ในขณะที่คุณกำลังตระเวนกินอาหารร้านเด็ดรอบเมืองอย่างสำราญใจ จู่ๆก็มีเพื่อนปากพล่อยพูดถึง ‘วันจันทร์’ ขึ้นมา
บรรยากาศอันรื่นรมย์กลับกลายเป็นความหดหู่และหมดอาลัยตายอยาก ราวละครเวทีเปลี่ยนฉากกะทันหัน
“ใครพูดคำนั้นมาอีก ฉันจะตบปากแก!”
วันจันทร์เป็นของแสลงสำหรับแรงงานอย่างพวกเรา มันเหมือนคำต้องสาปที่ไม่ควรพูดพล่อยๆ และพวกเราก็ยอมรับว่าเกลียดวันจันทร์ Monday แบบเข้าไส้ แต่มานึกดูดีๆ ทำไมเราถึงเกลียดมันล่ะ ปรากฏการณ์ทางสังคมที่ดูเหมือนปกติกลับมีที่มาไม่ธรรมดา น่าเอามาเล่าให้ชาว The MATTER ฟังไม่น้อย
ใครๆ ก็เกลียดวันจันทร์
Tell me why? I don’t like Mondays.
Tell me why? I don’t like Mondays.
วง Boomtown Rats เพลง I Don’t Like Mondays
วันจันทร์ไม่ได้เลวร้าย และสัปดาห์แห่งการทำงานกลับเป็นนวัตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น รากฐานของการประดิษฐ์สัปดาห์หนึ่งมีเจ็ดวันสามารถย้อนไปไกลกว่า 4,000 ปีที่แล้วในอาณาจักรบาบิโลเนีย (Babylonia Kingdoms) โดยอิงกับดาวเคราะห์ 7 ดวงในระบบสุริยะ ทำให้เลข 7 มีพลังอำนาจที่จะทำให้มนุษย์ใช้มันเพื่อเป็นหมุดหมายในการจัดระเบียบชีวิต
แนวคิดนี้ถูกส่งผ่านไปในอาณาจักรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จากอียิปต์ กรีก และโรมัน แต่ชาวยิวกลับมีนิยามของสัปดาห์แหวกแนวไปจากชาติอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีเหตุผลที่พวกเขาถูกเนรเทศให้ออกจากอาณาจักรบาบิโลเนียในช่วงก่อนศตวรรษที่ 6 ก็เลยไม่ยอมรับแนวคิดนี้
อย่างไรก็ตาม 1 สัปดาห์มี 7 วัน ฝังรากลึกในปฏิทินชาวตะวันตกมานานกว่า 250 ปีก่อนกำเนิดของพระเยซู
แต่คำว่า ‘Weekend’ หรือ วันสุดสัปดาห์ พึ่งปรากฏในครั้งแรกในปี 1879 เมื่อนิตยสารภาษาอังกฤษชื่อ Notes and Queries ใช้คำนี้เป็นที่แรกในบทความเกิดเป็นคำติดปาก ถือเป็นคำอุบัติใหม่จนใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษที่เป็นแรงงานส่วนใหญ่ได้รับวันหยุดพักผ่อนเพียงวันเดียว คือวันอาทิตย์ พวกเขาจึงถล่มตัวเองอย่างหนักด้วยเหล้ายาปลาปิ้งและร่วมกิจกรรมรื่นเริงกันจนสะบักสะบอม จนเกิดปรากฏการณ์ ‘Saint Monday’ ซึ่งเหล่าคนงานนิยมหยุดวันจันทร์ต่อ เพื่อพักฟื้นจากอาการเมามาย ทำให้เจ้าของโรงงานเห็นเค้าลางส่อแววเจ๊ง จึงหาทางหว่านล้อมไม่ให้คนงานหยุดแบบหนียกโรงงาน (แต่ก็ไม่อยากจ่ายเงินเพิ่มหรอกนะ) เลยอนุโลมให้คนงานทำงานวันเสาร์เพียงครึ่งวัน และเพื่อให้เข้างานวันจันทร์ตามเดิม แต่ก็ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีอยู่เหมือนกัน กว่าวันเสาร์จะหยุดเต็มวันได้
