สิ้นเสียงคำวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นมะเร็ง โดยหลักๆ แล้ว การรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน คือ การผ่าตัด การฉายแสง และการทำเคมีบำบัด หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘คีโม’ โดยที่มะเร็งแต่ละชนิดมีวิธีการรักษาแตกต่างกันออกไป
สำหรับการทำคีโม เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาด้วยยาสูตรแรก บางคนหายได้หลังการรักษาเพียงไม่นาน แต่ถึงจะเป็นมะเร็งที่อวัยวะเดียวกัน ยาสูตรนั้นก็อาจไม่ได้ผลในบางคน คนไข้ต้องใช้ร่างกายตัวเองทดลองสูตรยาคีโมสูตรที่สอง บางคนต้องสูตรที่สาม และบางคนต้องเจอแบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ผลข้างเคียงของยาคีโมสร้างความเจ็บปวดทรมาน กว่าโรคจะหายร่างกายก็บอบช้ำไปมาก หรือถ้าโชคร้ายมาเยือน ร่างกายบางคนอาจทนผลข้างเคียงไม่ไหว สุดท้ายเลยจบลงที่การเสียชีวิต
ในทางการแพทย์แล้ว มะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ ซึ่งมีลักษณะการกลายพันธุ์หลากหลาย ที่ผ่านมาวิธีการรักษาด้วยคีโมอาศัยงานวิจัยทางคลินิก อิงหลักสถิติที่คาดการณ์ผลลัพธ์ได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ผลการตรวจจากห้องทดลองที่ละเอียดย่อยลงไปในระดับเซลล์ การหาลักษณะการกลายพันธุ์ของมะเร็งเฉพาะบุคคลคือวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา เพื่อให้การเลือกใช้สูตรยาที่จำเพาะกับผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SiCORE-PM-Siriraj Center of Research Excellence in Precision Medicine) ศึกษาต่อด้านพันธุศาสตร์มาโดยตรง สำหรับการรักษามะเร็ง เขาเล็งเห็นว่าการรักษาโดยเข้าไปหาลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง จะช่วยให้แพทย์เลือกสูตรยาที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้รายนั้นตั้งแต่แรก และหากสะสมข้อมูลได้มากเพียงพอ ฐานข้อมูลนั้นจะนำไปใช้ทำนายการรักษาคนไข้มะเร็งรายอื่นๆ ที่มีลักษณะการกลายพันธุ์แบบต่างๆ ได้ด้วย จนเกิดเป็นงานวิจัยที่ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2022 จะมีผู้ป่วยอย่างน้อย2,000 รายได้รับการถอดรหัสดีเอ็นเอแบบเฉพาะบุคคล และผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวนกว่า1 แสนรายต่อปีจะมีแนวทางการรักษาแบบใหม่ที่แม่นยำขึ้น
“เรากำลังทำงานวิจัยที่ช่วยคนไข้โรคเดียวกันในภาพรวม ที่ผ่านมาผมเป็นหมอ ทำงานเหมือนเป็นนักสืบ เพื่อแก้ปัญหาคนไข้ทีละคน แต่งานวิจัยนี้จะไขความลับที่ช่วยคนไข้มะเร็งจำนวนมหาศาล” ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร พูดถึงงานวิจัยเพื่อวางรากฐานการรักษามะเร็งอย่างแม่นยำที่อยู่ระหว่างการระดมทุน
ณ ปัจจุบัน คือช่วงเริ่มต้นของเส้นทางที่ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย ซึ่งหากทำได้ลุล่วงตามเป้าหมาย เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในการพลิกโฉมการรักษามะเร็งของประเทศไทยเลยทีเดียว
