1
อีกนามหนึ่งของ ‘ความเชื่อง’ คือ ‘การเชื่อฟังล่วงหน้า’ หรือ Anticipatory Obedience
ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือครู คุณอาจคาดหมายให้ลูกของคุณมี ‘การเชื่อฟังล่วงหน้า’ ผนึกแน่นอยู่ในความคิดจิตใจ เพราะถ้าคุณเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือครูที่ดี – ในบางแง่มุม, การเชื่อฟังล่วงหน้าจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เช่น หากคุณฝึกให้เด็กรู้ถึงอันตรายของการตกหน้าผา เมื่อคุณพาเด็กไปเที่ยวริมผา เพียงปรายตามอง เด็กก็จะรู้แล้วว่าไม่ควรไปวิ่งเล่นใกล้หน้าผามากนัก เพราะมันอันตราย
ใช่ – มันอาจเป็นเรื่องดีในครอบครัว ในโรงเรียน และสำหรับเด็กบางคน แต่หากเกิดสภาวะแบบนี้ขึ้นในสังคมการเมือง นักคิดหลายคนบอกว่า – นี่ไม่อาจเป็นสิ่งอื่นใดไปได้, นอกจากโศกนาฏกรรม
ผู้ปกครองประเทศหรือสังคมที่มีแนวโน้มเป็นเผด็จการนั้น เมื่อขึ้นสู่อำนาจใหม่ๆ คนเหล่านี้ไม่ได้ ‘กินดีหมี’ มาจากไหน หรือต่อให้กินมาจริง ก็มักไม่ได้เริ่มต้นด้วยความกล้าบ้าบิ่นที่จะกระทำการต่างๆ นานา อันเลวร้ายตั้งแต่ต้นทันทีหรอกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการรายไหน เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า มักเริ่มต้นด้วยการแสดงตัวเป็น ‘เผด็จการผู้ทรงคุณ’ (Benevolent Dictator) เสียก่อน บางรายถึงขั้นมีลักษณะละม้าย ‘ผู้ปกครองที่เป็นปราชญ์’ หรือ Philosopher King ตามแบบและเบ้าของเพลโตเสียด้วยซ้ำ แล้วค่อยตกต่ำเสื่อมถอย หรือถูกกระชากหน้ากากเปิดโปง กระทั่งเกิดภาพเผด็จการที่ชั่วร้าย เป็นทรราชย์ หรือเป็นนักหลอกลวงปวงมหาประชาชน (Demagogue) ขึ้นในภายหลัง
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ – ในระหว่างทางของการใช้อำนาจ อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เผด็จการที่แลดูดี ดูเป็นที่รัก ดูน่าโห่ร้องปรบมือต้อนรับ กลายร่างมาเป็นเผด็จการที่น่าชิงชังรังเกียจ และอาจส่งผลร้ายต่อสังคมโดยรวมได้กันแน่
ที่สำคัญกว่านั้น – เมื่อ ‘เห็น’ เสียแล้ว ว่าเผด็จการที่เคยคิดว่าทรงคุณ กลายร่างเป็นเผด็จการร้ายกาจตัวจริง ก็แล้วทำไมคนจำนวนมากถึงยังสนับสนุนเผด็จการเหล่านี้อยู่ได้
ไป ‘ลอง’ หาคำตอบกัน!
2
ปัญหาสำคัญที่ถกเถียงกันมาตลอดประวัติศาสตร์ก็คือ ทำไมฮิตเลอร์ถึงได้ขึ้นมาเรืองอำนาจได้ขนาดนั้น?
