“ฉันมาทำอะไรที่นี่?”
พวกเรายืนท่ามกลางห้องโดยไม่รู้ว่าเดินเข้ามาตั้งแต่แรกด้วยเหตุผลอะไร ทั้งที่คุณเองนั่นแหละที่เดินเข้ามาด้วยจุดประสงค์บางอย่าง หากการกระทำ (ควรจะ) อยู่ภายใต้เหตุผล แล้วคุณเดินมาที่นี่ทำไมกัน? หรือลืมไปแล้วว่าต้องทำอะไร
การลืมสิ่งที่คุ้นเคยอย่างฉับพลันเกิดขึ้นกี่ครั้งบ้างในแต่ละสัปดาห์ บางครั้งคุณอาจเรียกชื่อแฟนใหม่สลับกับแฟนเก่า (จนแก้ปัญหาด้วยเรียกว่า ‘เธอ’ ซะให้หมด) ยืนงงหน้าตู้ ATM จำรหัสบัตรไม่ได้จนเครื่องดูดไปต่อหน้าต่อตา ไปเดินห้างเพื่อจะซื้ออะไรสักอย่างแต่กลับบ้านมือเปล่า (แต่ดันเสียตังค์ไปกับของที่ไม่ได้ต้องการเลย) ความทรงจำและเจตจำนงที่ตั้งใจไว้ ไปสะดุดบันไดตีลังกาม้วนตลบเสียที่ไหนแล้ว
จะว่าไปสมองเองก็ไม่ได้รับใช้ความเป็นเหตุเป็นผลเสียทุกอย่าง บางครั้งสมองเราก็ยังเข้าโหมดพิลึก ขอลาพัก ตกหล่นสูญหาย ปล่อยให้ในหัวคุณเผชิญกับความว่างเปล่างันงง หรือหลายคนอาจจะเรียกภาษาแสลงวัยรุ่นว่า ‘อ๊อง’ ที่บางครั้งเราก็ปล่อยเบลอ มึนๆ งงๆ เหม่อลอย จนคนอื่นบอกว่า เธอคิดมากไปหรือเปล่า?
แต่แท้จริงแล้ว ‘ฉันไม่ได้คิดอะไรเลย’ ต่างหาก
บ๊ายบายสมอง
ในกรณีพบบ่อยที่สุด คือการลืมขณะที่คุณเปิดประตูเข้าไปในห้องแล้วรู้สึกว่า ‘มาทำไมนะ?’ ไม่มีความหมายอะไรเลยที่จะต้องเข้ามาตั้งแต่แรก หรือลืมวัตถุประสงค์เดิมไปเสีย ภาวะนี้มีชื่อเสียงเรียงนามในเชิงจิตวิทยาเรียกว่า Doorway Effect (ตรงตัวขนาดนั้นเลย) จากทีมนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย University of Notre Dame พวกเขาลงมือเขียนเปเปอร์เป็นเรื่องเป็นราวในปี 2011 โดยมีชื่อจั๊กจี้ตรงไปตรงมาผิดจากความเป็นงานวิจัยว่า Walking through doorways causes forgetting (อ่านได้ที่นี่ www.tandfonline.com)
การหาคำตอบของอาการลืมฉับพลันนี้ได้สร้างทฤษฎีอันน่าสนใจ เมื่อคนส่วนใหญ่ล้วนสามารถลืมจุดประสงค์ได้ทันที จากภารกิจที่ทำอยู่ขณะเดินเปิดประตูเข้าไปในแต่ละห้อง ยิ่งมีห้องมากเท่าไหร่ความทรงจำในการหาเหตุผลก็ยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น
สิ่งนี้ย้อนกลับมาตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมสมองถึงมีช่วงที่ไม่สามารถจัดการเรื่องง่ายดายที่สุดและสามัญที่สุด ได้ ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าสมองมนุษย์มีประสิทธิภาพอันน่าเหลือเชื่อ อุดมไปด้วยเซลล์ประสาท (neuron) นับพันล้านเซลล์ แต่บางครั้งพวกมันก็หยุดชะงัก ไม่เอาการเอางาน ขี้เกียจเสียดื้อๆ
โลกที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า กับสมองเราที่เย็นชา
ทุกสรรพสิ่งรอบตัวเราอยากจะเป็นที่สนอกสนใจทั้งหมด สภาพแวดล้อมทุ่มทุกอย่างใส่คุณ โครม! ผ่านผัสสะทุกด้าน รูป รส กลิ่น เสียง ผิวสัมผัส เพื่อให้ถูกรับรู้ผ่านระบบประสาทสมอง แต่สมองเองกลับไม่สามารถเก็บรายละเอียดทุกอย่างได้หมดจดเหมือนถ่ายเอกสาร ที่ทำสำเนาโดยไม่ผิดเพี้ยน บางครั้งเพียงแค่รหัสบัตร ATM 6 หลักง่ายๆ ที่กดเงินอยู่ทุกวัน ซึ่งสมองคุณสั่งการแบบ autopilot มาเป็นสิบๆ ปี จู่ๆ ก็หายไปจากความทรงจำเฉยเลย และยิ่งพยายามเรียกคืนความทรงจำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสป้อนตัวเลขผิดมากขึ้นเท่านั้น จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่ตู้ ATM ริบบัตรคุณเป็นการลงโทษ และต้องเสียเงินเปิดบัตรใหม่อย่างไม่น่าให้อภัย
เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่สูญหาย เราควรทำความเข้าใจกลไกสมองเบื้องต้นก่อน โดยเฉพาะเรื่องความทรงจำ (memory) โดยทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบันอยู่บนหลักพื้นฐานที่ว่า ความทรงจำอยู่ที่ไหนสักแห่งของไซแนปส์ (synapses) จุดประสานประสาทอันเป็นช่องว่างพิเศษระหว่างเซลล์ประสาท ที่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าข้ามไปมาสู่เซลล์ข้างเคียง ทุกครั้งที่กระแสไฟฟ้าถูกส่ง จะเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ประสาทให้แน่นแฟ้นขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณพยายามจะนึกถึงดอกไม้ริมทางสักดอกและชื่อของมัน
โครงข่ายประสาทที่รับผิดชอบ ‘ภาพ’ (visual) ที่คุณสามารถระบุสัณฐานของมันจากที่เคยเห็นมาก่อน กับประสาทรับผิดชอบ ‘ชื่อ’ ซึ่งควบคุมการออกเสียงที่คุณเคยได้ยิน จะถูกเรียกใช้พร้อมๆ กัน โดยถูกเก็บไว้ในคลังความทรงจำระยะยาว (long term memory) อาทิ รหัส ATM ของคุณ ชื่อคนใกล้ชิด จนเมื่อถึงจุดหนึ่งโครงข่ายที่ละเอียดซับซ้อนนี้อาจสูญเสียความสามารถชั่วคราว เช่นปัจจัยด้านความเจ็บป่วยด้วยโรคประสาทเสื่อมถอยอย่างโรคอัลไซเมอร์
แต่ก็ยังมีปัจจัยให้สูญหายอื่นๆ อีกคือ กิจกรรมไฟฟ้าของเซลล์ประสาทเสื่อมถอย จากที่เราไม่ได้เรียกใช้บ่อยๆ (recall memory) หรือเซลล์ประสาทถูกก่อกวนด้วยชุดข้อมูลใหม่ๆ อันสับสน ในลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น เมื่อต้องเปลี่ยนรหัส ATM เดิมแต่มีความใกล้เคียงกับชุดรหัสที่ใช้ประจำ แฟนเก่ากับแฟนใหม่
ความเครียดเอง (stress) ก็มีอิทธิพลสูงเช่นกันจนมองข้ามไม่ได้ เพราะมีหลักฐานแน่นอนแล้วว่าฮอร์โมนเครียด (Cortisol) มีส่วนให้กิจกรรมไฟฟ้าในสมองทำงานผิดปกติ ภายใต้ความเครียดที่สะสมเป็นเวลานาน และรบกวนความทรงจำ คนที่เครียดมากๆ มักหลีกเลี่ยงปัญหาความทรงจำถดถอยค่อนข้างยากในระยะยาว
คำคำหนึ่งก็หาความหมายไม่ได้
เป็นอีกกรณีที่สนใจ คำที่ใช้บ่อยๆ และเป็นภาษาของเราเอง กลับหาความหมายของมันไม่ได้ ผู้เขียนเคยรู้สึกงงพิลึก เมื่อเห็นคำว่า ‘กางเกง’ แต่กลับไม่รู้ว่ามันคืออะไร ยิ่งจดจ่อกับมัน ความหมายก็เลือนหาย เหลือเพียงตัวอักษร 6 ตัว ที่มาอยู่ร่วมกันโดยบังเอิญ หรือในกรณีของคุณอาจมีคำอื่นด้วยก็ได้ มีอีกครั้งหนึ่งผู้เขียนเห็น ‘ดอกทิวลิป’ แต่คิดให้ตายยัง ณ ขณะนั้นก็เรียกชื่อมันไม่ถูก
ภาวะสมองชะงักงันทางภาษาจนน่ารำคาญ ถูกรายงานครั้งแรกในปี 1907 โดยนักจิตวิทยา Elizabeth Severance และ Margaret Washburn หลังจากพวกเธอพบคนที่ถูกตรึงอยู่กับคำหนึ่งนานมากจนผิดสังเกต ชายผู้นั้นไม่รู้ว่าไอ้ผงสีดำๆ อยู่ในขวดโหล แถมแปะตัวอังษรเบ้อเร่อ ‘Coffee’ มันคืออะไร จู่ๆ เขาก็ไม่สามารถหาความหมายของคำนี้ได้ เหมือนเป็นภาษาต่างถิ่นที่ไม่รู้จัก ไม่มีความหมายอะไรมากกว่าตัวอักษร