The MATTER : เวลาพูดถึง ‘มะเร็ง’ คนทั่วไปมักนึกถึง โรคร้าย เนื้อร้าย เป็นมะเร็งอะไร อยู่ในระยะที่เท่าไร จะมีชีวิตได้อีกไม่นาน อยากรู้ว่าในทางการแพทย์ โรคมะเร็งคืออะไร
ในมุมมองของคนทั่วไป มะเร็งคือโรคร้าย เพราะเชื่อว่ามะเร็งรักษาไม่ได้ เป็นแล้วตาย แต่ถ้าเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน คนไข้ทราบแล้วกลับโอเคนะ เพราะมันรักษาได้ ในมุมมองการแพทย์ มะเร็งคือก้อนเนื้อที่เกิดจากเนื้อเยื่อปกติของเรานั่นแหละ มะเร็งตับก็คือก้อนเนื้อที่เกิดจากเนื้อเยื่อตับ มะเร็งปอดก็คือก้อนเนื้อที่เกิดจากเนื้อเยื่อปอด ถามว่ามันต่างจากเนื้อเยื่อปกติยังไง หนึ่ง มันโตไม่หยุด สอง มันโตแล้วยังเบียดบังเนื้อเยื่อข้างเคียง และกระจายไปที่อื่นได้ จนทำให้คนที่เป็นมะเร็งเจ็บป่วยและเสียชีวิต
ที่ผ่านมามีคนสงสัยว่า ระหว่างมะเร็งกับเนื้อเยื่อปกติ ทั้งที่มีต้นกำเนิดเดียวกัน อะไรทำให้เนื้อเยื่อปกติเปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นแบบนั้นได้ การศึกษาทำมาหลายสิบปีแล้ว มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า มะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ ดีเอ็นเอเป็นพิมพ์เขียวที่บอกว่าเซลล์ปกติควรทำงานยังไง แต่เซลล์มะเร็งต่างออกไปตรงที่มีดีเอ็นเอส่วนที่เราเรียกว่ายีน มีรหัสผิดไปจากเดิมที่เรียกว่าการกลายพันธุ์ มีผลให้เซลล์ทำงานผิดปกติ
การกลายพันธุ์บางอย่างส่งผลเสียกับเซลล์ ทำให้เซลล์ตาย แต่การกลายพันธุ์บางอย่างในยีนบางตัว แทนที่จะทำให้เซลล์ทำงานแย่ลง มันกลับทำงานดีกว่าเดิม เช่นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โตเร็วมาก โตไม่หยุด เบียดบัง และแพร่กระจายได้ กลายเป็นมะเร็ง สรุปคือแทบทั้งหมดของมะเร็ง ต้นกำเนิดพื้นฐานเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน
The MATTER : การกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ยังไง
เกิดได้จากหลายปัจจัยมาก ทั้งสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่โน้มน้าวให้เซลล์กลายพันธุ์ได้ง่ายขึ้น เช่น บุหรี่ การถูกรังสียูวีบ่อยๆ หรือการติดเชื้อบางอย่าง อย่างเช่น ไวรัส HPV ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ก็เกิดมะเร็งตับได้ง่ายขึ้น หรือบางคนได้รับยีนกลายพันธุ์จากการถ่ายทอดในครอบครัวมาตั้งแต่เกิด ทำให้เขาเป็นมะเร็งได้ง่ายกว่า แต่การกลายพันธุ์บางอย่างเกิดขึ้นโดยบังเอิญจริงๆ เพราะทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง ต้องมีการคัดลอกดีเอ็นเอทั้งหมดเป็นสองชุดเช่นกัน รหัสดีเอ็นเอมีจำนวนมากถึงสามพันล้านรหัส เหมือนเราคัดลอกหนังสือสามพันล้านตัวอักษร บางทีเกิดผิดพลาดได้บ้าง ถ้าไม่เกิดปัญหาก็ไม่เป็นอะไร แต่บางทีก็เกิดความผิดปกติ เจ็บป่วยเป็นโรคขึ้น
The MATTER : ถ้าพูดแบบห้วนๆ คือซวย
ใช่ แบบนั้นเลย ผมมักเปรียบเทียบให้คนไข้ฟังเป็นประจำว่า การกลายพันธุ์ของยีนคล้ายกับการซื้อหวย การถูกรางวัลเกิดขึ้นแบบสุ่ม คนซื้อหวยโดยส่วนใหญ่จะถูกกิน แต่จะมีบางคนถูกรางวัลที่หนึ่ง ถ้าถูกหวยแบบนั้นได้เงิน แต่การกลายพันธุ์แบบนี้ได้มะเร็ง
The MATTER : ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตเสี่ยง หรือแต่ละวันสะอาดสะอ้านปลอดภัย ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ใช่ไหม
