การ์ดอย่าตก New Normal เว้นระยะทางสังคม อยู่ห่างไว้ ใส่มาร์กกัน หมั่นล้างมือ
เป็นเวลา 1 ปี แล้วที่คนไทยเริ่มมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ที่ไม่ว่าการใช้ชีวิต การทำงาน การศึกษา ไปถึงภาคธุรกิจต่างๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ตอนนี้แม้จะก้าวข้ามปีมา สถานการณ์ต่างๆ ของบ้านเราก็ยังไม่ดีขึ้น และย้อนกลับไปเป็นเหมือนช่วงแรกที่พบการระบาดใหม่ๆ เนื่องจากยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขยายไปในหลายจังหวัด
แม้ว่าในหลายประเทศทั่วโลกจะเริ่มแจกจ่ายวัคซีน และไทยเองก็เริ่มมีข่าวถึงการสั่งซื้อ และนำเข้า ที่คาดว่าจะได้ในอีกไม่กี่เดือนนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ ว่าศึกการต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้ จะจบลงเมื่อใด และเราจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติหรือไม่
แต่หลังจากที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับวิถีใหม่มายาวนาน และวันนี้ถือเป็นการครบ 1 ปี ที่ไทยแถลงว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ The MATTER ขอพาไปย้อนดูว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างเกี่ยวกับการระบาดนี้ และรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาแก้ปัญหา หรือมีมาตรการอย่างไรบ้าง และอะไรจะเป็นบทเรียนให้กับเราได้ในตลอดปีนี้
จากผู้ติดเชื้อรายแรก สู่ 1 หมื่นราย
วันนี้ ของเมื่อปีที่แล้ว (12 มกราคม 2563) กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้ประกาศว่าพบนักท่องเที่ยวหญิงวัย 61 ปี สัญชาติจีน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ติดเชื้อ COVID-19 โดยนับว่าเป็นการพบผู้ติดเชื้อคนแรกนอกประเทศจีน และเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศ ซึ่งหลังผ่านไป 1 ปี จากเคสแรก ไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 10,834 ราย และเสียชีวิตทั้งหมด 67 ราย ทำให้ไทย มีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับที่ 128 ของโลก
โดยในการระบาดระลอกแรก ไทยเริ่มมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนทะลุ 1,000 ราย ในช่วงปลายเดือนมีนาคม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงต้นเดือนเมษายน ก่อนจะมียอดผู้ติดเชื้อที่น้อยลง จนสามารถควบคุมการระบาดในประเทศไว้ที่ 0 รายได้นานหลายเดือน จนกระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ซึ่งผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ประกาศว่าเจอผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติถึง 548 ราย รวมถึงการพบการแพร่ระบาดในบ่อน และในกลุ่มผู้ลักลอบเข้าประเทศ จนกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ขึ้นจนถึงตอนนี้
ขาดแคลน และราคาแพง! ดราม่ากักตุนหน้ากากอนามัย ที่นักการเมือง และหน่วยงานรัฐจะฟ้องกันเอง
เมื่อการระบาดเกิดขึ้นในประเทศ สิ่งที่กลายมาเป็นเครื่องป้องกันของทุกคนก็คือ ‘หน้ากากอนามัย’ ที่ทำให้เกิดการกักตุน ขึ้นราคา และของขาดตลาดกันมากมาย ไปถึงดราม่าเรื่องการจัดการของรัฐบาลกับปัญหานี้
โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเพจเฟซบุ๊ก แหม่มโพธิ์ดำออกมาแฉภาพของศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี ว่าได้กักตุนหน้ากากอนามัยจำนวนกว่า 200 ล้านชิ้น และพบเกี่ยวข้องกับผู้ช่วยของ ‘ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าเกี่ยวข้องด้วย โดยภายหลังธรรมนัสได้ออกมาชี้แจงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงมีการฟ้องศรสุวีร์ด้วย ซึ่งเรื่องก็ไม่ได้จบลงเท่านี้ เพราะมีการแตกกันของธรรมนัส และ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ อย่างสิระ เจนจาคะ ที่เรียกร้องให้ธรรมนัสลาออก ทั้งยังมี ส.ส.ในพรรคที่จะฟ้อง พรบ.คอมฯ กับเพจแหม่มโพธิ์ดำด้วย และ Alibaba ที่มาฟ้อง ศรสุวีร์ จากการแอบอ้างด้วย
ไม่เพียงแค่เรื่องของการกักตุน แต่ยังมีการตีกันระหว่างโฆษกกรมศุลกากร และอธิบดีกรมการค้าภายใน เมื่อทางโฆษกกรมศุลฯ ได้เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยกว่า 330 ตัน ในช่วงที่ประเทศขาดแคลนสินค้า จนนำมาสู่การฟ้องร้องของอธิบดีกรมการค้าภายในว่า มีการหมิ่นประมาท และบิดเบือนความจริงให้เกิดความเสียหาย ไปถึงฟ้อง มดดำ คชาภา ตันเจริญ ผู้ดำเนินการรายการทีวีที่นำเสนอข่าวด้วย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของดราม่าที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีการฟ้องร้องอีกมากมาย ไปถึงการตั้งคำถามของประชาชน ถึงการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย และราคา ที่มีคนมองว่า ได้รับไม่ทั่วถึงตามนโยบายของรัฐ ไปถึงความพอเพียงของหน้ากาก หลังจากการระบาดระลอกใหม่ ที่ก็มีกระแสว่า หน้ากากอนามัยสำหรับแพทย์อาจขาดแคลน และไม่ทั่วถึง
การติดเชื้อของแมทธิว ดีน ที่ทำให้พบ ซูเปอร์สเปรดเดอร์ในสนามมวย
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเคสใหญ่ ที่ทำให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในประเทศไทย กับคลัสเตอร์ สนามมวยลุมพินี ย่านรามอินทรา ที่ให้มีจัดแข่งชกมวยได้ต่อเนื่อง แม้จะเริ่มมีการระบาด และมีการส่งหนังสือเตือนและขอความร่วมมือแล้วก็ตาม โดยหลังจากที่ แมทธิว ดีน ดารา และพิธีกรมวยชื่อดัง ได้ออกมาประกาศว่าตนติดเชื้อ จากการไปตรวจด้วยตนเอง ทำให้เริ่มมีการตรวจสอบ และพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากจากสนามมวยลุมพินี จนเรียกได้ว่าเป็นกรณีซูเปอร์สเปรดเดอร์
โดยผู้ติดเชื้อจากสนามมวยมีทั้งเจ้าของค่ายมวย พิธีกร เซียนมวย นักมวย ผู้ชม และครอบครัวที่ติดเชื้อจำนวนมาก มากกว่า 150 ราย (ยังไม่รวมผู้ติดเชื้อที่เกิดจากการสัมผัสผู้ป่วยกลุ่มนี้) ทั้งยังแพร่ระบาดไปในกว่า 26 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนต่างก็พูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า ต้องขอบคุณแมทธิวที่ออกมาเปิดเผยอาการของตน ไม่เช่นนั้นการระบาดอาจจะลุกลามไปโดยที่ประชาชน และรัฐไม่รู้ตัวมากกว่านี้
การปล่อยให้มีการจัดงานมวยที่ทำให้เกิดการรวมตัวของคนหมู่มาก จนเกิดการกระจายของเชื้อ COVID-19 ไปยังอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดคำถามถึงความรับผิดชอบของกองทัพบก ที่ดูแลสนามมวย ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน พร้อมกับมีคำสั่งย้ายพล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี
