หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะต่างเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีจะช่วยผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ
ระบบการศึกษาที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่าสายสามัญนั่นคือสายอาชีพ หรือที่เรียกว่า ‘ระบบอาชีวศึกษา’ ที่มุ่งเน้นไปยังภาคปฏิบัติ เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เรียกร้องให้แก้ปัญหาจำนวนนักเรียนต่ำกว่าเป้า และต้องการจะปรับสัดส่วนการรับเด็กสายสามัญต่อสายอาชีพให้ได้ 50 : 50
Young MATTER จึงขอพาไปดูระบบอาชีวศึกษาของนานาประเทศ ที่ช่วยลดปัญหาภาวะว่างงานมาแล้ว และมีนักเรียนสนใจเข้าเรียนกันเป็นจำนวนมาก
1. เยอรมนี ต้นแบบสายอาชีพที่ผลิตแรงงานตรงตามตลาดต้องการ
ระบบอาชีวศึกษาของเยอรมนีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เยอรมนีผ่านวิกฤตด้านเศรษฐกิจไปได้หลายต่อหลายครั้ง เพราะเป็นระบบการศึกษาที่ผลิตแรงงานตรงตามตลาดต้องการ ทำให้นักเรียนอาชีวะมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งในตลาดแรงงานของเยอรมนีมีผู้จบอาชีวศึกษากว่าร้อยละ 54 ส่งผลให้อัตราการว่างงานของประชากรอายุระหว่าง 14-25 ปี อยู่เพียงร้อยละ 7.8 ซึ่งต่ำที่สุดในยุโรป เลิศ!
การเข้าศึกษาต่อในระบบอาชีวะศึกษาของเยอรมนี เริ่มจากนักเรียน Grade 10 (หรือประมาณชั้น ม.4) จะเลือกสมัครเข้าเรียนวิชาชีพที่สนใจโดยทำสัญญากับบริษัทในฐานะนักเรียนฝึกงาน ที่สำคัญได้เงินเดือนด้วย บริษัทจะส่งนักเรียนไปศึกษายังโรงเรียนสายอาชีพ (Berufsschule) ในบริเวณใกล้กับบริษัท 1-2 วัน ควบคู่กับการเรียนรู้ภาคปฏิบัติในบริษัท 3-4 วัน ข้อแตกต่างที่สำคัญจากการฝึกงานทั่วไป คือ ทุกบริษัทจะมีผู้ฝึกอบรมมากประสบการณ์ที่ผ่านการรับรองจากส่วนกลาง จึงทำให้นักเรียนได้รับความรู้ภาคปฏิบัติที่ได้มาตรฐานเดียวกัน การศึกษาระบบอาชีวะในเยอรมนีจึงกลายมาเป็นต้นแบบให้หลายๆ ประเทศนำไปปรับใช้ รวมถึงประเทศไทยด้วยจ้า
2. ออสเตรเลีย หลักสูตรหลากหลาย ใกล้ชิดสถานประกอบการ
ระบบอาชีวศึกษาในออสเตรเลีย เป็นการจัดการศึกษาสายอาชีพที่มีความหลากหลายและมีคุณภาพสูงในระดับแนวหน้าของโลก ทำให้สายอาชีพเป็นที่นิยมอย่างมาก หลักสูตรจะมุ่งเน้นไปที่ทักษะและความสามารถในการปฏิบัติงาน สามารถถ่ายโอนไปยังระดับการศึกษาที่สูงกว่าได้ง่าย ปัจจุบันออสเตรเลียมีสถาบันอาชีวะศึกษากว่า 4,000 สถาบัน และเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับเอกชน
สถาบันอาชีวศึกษาตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เปิดสอนหลากหลายหลักสูตรตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี ได้แก่ ธุรกิจการก่อสร้าง เทคโนโลยีสารสนเทศ การออกแบบ การท่องเที่ยว การโรงแรม เกษตรกรรม แฟชั่น ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีทางเลือกให้ผู้เรียนมากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถย้ายไปเรียนหรือไปฝึกอบรมในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือในสถานประกอบการได้ สำหรับการย้ายที่เรียนระหว่างการอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยจะขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันเหล่านี้ แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนได้อย่างกว้างขวางขึ้น
3. อังกฤษ ทักษะปฏิบัติการเด่นเพื่อเป็นอาชีวะระดับโลก
สถาบันอาชีวศึกษาในอังกฤษมีทั้งของรัฐบาลและเอกชน เปิดสำหรับนักเรียนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปที่ไม่ต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ต้องการคุณวุฒิวิชาชีพต่างๆ ในการทำงานสายอาชีพ เรามักได้ยินว่าอังกฤษเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับโลก ทั้งนี้รัฐบาลอังกฤษมีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดวิทยาลัยอาชีวะที่มีคุณภาพระดับโลกขึ้นเช่นกัน เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างความภูมิใจในสถาบันการศึกษา และหวังให้นักเรียนที่ไม่ต้องการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศในทักษะปฏิบัติการมากกว่าทักษะด้านวิชาการ
