ใครๆ ก็อยากเจอครูที่ดี เพราะช่วงชีวิตส่วนหนึ่งของเราต่างก็ต้องศึกษาเล่าเรียน ถ้าเจอครูที่ไม่โอเค ใครจะอยากเข้าเรียน ว่ามั้ย
ในวาระวันครูแห่งชาติ Young MATTER พาไปรู้จัก 10 ครูผู้เป็นมากกว่าครู ครูผู้ควรค่าแก่การจดจำและเป็นแบบอย่างของทั้งนักเรียนและครู
1. ฟรอดิค ฟรอเบล (Friedrich Froebel)
เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ…
ดูเป็นคำกล่าวที่สร้างภาระอันชวนหนักใจให้กับลูกหลานของเราเสียจริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมาพูดถูก เพราะเด็กคือวัยแห่งการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า(แต่จะสร้างอนาคตให้ชาติหรือไม่ก็อีกเรื่องนึง)
Friedrich Froebel คือผู้ออกแบบหลักสูตรปฐมวัยศึกษา ที่เข้าใจธรรมชาติของความเป็น ‘เด็ก’ อย่างที่เด็กควรจะเป็น ฟรอเบลให้ความสำคัญกับการเล่นและการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เขาเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับทักษะและความสามารถอยู่ในตัวและครูมีหน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องพยายามดึงความสามารถในตัวเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กตระหนักถึงความสามารถของตัวเองให้ได้ ฟรอดิค ฟรอเบล ถูกขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งการศึกษาปฐมวัย’ เขาอุทิศชีวิตให้กับการพัฒนาโปรแกรมสำหรับเด็กเล็กและระบบการฝึกสอนของครูปฐมวัยซึ่งเป็นต้นแบบของการสอนเด็กวัยประถมศึกษาในปัจจุบัน
2. อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci)
“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน แล้วจึงเรียนศิลปะ”
เชื่อว่าทุกคนที่รักหรือเรียนศิลปะไม่มีใครไม่รู้จัก ‘อาจารย์ศิลป์ พีระศรี’ อย่างแน่นอน ท่านคือผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 2486 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ท่านอุทิศทั้งชีวิตให้กับศิลปะและการสอนในศิลปะเป็นอย่างมาก อาจารย์ศิลป์ใช้เวลาว่างไปกับการค้นคว้าความรู้เพื่อนักเรียนเสมอ แม้ช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ยังนำข้อสอบของนักเรียนมาตรวจในโรงพยาบาล
15 กันยายน ของทุกปี คือวันศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย เป็นวันที่ร่วมรำลึกถึงคุณความดีของท่านที่มีต่อนักเรียนและศิลปะในประเทศไทย ถึงแม้ตัวท่านจะจากไปแต่ผลงานและคำสอนที่ท่านได้ทิ้งไว้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนรุ่นหลังตลอดไป
3. ฮานาน อัล-ฮรูบ (Hanan Al Hroub)
สันติภาพจากการศึกษา
“เงินที่ได้ทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนเรื่องระบบการศึกษาและความเท่าเทียมของครูในปาเลสไตน์” นี่คือคำกล่าวด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของครูสาวชาวปาเลสไตน์ ที่ชนะรางวัลครูดีเด่นระดับโลก Global Teacher Prize 2016 จากผลงาน ‘วิธีการเรียนรู้ผ่านการเล่น’ ฮานาน อัล-ฮรูบ เป็นครูสอนในโรงเรียนมัธยมปลายซามมิฮา คาลิล (samihakalil High-School) ในเมืองอัลบิเรห์ (Al-Bileh) เขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่สงบจากผู้ก่อการร้ายอิสราเอล อันเป็นผลส่งให้บรรดาผู้คนรวมถึงเด็กในปาเลสไตน์ได้รับผลกระทบทางร่างกายรวมไปถึงจิตใจอย่างหนัก ซึ่งเธอเชื่อว่าโรงเรียนสามารถเปลี่ยนชีวิตและสภาพจิตใจของเด็กๆ เหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ (ตัวเธอเองเกิดในค่ายลี้ภัยปาเลสไตน์เธอรู้ดีว่าเด็กเหล่านี้รู้สึกอย่างไร)