ถูกต้อง มันเกิดโดยบังเอิญได้ คนซื้อหวยทุกงวด งวดละหนึ่งใบ มีโอกาสถูกรางวัลใหญ่หนึ่งในล้าน แต่คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น สูบบุหรี่ อาจเหมือนคนซื้อหวยงวดละยี่สิบใบ หรือร้อยใบ มีโอกาสยี่สิบในล้าน หรือร้อยในล้าน โอกาสสูงกว่าคนอื่นมาก แต่ไม่ได้การันตีว่าจะถูกนะ
The MATTER : เราจะรู้ได้ยังไงว่าใครเป็นมะเร็ง
ต้องยอมรับว่าถ้าเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น อาการแทบไม่มีเลย หรือมีก็ไม่จำเพาะ ทำให้บางคนมารู้ตอนเป็นหนัก บางคนที่ไม่มีอาการอะไร เขารู้ตอนตรวจคัดกรอง เช่น มะเร็งเต้านม ทำแมมโมแกรมแล้วเจอ บางคนส่องกล้องลำไส้แล้วเจอก้อนเนื้อ ดังนั้นคนที่มีอาการจากโรคชัดๆ มักเป็นเยอะแล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นเกิดโรคอยู่แล้ว แต่ร่างกายยังแข็งแรงพอที่จะทำงานได้ตามปกติ ดังนั้นเมื่อคนไข้เกิดอาการบางอย่าง เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด กินไม่ได้ ปวดท้อง นั่นคือร่างกายสู้ไม่ไหว ดังนั้นถ้ามะเร็งชนิดไหนมีวิธีคัดกรอง ก็ควรไปตรวจเถอะ เช่น ทำแมมโมแกรม ทำอัลตร้าซาวน์ เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม หรือการตรวจแปปสเมียร์เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
The MATTER : เห็นมีการวัดค่ามะเร็งผ่านเลือดด้วย
เป็นการวัดโปรตีนบางอย่างที่คนไข้มะเร็งอาจมีสูงกว่าคนอื่น การวัดค่ามะเร็งแบบนี้ในปัจจุบันยังไม่ไว และไม่จำเพาะพอด้วย คือเราพบว่าคนไข้มะเร็งหลายคนที่เป็นมากแต่ตรวจเลือดแบบนี้ก็ยังปกติดี หรือคนที่ตรวจได้ค่าผิดปกติ ส่วนใหญ่กลับตรวจไม่พบมะเร็ง
The MATTER : พอรู้ว่าเป็นมะเร็งแล้ว ที่ผ่านมาการรักษามีแบบไหนบ้าง
แน่นอนว่าดีที่สุดคือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ถ้ามะเร็งอยู่ในระยะที่ผ่าตัดได้แพทย์มักตัดออกเสมอ แพทย์จึงต้องดูว่าผ่าตัดได้ไหม โดยดูจากระยะของมะเร็ง ดูว่าก้อนมะเร็งอยู่เฉพาะอวัยวะนั้นหรือไม่ หรือลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่นที่ไกลออกไป ซึ่งโอกาสตามไปผ่าตัดออกหมดทำไม่ได้ ถ้ามะเร็งอยู่ในระยะที่ผ่าได้ ก็ต้องดูว่าร่างกายคนไข้รับไหวหรือเปล่า แข็งแรงพอไหม เพราะการผ่าตัดใหญ่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ดมยาสลบ หลังผ่าตัดอาจต้องอยู่ ICU ถ้าอายุมาก โรคประจำตัวเยอะ ก็อาจผ่าไม่ได้ ถ้าคนไข้สามารถผ่าตัดได้ หลังจากนั้นแพทย์ก็จะเอาชิ้นเนื้อที่ตัดออกมาตรวจว่าใช่มะเร็งหรือเปล่า ถ้าผ่าตัดเรียบร้อยแล้วเป็นมะเร็งจริง เราต้องการกำจัดมะเร็งให้หมดไปใช่ไหม พูดง่ายๆ ก็ต้องถอนรากถอนโคน
แม้แพทย์อาจจะตัดก้อนมะเร็งได้หมดเท่าที่ตาเปล่าเห็น แต่เซลล์มะเร็งขนาดเล็กมาก อาจมีเซลล์มะเร็งเล็กๆ ที่มองไม่เห็นหลงเหลืออยู่อีก เพื่อให้มั่นใจแพทย์จึงต้องใช้วิธีรักษาอื่นร่วมด้วยหลังผ่าตัด บางมะเร็งต้องตามด้วยการฉายแสง บางมะเร็งต้องให้เคมีบำบัดต่อ หรือที่เรียกว่า คีโม บางมะเร็งทำทั้งคู่ เป็นการทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงหูหลงตา เหลืออยู่ในร่างกาย ซึ่งการรักษาแบบนี้คือตั้งใจให้โรคหายขาด ไม่ได้เกี่ยวกับเป็นเยอะหรือน้อย บางคนไปเข้าใจว่าคนไหนแพทย์ต้องฉายแสงคือโรคเป็นมากซึ่งไม่จริง มะเร็งระยะเริ่มต้นคนไข้บางคนก็ต้องฉายแสงเหมือนกัน
