คุณนอนแน่นิ่งจมอยู่บนเตียง แม้ลืมตาตื่นมานานกว่า 10 นาที แต่ดูเหมือนร่างกายจะไม่ยอมรับคำสั่งใดๆ การเคลื่อนไหวอืดอาดราวจมในบ่อน้ำมันหนืดๆ ไหนจะต้องอาบน้ำแต่งตัว ไหนจะต้องฝ่ารถติดสุดวิปโยค เพื่อไปนั่งในคอกแคบๆ รอให้เวลามันหมดๆ ไปในแต่ละวัน
มันน่าแปลกนะ! ทั้งที่เมื่อก่อนคุณเคยบอกกับตัวเองว่า “งานที่ทำอยู่มันน่าตื่นเต้นสุดๆ” แถมตำแหน่งของคุณก็ต้องแย่งชิงกับคนเป็นร้อยๆ อยู่จุดนี้ได้ไม่ใช่เพราะดวงแน่ๆ แต่กลายเป็นว่าคุณกลับไม่รู้สึกพอใจในงานที่ทำอยู่ สิ่งที่เคยใฝ่ฝันกลายเป็นกับดักอันขมขื่นค่อยๆ กัดกร่อนคุณทีล่ะน้อย
หากเริ่มรู้สึกแบบนี้ทุกๆ เช้า เราว่าคุณ ‘หมดไฟ’ แล้วล่ะ!
ภาวะไร้กำลังใจในการทำงานเป็นภัยที่เราไม่กล้าเปิดอก และมันก็ร้ายกาจพอที่จะทำให้ชีวิตพวกเราหยุดชะงัก เมื่อความพึงพอใจในผลงานกำลังอยู่ในขั้นเปราะบางดุจแก้วราคาถูก
ทำอย่างไรพวกเราถึงจะโหมกระพือไฟอันริบหรี่ให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง วิทยาศาสตร์มีคำตอบให้พวกเราไหมก่อนที่ทุกอย่างจะลงเหว?
จุดเริ่มต้นที่คนเทงาน
‘ความหมดไฟ’ ที่ดูเป็นเรื่องเบสิกไม่ว่าใครๆ ก็ต้องเผชิญ กลับกลายเป็นของแปลกประหลาดในวงการจิตวิทยา ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็มึนตึ้บไปตามๆ กัน เพราะจู่ๆ ผู้คนหันหลังให้งานตัวเอง เหนื่อยล้า อ่อนแรงราวกับโรคระบาด
นักจิตวิทยาหลายสำนักเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ความหมดไฟอย่างจริงๆ จังๆ ก็เมื่อหลาย 10 ปีให้หลัง ก่อนหน้านี้อาการถอดใจเทงานกลางคันยังเป็นปริศนาที่ยังหาคำตอบทางสังคมไม่ได้ ทำไมผู้คนถึงทิ้งงานในฝัน เพียงเพราะความเบื่อหน่าย ถอดใจ ราวกับอาการทางจิตที่แพร่ระบาดจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งได้
ในช่วงต้นปี 1970 คำว่า ‘Burnout’ (หมดไฟ) อุบัติขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะในสังคมคนทำงานด้านบริการ และพนักงานตามบริษัทห้างร้านใหม่ๆ ที่เปิดตัวราวกับดอกเห็ด แต่โอกาสการทำงานที่มากขึ้น ก็ไม่ได้การันตีสวัสดิภาพการทำงานที่ดี พนักงานส่วนใหญ่กลับเผชิญสภาพแวดล้อมบีบคั้นและแข่งขันสูง จนเกิดการลาออกกันพรวดๆ ดั่งภาวะสมองไหล
Herbert Freudenberger นักจิตวิทยาสังคมคนแรกๆ ชาวเยอรมันที่เติบโตในอเมริกา เริ่มศึกษาปรากฏการณ์นี้อย่างต่อเนื่องและจัดพิมพ์เป็นบทความวิชาการหลายชุด จนอาจกล่าวได้ว่า Herbert คือ ‘บิดาแห่งความหมดไฟ’ ก็คงไม่แปลก (ฮ่าๆ แย่จัง ดูไม่น่าคบ) สาระสำคัญของ Herbert พบว่า
พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกหมดกำลังใจ เนื่องจากพวกเขาขาดทรัพยากรที่เพียงพอในการทำหน้าที่ให้ดี แทนที่พวกเขากำลังรู้สึกว่าทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น กลับต้องจมอยู่กับการต่อสู้กับระบบทำงานเฮงซวยไร้แบบแผนที่ดูไม่มีวันจบสิ้น