การเล่นเกมคือสิ่งที่ดีที่สุดและสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีของเหล่านักเรียน เพราะเด็กจะได้เรียนรู้และสนุกสนานไปในเวลาเดียวกันเลย นี่คือวิธีการเรียนรู้ผ่านการเล่นของเธอ เป้าหมายในการสอนของ ฮานาน อัล-ฮรูบ ที่นอกจากความรู้และการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กแล้ว คือสันติภาพของเหล่าเด็กๆ ที่สามารถสนุกกับวัยเด็กได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลถึงความรุนแรงใดๆ
4. มาร์วิน คัลลาแฮน (Marvin Callahan)
ความหิวโหยจะต้องหมดไป
Marvin Callahan คือครูโรงเรียนประถมใน New Maxico ที่มีเด็กหิวโหยมากที่สุดอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา คัลลาแฮนสอนที่โรงเรียนประถมแห่งนี้มาเป็นเวลานานกว่า 21 ปีแล้ว ความยากจนของเด็กเลวร้ายถึงขนาดไม่มีเงินซื้อข้าวกินคือสิ่งที่เขาพบเห็นมาโดยตลอด คัลลาแฮนต้องการให้สภาพเหตุการณ์เลวร้ายนี้จบลงเสียที เด็กที่นี่จะได้ไม่ต้องทนหิวอีกต่อไป
เขาเริ่มจากสละเงินของตัวเองบางส่วนเพื่อซื้อข้าวให้เด็กกินเป็นประจำ จนกระทั่งพัฒนาไปเป็นโปรเจกต์ Backpack Program ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ให้ครูวัยเกษียณรวมไปถึงคนใจบุญ ซื้ออาหารเพื่อให้เด็กนำกลับไปกินในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์(เพราะวันปกติคัลลาแฮนเป็นคนซื้อให้เด็กกินเองที่โรงเรียน) จุดเริ่มต้นของน้ำใจอันยิ่งใหญ่นี้เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวในวัยเด็กของคัลลาแฮนเอง ตอนเด็กๆ บ้านของคัลลาแฮนยากจนมากจนบางทีไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม แต่โชคดีที่ยังมีข้าวให้กิน ซึ่งเด็กโรงเรียนนี้ไม่มีแม้แต่ข้าวให้กินเลยด้วยซ้ำ
5. จูโหยว ฟาง
จิตวิญญาณของผู้ให้
จูโหยว ฟาง เป็นครูของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดหูเป่ย ประเทศจีนเธอกำลังจะเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวทางร่างกายไปอย่างช้าๆ จากโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยและไขสันหลัง เป็นโรคทางพันธุกรรมโรคหนึ่งที่หายาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีทางรักษา เธอควรจะพักและรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แต่เปล่าเลย! ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นผู้ให้อย่างเต็มเปี่ยม จูโหยว ฟาง เลือกที่จะสอนนักเรียนอย่างไม่ย่อท้อแม้สภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยนัก เธอเตรียมการสอนเยอะกว่าครูปกติในโรงเรียนเพื่อให้การสอนออกมาดีที่สุด ด้วยความสามารถทางการสอนที่ดีเยี่ยม ทางโรงเรียนจึงให้เธอสอนนักเรียนประถมด้วย จากเดิมที่สอนเพียงชั้นมัธยมเพียงอย่างเดียว
6. เชาวลิต สาดสมัย (ครูเชาว์)
แสงสว่างในมุมที่มืดมิด
เชาวลิต สาดสมัย เกิดมาพร้อมกับสภาพร่างกายและสติปัญญาที่ไม่ได้ปกติซะทีเดียว แม้ความบกพร่องนี้จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอยู่มาก แต่เชาวลิตก็ดิ้นรน ขยัน มุมานะจนสามารถเรียนจบในชั้นปริญญาตรีจากมหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากเรียนจบ เชาวลิตตัดสินใจมาทำงานที่ศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 โดยทำหน้าที่เป็นครูประจำศูนย์ที่คอยดูแลเด็กที่มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ ใช้ชีวิตยากลำบาก ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ เชาวลิตอุทิศตนให้กับการดูแลเด็กเหล่านี้อย่างสุดแรงกายแรงใจ เขาทำงานเสริม ตระเวนเก็บขยะขายบ้าง รับจ้างแบกหามบ้าง เพื่อเป็นเงินทุนในการซื้อขนมหรือของใช้ให้เด็กเหล่านี้ คนที่อยากเรียนเชาวลิตก็ส่งเรียนโดยใช้เงินของตัวเอง สำหรับเด็กๆ เชาวลิต คือ ‘ครูเชาว์’ ที่คอยดูแลพวกเขาราวกับเป็นพ่อคนที่สอง ความไม่สมบูรณ์แบบของครูเชาว์คือส่วนเติมเต็มให้ผู้อื่นสมบูรณ์แบบ
