ใครว่าเราเรียนแค่วัยเด็ก เราเรียนกันตลอดเวลาเลยต่างหาก!
การจะเป็น ‘ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต’ ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจเพียงวันหรือสองวัน แต่ต้องเป็นการสร้างตัวต่อเล็กๆ ด้วยอุปนิสัย ความเคยชิน และต้องปลูกฝังอย่างประณีตเสียหน่อย เพราะทุกวันนี้ทักษะที่เราจะต้องใช้แรง ใช้ร่างกาย ใช้สองมือทำเองโดยตรง (Hard Skills) มีแต่จะล้าสมัยเอาทุกวัน จากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและองค์ความรู้ที่มันดิ้นได้ตลอดเวลา ทำให้คุณไม่สามารถจะมานั่งนิ่งนอนใจกับภูมิความรู้ที่มีแต่เสื่อมไปและถูกแทนที่ได้เสมอ
ว่ากันว่า เนื้อหาวิชาวิศวกรรมปี 1 ที่คุณเรียน อาจเชยสุดๆ เมื่อคุณอยู่ในชั้นปี 4 การพัฒนาความรู้อยู่เสมอ ทำให้คุณนั่งจ้อกับเพื่อนๆได้โดยไม่หลุดวงโคจรนัก
และมันอาจเป็นอุปนิสัยสำคัญที่คุณจะนิยามตัวเองในอนาคต หากเริ่มได้เร็วกว่าคนอื่น
เราเริ่มพูดคุยกันเรื่อง ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต(Lifelong Learning)’ ในระดับโลกมาสัก 30 ปีแล้ว โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ร่วมกับยูเนสโก (UNESCO) และสภายุโรป (Council of Europe) พยายามผลักดันให้มนุษย์ในทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ ทุกอารยธรรม เริ่มตั้งเป้าหมายที่จะเรียนรู้ตลอดเวลาในขณะที่ยังมีลมหายใจ
ก่อนหน้านี้มนุษย์ถูกขีดเส้นคำว่า ‘การศึกษา’ ไว้เพียงช่วงเริ่มแรกของชีวิตเท่านั้น โตมาก็ต้องทำงาน ทำๆๆ แล้วก็รอเวลาที่แห้งเหี่ยวไปกับแสงแดดและสายลม โดยไอเดียของการหาความรู้ถูกครอบงำด้วยการศึกษาที่เป็นทางการ (Formal Education) มาตั้งแต่ไหนแต่ไร และส่วนใหญ่เป็นการจัดสรรของรัฐที่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก ทำให้คนที่อยู่ในช่วงอายุอื่นๆ ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เสียเปรียบ และกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกหยิบไปใช้ประโยชน์ต่อยอดมากนัก
มันจึงจำเป็นที่ต้องเคลียร์กันให้ชัดว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่เพียงหมายถึง ‘การศึกษาผู้ใหญ่ (Adult Education)’ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการเรียนรู้ทุกรูปแบบตลอดช่วงชีวิตอีกด้วย
หรือการเรียนรู้ตลอดเวลาทำให้คุณห่าง ‘อัลไซเมอร์’
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ‘นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยา (Neuroscience)’ เริ่มมีสมมติฐานบางๆ ของความเชื่อมโยงเมื่อการศึกษาตลอดเวลาอาจเป็น ‘ยา’ ที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างสุขภาพสมองให้ยืนยาว ช่วยชะลอความเสื่อมของความจำ และอาจช่วยให้คุณห่างใกล้กับ ‘ภาวะอัลไซเมอร์ (Alzheimers)’ หรือโรคสมองเสื่อม จากเซลล์สมองมีการเสื่อมของโปรตีน ทำให้สูญเสียความจำ ความสามารถในการใช้ภาษาและการตัดสินใจลดลง
น่าสนใจที่แม้อายุขัยของมนุษย์จะเพิ่มมากขึ้น แต่กลับทำให้แนวโน้มของภาวะอัลไซเมอร์ทะยานสูงไล่เลี่ยกัน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-4% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้นอีก
ว่ากันตรงๆคือจะพบเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 5 ปี หลังอายุ 60 ปี
