หมู่นี้คุณคงเห็นใครต่อใครก็เรียกร้องให้มีการกราบอย่างผิดวิสัย ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรืออีกหลากหลายที่ ทำไมการเรียกร้องให้มนุษย์แสดงความพ่ายแพ้จนต้องศิโรราบไปกับพื้นดิน คือสัญลักษณ์แห่งความเคารพ
และอะไรทำให้สังคมเราไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ความเคารพ (Respect) และ ความเชื่อฟังคำสั่ง (Obedience) ได้เสียที
พฤติกรรมวิทยา(Ethology) อันเป็นสาขาวิชาหนึ่งของสัตววิทยา จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติอันพิสดารของมนุษย์นี้ได้หรือไม่
จิบน้ำเย็นๆ สักครู่ แล้วเราไปสำรวจกัน
ใครหมู่ ใครจ่า
บ่อยครั้งการพึ่งพาอาศัยของสังคมต้องอาศัยการจำแนกระหว่าง ‘หมู่’ หรือ ‘จ่า’ เพื่อแบ่งชั้นว่าใครควรอยู่จุดสูงสุด และใครไม่ควรได้รับอะไร ดังนั้นการควบคุมด้วยอำนาจที่เหนือกว่า (Dominance) จึงเป็นคุณลักษณะประจำตัวของสัตว์สังคมชั้นสูง อย่างกลุ่มสุนัข ลิงชิมแปนซี รวมถึงมนุษย์ เมื่อการแข่งขันเข้มงวดขึ้น อาหารไม่เพียงพอ พื้นที่อาณาเขตมีจำกัด คู่ผสมพันธุ์ขาดแคลน หรือแม้กระทั่งระบบเศรษฐกิจฝืดเคือง ความปลอดภัยทางสังคมอยู่บนปากเหว ในบรรยากาศฝูงหรือสังคมที่ไม่มีเสถียรภาพเช่นนี้ มักมีคนที่พยายามยกตัวเหนือกว่าคนอื่นเสมอๆ และความโหยหาอำนาจคือวัตถุประสงค์ในการมีชีวิตรอดอันสูงสุด
ฝูงชิมแปนซีที่ก้าวร้าวมักต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจภายใน จ่าฝูงมักแสดงออก (Display) ด้วยท่าทีโผงพาง ตึงตังและกดขี่ลิงที่อ่อนแอในพื้นที่อย่างเปิดเผยเพื่อให้ลิงตัวอื่นๆ รับรู้
สังคมไทย (และสังคมอื่นๆ) ก็ใช้การควบคุมด้วยอำนาจ ให้โอวาทสั่งสอน และทำให้หลาบจำกับคนที่อยู่ระดับต่ำกว่า ป้องกันไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรที่ขาดแคลน ซึ่งรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่าง 2 สถานะ มักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และการตัดสินใจทำอะไรก็ตาม ก็มีผลต่อการกำหนดสถานะในอนาคตเสมอ
สังคมที่เรียกร้องการกราบอย่างผิดวิสัย เป็นสังคมที่มักมีการจัดสรรอำนาจล้มเหลว
หมอบกราบในคน & หมอบคลานในสัตว์
ความขัดแย้งมักจบลงด้วยการพ่ายแพ้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ ฝ่ายที่มีอำนาจเหนือว่าจะเรียกร้องให้ผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจแสดงออกพฤติกรรมยอมจำนน (Submissive behavior) เพื่อยุติการต่อสู้หรือลดข้อพิพาท เป็นการประกาศความพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการ เพื่อยืนยันว่าจะไม่ตอบโต้อีกในอนาคตอันใกล้ โดยเป็นอวัจนภาษา (Non-verbal) แสดงออกผ่านทางท่าทางที่ชัดเจน
- สุนัข จะนอนหงาย เผยให้เห็นส่วนท้อง (เป็นส่วนผิวหนังที่บอบบางที่สุด) แนบตัวให้ต่ำ และเลียริมฝีปาก
- แฮมสเตอร์ จะวิ่งไล่ต้อนตัวที่อ่อนแอให้จนมุม และใช้จมูกดุนหน้าท้องแรงๆ หรือเลีย
- กุ้งน้ำจืดเครย์ฟิช จะกดก้ามไปที่ส่วนหัวเพื่อแสดงถึงอำนาจ ส่วนตัวที่ถูกกดจะนิ่งอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไหว
- สิงโต คลานต่ำเข้าหา หมอบอยู่ใกล้ๆ และหลีกเลี่ยงการมองไปที่จุดเดียวกันกับจ่าฝูง
- กลุ่มลิง มักย่อตัวให้ต่ำ ยิงฟัน และเสนอการดูแลให้ (Grooming) การยิงฟันและผ่อนริมฝีปาก แตกต่างจากการแยกเขี้ยวข่มขู่ ซึ่งมนุษย์วิวัฒนาการต่อจนกลายเป็น ‘ยิ้ม’ ในที่สุด
มนุษย์แสดงท่าทียอมจำนน ไม่แตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ นัก พวกเรามักหมอบต่ำ คลานเข่า และย่อตัวให้แนบสนิทกับพื้นดินให้มากที่สุด นั้นทำให้ ‘กราบ’ เป็นพฤติกรรมยอมจำนน (Submissive behavior) ที่เด่นชัดและเป็นที่นิยมในสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะสังคมไทยที่ใช้การกราบกำหนดสถานะภายใต้อำนาจทางสังคมมาอย่างยาวนาน และมีวิธีกราบอันซับซ้อนในแต่ละวาระ
โอวาทวิถี อยู่ในระดับ ‘ยีน’
เป็นเรื่องน่าสนใจที่สิ่งมีชีวิตบางชนิดก็เกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติ ‘ผู้ตาม’ โดยกำเนิด
ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์เชิงโมเลกุล (Molecular neuroscience) ศึกษาร่วมกับพฤติกรรมสังคม (Social behavior) จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ในอิสราเอล นำทีมวิจัยโดย Elimelech Nesher พบว่า ยีน (Gene) มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสมยอมและเป็นผู้ตาม
พวกเขาใช้กระบวนการศึกษาการแสดงออกของยีนในระดับทรานสคริปโตมิกส์ (Transcriptomics) และวิจัยโปรตีนโปรติโอมิกส์ (Proteomics) พบว่ายีน Synapsin II จะมีปริมาณมากในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส และสมองส่วนกลาง Striatum ของหนูที่มีพฤติกรรมจอมจำนนง่าย และเป็นผู้ตาม ซึ่ง Synapsin II มักเชื่อมโยงกับความเครียดที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจกดดัน และสภาวะทางสังคมบีบคั้น
สิ่งเหล่านี้อาจส่งผ่านทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้ ดังนั้นเป็นไปได้ว่า รุ่นพ่อแม่ที่อยู่ในสังคมที่ปกครองด้วยโอวาทและสังคมที่เน้นการอบรมสั่งสอน จะทำให้รุ่นต่อๆ ไปอยู่ในโอวาทได้ง่ายดายขึ้น
ที่น่าสนใจคือ Synapsin II ก็ปรากฏในสมองของมนุษย์อย่างคุณเช่นเดียวกัน
สังคมที่มีการควบคุมด้วยโอวาทอย่างมาอย่างยาวนาน มักถ่ายทอดวิถีแห่งการเชื่อฟังรุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างมีนัยยะ
ด้านสว่างแห่งการอ่อนน้อม
ที่ยกตัวอย่างทั้งเชิงพฤติกรรมและประสาทวิทยาเชิงโมเลกุล ไม่ได้โจมตีการแสดงความเคารพด้วยการกราบในมิติที่ดำมืดอย่างสุดโต่ง เพราะการที่สิ่งมีชีวิตนำธรรมชาติแห่งการควบคุมอำนาจปรับใช้เพื่อดำรงชีวิตมาตลอดหลายร้อยล้านปีล้วนมีความหมาย ความมีอำนาจเหนือ (Dominance) ไม่ได้ดำรงอยู่ได้เพราะประโยชน์เพื่อตัวมันเพียงโดดๆ แต่มันอยู่ได้จากโครงข่ายทางสังคมที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน บางครั้งความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องจบด้วยความสูญเสียเสมอไป สมดุลระหว่าง อำนาจเหนือและการสมยอมที่ได้สัดส่วน ทำให้ไม่เสียเลือดเนื้อเกินความจำเป็น