ที่ผ่านมาวิธีการรักษาจะอาศัยข้อมูลจากการวิจัยทางคลินิก เป็นการเก็บสถิติจากคนไข้โรคเดียวกันว่า ถ้าคนไข้ลักษณะนี้ ใช้ยาสูตรนี้แล้วจะได้ผลเท่านี้เปอร์เซ็นต์ บางคนฉายแสงก่อนแล้วให้เคมีบำบัด บางคนให้เคมีก่อนแล้วฉายแสง คนไข้ต้องลองรักษาก่อน แล้วดูการตอบสนอง ถ้าใช้ยาสูตรแรกแล้วไม่ได้ผล ก็ต้องลองสูตรใหม่ที่มีข้อมูลว่าได้ผลรองลงมา
ถ้านับสูตรการรักษาก็มีหลายสูตรมาก และเคมีบำบัดเกือบทั้งหมดมีผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ได้ยาแล้วผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เม็ดเลือดต่ำ ติดเชื้อง่าย ซีด เจ็บป่วยง่าย คนไข้ทุกคนที่ได้ยาจะต้องเจอสิ่งเหล่านี้ ส่วนใครจะหายหรือไม่ ต้องมาวัดกันอีกทีหลังจากให้ยาไปสามสี่รอบ ถึงจะมาประเมินว่าก้อนยุบไหม ถ้าไม่ยุบ ก็เปลี่ยนสูตรใหม่ เริ่มขั้นตอนใหม่หมด กว่าร่างกายที่ได้รับยาจะฟื้นตัว แล้วถ้าไม่ได้ผลก็จะให้อีกรอบ ไปเรื่อยๆ มองดูก็เหมือนว่าด้านนึงเรากำลังสู้กับมะเร็ง แต่อีกด้านนึง คนไข้ก็สู้กับยาด้วย สุดท้ายอยู่ที่ว่าใครจะอึดกว่ากัน
The MATTER : การเก็บสถิติของคนไข้ในอดีต ทั้งตัวโรค อาการ เพศ วัย ฯลฯ เพื่อใช้เลือกสูตรยาที่เหมาะสมให้คนไข้ในปัจจุบัน มันไม่มีความเป็นไปได้มากขนาด ลองหนึ่งสูตร สองสูตร แล้วได้ผลเลยเหรอ
มีความเป็นไปได้สูง แต่ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบกับในอดีต การรักษาปัจจุบันดีขึ้นมาก บางชนิดมะเร็งเคยเสียชีวิตร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันก็รักษาได้ รวมไปถึงมะเร็งบางชนิดที่รักษาหายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยทั่วไปแพทย์ผู้รักษาจะเลือกสูตรยาที่มีโอกาสตอบสนองมากที่สุดก่อนเสมอ เช่น ยาสูตรนี้คนไข้ตอบสนอง60 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือ คนไข้สิบคนที่ได้ยา เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนไหนเป็น 6 คนที่ได้ผล คนไหนเป็น 4 คนที่ไม่ได้ผล เราบอกไม่ได้เราก็ต้องลองรักษาก่อนใช่ไหม หลังจากลองไปแล้วถึงรู้ว่า โอเค ใคร 6ใคร 4 คนที่ไม่ตอบสนองก็ต้องลองยาสูตรใหม่ ที่โอกาสตอบสนองน้อยลง ลองไปเรื่อยๆ จนได้สูตรยาที่ผลตอบสนองดี ผลการรักษาก็แล้วแต่ชนิดมะเร็งด้วย เช่น มะเร็งอัณฑะผู้ชายบางชนิดให้ยาแล้วโอกาสหายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มะเร็งบางชนิดโอกาสได้ผลแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ มันน้อยใช่ไหม แต่ถามว่าเอาไหม คนไข้ส่วนใหญ่ก็เอา เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่มีโอกาสเลย
The MATTER : แล้วการรักษาที่ทีมงานของอาจารย์กำลังทำเป็นยังไง
