“เราเหงาและเครียดมากจนรู้สึกว่า เราเคยชอบวาดรูปหนิ เราลืมโมเมนต์ตรงนั้นไปรึเปล่า จุดที่ตอนเด็กๆ เราไม่คิดอะไร วาดแล้วแฮปปี้ แต่พอยิ่งโตยิ่งวาด แล้วต้องมาคิดว่างานเราจะสำเร็จ คนจะชอบไหม กลายเป็นว่าเราตีกรอบให้ตัวเอง เราเลยรู้สึกว่าเปลี่ยนความคิดแล้ววาดเทเลพอร์ตขึ้นมา”
นี่คือคำบอกเล่าที่ศิลปินสตรีทอาร์ตอย่าง ‘ก้อง–กันตภณ เมธีกุล’ พูดถึงภาวะที่เขาต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวในวันที่ต้องตัดสินใจจากประเทศไทย และไปเอาดีทางด้านศิลปะในมหานครนิวยอร์ก ความเครียดและความเหงากระตุ้นความรู้สึกคิดถึงบ้าน ความรู้สึกที่อยากหนีไปที่ไหนสักที่หนึ่ง ก้องจึงหยิบเอาตรงนั้นมาวาดเป็นภาพตัวละครมุดเข้าหลุมดำ เทเลพอร์ตไปยังที่ต่างๆ
ครั้งที่แล้ว The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับก้องถึงผลงานสตรีทอาร์ตในนิวยอร์ก คราวนี้เขากลับมาจัดแสดงงานศิลปะของตัวเองในไทย เป็นการรวบรวมผลงานวาดกว่า 30 ชิ้น ในซีรีส์ ‘TELEPORT’ ที่ Warehouse 30 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคมนี้
The MATTER : ไปเริ่มต้นใช้ชีวิตเป็นศิลปินที่นิวยอร์กได้ยังไง
เราลาออกจากงานที่ไทยก่อน ตอนแรกเป็นครีเอทีฟโฆษณา เลยตัดสินใจไปเป็นศิลปิน ก็คิดว่าถ้าไปอยู่ต่างประเทศน่าจะได้อยู่กับตัวเองเยอะ เพราะตอนแรกวาดรูปอยู่แล้วเลยเอางานที่ตัวเองวาดไปให้เพื่อน ให้พี่ดู เขาก็บอกว่างานเราคล้ายๆ แบบป็อปอาร์ต มีความเป็นอเมริกัน คิดว่านิวยอร์กน่าจะเหมาะ เลยเลือกไปนิวยอร์ก ตอนแรกไม่ได้ภาษา พอไปก็ไปเรียนภาษาก่อน เราไม่มีเพื่อน บินไปคนเดียว เพื่อนๆ ก็จะน้อยลง เลยได้อยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น ใช้ชีวิตคนเดียว ไม่มีคอนเนกชั่น
The MATTER : เริ่มจากอะไรมาก่อนกว่าจะพัฒนาเป็นผลงาน TELEPORT
ตอนแรกเราวาดรูปไปเรื่อยๆ คิดว่าวาดอะไรแล้วคนจะชอบ กลายเป็นว่าเรายึดติดกับคนอื่น ลืมว่าเราเป็นอะไร เราอยากวาดอะไร หลงทางอยู่ 1 ปี กอปรกับเป็นภาวะที่ไม่มีเพื่อน เพื่อนน้อย เพราะอยู่ที่ไทยมา 20 กว่าปี ก็มีแต่เพื่อนคนไทย เครียดเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย เพราะค่าครองชีพสูง คิดถึงอนาคตเพราะเมื่อก่อนเราเคยมีเงินเดือน ตอนนี้เราไม่มีเงินเดือนแล้ว
พอเครียดถึงจุดหนึ่งเราก็นึกขึ้นได้ว่า เราวาดอะไรที่ฟูลฟีลตัวเองดีกว่า ไหนๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ขอวาดอะไรที่อยากบอกคนอื่นผ่านตัวเองจริงๆ เลยเป็นที่มาของ TELEPORT ซึ่งตอนนั้นเรารู้สึกว่า อยากออกจากโมเมนต์ตรงนี้ แต่ก็ไม่ได้อยากกลับไทย เพราะรู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แต่อยู่ที่นี่ก็ไม่มีความสุข อยากออกไปไหนสักที่ ที่ที่เรามีความสุข ที่ที่เราจะรู้สึกว่าเราทำได้แล้ว ก็เลยวาดเป็นหลุมดำ เราไม่บอกว่าที่นั้นคือที่ไหน แต่ให้คนจินตนาการเอา เหมือนเอาตัวการ์ตูนของเรามุดลอดเข้าไป
The MATTER : ศิลปินและสังคมที่นิวยอร์กกับไทยต่างกันไหม
เราว่าไม่ต่างกันมาก สุดท้ายศิลปินก็ต้องอยู่กับตัวเอง รู้ว่าเราอยากวาดอะไร ใช้เวลากับตัวเองเยอะๆ นิวยอร์กอาจมีมุมที่วุ่นวายกว่า ชีวิตเร่งรีบกว่า ตอนนี้ประเทศไทยจากที่เราเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อนๆ ชอบงานอาร์ตเยอะขึ้นมาก แกลลอรี่เยอะขึ้น คนเอางานศิลปะมาผสมเยอะ แต่นิวยอร์กค่อนข้างเยอะกว่าเหมือนเขาเสพอาร์ตเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่าคนให้ความสนใจกับศิลปะมากกว่า