เป็นเรื่องปกติที่ผู้มีอำนาจมักแสดงออกเพื่อย้ำเตือนสถานภาพอีกฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพราะทุกครั้งที่ผู้ยอมจำนนลุกขึ้นสู้เมื่อไม่พร้อม พวกเขามักพ่ายแพ้และสูญเสีย การที่มีอำนาจสมดุลไม่ตึงหรือเข้มเกินไป ป้องกันไม่ให้พวกเขาตัดสินใจอะไรโง่ๆ
แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ
อำนาจเหนือ (Dominance) ดำรงอยู่ได้ไม่นาน ตามความเสื่อมสลายของพละกำลังและอำนาจ มันอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม
และผู้สมยอม (Subordination) ก็มักเติบโตขึ้นเสมอ พวกเขาสั่งสมพละกำลัง และหากมีพันธมิตรเพียงพอก็พร้อมแย่งชิงตำแหน่งได้เมื่อเวลาเหมาะที่สุด
ดังนั้นคุณไม่ควรขึ้นที่สูงโดยทุบบันไดทิ้ง เพราะเมื่อถึงเวลาเดินลง มักไม่มีใครอุ้มด้วยความทะนุถนอม
สอนลูกให้รู้จักความต่างระหว่าง ‘เคารพ’ และ ‘เชื่อฟังคำสั่ง’
ปัญหาสมดุลอำนาจล้วนพังครืน เพราะ พวกเราแยกแยะระหว่าง การให้ความเคารพ (Respect) และ การเชื่อฟังคำสั่ง (Obedience) ไม่ออก คิดว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน เราจึงมักทำให้ใครสักคนหลาบจำเพื่อกระตุ้นความเคารพในตัวของเขา
ชอบสอนบทเรียนให้สำนึก เสร็จแล้วก็เตะให้ไปอยู่ในสถานะเป็นรอง บางครั้งก็ลากพวกเขาออกมาประจานกลางแจ้ง ยัดเยียดโอวาทอย่างลืมหูลืมตา จนจุดประสงค์แห่งความหวังดีแปรเปลี่ยนเป็นการลุแก่อำนาจและสนองความสาแก่ใจไปโดยปริยาย
ความเคารพ (Respect) และ การเชื่อฟังคำสั่ง (Obedience) เป็นคนละเรื่อง ราวหนังคนละม้วน
พวกเรามักถูกบังคับให้ทำความเคารพโดยไม่รู้เหตุผล เมื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง (Disobedient) ดันมีความหมายเท่ากับไม่เคารพ (Disrespectful) แต่การที่สังคมไม่เคยเสนอทางเลือกให้เลย เสมือนการขีดเส้นใต้ซ้ำๆ จนคนส่วนใหญ่ไม่สามารถหวนคืนกลับสู่สังคมได้ เพราะพวกเขาถูกขีดฆ่าแล้ว
- เริ่มที่กล้า ‘เสนอทางเลือก’
พ่อแม่ที่เข้าใจธรรมชาติของลูก จะไม่บังคับด้วยคำสั่งอันเป็นเหมือนดาบประกาศิต แต่พวกเขาจะนำเสนอทางเลือกให้เด็กๆ รู้สึกเหมาะสมที่สุดหากเขาได้เป็นผู้เลือก เด็กๆ จะคาดหวังผลลัพธ์และข้อจำกัดของการได้ตัดสินใจ สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นแห่งความเคารพ เพราะคนแรกที่เขาได้ทำความเคารพ คือตัวเขาเอง
- เหตุผลและการตัดสินใจ
เมื่อเราให้เหตุผลที่ดีในแต่ละคำถาม พวกเขาจะเห็นคุณูปการของเหตุผล คำถามต่อๆ ไปจะน่าสนใจขึ้น เมื่อพวกเขาใช้เหตุผลที่ดีในการตัดสินใจร่วมด้วย การเชื่อฟังและการให้ความเคารพจะไม่เป็นปัญหาใหญ่อีกต่อไป การไหว้หรือกราบใครสักคนมาจากการตัดสินใจด้วยเหตุผลไม่ใช่รับคำสั่งเพียงอย่างเดียว
ถึงตอนนั้นสังคมหรือหน่วยครอบครัว ก็ไม่ต้องมาถกเถียงเรื่องการกราบให้เป็นประเด็นเลย เพราะเขาเรียนรู้ที่จะให้เกียรติผู้อื่นจากการเริ่มต้นเคารพตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม
เพราะความล้มเหลวทั้งหมด ทำให้การกราบมีความหมายเพียง ‘ศิโรราบ’ ไม่ใช่การแสดงความเคารพอย่างที่พวกเราต้องการแม้แต่น้อย
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.nature.com/articles/srep10287