แต่ในขณะนี้ หลังมีคำสั่งย้ายได้ 2 เดือน ได้มีการเปิดเผยว่า ได้มีการย้าย พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ได้ถูกย้ายกลับเข้ากรมเดิมแล้ว พร้อมการสอบสวนที่เงียบลงไป
พรก.ฉุกเฉิน ล็อกดาวน์ สู่พื้นที่สีแดง และมาตรการควบคุมสูงสุด
นอกจากวิถีชีวิตใหม่ที่เราต้องปรับตัว ประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ เมื่อคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยต่อมามีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. แต่ก็เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว ที่เราอยู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ โดยล่าสุดได้มีการต่ออายุไปถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์แล้ว
แต่ช่วงที่ผ่านมา พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลับถูกมองว่า มีการนำไปใช้เพื่อปราบปรามการชุมนุมมากกว่าเพื่อการควบคุมโรค หลังจากที่มีนักกิจกรรมทางการเมืองหลายราย ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการจัดชุมนุม และปราศรัย ในช่วงที่ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเลย
ขณะที่การระบาดในรอบใหม่นี้ ศบค.ตัดสินใจไม่ประกาศการล็อกดาวน์ หรือเคอร์ฟิวทั่วประเทศอย่างที่เคยมีการใช้ในการระบาดระลอกแรก และได้เปลี่ยนเป็นการจำแนกพื้นที่ตามสีต่างๆ เช่น สีแดงเข้ม สีส้ม สีเหลือง พร้อมทั้งยกระดับบางพื้นที่ให้บังคับใช้มาตรการควบคุมสูงสุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้สร้างความสับสนถึงความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ สี และมาตรการด้วย
มาตรการช่วยเหลือ เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง และการช่วยเหลือที่เป็นภาระของภาษี
ไม่ว่าจะติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อ ประชาชนทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบจากกระบาดในครั้งนี้ ซึ่งนำมาสู่มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ โดยเริ่มจาก การลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งมีรายงานว่า มีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 15 ล้านราย ขณะที่ประมาณ 7 ล้านรายซึ่งยื่นลงทะเบียนมานั้น ไม่ได้รับสิทธิ ซึ่งในระหว่างการลงทะเบียน ก็เกิดปัญหามากมายทั้งการเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือไม่รับรู้ข้อมูลการลงทะเบียน ไปถึงคำถามว่า ทำไมถึงได้รับสิทธิเพียงแค่บางคน และไม่ทั่วถึง
นอกจากเราไม่ทิ้งกันแล้ว ยังมีการช่วยเหลืออื่นๆ จากภาครัฐอย่าง คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน แผนเยียวยาเกษตรกร ฯลฯ และแม้ว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.จะเคยกล่าวว่า ที่ไม่ล็อกดาวน์ เพราะ “ต้องมีการเยียวยา ซึ่งนี่เป็นภาระของภาษีเงินของทั้งประเทศ” แต่ล่าสุด ครม.ก็ได้เคาะมาตรการช่วยเหลือใหม่ อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยา COVID-19 รอบใหม่แล้ว ซึ่งทั้งการจ่ายเงิน การลดค่าน้ำ ค่าไฟ โครงการคนละครึ่งเฟส 2 ซึ่งนายกฯ ประยุทธ์ ย้ำว่า “เรื่องเงินเราไม่มีปัญหา จะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุดและทันการณ์นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า”