The MATTER : สไตล์ตอนแรกกับตอนนี้ต่างกันมาก อะไรเป็นจุดที่ทำให้ผลงานพัฒนาขึ้น
ตอนแรกเราต้องการสื่อแมสเซจง่ายๆ ผ่านตัวการ์ตูนขาวดำ มินิมอล ป็อปมากๆ เป็นคาแรคเตอร์ที่จับต้องได้ แต่ทำไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเรา deep เข้าไปในหลุมดำของเรามากขึ้น จากตอนแรกอยากเทเลพอร์ตไปที่อื่น เทเลพอร์ตไปทะเล ไปหาแม่กลับแล้วมาทำงานต่อ กลายเป็นว่าเราคิดถึงเรื่องหลายๆ อย่าง เช่น วาร์ปไปแล้วเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เหมือนเป็นมิติที่โลกไม่ได้เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน หรือวาร์ปไปในความคิดของคนอื่นได้ก็คงจะดี กลายมาเป็นซีรีส์งาน paint ที่พูดถึงการเทเลพอร์ตที่มากกว่าพื้นที่ มิติ หรืออาจจะเข้าไปในจิตใต้สำนึกของคน
The MATTER : ถ้าวาร์ปได้อยากไปที่ไหน
เราอยากวาร์ปไปในความคิดคน อยากรู้ว่าเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า เขาเป็นคนยังไงกันแน่ เพราะจิตใจคนมันดูยาก เช่นบางทีเขาอาจจะดีกับเรา แต่ลึกๆ เขาไม่ชอบอะไรเรารึเปล่า หรือเขาดูไม่น่าจะไม่น่าดี แต่จริงๆ เขาอาจเป็นคนจิตใจดีก็ได้ เราอยากวาร์ปเข้าไปภายในจิตใจของคน
The MATTER : อยู่ที่นิวยอร์กใช้ศิลปะเยียวยาใจยังไง
เราเหงาและเครียดมากจนรู้สึกว่า เราเคยชอบวาดรูปหนิ เราลืมโมเมนต์ตรงนั้นไปรึเปล่า จุดที่ตอนเด็กๆ เราไม่คิดอะไร วาดแล้วแฮปปี้ แต่พอยิ่งโตยิ่งวาด แล้วต้องมาคิดว่างานเราจะสำเร็จ คนจะชอบไหม กลายเป็นว่าเราตีกรอบให้ตัวเอง เราเลยรู้สึกว่าเปลี่ยนความคิดแล้ววาด TELEPORT ขึ้นมา สุดท้ายจะบอกว่า เราเป็นอิสระกับตัวเองนะ อย่าให้สังคมหรือว่าสิ่งที่เราเจอมาบีบเรา เรารู้สึกว่าได้กลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง
The MATTER : เห็นว่าในงานนิทรรศการครั้งนี้ไม่ได้มีแค่รูปวาดอย่างเดียว มีการใช้ประติมากรรม ทำไมถึงเลือกที่จะใช้รูปปั้นมาจัดแสดงในงานด้วย
เราไม่อยากจำกัดว่าเราแค่เป็นคนวาดรูป เราอยากมีรูปปั้นมานานมากแล้ว พอได้โอกาสมาจัดแสดงที่ไทย และเป็นงานใหญ่ครั้งแรก เลยขอมีรูปปั้นแล้วกัน และรูปปั้นก็เล่าคอนเซ็ปต์ได้ชัดเจน เหมือนคนคนนึงวาร์ปออกมา จากประตูมิติ แล้วเป็นกระจก คนมองไปก็สะท้อนเห็นหน้าตัวเอง แต่เราไม่รู้ว่าลึกลงไปคืออะไร
The MATTER : ภาพไหนที่รู้สึกว่ามีความหลังกับมันมากที่สุด
ภาพ Golden pool เป็นบ่อน้ำสีทอง รอบแรกวาดเป็นสตรีทอาร์ตที่นิวยอร์กก่อน เกี่ยวกับความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินทอง ตอนนั้นเรารู้สึกว่านิวยอร์กเป็นเมืองใหญ่เหมือนกรุงเทพ คนไขว่คว้าหาสำเร็จจนลืมความสุขของตัวเองไป เราเลยสร้างบ่อทองขึ้นมาและมีคนวาร์ปเข้าวาร์ปออกอยู่ในนั้น ถ้าคนไหนติดกับอยู่กับมันเขาก็ออกมาไม่ได้ เราวาดเพื่อเตือนตัวเองด้วย และเตือนโลกที่เป็นทุนนิยม พอได้โอกาสมาแสดงที่ Warehouse 30 ก็เลยวาดบนลงแคนวาสอีกทีนึง
The MATTER : งานนิทรรศการครั้งนี้คาดหวังอะไรกับคนที่มาดู
อยากให้คนมาแล้วได้อะไรกลับไปด้วย เกี่ยวกับเรื่องอิสระทางด้านความคิด และแง่มุมที่เราแทรกไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุติธรรม ความรัก ความเท่าเทียมทางเพศ สีผิว มันเป็นการเอาความคิดของเราหลุดออกจากกรอบไปด้วยกัน
ติดตามผลงานของ ‘ก้อง–กันตภณ เมธีกุล’ ได้ที่ : www.instagram.com/gongkan