้าที่เป็น ‘รายได้เฉลี่ย’ นั้น มัน ‘ต่ำ’ กว่าแท่งสีฟ้าที่เป็น ‘รายจ่ายเฉลี่ย’ อยู่ แต่แท่งสีเหลืองกลับกัน เพราะ ‘รายได้เฉลี่ย’ ของสีเหลือง กลับสูงกว่า ‘รายจ่ายเฉลี่ย’ มากทีเดียว
และสีฟ้าคือคนจน ส่วนสีเหลืองคือคนรวย!
ขยายความก็คือ โดยเฉลี่ยแล้ว ‘คนจน’ จะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย แต่ ‘คนรวย’ มีรายได้มากกว่ารายจ่าย เพราะฉะนั้นถ้าดูจากสถิตินี้ ย่อมแปลความได้ง่ายๆ ว่า คนจนจะไม่มีวันมีเงินเหลือเก็บได้เลย เพราะมีอาการชักหน้าไม่ถึงหลังตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องหาหรือ ‘หมุนเงิน’ ให้เร็วจี๋ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปั่นเอาเงินมาจ่ายให้ตัวเองพออยู่ได้ ซึ่งโดยมากก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้หนี้เก่า โปะกันไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าดูโครงสร้างรายได้รายจ่ายแบบนี้แล้ว แทบจะพูดได้เลยว่า คนจนจะไม่มีวันลืมตาอ้าปากให้ปลอดพ้นจากการเป็นหนี้ได้เลย ในขณะที่ ‘คนรวย’ มีแต่จะรวยยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายเพื่อนำมาเก็บออมหรือลงทุนให้งอกเงยเพิ่มอยู่แล้ว
กราฟนี้จึงทำให้เราเห็นได้ชัดว่าเราอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ เป็นสังคมประเภทที่คนรวยจะยิ่งรวยขึ้น และยิ่งรวยมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรวยขึ้นได้ง่ายเท่านั้น ส่วนคนจนกลับตรงข้าม เพราะจะจนลง และยิ่งจนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งจนลงได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้นด้วย
ด้วยเหตุนี้ การเป็นคนจนจึงเจ็บปวดหลายสถาน เพราะนอกจากการเป็นคนจนจะ ‘แพง’ กว่าการเป็นคนรวยแล้ว โอกาสที่คนจนจะจนลงยังมีมากกว่าที่จะรวยขึ้นด้วย
ปัจจุบันนี้ เรารู้แล้วว่าคนไม่ได้จนเพราะขี้เกียจเหมือนมายาคติ (สมัยก่อนที่สังคมมีความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจมากกว่านี้) แต่คนจนในยุคเสรีนิยมใหม่จนเพราะโครงสร้างสังคมเบียดขับให้คนจนต้องย่ำเท้าอยู่กับความจน ที่เจ็บปวดก็คือ ยิ่งเรามีตัวเลขเศรษฐกิจระดับบนดีงามขึ้นเท่าไหร่ GDP สูงขึ้นเท่าไหร่ มูลค่าเพิ่มของสังคมก็จะยิ่งไปกระจุกอยู่กับกลุ่มคนรวยที่รวยล้นฟ้ามากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้กระจายลงมาถึงมือคนจนๆ ทั่วไป จนอาจพูดได้ว่า ในสังคมที่โครงสร้างบิดเบี้ยว ไม่มี safety net ให้กับผู้คน และไม่มีกลไกสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ, ยิ่งตัวเลขเศรษฐกิจดีเท่าไหร่ ก็เป็นไปได้ที่ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่าเรายิ่งต้องเอาใจช่วยและร่วมสวดมนต์อธิษฐานภาวนา เพื่อให้แนวคิดของคุณสมคิดในอันที่จะแก้ปัญหาความยากจนให้ประเทศไทย หรือทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทย – ได้เกิดขึ้นสมกับความคิดที่ตั้งเอาไว้โดยเร็ว
ไม่อยากให้ไม่สำเร็จเลยครับ!