อภิสิทธิ์จากภาครัฐ กรณีทหารอียิปต์ และลูกทูตที่ติด COVID-19
หลังจากผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง กลับมีข่าวให้ชาวไทยหวาดหวั่นกันอีกครั้ง เมื่อพบทหารอียิปต์ติดเชื้อ COVID-19 ในช่วงที่เดินทางมาประเทศไทย และเข้าพักโรงแรมในตัวเมือง รวมถึงออกมาเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าของ จ.ระยอง โดยเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นพร้อมกับ การพบเด็กหญิง 9 ขวบ ติด COVID-19 ซึ่งเดินทางมายังประเทศไทย พร้อมครอบครัวทูต แต่ครอบครัวไปกักตัวที่คอนโด เนื่องด้วยสิทธิทางการทูต
จากทั้ง 2 กรณี สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงมาตรการของรัฐที่ละเว้นให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องกักตัว และแขกที่ได้รับอภิสิทธิ์จากภาครัฐ รวมไปถึงมีการเรียกว่า ‘แขก VIP’ ขณะที่รัฐบาลเข้มงวด ขอให้ประชาชนเสียสละ และบอกให้อย่าการ์ดตก
ต้องโหลดไหม ไม่โหลดผิดหรือป่าว ? ไทยชนะ และหมอชนะ แอพฯ ภาครัฐที่ประชาชนไม่วางใจ
ในยุคแห่งเทคโนโลยี ในการจัดการการระบาดของเชื้อไวรัส ประเทศไทยก็ได้มีการเปิดตัวพลอตฟอร์มอย่าง ‘ไทยชนะ’ และ ‘หมอชนะ’ ในการเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ และเพื่อสำรวจอาการของประชาชนว่า มีความเสี่ยงติดเชื้อหรือไม่ แต่ภายหลังการเปิดตัวไม่นาน กลับมาข่าวประชาชนได้รับสแปม SMS ซึ่งถูกโยงว่าเกี่ยวข้องกับไทยชนะ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศว่า สแปมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับไทยชนะแต่อย่างใด
มาถึงการระบาดระลอกใหม่ เรื่องของแอพฯ ก็เกิดเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อ นพ.ทวีศิลป์ ประกาศเตรียมลงโทษผู้ติด COVID-19 แต่ไม่มี ‘หมอชนะ’ จำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้เกิดกระแสดราม่าขึ้นมา ซึ่งภายหลัง อนุทิน ชาญวีรกุล รมต.สาธารณสุข ก็ได้โพสต์ข้อความว่า การไม่โหลดไม่มีความผิด (แม้ภายหลังจะลบข้อความไป) รวมถึงนายกฯ เองก็ได้แถลงว่า การไม่โหลดไม่มีความผิด แต่ราชกิจจาฯ ก็ได้ประกาศต่อมา ถึงคำสั่งป้องกัน COVID-19 ว่าต้องโหลดแอพฯ หมอชนะ-ไทยชนะ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ล้วนแต่สร้างความสับสน และแสดงให้ถึงความไม่ไว้วางใจของประชาชน ในการโหลดแอพฯ
แต่ถึงอย่างนั้น หน่วยงานที่พัฒนาแอพฯ หมอชนะ ได้ชี้แจง และยืนยันว่าแอพฯ นี้จะเก็บข้อมูลน้อยมาก และผู้ที่มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลก็มีอยู่จำกัด ทั้งยังมีการประกาศซอร์สโค้ดไว้บน GitLab ให้คนที่มีความรู้เรื่องไอทีหรือคนทั่วๆ ไปเข้าไปตรวจสอบอีกด้วย และหากมีคนมาใช้หมอชนะมากๆ การประกาศทามไลน์ของผู้ป่วย เพื่อดูว่าใครมีความเสี่ยงบ้างก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป
แรงงานข้ามชาติ กับการระบาดระลอกใหม่