เรารู้แล้วว่ามะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน มีการบ่มเพาะสะสมความรู้ พัฒนายา ยาตัวแรกที่ใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว คนพัฒนาเพิ่งได้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลไปเมื่อต้นปีนี้เอง ถ้ามะเร็งเม็ดเลือดขาวมีลักษณะการกลายพันธุ์แบบนี้ กินยาวันละหนึ่งเม็ด เซลล์มะเร็งหายไปหมด เปลี่ยนโฉมหน้าการรักษามะเร็งไปเลย เป็นการรักษามะเร็งที่ดูลักษณะการกลายพันธุ์ก่อน แล้วเลือกยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะกับความผิดปกตินั้น คือออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งเป็นหลัก ไม่ใช่การลองให้เคมีบำบัดที่มีผลกับเซลล์ปกติด้วย
ผลข้างเคียงของการรักษาวิธีใหม่นี้ต่ำกว่ามาก การตอบสนองจำเพาะต่อมะเร็งเท่านั้น ในโลกมีองค์ความรู้แบบนี้มาสักระยะแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็สนใจเฉพาะมะเร็งที่เจอในประเทศตะวันตก ขณะที่ประเทศไทยหรือประเทศแถวเอเชีย ถึงจะมีคนไข้เป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน แต่การกลายพันธุ์ของยีนไม่เหมือนกัน
อย่างที่บอกว่าปัจจุบันคนไข้ไทยใช้วิธีการรักษาอ้างอิงประเทศตะวันตกทั้งสิ้น และส่วนใหญ่เป็นการรักษาไปก่อนแล้วดูผลการรักษาทีหลัง เราอยากให้คนไข้ไทยเข้าถึงวิธีการรักษาแนวใหม่ที่ดูจากลักษณะการกลายพันธุ์ในมะเร็ง เราจะเอาชิ้นเนื้อมะเร็งมาตรวจการกลายพันธุ์ ถ้าเราทราบลักษณะการกลายพันธุ์ที่พบเป็นแบบใด เราก็สามารถเลือกใช้ยาที่ตรงจุดได้ เราจะแจ้งผลตรวจให้แพทย์ผู้รักษาทันที เพื่อให้แพทย์สามารถใช้ข้อมูลในการเลือกสูตรการรักษาได้ตั้งแต่ต้น
ขณะเดียวกัน ข้อมูลการกลายพันธุ์ของคนไข้ไทยจะถูกสะสมไปเรื่อยๆ จำนวนมาก จนเกิดเป็นฐานข้อมูลของคนไข้ไทย ซึ่งมีประโยชน์กับคนไข้รายอื่นในอนาคตด้วย เพราะถ้าเราทราบว่าลักษณะความผิดปกติของยีนก่อมะเร็งในมะเร็งคนไทยเป็นแบบนี้ เหมือนหรือต่างจากคนต่างชาติอย่างไร สูตรยาที่เหมาะสมคืออะไร คนไข้ไทยรายใหม่ที่เป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน ก็จะสามารถใช้ข้อมูลนี้เลือกการรักษาได้เลย การตรวจก็จะพัฒนาให้ง่ายขึ้น เช่น คนไทยอาจตรวจแค่ 10ยีนนี้เท่านั้น แทนที่จะต้องตรวจหมดทั้งหมด 400-500 ยีน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ในอนาคตค่าใช้จ่ายในการตรวจจะลดลง เมื่อทุกคนให้การยอมรับว่าแนวทางนี้มีประโยชน์ ต่อไปการรักษามะเร็งแนวทางนี้จะเป็นมาตรฐานสำหรับคนไข้มะเร็งทุกคน
The MATTER : งานวิจัยจะเก็บข้อมูลยังไง
เราจะทำการตรวจการกลายพันธุ์ของชิ้นเนื้อมะเร็งจากคนไข้ทั้งหมด2,000คน ค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 บาทต่อคน ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ทุกคนต้องตรวจแบบนี้นะ บางคนเป็นมะเร็งระยะแรกมีผลการรักษามาตรฐานที่ดีมากอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจแบบนี้ ที่ผ่านมามีการตรวจแบบนี้ในโรงพยาบาลเอกชนบ้าง อยู่เฉพาะในกลุ่มคนไข้ที่มีฐานะ และใช้ข้อมูลเป็นประโยชน์สำหรับคนไข้นั้นคนเดียว น่าเสียดายที่ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลเป็นฐานข้อมูลของประเทศได้
The MATTER : ถ้างานวิจัยนี้ทำเสร็จ ได้ฐานข้อมูลลักษณะการกลายพันธุ์ของคนเป็นมะเร็ง 2,000 คนออกมา ข้อมูลนี้จะนำไปใช้ยังไง