ในปี 1908 โรงโม่คอตตอนใน New England ของสหรัฐอเมริกา เป็นที่แรกริเริ่มนโยบายทำงาน 5 วันหยุด 2 วัน สืบเนื่องจากคนงานชาวยิวต้องไปประกอบพิธีทางศาสนาซับบาธ (Sabbath) ในวันเสาร์ ทำให้ต้องมาทำงานแทนในวันอาทิตย์ แรงงานชาวคริสต์ส่วนใหญ่จึงไม่พอใจ ดังนั้นเพื่อยุติข้อพิพาท โรงงานจึงให้ชาวยิวหยุด 2 วันไปเลยไม่ให้ชาวคริสต์เสียเปรียบ หลังจากนั้นโรงงานอื่นๆ ก็ยืมไอเดียไปใช้บ้าง จนเข้าสู่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหายนะตลาดหุ้นสหรัฐ ปี ค.ศ. 1929 (The Great Depression) นโยบายหยุด 2 วัน จึงถูกใช้อย่างเป็นทางการเพื่อสอดรับกับการปัญหาการว่างงาน ลดภาระบริษัทที่ต้องแบกรับต้นทุนและความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจ
100 ปีผ่านไป โรงโม่บดแบบเดิมๆถูกแทนด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่า แต่แนวคิดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ยังถูกรักษาไว้จนเป็นรากฐานขององค์กรในยุคปัจจุบัน ในปี 1965 สภาวุฒิสมาชิกสหรัฐเคยคาดการณ์ไว้ว่า คนอเมริกันสามารถทำงานได้ 14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นอย่างน้อย กลายเป็นการกำหนดบรรทัดฐานการทำงานจากโลกตะวันตกไปโดยปริยาย
หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งคือ พวกเราต้องทำงาน 5 วัน แต่หยุด 2 วัน เพราะความล้าสมัยของเทคโนโลยีและความเสถียรภาพของเศรษฐกิจนั้นเอง แม้ปัจจุบันจะมีงานวิจัยศึกษาศักยภาพคนทำงานและองค์กรก็ล้วนเห็นตรงกันว่า การลดวันทำงานให้น้อยลงทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพดีกว่า สุขภาพร่างกายดีขึ้น การทำงาน 5 วันรวดมีแต่ทำให้ Productivity หดหาย
งานวิจัยจาก American Journal of Epidemiology พบว่าคนทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีการตระหนักรู้ถดถอยลงเมื่อเทียบกับคนที่ทำงานเพียง 40 ชั่วโมง และการทำงานต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการหมดไฟ (Burned Out) เร็วกว่าเวลาอันควร
ข้อเท็จจริงของ Blue Monday
ความเกลียดชังวันจันทร์ทำให้เราเชื่อว่า วันจันทร์ที่ 3 ของมกราคมในทุกปี เป็นวันที่ซึมเศร้าที่สุด และเหตุฆ่าตัวตายมักไปกระจุกตัวในวันนี้ จนกลายเป็นทฤษฎีและสมการสุดป๊อบชื่อว่า ‘Blue Monday’ ตั้งชื่อให้กับวันที่น่าสมเพชที่สุดในเดือนมกราคม แนวคิดนี้ถูกตีพิมพ์ในปี 2005 โดยบริษัท Sky Travel จนออกเป็นสมการที่คำนวนจากพฤติกรรมการใช้เวลาในช่วงวันหยุดและสภาพอากาศที่เกิดขึ้นประจำทุกปี เพื่ออธิบายว่าทำไมวันจันทร์ที่ 3 ของมกราคมทำให้คนซึมเศร้ามากที่สุดและไม่มีกะจิตกะใจทำงาน
Tt = เวลาในการเดินทาง; D = ความล่าช้า; C = เวลาที่ใช้ในกิจกรรมวันหยุด; R =เวลาที่ใช้พักผ่อน; ZZ =เวลาที่ใช้นอน; St = เวลาที่ใช้ไปกับความเครียด ; P =เวลาที่ใช้ในการเก็บข้าวของ ; Pr =เวลาที่ใช้ไปกับการเตรียมงาน
ซึ่งแม้จะดูวิชาการขนาดนี้ แต่กลายเป็นว่า สมการนี้ปลอมจ้า และไม่มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เลย นักประสาทวิทยา Dean Burnett จากมหาวิทยาลัย Cardiff ก็ออกมาโจมตีสมการนี้ และจัดว่า Blue Monday เป็นเพียงวิทยาศาสตร์ลวงโลก (Pseudoscience) ที่เอาไว้เล่าสนุกๆ ในกลุ่มเพื่อน
แล้วอะไรล่ะคือข้อเท็จจริงที่จับต้องได้?