ต่อมาปรากฏการณ์นี้ถูกสังเกตเรื่อยๆ จนนักจิตวิทยารุ่นต่อมา Leon Jakobovits จากมหาวิทยาลัย McGill University เฝ้าศึกษาและนิยามมันว่า Semantic satiation เป็นภาวะที่เราพูดคำหนึ่งซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน กระทั่งความหมายของคำนั้นๆ หายไปหรือไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของมัน ซึ่งหลักฐานทางประสาทวิทยาพบความเกี่ยวเนื่องกับความเหนื่อยล้าของเซลล์ (cellular fatigue)
เมื่อเซลล์สมองส่งสัญญาณกระแสไฟฟ้า แน่นอนมันต้องมีการใช้พลังงาน และบางครั้งมันสามารถส่งสัญญาณครั้งที่สองได้พร้อมกันกับครั้งแรก หลังจากที่มันส่งสัญญาณซ้ำๆ ติดๆ กันจะเกิดความเหนื่อยล้า และเซลล์จำเป็นต้องหยุดชั่วขณะ เช่น เมื่อเราท่องคำนั้นบ่อยๆ เซลล์ประสาทที่ประมวลผลด้านความหมายจะลดหน้าที่ลง เหนื่อยล้า หรือหยุดสั่งการ ทำให้คำที่คุณเห็นคำไร้ความหมาย ไม่รู้สึกถึงความสำคัญ (in difference)
เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ Leon Jakobovits และทีมวิจัยจึงออกแบบทดสอบ (ที่คุณลองทำดูได้) ให้อ่านและพูดคำอะไรก็ได้ ที่สามารถพูดได้ 2–3 ครั้ง ภายใน 1 วินาที เป็นเวลาทั้งหมด 15 วินาที จากนั้นจะให้อาสาสมัครบอกว่าพวกเขามีความรู้สึกกับคำๆ นั้นว่าอย่างไร
ซึ่งส่วนใหญ่คำเหล่านี้มักจะสูญเสียความหมาย แต่สามารถกลับมาได้ใหม่เมื่อมีอะไรมาเบี่ยงเบนความสนใจคุณออกไปช่วงขณะหนึ่ง มันจึงเป็นเหตุผลที่ดีหากคุณรู้สึกว่า อะไรก็ตามที่คุณเห็นจนเคยชินมันอาจจะค่อยๆ ไร้ความหมาย พูดอะไรซ้ำๆ พบกับสถานการณ์จำเจ เพราะความเคยชินก็เป็นศัตรูคู่อาฆาตของมนุษย์ที่ไม่ค่อยปราณีปราศรัยนัก
การที่พวกเรา ‘จางหายไปจากความคิด’ ในชั่วขณะหนึ่งนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้หมายความว่าเราไร้เยื่อใยหรือไม่โฟกัส สมองพวกเราบางครั้งก็เดินหลงในเขาวงกตกันชั่วครั้งชั่วคราว คนที่อัจฉริยะที่สุดก็ยังหาแว่นตัวเองไม่เจอ ทั้งๆ ที่สวมอยู่ทนโท่ (เช่น ไอน์สไตน์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอ๊องๆ จนได้รับการแซวเล่นว่า ‘Absent-minded Professor’)
แต่พอเราอยู่ในสังคมที่มีการปฏิสัมพันธ์สูง การหลุดหายไปจากความคิดมักถูกมองว่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นภาวะไม่ productive และจะค่อยๆ บีบให้กลายเป็นความผิดพลาด สร้างตราบาปของความรู้สึกผิด มากกว่าทำความเข้าใจกลไกของสมองที่ตอบสนองเราไม่ได้อย่างแม่นยำราวเครื่องจักร
ปล่อยให้สมองของพวกเราล่องลอยไปในความสนธยาบ้าง ไม่ต้องรีบเรียกมันกลับมาเร็วนัก เผลอๆ มันอาจกลับมารับใช้คุณได้ดีกว่าเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Walking through doorways causes forgetting: Further explorations
- Absent without leave; a neuroenergetic theory of mind wandering
- Here’s Why a Word Loses Its Meaning If You Say It Over and Over