แต่จากรายงานที่ผ่านมา คนที่มีอายุ 40 ปีก็เริ่มมีอาการอัลไซเมอร์ระยะเริ่มแรกแล้ว เช่น ขี้หลงขี้ลืม สูญเสียสมาธิง่ายๆ แม้จะไม่มีสิ่งเร้าใดๆ มากวนใจ อาการแรกๆ พวกนี้ยังวินิจฉัยยากมาก (อาจจะเป็นคนขี้ลืมโดยธรรมชาติก็ว่ากันไป) แต่การดำเนินของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป และทรุดลงฮวบในช่วงระยะ 1-3 ปี จากลืมนิดลืมหน่อย เริ่มหนักขึ้นเมื่อการรับรู้วันเวลาหรือสถานที่บิดเบือน อาจหลงทางกลับบ้านไม่ถูก ลืมชื่อญาติสนิท หวาดระแวง สับสน โดยเฉพาะกลางคืนอาจไม่นอนทั้งคืน จะออกนอกบ้าน และมีพฤติกรรมก้าวร้าว กลายเป็นปัญหาบานปลายที่บ้านไหนๆ ก็ไม่อยากเจอ
ทำธนาคาร ‘ความทรงจำ’ เอาไว้ก่อน
นักวิจัยพยายามไขความยุ่งเหยิงของภาวะอัลไซเมอร์กับกลไกอันพิลึกกึกกือของมัน โดยมีแนวโน้มว่าเราควรจัดการกับอัลไซเมอร์ตั้งแต่มันยังไม่เริ่มแสดงอาการ โดยการหากลไกสนับสนุนสมองให้แข็งแกร่ง รับมือความเสื่อมแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว จวบจนผู้สูงอายุ เพื่อสร้าง Cognitive Reserve หรือ ‘คลังปัญญา’ ที่ช่วยให้สมองทำงานอย่างเป็นระบบ
โดยยาที่อาจถูกขนานกับโรคอัลไซเมอร์มากที่สุด อาจเป็น ‘การศึกษา’ และต้องเป็นการศึกษาตลอดชีวิต
นักจิตวิทยา Fergus Craik และทีมวิจัยพบว่า ผู้ที่เรียนรู้ 2 ภาษาขึ้นไป สามารถมีความเสี่ยงต่อ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ลดลง 4 ปี กว่าคนที่พูดได้ภาษาเดียว และยิ่งไปกว่านั้นคนที่มีทักษะทางดนตรี มีแนวโน้มของความเสื่อมลดลง จนคุณอาจอยากขุดทักษะทางดนตรีสมัยเด็กๆขึ้นมาอีกครั้ง (เล่นดนตรีนั้นดีจะตาย)
และการศึกษาที่มากขึ้นตามลำดับ ช่วยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงท้ายๆของชีวิต
มีกรณีน่าสนใจของ หญิงชราชาวอเมริกัน Marjorie Mason Heffernan หรือใครๆก็เรียกเธอว่า Marge ในวัย 79 ปีเธออาสาเข้าสู่โครงการวิจัยอัลไซเมอร์ในวัยชราด้วยตัวเธอเอง ในโรงพยาบาล Sister of St.Joseph โดยโครงการวิจัยกินเวลากว่า 10 ปี
Marge เข้ารับการทดสอบแบบประเมินภาวะสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ‘Mini-Mental State Examination (MMSE)’ ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ได้รับความนิยมสูง เธอได้คะแนนยอดเยี่ยมถึง 30 คะแนน และทำการทดสอบยิบย่อยเกี่ยวกับการตระหนักรู้ต่างๆอีก 21 รายการแบบผ่านฉลุย
เวลาผ่านไปเมื่อเธอมีอายุ 84 ปี คะแนน MMSE ลดลงมาเพียง 28 คะแนนเท่านั้น เธอจบชีวิตในวัย 87 ปีอย่างงดงามโดยมีหลานสาว 2 คน อยู่เป็นกำลังใจในวาระสุดท้ายของชีวิต
แต่ Marge ไม่ได้ตายเปล่า! เธอได้บริจาคสมองเพื่อการวิจัยแก่สถาบัน โดยเมื่อทำการวัดน้ำหนักมีมวลอยู่ที่ 1,246 กรัม โดยถือว่าเป็นขนาดที่ใหญ่หากเทียบกับค่าเฉลี่ยสุภาพสตรีสูงอายุที่ 1,088 กรัม สภาพสมองมีร่องรอยของความเสื่อมของเซลล์อยู่บ้าง โดยเป็นสัญญาณของอัลไซเมอร์เล็กน้อย และกลุ่มโรคที่เกิด ‘การเสื่อมของเซลล์ประสาท (Neurodegenerative diseases)’ แต่ก็ถือว่ามีสภาพดีมากสำหรับคนวัย 87 ปี ซึ่งสมองใบเล็กๆของ Marge สร้างความฮือฮาให้กับสถาบันวิจัยอยู่ทีเดียว
สมองของหญิงชรา
คำตอบของสมองอันสมบูรณ์อาจอยู่ใน รูปแบบชีวิตที่ ‘เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา’ ของเธอนั่นเอง
มีปัจจัยหนึ่งในชีวิตของเธอที่ทำให้สมองต่อต้านกับความเสื่อม คือ เธอใช้งานสมองอยู่ตลอดเวลา
Marge อยู่ในระบบการศึกษากว่า 22 ปี ซึ่งถือว่าเยอะกว่าผู้หญิงคนอื่นๆในยุค 1923 เธอเป็นคนที่ชอบเข้าสังคมและเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนตลอดเวลา และเป็นนักอ่านชั้นครูที่หาตัวจับยาก เธอรักการอ่านหนังสือดุจการหายใจเข้าออก บางครั้งเธอสามารถอ่านหนังสือจบเล่มภายในวันเดียว (เป็นประธานชมรมอ่านหนังสืออีกต่างหาก)