โทษการนอนเพิ่ม
นาฬิกาที่แม่นยำที่สุด คือนาฬิกาที่ฝังอยู่ในของร่างกายคุณเอง มันเที่ยงตรงเสมอ หากมีการเดินสะดุด ร่างกายคุณพร้อมจะฟ้องทันที คนปกตินอนไม่พออยู่แล้วในระหว่างสัปดาห์อันหนักหน่วง ทำให้คุณต้องไปนอนบวกเพิ่มเอาในวันหยุดเสาร์อาทิตย์อีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง แม้เพียงสองวัน ร่างกายคุณก็จดจำได้แล้ว กลายเป็นว่าการนอนเพิ่มกลับเป็นอุปสรรค ทำให้เช้าวันจันทร์คุณจึงตื่นยากกว่า
สัญชาตญาณฝูง
การรู้สึกเกลียดวันจันทร์อาจย้อนไปตั้งแต่ธรรมชาติของบรรพบุรุษเราที่ยังอาศัยอยู่ในถ้ำ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ผูกพันกับสถานะในเผ่า (Tribe) ครอบครัวและสภาพแวดล้อมในบ้านที่คุ้นเคยทำให้คุณอาลัยอาวรณ์ แม้จะเพียง 2 วัน คุณก็อยากขดตัวนอนเฉยๆ นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมแนะนำให้คุณตกแต่งโต๊ะทำงานให้มีสิ่งของที่คุ้นเคยอยู่บ้าง การซุบซิบนินทากับเพื่อนร่วมงานทำให้คุณสื่อสารได้ราบรื่น หรือการมีหนุ่มสาวตรงสเป็คทำงานอยู่ที่เดียวกัน อาจทำให้คุณกระตือรือร้นเพื่อพบหน้าเขามากกว่าเดิม
การเปลี่ยนแปลงกะทันหัน
จริงๆแล้วทุกๆวันของการทำงานก็บัดซบคล้ายกัน จะอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ อะไรเลวทรามก็เกิดขึ้นได้เสมอ แต่เมื่อถามว่าพวกเราจดจำเหตุการณ์วันไหนมากที่สุด วันจันทร์จึงเป็นจำเลยทุกครั้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างกะทันหัน (Emotional shift) จากความสุขรื่นรมย์กับกิจกรรมที่ชอบ ต้องลงมือทำงานที่บรรยากาศต่างกันฟ้ากับเหว
รู้สึกแย่กับตัวเอง
ในช่วงวันหยุดพวกเรามักเปย์ตัวเองอย่างหนัก กินบุฟเฟ่ต์ล้างผลาญ ดื่มหนัก สูบบุหรี่จัดมากกว่าปกติ ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อร่างกาย มีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงทุกอายุและทุกเชื้อชาติ รู้สึกตัวเองดึงดูดน้อยลงในวันจันทร์ ร่างกายเรารับมือหนักจากพฤติกรรม พอเรารู้สึกแย่การโทษวันจันทร์ไปเลย ทำให้คุณสบายใจกว่า
นักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้คนมักน้ำหนักขึ้นและความดันสูงในช่วงต้นสัปดาห์ และสถิติการตายด้วยโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองแตกมักสูงที่สุดในวันจันทร์เช่นกัน
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้คนก็ยังนิยมใช้วันจันทร์เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่นะ หากคุณจะใช้เพื่อเปลี่ยนตัวเองไปในทางที่ดีก็เป็นจุดสตาร์ทที่ไม่เลว
เกลียดงานที่ทำ
ผลสำรวจของ Gallup พบว่าชาวอเมริกันกว่า 70 % เกลียดงานที่ทำอยู่ จากเหตุผลนานานัปการ ตั้งแต่การอยู่ใต้บังคับบัญชาจากบอสยอดแย่ ไม่ปลื้มเพื่อนร่วมงาน หรือบริษัทไม่มีทรัพยากรเพียงพอ งานที่ค้าง การต้องกลับไปเผชิญภาวะเดิมๆ คือยาขมที่รักษายังไงก็ไม่หาย การสัมภาษณ์งานกว่า 37% จึงเลี่ยงมาทำในวันอังคารแทน
ในเมื่อวันจันทร์ถูกประดิษฐ์โดยฝีมือมนุษย์ อารมณ์เซ็งวันจันทร์ก็มีต้นตอที่คุณเองก็สามารถจัดการได้
หากความซวยจะบังเกิด มันคงไม่เลือกวันจันทร์เพียงวันเดียวหรอก
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.nydailynews.com/news/national/70-u-s-workers-hate-job-poll-article-1.1381297