สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นฝาแฝด การเกิดเป็นแฝดดูเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากๆ
คนสองคนหรือมากกว่านั้น ที่มักลืมตาดูโลกพร้อมๆ กัน แถมบางครั้งหน้าตาแทบจะเหมือนกัน บางครั้งก็ต่างกันไป ความมหัศจรรย์เหล่านี้มักมาพร้อมกันกับความเชื่อมากมาย พวกเขานิสัยเหมือนกันจริงรึเปล่า? หรือว่าเขาอ่านใจกันได้อย่างที่เขาว่ามั้ย? แล้วถ้าอยากมีลูกแฝดเราสามารถบังคับร่างกายได้หรือเปล่า?
บางความเชื่อก็มีหลักฐานสนับสนุน แต่บางความเชื่อถึงไม่มีหลักฐานสนับสนุนก็แพร่กระจายออกไปให้คนเชื่อมากมาย ลักษณะความเป็นแฝดไหนมีหลักฐาน มีความเป็นไปได้ หรือไม่มีบ้าง?
‘ฝาแฝดนิสัยเหมือนกัน?’
มีความเป็นไปได้
แม้ว่าในหลายๆ ครั้งเมื่อโตไปฝาแฝดจะเติบโตไปเป็นตัวของตัวเอง ฝาแฝดหลายๆ คู่ดูมีความคิดและความชอบคล้ายกัน อาจจะรสนิยมการแต่งตัว หรือเป็นคนที่มีมุมมองต่างๆ คล้ายกัน ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคลื่นสมองมากมายยังเล่าว่าแฝดมีคลื่นสมองใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ความคล้ายโดยมากไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมแต่มักมาจากประสบการณ์ร่วมจากการเติบโตมาอย่างใกล้ชิดกัน พ่อแม่คนเดียวกัน รู้จักกันตั้งแต่วัยเด็ก ฯลฯ และวัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเรียนรู้ของคนคนหนึ่ง
แต่ถ้าอย่างนั้นแปลว่าก็เหมือนการมีพี่น้องเฉยๆ โดยไม่ได้เป็นแฝดรึเปล่า? ไม่เสมอไป เพราะความเป็นแฝดนั้นคือการเรียนรู้จากผู้ปกครองในวัยเดียวกันโดยไม่มีระยะเวลาอย่างน้อย 9 เดือนคั่นกลาง และทั้งคู่จะถูกเลี้ยงด้วยแนวคิดเดียวกันเพราะพวกเขาจะอยู่ในช่วงวัยและช่วงชีวิตเดียวกัน
‘ฝาแฝดใจเชื่อมกัน?’
ไม่มีหลักฐานยืนยัน
ความเจ็บปวดของคนคนหนึ่งส่งไปยังอีกคน การสามารถพูดต่อประโยคได้ หรือการที่อารมณ์ของคนหนึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่อีกคน โดยมากแล้วพลังจิตเชื่อมโยงฝาแฝดเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อ ไม่ว่าจะภาพยนตร์ หนังสือ หรือแม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ที่ขายภาพลักษณ์ความเป็นแฝด ในความเป็นจริงแล้วยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สามารถยืนยันความมีอยู่ของพลังจิตฝาแฝดได้
แต่ก็ไม่ได้หมายความจะไม่มีคำอธิบายเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เล่านี้ บ่อยครั้งความใจเชื่อมโยงกันของฝาแฝดไม่ได้มาจากพลังจิต โดยนักจิตวิทยาแนนซี ซีกัล (Nancy Segal) เขียนในหนังสือของเธอเกี่ยวกับความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฝาแฝด Twin Mythconceptions ว่าความเชื่อมโยงเหล่านี้เป็นกระจกสะท้อนถึงความรักและความเป็นห่วงเป็นใยที่แฝดมีให้กันเสียมากกว่า
‘อาหารมีผลต่อการเกิดลูกแฝด?’