เรื่องนี้ นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงในยุคหกศูนย์อย่าง สแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) พยายามหาคำตอบ เขาอยากทำการทดลองอย่างหนึ่งในเยอรมนี เพราะเชื่อว่าการทดลองที่นั่นจะทำให้เห็นรากของคำถามคำตอบข้างต้นได้ชัดเจน แต่เมื่อไม่ได้รับอนุญาต ก็เลยต้องทำการทดลองในอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยเยลของตัวเอง
คำถามหลักของมิลแกรม ก็คือการถามว่า – ทำไมเวลาที่คนถูกบังคับให้ทำอะไรร้ายกาจ ผู้คนถึงยัง ‘เชื่อฟัง’ และลงมือทำสิ่งร้ายกาจเหล่านั้น ทั้งที่ก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องร้ายกาจ
ดังนั้น งานวิจัยของมิลแกรมจึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ ‘อำนาจ’ (Authority) กับ ‘ความเชื่อฟัง’ (Obedience) ของคนที่อยู่ใต้อำนาจ
วิธีทดลองของมิลแกรมก็คือ เขารับสมัครคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยบอกอาสาสมัครว่า น่าจะเป็นการทดลองว่าด้วยเรื่องของการลงโทษกับความสามารถในการเรียนรู้ โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นครู อีกกลุ่มหนึ่งเป็นนักเรียน
ด้วยวิธีการบางอย่าง มิลแกรมทำให้อาสาสมัครทั้งหมดต้องมารับบทเป็นครู (โดยที่พวกเขาคิดว่าเป็นการสุ่ม) ส่วนนักเรียนทั้งหมดเป็น ‘นักแสดง’ ที่มีการตกลงวางแผนกับมิลแกรมมาแล้ว โดยคนในกลุ่มครูจะไม่รู้เลยว่านักเรียนเป็นนักแสดง แต่คิดว่าเป็นอาสาสมัครเหมือนๆ กัน
ครู (คืออาสาสมัคร) จะได้รับ ‘คำสั่ง’ ให้สอนนักเรียน (คือนักแสดง) เมื่อไหร่ก็ตามที่นักเรียนตอบคำถามไม่ถูกต้อง ก็ให้ลงโทษด้วยวิธีช็อกไฟฟ้า โดยไฟฟ้าที่ใช้ช็อกนั้นมีความแรงตั้งแต่ 15 ถึง 450 โวต์ โดยจะมีป้ายบอกความแรงของไฟฟ้าเป็น ‘ช็อกเล็กน้อย’ ‘ช็อกปานกลาง’ ‘ช็อกแรง’ ‘ช็อกแรงมาก’ ‘ช็อกอย่างเข้มข้น’ และ ‘ช็อกเข้มข้นรุนแรง’ ถัดไปเป็นอีกสองระดับความแรงที่ติดป้ายว่า ‘อันตราย : ช็อกร้ายแรง’ และสุดท้ายเป็นปุ่มแรงสุดที่เขียนป้ายไว้แค่ว่า XXX เท่านั้น
ในความเป็นจริง ไฟฟ้าที่ช็อกนั้นมีความแรงเดียว คือ 45 โวลต์ ซึ่งไม่เป็นอันตรายอะไร เพียงแต่ทำให้นักเรียน (คือนักแสดง) รู้สึกเท่านั้น จะได้แสดงได้สมจริง โดยมีการเตี๊ยมกันไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าเจอไฟฟ้าเล็กน้อยให้กัดฟัน แรงขึ้นอีกให้บ่น ถ้าแรงขึ้นไปอีกก็ให้ขอให้ปล่อยตัว ถัดจากนั้นคือการวิงวอนร้องขอ ถ้าแรงขึ้นไปอีกคือให้กรีดร้อง และสุดท้ายก็คือให้ตะโกนดังที่สุดและบ่นว่าปวดที่หัวใจแล้ว แต่ถ้ายังต้องเจอไฟฟ้าที่แรงขึ้นไปอีกขั้น ก็ให้เงียบ แล้วจากนั้นถ้ายังโดนเพิ่มความแรงไฟฟ้าขึ้นไปอีกขั้น ก็ให้หมดสติ หรือทำท่าเหมือนกับเสียชีวิตไปเลย