ผนวกกับต้นปี 1980 เศรษฐกิจโลกค่อนข้างฟื้นตัวและเปิดโอกาสให้บริษัทแข่งขันในตลาดเสรี แต่บริษัทหน้าใหม่ๆ กลับมีระบบภายในที่ยังไม่เสถียร และ CEO หน้าใสยังไม่มีประสบการณ์บริหาร จึงต้องพึ่งที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human resource management) เพื่อหยุดยั้งภาวะสมองไหลของคนทำงาน แต่ระยะหลังๆ กลายเป็นการปัดภาระความรับผิดชอบให้ HR เพื่อพลิกฟื้นศรัทธาผู้คนในองค์กร (โห ให้ฉันขี่จรวดไปกู้โลกยังจะง่ายกว่า – HR นางหนึ่งไม่ได้กล่าว)
เอาเถอะ แม้แต่คนในแผนก HR เองก็ยังจะออก อย่าตั้งความหวังสูงนักสิ!
ลูปนรก ดับไฟ กลางใจเธอ
จะออกจากงานเหรอ? เอาเป็นว่า มันอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักสำหรับคุณ (และพวกเราส่วนใหญ่) ซึ่งยังมีภาระดุจชนักติดหลังอันเขื่อง และการเปลี่ยนงานอย่างกะทันหันก็ไม่ได้ทำให้คุณพบงานในฝันแบบเสกได้ หากพวกเรายังไม่เข้าใจธรรมชาติของความหมดไฟ ต่อในคุณรับงานชิ้นใหม่ ลูปนรกก็พร้อมกลืนกินคุณอยู่ดี
ก่อนหน้านี้นักจิตวิทยาพยายามหาข้อสรุปจากข้อมูลที่มีอยู่น้อยนิดว่า ‘ความหมดไฟเกิดจากการทำงานหนักโดยขาดการพักผ่อน’ แต่เมื่อมีการศึกษาชุดใหม่ๆ เพิ่มเติม ปรากฏว่าความเหนื่อยล้าไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของการแพร่ระบาดทางอารมณ์ แต่เสมือนการกรุยทางเล็กๆ ให้คุณอยากถีบตัวออกจากบรรยากาศการทำงานแบบเดิมๆ หากจะกล่าวว่า “เหนื่อยกายไม่เท่าเหนื่อยใจ” ก็ไม่ผิดนัก
ภาวะหมดไฟ เริ่มขึ้นด้วยพื้นฐานง่ายๆ ไม่ซับซ้อนในช่วงแรกๆ ซึ่ง Herbert Freudenberger เรียบเรียงไว้หลายครั้งในบทความของเขา ดังนี้
- คุณเหนื่อยเกินไป การลงแรงกาย สติปัญญา และเวลา ทำให้คุณเผาพลาญพลังงานแต่ละวันอย่างเต็มสูบราวเครื่องยนต์ดีเซล V8 ขาดการนอนหลับที่เพียงพอ กลับมาบ้านแล้วก็ต้องรับผิดชอบภาระที่คั่งค้างอีก ทำให้คุณขาดช่วงเวลาดีๆ ในการฟื้นตัว
- รู้สึกไม่มีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่ออกมากลับน่าผิดหวัง เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่คุณแลกมันไป ทำมากกลับได้น้อย แถมไม่โดนใจอีก ถูกเรียกให้ไปคิดแผนแต่เจ้านายกลับไปใช้ของเดิมๆ ทำให้คุณรู้สึกเสียเวลาอย่างเปล่าประโยชน์ ขาดการสื่อสารที่ดีกับผู้บังคับบัญชา หรือพวกเขาไม่เคยเอ่ยปากชมคุณเลย
- เหยียดหยามงานที่ทำ คุณรู้สึกว่างานที่ทำไร้ค่าสิ้นดี ไม่ทำให้คุณเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่มีใครใช้ประโยชน์จากมัน เหมือนผลงานคุณถูกแตะเข้าชั้นวางรองเท้า เจ้านายมอบภารกิจที่ฝืนต่อมโนสำนึกของคุณ จนเกิดเป็นความเกลียดชังต่องานที่ทำ
