การศึกษาคือหนึ่งในปัญหาที่หลายๆ คนก็เห็นมาตลอดว่ากำลังย่ำแย่มาตลอด มีการบอกจะปฏิรูปการศึกษาทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล แต่นับวันเราก็ยิ่งเจอแต่ปัญหาที่หนักขึ้นเรื่อยๆ
ครูขาดแคลน ก็คืออีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในไทย ซึ่งปัญหานี้นอกจากจะส่งผลให้ครูคนหนึ่งต้องดูแลนักเรียนมากเกินกว่าจะรับไหว หรือคุณภาพของครูผู้สอนที่อาจจะยังไม่มีเกณฑ์แน่นอน ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือ โรงเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่มีครูเข้าไปสอน อาจด้วยเรื่องของค่าตอบแทน การเดินทาง ทรัพยากร และปัจจัยหลายอย่างๆ
ดังนั้นการพยายามทดแทนนการขาดแคลนครูผู้สอนผ่านการเรียนทางไกลจึงเกิดขึ้น แต่ว่ามันช่วยตอบโจทย์จริงแค่ไหน และจะแก้ปัญหาการศึกษาได้ยังไงหากเนื้อหาการสอนนนั้นเกิดขึ้นอย่างที่ใครหลายๆ คนได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับว่าเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลต้องพบการการสอนและข้อมูลที่ผิดพลาด
ท้ายที่สุดแล้ว DLTV จะช่วยให้การศึกษาไม่เกิดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยแค่ไหน?
จุดเริ่มต้น DLTV
หลายคนอาจเคยได้ยินการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมกันมาไม่มากก็น้อย เพราะมักได้รับการพูดถึงว่าเข้าไปช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรทางด้านการศึกษา ซึ่งความเป็นมามูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมนั้นมีการเผยแพร่การออกอากาศครั้งแรกในปีพ.ศ. 2538 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และปัจจุบันผู้ดูแลมูลนิธิฯ คือ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนุวรรณ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตประธานกรรมการคุรุสภา ในสมัยที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่แรก
โดยในเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ ได้บอกจุดประสงค์ไว้ว่า “ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น ครูไม่ตรงสาขา ของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล มีโรงเรียนขนาดเล็กและตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล อาทิ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 15,000 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 6,000 แห่ง และอื่น ๆ ทำให้ครูและนักเรียนได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นกว่า 2,200,000 คน ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม”
จากที่มีการเริ่มเรียนออนไลน์กันไปในนวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา การเรียนการสอนนั้นมีการใช้ทั้งเทปบันทึกเก่าสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งทางมูลนิธิชี้แจงว่าเป็นเทปบันทึกการสอนในปีการศึกษา 2562/1 ร่วมกับการทำสื่อการสอนใหม่ 30 นาทีให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
แต่ก็อาจจะเห็นกันแล้วว่าในวันแรกที่เปิดการเรียนการสอนออนไลน์นั้น เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง?
เนื้อหาผิด หลักสูตรไม่อัพเดต และการสื่อสารทางเดียว
ปัญหาใหญ่ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างคือเรื่องความถูกต้องของเนื้อหา ทั้งการใช้ค่ะ/คะ ผิด รวมไปถึงวิชาคณิตศาสตร์ที่คำผิดบ้าง ใช้สูตรผิดบ้าง หรือภาษาอังกฤษที่ใช้ comma แทน full stop บ้าง รวมไปถึงการออกเสียง (pronunciation) ที่ผิดเพี้ยนจนทำให้ฟังยากและผิดหลักการออกเสียงภาษาอังกฤษ หรือบางทีใบงานก็ให้คำตอบที่ชวนงง
ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามถึงการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและวิธีการสอนว่ามีขั้นตอนดูแลก่อนออกอากาศมากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อสื่อการสอนนี้เผยแพร่ออกไป ก็ทำให้เด็กๆ อาจได้รับข้อมูลและจดจำกันแบบผิดๆ และการแก้ไขทำความเข้าใจก็จะยากมากขึ้นเพราะอาจทำให้เด็กๆ สับสน
ยังไม่รวมไปถึงเรื่องทัศนะในการมองโลกแบบผูกขาดจากศูนย์กลาง เช่นการสอนว่าศาสนาพุทธคือศาสนาประจำชาติ ซึ่งส่วนนี้อาจพูดได้ว่าเป็นปัญหาหลักของหลักสูตรการศึกษาไทยที่ผูดขาดความจริงเอาไว้ และไม่มีการสอนให้เด็กๆ ได้คิดวิเคราะห์อย่างที่ควรจะเป็น และยิ่งนึกถึงนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล หรือตามชายแดนที่มีความหลากหลายทางศาสนา ชาติพันธุ์ ยิ่งสะท้อนปัญหาการผูกขาดความรู้แบบรัฐไว้แบบเดียวไปพร้อมกันด้วย
และตอนนี้แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นการเรียนออนไลน์ ที่ภาพในหัวของใครหลายๆ คนอาจนึกถึงการสอนผ่าน video call ที่นักเรียนกับคุณครูจะได้สนทนาโต้ตอบ มีคำถามไม่เข้าใจก็สามารถสอบถามได้ทันที จากที่ The MATTER ไปสอบถามความเห็นของเด็กๆ ที่ได้ทดลองเรียนพบว่า หลายคนเรียนตามไม่ทัน ไม่เข้าใจ บางคนถึงขั้นเครียดและไม่อยากเรียนต่อ บวกรวมกับภาระการบ้านที่เพิ่มขึ้นจนทำไม่ทัน โชคดีของเด็กๆ ในเมืองที่อาจจะมีครูที่พร้อมจะช่วยเน้นย้ำเรื่องบทเรียน ถามฟีดแบ็คจากเด็กๆ รวมถึงช่วยทบทวนบทเรียนให้อีกครั้ง แก้ไขความเข้าใจให้เด็กๆ ได้อยู่ แต่ถ้าเป็นเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งขาดแคลนครูเข้าไปดูแล พวกเขาจะทำอย่างไร?
ซึ่งนี่คือกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ที่หายไปก็เป็นปัญหา เพราะการเรียนทางไกลนั้นยิ่งเป็นโจทย์ยากและโจทย์สำคัญของคนสอนรวมถึงมูลนิธิฯ ที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ ‘เด็กที่ดูจากหน้าจอ’ สนใจเรียน ไม่ใช่เพียงการอัดวิดีโอบรรยายไปเรื่อยๆ และบอกให้เด็กๆ ที่ดูผ่านจอคิดตาม หรือลองตอบ แล้วก็ปฏิเสธการมีตัวตนของเขาหันไปพูดคุยกับเด็กในห้องเรียนแทน สิ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้เด็กที่ต้องดูจากหน้าจอรู้สึกเป็นส่วนเกินได้ ยิ่งเด็กเล็กที่อาจจะต้องการความสนใจจากผู้สอนยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกเป็นคนนอกและอาจส่งผลต่อความสนใจในการเรียนในอนาคต
ในการออกแบบการเรียนนั้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดว่าเมื่อนักเรียนที่ดูผ่านจออยากสื่อสาร เขาสื่อสารกลับไม่ได้ และแม้จะมีครูดูแลอยู่จริงในพื้นที่ แต่เพราะเขาไม่มีความรู้ในบางวิชาเพียงพอ จะทำยังไงให้เด็กไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง หรือถ้า DLTV ไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ กระทรวงศึกษาธิการควรมีแผนนโยบายอื่นที่จะแก้ปัญหาครูขาดแคลนอีกหรือไม่ แทนที่จะหวังพึ่งพา DLTV อย่างเดียว?
“เด็กคืออนาคตของชาติ” ผู้ใหญ่ทุกคนล้วนบอกไว้ แต่หลังจากปัญหาการสอนออนไลน์ผ่านระบบ DLTV ก็เผยให้เห็นสิ่งที่ซุกอยู่ใต้พรมมาช้านาน ทั้งการสอนแบบผิดๆ ศักยภาพของครูในการสอน ที่ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า กว่า 25 ปีทีผ่านมา เด็กๆ ใน ‘โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล’ นั้นต้องพบเจอกับการเรียนการสอนที่ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องมานานแค่ไหน และพวกเขาได้รับความรู้แบบใดไปบ้างในการเรียนทางไกลเช่นนี้ เพราะ DLTV นั้นต้องการเข้ามาแก้ปัญหาครูขาดแคลน ดังนั้นจึงไม่มีครูที่จะคอยมาชี้แนะ แก้ไข ทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้เด็กๆ ได้ในทุกพื้นที่ แล้วหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย?
อ้างอิงข้อมูลจาก