ในการทดลอง คนที่รับบทครูทั้งหลายนั้น ตอนแรกๆ ก็ปล่อยกระแสไฟฟ้าความแรงต่ำๆ ออกไปก่อน ถ้านักเรียนตอบผิด ก็ค่อยเพิ่มความแรงขึ้นเรื่อยๆ พอความแรงเพิ่มมากขึ้น และนักเรียนแสดงท่าทางเจ็บปวด ผู้ทดลองจะบอกครูว่าให้เพิ่มความแรงขึ้นไปอีก โดยมีคำพูดบอกตั้งแต่ Please continue / The experiment requires that you continue / It is absolutely essential that you continue จนถึง You have no other choice, you must go on
จากนั้นมิลแกรมก็มาดูว่า ในบรรดาครูๆ ทั้งหลาย มีคนที่ ‘ต่อต้านขัดขืน’ คำสั่งจากการทดลองมากน้อยแค่ไหน มิลแกรมบอกว่าเขาต้องเป็นฝ่ายช็อกเสียเอง เพราะเขาพบว่าคนที่ต่อต้านขัดขืน หรือตั้งคำถามกลับกับผู้มีอำนาจในการทดลองนั้น มีอยู่แค่ราวหนึ่งในสามเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่ (คือราว 65%) ยอมทำตามคำสั่งของการทดลองไปจนถึงไฟฟ้าความแรงระดับ XXX คือระดับสูงสุดกันเลยทีเดียว
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้เมื่อเห็นนักเรียนดิ้นดับหมดสติไปต่อหน้า (ซึ่งเป็นการแสดง) ครูเหล่านี้ก็ยังเลือกที่จะทำตาม ‘คำสั่ง’ ด้วยการช็อกไฟฟ้าต่อไป!
แน่นอน ปฏิกิริยาระหว่างทางมีหลากหลาย เช่น ครูบางคนถึงกับร้องวิงวอนขอให้นักเรียนช่วยตอบคำถามให้ถูกต้องด้วย ครูจะได้ไม่ต้องลงโทษด้วยการช็อกไฟฟ้านักเรียน แต่บางคนก็มีท่าทีเย็นชาหรือกระทั่งก้าวร้าวด้วยซ้ำ บางคนก็คิดว่าตัวเองได้ ‘ฆ่า’ นักเรียนนั้นไปแล้ว แต่ถึงกระนั้น หลายคนก็ยังทำตามคำสั่ง ด้วยการปล่อยกระแสไฟฟ้ารุนแรงที่สุดเข้าไปยังนักเรียน มีอยู่คนหนึ่งอยากเลิกทดลอง แต่แทนที่จะ ‘ลุก’ ขึ้นมาต่อต้าน เขากลับทำต่อไป โดยพร่ำพูดบอกตัวเองว่า “It’s got to go on, it’s got to go on.”
มิลแกรมทดลองหลายครั้ง และมีการเปลี่ยนวิธีทดลองหลายๆ แบบ บางครั้งเขาก็ให้ครูเข้าไปเป็นผู้จับมือของนักเรียนวางลงบนแท่นช็อตไฟฟ้าด้วยตัวเอง (คือเป็นผู้ ‘ลงโทษ’ ด้วยตัวเองเลย แทนที่จะแค่มองเห็นเฉยๆ) ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ครูหลายคนก็เชื่อฟังการทดลองน้อยลง อีกครั้งหนึ่ง มิลแกรมทดลองโดยให้ครูเป็นผู้เลือกความแรงของไฟฟ้าเอง (คือไม่ได้ค่อยๆ แรงขึ้นเรื่อยๆ) ปรากฏว่าแล้ว ครูเลือกไฟฟ้าความแรงเฉลี่ย 83 โวลต์ และมีเพียง 2.5% เท่านั้น ที่ไปไกลถึงขั้นเลือกกระแสไฟฟ้าขั้นสูงสุด ซึ่งทำให้มิลแกรมสรุปว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่ปีศาจร้าย แต่ก็มีหัวจิตหัวใจสงสารผู้ถูกลงโทษอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ไม่สามารถเลือกที่จะลุกขึ้นต่อต้านขัดขืนกับ ‘อำนาจ’ ได้ ต้องค้อมหัวยอมทำตามไป แม้ว่าจะไม่ได้เห็นด้วยกับการลงโทษนั้นมากนักก็ตามที