- หมดไฟและตีตัวออกห่าง งานที่ทำไม่มีความหมายเสียแล้วในตอนนี้ บรรยากาศของเพื่อนร่วมงานก็ล้วนแต่แทงข้างหลัง ไม่มีใครอยู่ข้างคุณ จนคุณเริ่มตีตัวออกห่างจากความรับผิดชอบ เมินเฉยต่อ outcome ที่เกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาประชุมก็เสกตัวเองเป็นปูนปั้นไม่หือไม่อือ บางรายแย่หน่อยแผลงฤทธิ์ต่อพนักงานใหม่ๆ ให้หมดกำลังใจตามไปด้วย ขัดขวางการทำงานของส่วนรวม รอวันรับซองขาวและเงินชดเชยต่อไป
ลูปนรก 4 ขั้น มักทำงานซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ผลสำรวจพบว่า คนทำงานที่อยู่ในตำแหน่งกลางๆ ในองค์กร มักประสบปัญหาหมดไฟมากที่สุด เนื่องจากหมดความหวังที่จะไต่เต้าในระดับที่สูงกว่า และไม่มีความรู้สึกอยากก้าวหน้าในสายอาชีพ ส่วนคนทำงานด้านบริการจะรู้สึกหมดไฟจากเวลาการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่กดดัน จำเจ ก็เป็นตัวจุดระเบิดชั้นดีเช่นกัน
ต้องมีหวังสิน่า
ภาวะหมดไฟไม่ได้อับจนหนทางขนาดนั้น ตราบใดที่คุณเชื่อว่าจะพัฒนามันให้ดีขึ้นได้ ในปี 2013 มีงานศึกษาของ Finnish Institute of Occupational Health พบว่ากลุ่มตัวอย่างคนวัยทำงานกว่า 4,000 ราย แม้รู้สึกว่าตัวเองหมดไฟไปแล้ว แต่ก็พร้อมจะจุดไฟให้ลุกขึ้นมาอีกครั้ง หากองค์กรยินดีเปิดใจสื่อสารกับพวกเขามากขึ้น และทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่มีความสำคัญอีกครั้ง
ภาวะหมดไฟไม่ได้ทำร้ายแค่องค์กร แต่ทำร้ายผู้คนที่อยู่รอบๆ ด้วย มีผลทางสถิติในปี 2000 ถึง 2008 ระว่า กลุ่มคนทำงานที่หมดไฟมีแนวโน้มจะเสพติดยาคลายเครียดและยาระงับประสาทขนานที่เป็นอันตราย และมีสิทธิ์ติดสารเสพติดชนิดร้ายแรงอื่นๆ ได้
ใช้ CREW เปลี่ยนบรรยากาศให้น่าอภิรมย์
ในองค์กรที่รับผลกระทบจากภาวะหมดไฟจากคนทำงาน ต้องแตะเบรกจังหวะองค์กรลงมาอีกนิด หลายบริษัทที่เล็งเห็นความสำคัญจึงออกแบบการอบรมโดยได้รับการแนะนำจากนักจิตวิทยา ที่เรียกว่า CREW (Civility respect and engagement in the workplace) ยึดหลัก ความสุภาพ ให้ความเคารพ และการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน
บรรยากาศออฟฟิศสร้างผลกระทบอย่างร้ายกาจต่อผู้คน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้และซึมซับจากสภาพแวดล้อมรอบตัว บรรยากาศที่เป็นภัยมักสร้างความกดดันและเปลี่ยนพนักงานแสนดีให้เป็นตัวละครใน Game Of Thrones จนบางทีคุณก็อยากเอายาเบื่อไปผสมกาแฟให้กิน
CREW จึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างความสุภาพในบรรยากาศการทำงาน โน้มน้าวคนในสายบังคับบัญชาให้พูดจาสุภาพ ไม่ดูแคลนกัน เคารพพื้นที่ของพนักงานและไม่ก้าวก่ายในเรื่องส่วนตัว
แต่อย่าหวังว่าบริษัททุกแห่งจะใช้ CREW เพื่อมาแก้ปัญหา เพราะบางที่ยังไม่รู้เลยว่ากำลังเจอปัญหาอยู่