ข้อมูลนี้มีประโยชน์มาก ไม่ใช่แค่คนไข้มะเร็งที่ศิริราชเท่านั้น ข้อมูลที่เกิดจากคนไข้ 2,000 คน ซึ่งมากพอที่จะถือเป็นตัวแทนของคนไทย ทำให้เราสามารถใช้ข้อมูลนี้กับคนไข้มะเร็งชาวไทยที่รักษาโรงพยาบาลไหนก็ได้ เราจะสร้างฐานข้อมูลกลางให้นำไปใช้ นอกจากนี้ฐานข้อมูลนี้ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนายาต้านมะเร็งใหม่ๆ ที่เหมาะกับคนไทย สมมติว่าเราจะวิจัยยาใหม่ซักตัวที่ออกฤทธิ์จำเพาะกับความผิดปกติของยีนกลายพันธุ์ เราจะพัฒนาสำหรับคนไทยได้ยังไง ถ้าไม่รู้ว่าการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งคนไทยคืออะไร ถ้ามีข้อมูลมากพอ บอกได้ว่ายีนนี้กลายพันธุ์บ่อย เราควรจะวิจัยหาการรักษาตรงจุดนี้ เป็นต้น
ที่ผ่านมาเราอาศัยยาที่พัฒนาจากต่างประเทศ ที่พัฒนาบนฐานข้อมูลของคนต่างชาติ คนส่วนใหญ่อาจจะมองไม่ออกว่าข้อมูลยีนมะเร็งของคนไทย มันมีค่ามาก เป็นสมบัติของประเทศเลยนะ
The MATTER : แล้วในอนาคต การตรวจแบบนี้จะเข้ามาอยู่ในสิทธิการรักษาของคนทั่วไปไหม
ผมเชื่อว่าสุดท้ายจะเข้าไปอยู่ในสิทธิการรักษา เริ่มต้นต้องมีคนกล้ามาทำก่อน แล้วแสดงข้อมูลให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นประโยชน์ เมื่อมีคนตรวจเยอะขึ้น มีการพัฒนาวิธีการตรวจให้ง่ายและถูกลง แล้วขยับขยายมาใช้ตรวจคนไข้ส่วนใหญ่ ก็จะเข้าสู่ชุดสิทธิการรักษา ขณะเดียวกัน ถ้าเรารู้ว่า ยารักษามะเร็งตัวนี้ใช้กับคนไข้แล้วได้ผลดี ยาก็อาจถูกบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติในที่สุด
The MATTER : อาจารย์เคยพูดว่า งานหมอคลินิกเหมือนเป็นนักสืบ งานวิจัยนี้ก็คล้ายกับการสืบเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลนั้น มองว่าการสืบครั้งนี้ท้าทายยังไงบ้าง
เรากำลังทำงานวิจัยที่ช่วยคนไข้โรคเดียวกันในภาพรวม ที่ผ่านมาผมเป็นหมอ ทำงานเหมือนเป็นนักสืบ เพื่อแก้ปัญหาคนไข้ทีละคน แต่งานวิจัยนี้จะไขความลับที่ช่วยคนไข้มหาศาลเลย ไม่ใช่ทั้งประเทศด้วยนะ อาจเป็นคนไข้ในอาเซียนที่มีลักษณะยีนคล้ายกัน หรือคนไข้ทั่วโลกที่มีการกลายพันธุ์เหมือนกัน
แต่การทำอะไรแบบนี้ได้ มันต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ มันไม่ได้สำเร็จในเวลาข้ามคืน ต้องอาศัยกำลังคน กำลังเงิน และปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะ แต่ผมว่ามันเหมือนการปลูกต้นไม้ยืนต้น เราลงเมล็ดวันนี้ อาจยังไม่เห็นผลวันนี้ แต่ถ้าลงเมล็ดได้ถูก รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ดูแลให้มันเติบโตไปเรื่อยๆ ดอกผลที่เกิดตามมาจะเป็นประโยชน์มหาศาล ทั้งคนไข้ในปัจจุบันและคนไข้ในอนาคตอีกมาก
ร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนงานวิจัยในการวางรากฐานการรักษามะเร็งอย่างแม่นยำได้ที่เลขที่บัญชี901-7-05999-0ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี “ศิริราชมูลนิธิ กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง” หรือสนับสนุนของที่ระลึกได้ที่ www.sicafund.com (ใบเสร็จสามารถลดหย่อนภาษีได้)โทร 02-419-4471-4