การแพร่ระบาดในระลอกใหม่ ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างไม่คาดคิด ทำให้การฉลองปีใหม่ และกิจกรรมหลายอย่างในช่วงปลายปี 2020 ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ได้ประกาศถึงพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติถึง 548 ราย โดยมีศูนย์กลางการแพร่ระบาดอยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ทำให้นำไปสู่การออกมาตรการล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาคร ทั้งเคอร์ฟิว ให้ปิดสถานบริการบางประเภท รวมถึงห้ามแรงงานข้ามชาติเดินทางออกนอกจังหวัด
สำหรับคลัสเตอร์นี้ คาดว่าเกิดขึ้นจากการเดินทางเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งก็นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ถึงการไม่คุมเข้มในพื้นที่ชายแดน และการลักลอบแรงงานเถื่อน จนมีการนำเข้าเชื้อ และระบาดใหญ่อีกครั้งได้
การจัดการของรัฐ กับกรณีต่างชาติลักลอบเข้าประเทศ – บ่อน ที่ตำรวจบอกไม่มี และหาไม่เจอ
ไม่เพียงแค่คลัสเตอร์สมุทรสาคร ที่ทำให้มีการระบาดระลอกใหม่ แต่ยังมีเหตุการณ์ลักลอบเข้าประเทศตามชายแดน และพบผู้ติดเชื้อตามจังหวัดต่างๆ ที่คาดว่าเข้าประเทศไทยมาตามเส้นทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อจากบ่อนการพนันใน จ.ระยอง ซึ่งวันนี้ (12 มกราคม 2564) มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดพุ่งสูงถึง 529 รายแล้ว
โดยกรณีการลักลอบเข้าประเทศ นายกฯ ก็ได้มีคำสั่งให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยยอมรับว่า ยังสาวไปไม่ถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง แต่กำลังดำเนินการเพื่อไปให้ถึง ขณะที่บ่อนการพนันนั้น หลังพบผู้ติดเชื้อ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง ก็ออกมายืนยันว่าระยองไม่มีบ่อนการพนัน คาดเป็นการลักลอบเล่นการพนันกลุ่มเล็กมากกว่า รวมถึงมีการคอยตรวจจับอยู่ต่อเนื่อง รวมถึงมีการตรวจค้นพื้นที่ที่คาดว่าเป็นบ่อน ซึ่งตำรวจชี้แจงว่าเป็นเพียง โกดังเก็บสินค้าด้วย
คำศัพท์เดิม แต่ความหมายใหม่ในยุค COVID-19
เพราะภาษาวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ในยุคของ COVID-19 เอง ภาษา คำ และประโยคหลายๆ อย่างก็ถูกดัดแปลงความหมายไปอีกครั้ง ซึ่งล้วนแต่สร้างความสับสนให้ประชาชน ว่าสรุปแปลว่าอะไร แล้วเราต้องทำอะไรกันแน่นะ ?
ไม่ว่าจะเป็นการ ‘แจ้งเตือนระยะ 3 แต่ยังอยู่ในเฟส 2’ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศในช่วงการระบาดระลอกแรกว่า ไทยยังอยู่ในเฟส 2 ไม่เข้าสู่เฟส 3 ระยะ 3 เป็นเพียงแค่การแจ้งเตือนเท่านั้น (ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการประกาศเป็นเฟส 3) ไปถึง คำพูดของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กับประโยคที่ขอให้งดกิจกรรมเพื่อป้องกันการระบาด แต่งดในที่นี้ หมายความว่า “งดก็คือ ก็ทำได้อยู่”
มาถึงรอบนี้ คำใหม่ๆ ก็ยังเกิดขึ้นตลอด โดย นพ.ทวีศิลป์ ไม่ว่าจะเป็น ‘ไม่ใช่การระบาดระลอก 2 แต่เป็นการระบาดระลอกใหม่’ ไปถึงการอธิบายการจัดพื้นที่ระบาดหนัก ให้เป็นสีแดงเข้ม ที่แม้จะมีมาตรการคล้ายล็อกดาวน์ แต่ก็ยืนยันว่า “ยังไม่ใช่การล็อกดาวน์ แต่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด” และคำพูดของนายกฯ ประยุทธ์ ที่ย้ำว่าไม่สามารถล็อกดาวน์ทั้งประเทศได้ แต่ขอให้ประชาชน ‘ล็อกดาวน์ตัวเอง’ โดยให้ผู้ที่เสี่ยง ขอให้อยู่บ้าน 14-15 วันแทน