มีความเป็นไปได้
อาหารบางประเภท เช่น มันเทศขาวที่พบมากในไนจีเรียให้สารคล้ายคลึงเอสโตรเจนที่สามารถนำไปสู่การกระตุ้นการตกไข่หลายใบ ที่อาจนำไปสู่การเกิดฝาแฝดได้ หนึ่งในหลักฐานที่อาจมีความเชื่อมโยงมาจากการเกิดฝาแฝดจำนวนมากในเมืองอารูบา ประเทศไนจีเรีย
อย่างไรก็ดี อาจมีอีกหลาหลายปัจจัยให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวแนนซี ซีกัล นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับฝาแฝดกล่าว “ฉันไม่แนะนำให้ใครวิ่งไปซื้อมันเทศขาวมากิน เนื่องจากมันอาจมีปัจจัยทางชีววิทยาที่ผู้หญิงในพื้นที่นั้นๆ มี เช่นระดับฮอร์โมนที่ไม่สามารถทำตามได้”
‘ฝาแฝดชายหญิงหน้าตาเหมือนกันได้?’
ไม่จริง
ในขณะที่แฝดหน้าตาเหมือนกันหรือ monozygotic twins เกิดจากไข่ใบเดียวที่ผสมพันธุ์กับเสปิร์มหนึ่งตัวก่อนแยกออกเป็นสอง แฝดชายหญิงเกิดจากไข่สองใบและอสุจิสองตัวผสมพันธุ์กัน ซึ่งเราเรียกว่า dizygotic twins ฉะนั้นหน้าตาของทั้งคู่จะแตกต่างกันออกไป พวกเขามียีนส์ร่วมกันราวๆ 50% เท่านั้น โดยงานวิชาการในประเด็นนี้ได้รับการศึกษาและเผยแพร่ในหลากหลายแหล่ง หนึ่งนั้นคือเว็บไซต์ Twin Research โดยมหาวิทยาลัยโอซากาที่รวบรวมมันพร้อมอธิบายทุกประเด็นที่พวกเขาศึกษาผ่านอินโฟกราฟิกเข้าใจง่าย
‘ฝาแฝดมีดีเอ็นเอเหมือนกัน’
ไม่จริงทั้งหมด
ฝาแฝดมีโครงสร้างดีเอ็นเอเหมือนกันจนบางครั้งไม่อาจแยกได้ว่าใครเป็นใครผ่านการตรวจดีเอ็นเอ แต่เมื่อเทคโนโลยีและพื้นความรู้เกี่ยวข้องกับพันธุศาสตร์ขยายและพัฒนา เราเริ่มมีวิธีแยกฝาแฝดออกจากกันผ่านโครงสร้างที่ติดอยู่กับดีเอ็นเอที่เรียกว่า Epigenetics
Epigenetics คือศาสตร์ที่อยู่เหนือยีนส์ และความเข้าใจใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับศาสตร์ดังกล่าวอาจทำให้เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทางชีววิทยาใหม่
‘แฝดคนละฝามีโอกาสมีลูกแฝดมากกว่าคนอื่น’
มีความเป็นไปได้
แฝดคนละฝาเกิดจากไข่สองใบ และการมีไข่สองใบสืบทอดผ่านพันธุกรรมได้ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่ผู้หญิงจากครอบครัวที่มีแฝดเทียมจะมีลูกเป็นแฝดเทียมเช่นเดียวกัน
ในการศึกษาโดย ฮัมดี มบาเรก (Hamdi Mbarek) นักพันธุศาสตร์โมเลกุลจากมหาวิทยาลัย Vrije Universiteit, เนเธอแลนด์ที่รวมข้อมูลจากแม่ที่มีลูกแฝดเทียมจำนวน 2,000 คนมาเทียบเคียงกับผู้หญิงผู้ไม่เคยมีลูกแฝดและคนที่มีลูกเป็นแฝดแท้ พบว่าในแม่ของลูกแฝดเทียมมีฐานดีเอ็นเออยู่ประเภทหนึ่งชื่อ Single Nucleotide Polymorphisms แตกต่างจากผู้อื่นอยู่ 2 ตัว ซึ่งหากมีทั้ง 2 นั้นจะมีโอกาสการมีลูกเป็นแฝดเทียมอยู่ที่ 29%
อ้างอิงข้อมูลจาก