เธอเป็นหญิงที่มองโลกในแง่บวก และหาโอกาสต่างๆในการทำสิ่งใหม่ๆ แม้เธอจะเผชิญกับความสูญเสียหลายครั้งในขณะมีชีวิต (ลูกชายเสียชีวิต 2 คน สามีเสียชีวิตอีก 2 คน) Marge ทำคะแนนสูงมากในการทดสอบบุคลิกภาพหลายประเภท โดยนักวิจัยลงความเห็นว่า “เธอมีจุดมุ่งหมายของชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม”
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีการลงความเห็นอย่างฟันธงจากนักวิชาการว่าการศึกษานั้นเชื่อมโยงกับ ‘ประสาทพยาธิวิทยา (Neuropathology)’ หรือป้องกันภาวะเสื่อมอย่างเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ แต่การศึกษายังเป็นสมมติฐานที่น่าฟังที่สุดในขณะนี้เพื่อหาวิธีป้องกันอัลไซเมอร์ในระยะยาว
อยากเรียนรู้ตลอดเวลา ควรเริ่มต้นอย่างไร
แม้คุณจะถูกจองจำในสำนักงานอันแสนน่าเบื่อ แต่เราเชื่อว่าคุณอาจหาแง่มุมที่น่าสนใจในการเรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ได้ มาดูคำแนะนำเล็กๆจากเรากันดีกว่า
- อยากรู้อะไร ก็รู้ให้สุด
คุณน่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรสักอย่างที่แม้แต่เพื่อนของคุณก็คาดไม่ถึง (และคุณรู้สึกพึงพอใจในการขวนขวายองค์ความรู้นั้นต่อ) จงทำต่อไป เราว่าคุณกำลังมาถูกทางแต่เริ่ม
- สังเกตมากๆ
เมื่อเกิดปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง จงเฝ้ามองสิ่งรอบๆ ตัวคุณอย่างพินิจพิเคราะห์ มันไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่อย่าเพิ่งปากสว่างไปบอกใครๆ เฝ้ามองมันอย่างนักล่า รุ่นใหญ่ใจต้องนิ่ง
- ออกจาก Comfort Zone
การเรียนรู้ไม่เคยจำกัดตัวในกรอบที่คุณสร้างมันขึ้นมา หากิจกรรมที่คุณไม่ถนัด เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เข้าคลาสทำอาหาร เริ่มเล่นดนตรี เต้นรำ เรียนภาษาใหม่ๆ แม้จะไม่ได้ใช้พูดในชีวิตประจำวันก็ตาม แต่สมองคุณกำลังตื่นเต้นอยู่
- ทำงานคนเดียวเป็นบ้าง
การไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นทำให้คุณหากลยุทธ์รับมือกับปัญหาด้วยตัวเอง แม้การระดมพลังสมองจะมอบผลลัพธ์ที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ควรละทิ้งการอยู่กับตัวเองและการต่อสู้อยู่ลำพัง
- ต้องสนุก
อารมณ์ดีทำให้คุณลดราวาศอกกับภาระหน้าที่สุดตึง หาเวลาพักผ่อนเพื่อตัวเองบ้าง มันทำให้คุณเห็นความเชื่อมโยงใหม่ๆ โดยที่ไม่ต้องนึกถึงสภาพแวดล้อมเดิมๆในสำนักงาน มิตรภาพจากคนรอบๆ และความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพช่วยเสริมสุขภาวะได้แบบองค์รวม
- ท้าทายตัวเองอยู่เสมอ
ทำลาย Routine ชีวิตออกบ้าง รับไอเดียใหม่ๆ จากหลากหลายแหล่งเท่าที่คุณสามารถเข้าถึงได้ หาความสัมพันธ์กับผู้คนที่ไม่ได้มีจุดประสงค์ร่วมกันกับคุณ แต่จงประหลาดใจในการแสดงออกของพวกเขาอยู่เสมอ การเอาตัวเองไปสู่ที่โล่งแจ้งทางโอกาส ทำให้คุณรับอะไรใหม่ๆมากกว่าคนอื่น
ชีวิตประจำวันมันซับซ้อนขึ้นทุกที งานการเร่งเร้า ลูกๆกำลังโต พ่อแม่ที่กำลังแก่เฒ่าลงไปทุกที สมองของคุณที่ปิดประตูการเรียนรู้อย่างถาวร กำลังทำให้พวกเราตายด้านและหลงลืมความมหัศจรรย์ของชีวิต อาจจะถึงเวลาที่ควรเรียนรู้อีกครั้ง แต่มันจะไม่ใช่เพียงคลาสสั้นๆ แต่มันยาวนานตลอดชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก
Conscientiousness, Dementia Related Pathology, and Trajectories of Cognitive Aging
Banking Against Alzheimer’s By David A. Bennett : Scientific American Mind