โดยรวม มิลแกรมแบ่งผู้เข้าทดลองออกเป็นสามแบบ คือ
1. กลุ่มที่เชื่อฟังตามที่อำนาจบอก แต่ก็พยายามหาความชอบธรรมให้ตัวเอง : กลุ่มนี้จะไม่แสดงความรับผิดชอบ แต่บอกว่าเป็นผู้ทดลองต่างหากที่ต้องรับผิดชอบ ต่อให้นักเรียนตายไป ก็ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา แต่เป็นความผิดของผู้ที่บอกให้เขาทำ บางคนก็ถึงขั้นโทษนักเรียน เช่นบอกว่าถ้านักเรียนไม่ ‘โง่’ และ ‘ดื้อ’ ขนาดนั้น ก็คงไม่ต้องถูกช็อกหนักมากหรอก
2. กลุ่มที่เชื่อฟัง แต่โทษตัวเอง : กลุ่มนี้รู้สึกแย่ที่ต้องลงโทษนักเรียนอย่างรุนแรง แต่โทษตัวเอง คนกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มลุกขึ้นท้าทายอำนาจ ถ้าต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบเดียวกันในอนาคต
3. กลุ่มขบถ : กลุ่มนี้ตั้งคำถามท้าทายผู้มีอำนาจ (คือผู้ทดลอง) ตั้งแต่แรกๆ แต่กระนั้นก็เป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยที่สุด
การทดลองของมิลแกรมเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันมาก เพราะหลายคนเห็นว่าเป็นการทดลองที่ ‘ทำร้าย’ ผู้เข้าร่วมทดลอง คือหลายคนเกิดความรู้สึกและความเครียดอย่างรุนแรง (ก็ถึงขั้นทำให้คน ‘ตาย’ ได้นี่ครับ) แต่มิลแกรมก็โต้แย้งว่า ผู้เข้าร่วมทดลองถึง 84% บอกว่าดีใจที่ได้เข้าร่วมในการทดลองนี้ เพราะมันทำให้พวกเขา ‘เห็น’ ว่าตัวเอง ‘เชื่อง’ (หรือมี Obedience ต่ออำนาจ) มากเพียงใด
หลังการทดลองหกปี ตอนกำลังเกิดสงครามเวียดนาม ผู้เข้าร่วมทดลองคนหนึ่งเขียนจดหมายมาหามิลแกรมว่า การทดลองนี้ทำให้เขาเลือกที่จะ ‘ปฏิเสธ’ ไม่ยอมไปตามหมายเรียกเกณฑ์เป็นทหารเพื่อไปรบที่เวียดนาม เขาบอกว่า ตอนที่เข้าทดลองนั้น แม้จะ ‘รู้’ ว่าเขาได้ทำร้ายคนอื่น แต่เขาไม่ ‘ตระหนักรู้’ เลยว่า ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น เขาไม่ได้ตระหนักเลยว่า สิ่งที่เขาทำไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจะทำจริงๆ แต่เป็นการทำตามที่ผู้มีอำนาจสั่ง แต่เมื่อผ่านการทดลองนี้แล้ว เขาก็รู้ว่ามโนธรรมในตัวคืออะไร เขาจึงปฏิเสธการไปร่วมรบ และยินดีที่จะติดคุกแทน
มิลแกรมนำการทดลองของตัวเองไปพยายามอธิบายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่า การทดลองของมิลแกรมนั้นเทียบไม่ได้เลยกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะในการทดลองนี้ ลึกๆ แล้ว ผู้เข้าร่วมทดลองก็รู้นั่นแหละ ว่าคงไม่มีใครถึงตายจริงหรอก (แม้ภาพจะดูเหมือนเป็นอย่างนั้นก็ตาม) นอกจากนี้ อาสาสมัครที่เป็นครูก็ไม่ได้รู้จักกับนักเรียน ไม่มีเหตุผลในด้านชาติพันธุ์หรือ ‘ความเกลียด’ ใดๆ มาเป็นฐานรองรับเหมือนความเกลียดชาวยิว รวมทั้งไม่ได้ใช้เวลายาวนานเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย จึงยังเป็นแค่เศษเสี้ยวของความรุนแรงและความจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง
แต่การที่การทดลองของมิลแกรมใช้อธิบายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะขนาดไม่มีฐานอคติเรื่องชาติพันธุ์ ไม่ได้รู้จักกัน หรือไม่ได้มี ‘ความเกลียด’ มาเป็นเชื้อเพลิงตั้งต้น เราก็ยังสามารถ ‘ยอมตาม’ (Conform) ต่อ ‘อำนาจ’ ได้มากถึงขนาดนั้น
ด้วยเหตุนี้ การทดลองของมิลแกรมจึงไปสนับสนุนการทดลองและทฤษฎีทางสังคมและทฤษฎีอื่นอีกสามอย่าง
อย่างแรกคือการทดลองที่เรียกว่า Conformity Experiment ของโซโลมอน แอช (Solomon Asch) ซึ่งจริงๆ เป็นการทดลองง่ายๆ (ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1951) โดยให้อาสาสมัครมาอยู่ในกลุ่มคนที่เลือกสิ่งที่ผิดพลาด แล้วดูว่าถ้าคนอื่นเลือกสิ่งที่ผิดพลาดมากๆ อาสาสมัครจะเลือกแบบเดียวกันหรือเปล่า ปรากฏว่าผลการทดลองเป็นไปดังนั้น นั่นคือโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์มักจะเลือกตามคนอื่น ยิ่งกลุ่มใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งมีระดับของการยอมตาม (Degree of Conformity) สูงขึ้นเท่านั้น ต่อให้เห็นอยู่โต้งๆ ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิดก็ตามที
อย่างที่สองคือทฤษฎีที่เรียกว่า Agentic State Theory ซึ่งเป็นทฤษฎีที่บอกว่า ฐานสำคัญของการ ‘เชื่อฟัง’ ก็คือการที่มนุษย์เราเปลี่ยนตัวเองไปเป็น ‘เครื่องมือ’ เพื่อทำตามความปรารถนาของคนอื่น (โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจมากกว่า) เมื่อเราเปลี่ยนตัวเองเป็น ‘เครื่องมือ’ แล้ว ก็แปลว่าเราไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นๆ (เพราะเราผลักความรับผิดชอบให้ไปอยู่ในมือของผู้มีอำนาจแทน)
อย่างที่สามเป็นคำอธิบายทางสังคมที่เรียกว่า Belief Perseverance ซึ่งก็เกิดต่อเนื่องมาจากทฤษฎีที่สอง คือเมื่อคนเราได้ ‘ผสาน’ (Merge) ตัวเองเข้ากับโครงสร้างของสถาบันทางสังคมหรือสถาบันทางการเมืองที่ใหญ่กว่าตัวเองแล้ว ก็จะเกิดความเชื่อบางอย่างผนึกแน่นอยู่ในตัว เช่นเชื่อว่าผู้นำเผด็จการคนนั้นคนนี้เป็น ‘เผด็จการผู้ทรงคุณ’ ต่อให้ในภายหลัง ผู้นำเผด็จการคนนั้นสำแดงตนออกมา หรือมีหลักฐานมากมายบ่งชี้ว่าเผด็จการนั้นไม่ได้ทรงคุณ (Benevolent) แต่ชั่วร้าย (Malvolent) ความเชื่อที่มีมาแต่เดิมก็มักคลอนแคลนได้ยาก
3