ดังนั้นคุณต้องแกร่งกว่าเดิม
แล้วเราจะแกร่งกว่าเดิมได้ยังไง
แม้หลายบริษัทพยายามเค้นประสิทธิภาพคุณออกมาราวกับบี้หลอดยาสีฟัน นั่นทำให้คุณต้องเตรียมพร้อมและเสริมความแกร่งของจิตใจอยู่เสมอ ถ้ารอคอยการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือยังไม่พร้อมที่จะลาออกในเร็วๆ นี้ คุณก็ต้องเป็นผู้จุดไฟที่มอดไหม้ขึ้นมาเอง
ฟิตกว่าเดิม สุขภาพคือปราการด่านแรกที่จะทำให้คุณแกร่งกว่าเดิม การนอนหลับอย่างเพียงพอ ได้รับสารอาหารครบในแต่ละวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้คุณไม่หมดแรงง่ายๆ แม้เปลี่ยนงานไม่ได้ แต่คุณเปลี่ยนความอึดได้ สุขภาพที่ดีจะทำให้คุณเป็นเจ้าของวงจรชีวิตอีกครั้ง ชีวิตส่วนตัวคุณเองก็จำเป็นต้องได้รับการเติมเต็ม การออกแบบโครงสร้างชีวิตส่วนตัวขึ้นมาทำให้รู้ว่า ใครกำลังกุมบังเหียนชีวิตอยู่ ไม่ใช่ระบบหรอกที่มาครอบมันไว้
ใช้กฎ 30 นาที นักจิตวิทยาแนะนำให้คุณเปลี่ยนวงจรชีวิตตัวเองโดยทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 30 นาที เช่นตื่นก่อน 30 นาที ออกจากบ้านก่อน 30 นาที เพื่อให้คุณรู้สึกว่าควบคุมเวลาได้ และกล้าที่จะจัดการกับเวลาของตัวเองมากขึ้น บรรยากาศของเวลา 30 นาทีก็แตกต่างไปแล้วจากรูทีนชีวิตเดิมๆ
ไม่ต้องมีพันธมิตรทุกคน ขอเพียง ‘บางคน’ ไม่มีใครทำให้ทุกคนรักได้ ดังนั้นจึงคัดสรรเพื่อนร่วมทำงานเพียงบางคนที่คุณสามารถหาเวลาทำกิจกรรมลดความตึงเครียดร่วมกันได้ พลังสนับสนุนของมิตรภาพสร้างพันธมิตรทางอารมณ์ได้อย่างดี แชร์ความล้มเหลวให้เขารับรู้บ้าง คุณจะทราบว่าคนรอบๆ ตัวคุณล้วนอ่อนไหวต่อความรู้สึก ถ้าคุณเริ่มก่อน
คราฟต์งานตัวเอง ไม่มีใครรู้หรอกว่างานในฝันของคุณคืออะไร และอาจไม่มีตำแหน่งนั้นอยู่เลยก็ได้ การคราฟต์งานตัวเองทีละนิดและค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ หรือลงทุนกับมันไปบ้างตามความเหมาะสม จะทำให้คุณอยู่กับงานได้นานขึ้น และงานที่คุณรักจะเติมเชื้อไฟที่ดีได้
อาการหมดไฟเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่ออาการเริ่มเกิดขึ้น และคุณรู้ตัวก่อนตั้งแต่เนิ่นๆ รับมือกับ ‘ความหมดไฟ’ ได้ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพนักงานที่ใครๆ ก็เกลียดชัง
ไม่มีอะไรเลวร้ายเท่ากับการเติบโตเป็นไปเป็นคนที่คุณเกลียดอีกแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Early Predictors of Job Burnout and Engagement. Christina Maslach and Michael P in Journal of Applied Psychology Vol. 93 May 2008
- Organizational Predictiors and Health Consequences of Changes in Burnout in Organizational Behevior, Vol. 34 October 2013
- Burned Out. Michael P. Leiter Scientific American MIND 98