คุณผิวปากเป็นหรือเปล่า? ผิวปากเป็นทำนองเพลงได้ไหม หรือแค่เอาไว้แซวหญิงเป็นพอ?
การผิวปากที่ดูเหมือนไร้สาระในยุคดิจิทัลซึ่งคุณใช้มือถืออย่างติดมือ แต่ในทุกวันนี้ยังมีชุมชนเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 70 ชุมชนทั่วโลก ที่ใช้การผิวปากในการสื่อสารอย่างจริงจังไม่ต่างจากภาษาพูด น่าเสียดายที่มันกำลังจะเลือนหายไปตามกาลเวลา หากไม่มีใครทำความรู้จักมันเลย
‘ภาษาผิวปาก’ (Whistled Language) หรือรู้จักกันในนาม ‘ภาษาวิหค’ เพราะมนุษย์นั้นพูดได้ราวกับนก และเราก็ทำได้ดีซะด้วย
ในวาระที่เดือนกุมภาพันธ์นี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ให้ความสำคัญของ ‘ภาษาแม่’ ของทุกอารยธรรม จึงจัดตั้ง ‘วันแห่งภาษาแม่สากล’ (International Mother Language Day) เพื่อการอนุรักษ์ภาษาแม่ ภาษาถิ่นของแต่ละชาติ และส่งเสริมให้คนต่างถิ่นต่างภาษาให้ความเคารพในภาษาแม่ของกันและกัน อันเป็นบ่อเกิดของสันติภาพทั้งปวง
The MATTER ขอพาผู้อ่านไปสำรวจความมหัศจรรย์ของ ภาษาผิวปาก (Whistled Language) ที่อุปสรรคไม่เคยขวางกั้นศักยภาพของมนุษย์ ล่าสุดวิทยาศาสตร์ไขความลับของคุณสมบัติการผิวปากอันน่ามหัศจรรย์ที่ซ่อนเร้น โดยคลื่นเสียงผิวปาก ไปได้ไกลกว่าทุกเสียงที่มนุษย์เปล่งออกมา
70 ชุมชนทั่วโลก ยังผิวปากเพื่อสื่อสารกัน
ก่อนหน้าจะมีเครื่องมือสื่อสาร มนุษย์ในหลายสังคม (โดยเฉพาะในแถบชนบท) ใช้การสื่อสารสุดแหวกแนว โดยการผิวปากราวดุจเหล่าปักษี ทำลายอุปสรรคเงื่อนไขของระยะทาง เสียงผิวปากข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า โดยผู้ฟังที่อยู่อีกฝาก รับรู้ความหมายไม่ขาดตกบกพร่อง
ตัวอย่างภาษา Silbo Gomero ของชุมชนในเกาะ La Gomera นอกชายฝั่งประเทศโมร็อกโก (ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Canary ของสเปน) ยังใช้การผิวปากแทนการพูด ชาวเกาะมักสร้างบ้านห่างจากกัน ทำให้การผิวปากสื่อสารเป็นวิธีที่ดีที่สุด แก้ความขี้เกียจไม่ต้องเดิน เพราะสามารถได้ยินและเข้าใจทันทีภายในระยะทาง 8 กิโลเมตร ในขณะที่ภาษาพูดจะได้ยินในระยะ 200 เมตรเท่านั้น
แต่ความก้าวหน้าของเครื่องมือสื่อสารทำให้การผิวปากลดความจำเป็นลง ผู้ใช้ภาษา Silbo Gomero ลดลงเหลือเพียง 1,000 คน มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังใช้กันอยู่ และการเรียนการสอนยังส่งต่อกันในเครือญาติเท่านั้น
ไวยากรณ์ของการผิวปาก
จริงๆ ภาษาผิวปาก (Whistled Language) ไม่ได้มีโครงสร้างภาษาหรือไวยากรณ์ใหม่หมดยกชุดเสียทีเดียว แต่อิงโครงสร้างทางภาษาของสังคมนั้นๆ ที่ชาวบ้านใช้พูดกันอยู่แล้ว อย่าง ภาษากรีก ภาษาสเปน ภาษาตุรกี
ชาวเกาะ La Gomera ก็อิงกับภาษาสเปน โดยใช้การแบ่งช่วงผิวปากเพื่อระบุเสียงสระ (Vowels) และ เสียงพยัญชนะ (Consonants) โดยการกำหนดลมที่พ่น (ด้วยการห่อปาก ใช้นิ้ว หรือใบไม้) ทำให้สระและพยัญชนะส่วนใหญ่ถูกใส่รหัสด้วยความถี่และแอมพลิจูด เช่น I จะเป็นเสียงสูง ส่วน E จะเป็นเสียงต่ำ
ในขณะเสียงพูดปกติจะใช้การสั่นเพื่อระบุเสียงสระและพยัญชนะ แต่มันจะค่อยๆ เบาลง เมื่อระยะทางเพิ่มมากขึ้น
ภาษาผิวปาก (Whistled Speech) เป็นรูปแบบภาษาที่มาขยายการสื่อสารภาษาท้องถิ่นให้เอาชนะอุปสรรคจากสภาพแวดล้อม เมื่อคุณถูกรายล้อมด้วยหุบเขาลูกแล้วลูกเล่า การเดินไปมาหาสู่อยากลำบาก เพียงเพื่อจะไปบอกว่า “เย็นนี้บ้านฉันมีงานเลี้ยง ช่วยส่งไวน์มาให้หน่อย” แทนที่จะเดินไป แต่การผิวปากบอกนั้นสะดวกกว่าเยอะ
เสียงผิวปากเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง
ทุกๆ ครั้งที่เสียงขยายออกไป มันจะลดลงทุกๆ 6 เดซิเบล ระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงและระยะทาง เสียงพูดเป็นกลุ่มเสียงที่มีความถี่สูง (High Frequency) เมื่อกระทบกับอุปสรรคขวางกั้น เช่น ต้นไม้ โขดหิน มันจะกระทบแล้วตีกลับ ทำให้เสียงไม่สามารถผ่านกำแพงเหล่านี้ได้
ตรงกันข้ามกับเสียงผิวปาก เป็นกลุ่มเสียงความถี่ต่ำ (Low Frequency) มีคลื่นความถี่แคบเพียงเส้นเดียว (Single narrow band) ทำให้เสียงเคลื่อนผ่านอุปสรรคโดยไม่มีการตีย้อนกลับ เสียงจึงไปได้ไกลกว่า
นับเป็นกลไกความมหัศจรรย์ของเสียงที่มนุษย์เข้าใจเองโดยธรรมชาติ
เสียงผิวปากดังและไปไกลแค่ไหนหนอ?
การผิวปาก ง่าย ดัง และ ไม่เหนื่อย
เสียงผิวดังมากถึง 120 เดซิเบลเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับความดังของเสียงตะโกนที่สูงสุดเพียง 100 เดซิเบล ซึ่งมีผลทำให้เส้นเสียงของคุณอ่อนล้า เพราะเส้นเสียงคุณรับมือได้เพียง 90 – 100 เดซิเบลเท่านั้น เพื่อถนอมเส้นเสียงผู้สูงอายุในชุมชนจึงนิยมผิวปากคุยกันจนเป็นกิจวัตรประจำวัน
แม้คุณจะตะโกนอย่างสุดเสียงแล้วก็ตาม แต่เสียงที่คุณตะโกน โดยสถิติแล้วจะไปไม่ไกลเกิน 500 เมตรจากอุปสรรคต่างๆ มันใช้พลังงานมากกว่า และลงเอยที่อาการเจ็บคอ
แต่ชาวชนบทในเกาะ La Gomera สามารถผิวปากเฉลี่ยได้ไกลเกิน 5,000 เมตร หรือเกือบถึง 5 กิโลเมตร โดยผู้ฟังที่ห่างไกลออกไป สามารถได้รับสาสน์อย่างไม่ผิดเพี้ยน แถมใช้พลังงานน้อยกว่าการตะโกนเสียอีก
ถึงจะเจ๋งขนาดไหน แต่มันกำลังหายไปจากโลก
น่าเสียดายที่วันหนึ่งความมหัศจรรย์ของเสียงต้องถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่า Whistled Language กำลังตายไปจากโลกอย่างเงียบๆ ภาษาผิวปากจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทาง UNESCO ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่กำลังสูญหายไป (สำหรับพื้นที่ใกล้เคียงในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์อย่าง ม้งและอาข่า ที่มีการผิวปากสื่อสารกันอยู่)
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการอนุรักษ์วัฒนธรรมการผิวปาก ช่วยรักษามรดกทางการสื่อสารของมนุษย์ที่มีเอกลักษณ์ และช่วยทำให้เราเข้าใจกระบวนการฟังเสียงกับปฏิกิริยาทางสมอง คนที่ฝึกฝนและรับการถ่ายทอดทางพันธุธรรมเท่านั้นที่สามารถถอดรหัสสัญญาณเสียงผิวปากได้ ปัจจุบันบนเกาะ La Gomera มีสถาบัน Cultural and Research Association of Silbo Canario Hautacuperche ที่มีคลาสให้คนทั่วไปเรียนรู้การผิวปากอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษารากฐานทางวัฒนธรรมชาวเกาะที่กำลังถูกแทรกด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการ
แม้การผิวปากเล่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นถึงมรดกทางวัฒนธรรม มนุษย์จึงเป็นนักแก้ปัญหาที่ไม่ยี่หระต่ออุปสรรค เราเลียนแบบทุกสรรพสิ่งอย่างแนบเนียน เราบินและร้องได้อย่างนก ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้หรอก หากไม่เผชิญต่ออุปสรรค
อ้างอิงข้อมูลจาก
“Whistled Languages” Reveal How the Brain Processes Information
Whistled language of the island of La Gomera (Canary Islands), the Silbo Gomero
Whistled Languages a worldwide inquiry on human whistled speech
Scientific American FEBRUARY 2017