โดยหลักสูตรอาชีวศึกษาของอังกฤษนั้นมีคุณวุฒิวิชาชีพ 2 ประเภท คือ ‘GNVQ’ (General National Vocational Qualification) เป็นการศึกษากึ่งสายอาชีพ คือ เรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และ ‘NVQ’ (National Vocational Qualification) เป็นวุฒิการศึกษาสายอาชีพและการฝึกปฏิบัติวิชาชีพเฉพาะ จะแตกต่างกับแบบแรกตรงผู้ว่าจ้างสหภาพแรงงานและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้นๆ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการศึกษา
4. นิวซีแลนด์ อาชีวศึกษาแนวหน้า เน้นพัฒนาด้านฝีมือ
ระบบการศึกษาในนิวซีแลนด์ ถือว่าอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก ทั้งในระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย รวมไปถึงอาชีวศึกษา สถาบันโพลีเทคนิค (Polytechnic) คือสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเปิดให้การศึกษาอบรมสายวิชาชีพ เน้นด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการพาณิชย์ มีสาขาวิชาให้เลือกมากถึง 150 สาขา นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรอบรมระยะสั้น (Short Courses) และหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษอีกด้วย หลักสูตรทั้งหมดเปิดสอนในเดือนกุมภาพันธ์-ธันวาคมของทุกปี ระบบนี้รับนักเรียนต่างประเทศด้วย โดยผู้สมัครต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPA) 2 – 2.5 และสอบ TOEFL ได้คะแนนอย่างต่ำ 500 หรือ IELTS 5.0
5. สิงคโปร์ มีหลักเกณฑ์คัดผู้เรียนอย่างชัดเจน เน้นภาคปฏิบัติ
มาทางฝั่งเอเชียกันบ้าง วิทยาลัยอาชีวะของสิงคโปร์มี 5 แห่งคือ Singapore Polytechnic, Ngee Ann Polytechnic, Temasek Polytechnic, Republic Polytechnic และ Nanyang Polytechnic สำหรับการเข้าศึกษาต่อในระบบอาชีวะนั้น นักเรียนจะต้องได้ผลคะแนนสอบ GCE ‘O’ Level คล้ายๆ การสอบ O-net บ้านเรา ในเกณฑ์ดีอย่างน้อย 5 วิชาจาก 7 จึงจะสามารถเลือกเรียนต่อสายอาชีพในวิทยาลัยอาชีวะได้ โดยมีหลักสูตรการเรียน 3 ปี ซึ่งนักเรียนจะได้ฝึกภาคปฏิบัติในชั้นปีที่ 3 และเมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตร นักเรียนสามารถสมัครงานได้ทันที หรือเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 ดังนั้นนักเรียนที่สามารถเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยอาชีวะของสิงคโปร์ได้จะต้องมีผลคะแนนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดี – ดีมาก
6. ญี่ปุ่น สร้างความชำนาญเฉพาะด้าน สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อเรียนจบ
ระบบวิทยาลัยอาชีวศึกษาในญี่ปุ่นมุ่งยกระดับการศึกษา ให้ผู้เรียนได้รับความรู้ เทคนิค และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ ส่งเสริมให้มีความชำนาญเฉพาะด้าน เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษานำไปประกอบอาชีพได้ทันที ในปัจจุบันมีวิทยาลัยอยู่ทั้งหมด 3,435 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเอกชน แต่น่าเสียดายยังไม่มีหลักสูตรที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ เรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้นนะจ๊ะ
มีหลักสูตรเปิดสอน 8 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรม, ศิลปวัฒนธรรมและศิลปศาสตร์ , การแพทย์และพยาบาล, การศึกษาและสังคมสงเคราะห์, สาธารณสุข, พาณิชยศาสตร์, คหกรรม และเกษตรศาสตร์ เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยทั่วไปที่ต้องใช้เวลาเรียนถึง 4 ปี วิทยาลัยอาชีวศึกษาใช้เวลา 2-3 ปีเท่านั้น
ผู้สมัครจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ขั้นตอนการสมัครเริ่มจากยื่นใบสมัคร สอบตามสาขาที่เราเลือก สอบสัมภาษณ์ เขียนเรียงความ สอบความถนัด สอบภาคปฏิบัติและสอบทักษะภาษาญี่ปุ่น อาจดูยุ่งยากไปสักนิด แต่ก็ถือว่าเป็นมาตรฐานในการคัดเลือกผู้เรียนของเขาจ้า
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.thaibizgermany.com/de/vocational
dtan.thaiembassy.de