การ Conform อยู่ในกลุ่ม การยอมกลายเป็น ‘เครื่องมือ’ ของผู้มีอำนาจ และการถนอมรักษาความเชื่อบางอย่างเพื่อธำรงรักษาอำนาจนั้นๆ เอาไว้ อาจพอทำให้เราตอบคำถามได้ส่วนหนึ่งว่า ทำไมเมื่อเห็นความร้ายกาจหรือการทุจริตของเผด็จการที่ (เคยถูกคิดว่า) ทรงคุณแล้ว เราถึงยังทำเป็นเมินเฉย มองไม่เห็น หรือกระทั่งสนับสนุนเผด็จการเหล่านี้อยู่
แต่คุณรู้ไหมว่าในด้านกลับ คำอธิบายเหล่านี้ใช้ตอบคำถามที่ว่า – ทำไมเผด็จการที่ ‘แลดู’ ทรงคุณ ถึงได้แปลงร่างกลายเป็นเผด็จการที่ชั่วร้าย และแสดงออกถึงความชั่วร้ายของตัวเอง, ได้อีกด้วย
ทิโมธี สไนเดอร์ (Timothy Snyder) นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล เขียนไว้ในหนังสือ On Tyranny เอาไว้ว่า สาเหตุหนึ่งที่เผด็จการสามารถทำอะไรที่เลวร้ายได้มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะผู้คนทั่วไปสนับสนุนเผด็จการแบบลงลึกไปถึงจิตใต้สำนึก ทำให้เกิดวิธีคิดที่เรียกว่า ‘การเชื่อฟังล่วงหน้า’ หรือ Anticipatory Obedience
เขาบอกว่า ส่วนใหญ่แล้ว รัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมทั้งหลายในประวัติศาสตร์โลก สามารถเถลิงอำนาจและไปไกลถึงขั้นเหลิงอำนาจได้ในภายหลัง ก็เพราะผู้คนทั่วไปเป็นคน ‘สอน’ เผด็จการเหล่านี้ (ซึ่งผมแอบคิดว่าเหมือนเงื่อนไขหมาของพาฟลอฟ) ว่าเผด็จการสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยผ่าน ‘การเชื่อฟังล่วงหน้า’ นี่แหละครับ
คือถ้าเรามีแค่ ‘ความเชื่อฟัง’ ก็เป็นไปได้ที่เผด็จการจะต้อง ‘โยนหินถามทาง’ เสียก่อนที่จะทำอะไร ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ ‘ต่อมเอ๊ะ’ ของบางคนทำงาน แต่ถ้าเราถึงขั้นมี ‘การเชื่อฟังล่วงหน้า’ (หรือความ ‘เชื่อง’ ต่อเผด็จการ) ผนึกแน่นอยู่ในตัวเสียแล้ว แม้แต่โยนหินถามทางก็ไม่จำเป็นต้องทำด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ เรื่องเหล่านี้จึงเป็นทั้ง ‘เหตุ’ และ ‘ผล’ ที่สะท้อนโต้ตอบกันไปมา ผลที่เกิดขึ้นสะท้อนกลับไปกลายเป็นเหตุของเหตุแรก เพื่อจะกระเด้งกระดอนออกมาเป็นผลอีกผลหนึ่งที่ยิ่งแรงร้ายได้มากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่า – ก็รู้ว่าเป็นเผด็จการ ทำไมยังสนับสนุนกันอยู่ได้, อาจไม่ใช่เรื่องที่จะตอบหรืออธิบายกันได้ง่ายๆ เพราะสังคมปัจจุบันมีมิติต่างๆ ซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น จึงยังมีคำอธิบายที่ซับซ้อนอื่นๆ อีกหลายอย่าง การทดลอง (ที่โบราณแล้ว) อย่างการทดลองของมิลแกรม (หรือการทดลองอื่นๆ ที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคห้าศูนย์หกศูนย์) จึงช่วยอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
บางทีอาจเป็นพวกเราในยุคสมัยนี้นี่แหละ ที่ต้องร่วมกันหาคำอธิบายที่ใหม่กว่านั้น,
ด้วยตัวของเราเอง