7. สุภาณี ยังสังข์ (ครูเข็ม)
เด็กทุกคนควรได้รับสิทธิในการศึกษาเท่าเทียมกัน
นอกจากการเป็นครูสอนเด็กประถมที่โรงเรียนวัดนางลาด จังหวัดพัทลุงแล้ว ครูเข็มยังทุ่มเทเวลาให้กับเด็กนอกระบบด้วย สิ่งที่ทำให้ครูเข็มเลือกทำในสิ่งที่ไม่มีใครต้องการทำและครูเข็มไม่จำป็นต้องทำก็ได้ เพราะครูเข็มเชื่อว่า‘การให้โอกาส’ จะช่วยให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพสังคมดีตามขึ้นไปด้วย ครูเข็มจึงจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบที่ชื่อว่า ‘โรงเรียนปลายนาข้าว’ ขึ้น เพื่อให้การศึกษาเด็กเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยธรรมชาติของเด็กเหล่านี้ทำให้เกิดความยากลำบากในการสอนอยู่บ้าง เช่น ต้องไปตามถึงบ้านให้มาเรียน ปลอบประโลมให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียน ครูเข็มทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กเหล่านี้มาเรียนได้อย่างไม่ย่อท้อ สำหรับครูเข็ม เด็กเหล่านี้เปรียบเสมือนเมล็ดข้าว ที่สามารถขัดเกลาให้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ได้
8. ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร
ผู้อุทิศทั้งร่างกายและจิตใจ
การให้ความสำคัญกับสื่อการสอนของอาจารย์สุด แสงวิเชียร คือคุณค่าที่แสดงให้เราเห็นว่าอาจารย์คือผู้ให้ที่ทุ่มเทอย่างแท้จริง ในวัยหนุ่ม ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร คือนักศึกษาแพทย์ที่ทุ่มเทให้กับการเรียนมากในระดับที่นักเรียนใฝ่รู้คนหนึ่งควรจะเป็น พอก้าวจากชีวิตวัยเรียนมาเป็นผู้สอน ก็ใช้มาตราฐานในวัยเรียนมาสอนด้วย อาจารย์สุดทุ่มเทชีวิตให้กับการสอนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสื่อการสอนด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าการเห็นอย่างชัดเจนและจับต้องได้จริงจะทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ด้านการเรียนไปจนปัญหาชีวิตส่วนตัว สิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า อาจารย์สุด เเสียงวิเชียร คือผู้ให้ที่แท้จริง
9. ทองพูล บัวศรี (ครูจิ๋ว)
โอกาสที่ยังคงหลงเหลืออยู่บนโลกที่โหดร้าย
ด้วยความยากลำบากในวัยเด็กส่งผลให้ทองพูล บัวศรี หรือครูจิ๋ว ตัดสินใจอุทิศตนเป็นครูอาสาสมัครในโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง เพื่อเข้าไปสอนหนังสือเด็กที่ติดตามพ่อแม่ไปทำงานก่อสร้างแล้วไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ เพราะเธอเข้าใจว่าการศึกษานั้นสำคัญต่อชีวิตขนาดไหน และเข้าใจว่าการที่อยากเรียนหนังสือแต่ไม่มีเงินนั้นรู้สึกแย่เพียงใด แม้ว่าการสอนจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งเงินสนับสนุนที่น้อยนิด (3,000 บาทต่อเดือนในการจัดการทุกอย่าง) แม้จะมีเวลาพักผ่อนน้อยกว่าการเป็นครูปกติแค่ไหน แต่ครูจิ๋วจะบอกเสมอว่านี่คือความสุขของเธอ ด้วยความพยายามของครูจิ๋ว ส่งผลให้มีการขยายศูนย์อาสาสมัครเพิ่มขึ้น และมีเงินสนับสนุนจากหน่วยงานมากขึ้นกว่าเดิม เป็นความสำเร็จจากความไม่ย่อท้ออย่างแท้จริง
10. สามารถ สุทะ (ครูมาด)
การศึกษาสำคัญสำหรับเด็กทุกคนเสมอ
เหนือเขื่อนภูมิพลในลุ่มแม่น้ำปิงมีโรงเรียนกลางน้ำที่ชื่อว่า ‘โรงเรียนเรือนแพ’ ซึ่งมีนักเรียนเพียง 7-8 คน และมีครูเพียงคนเดียวที่อุทิศตนเพื่อเด็กๆ เหล่านี้ ในที่ที่ห่างไกลเกินกว่าจะเดินทางมาง่ายๆ ‘สามารถ สุทะ’ หรือครูมาด อยู่ที่โรงเรียนเรือนแพแห่งนี้มาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว ที่นี่ครูมาดเป็นคุณครูผู้ให้ความรู้ เป็นทั้งภารโรงเช็ดถูปัดกวาด เป็นทั้งพ่อครัวรสเด็ดทำอาหารสามมื้อ เป็นทั้งพ่อแม่ที่คอยกล่อมนักเรียนเข้านอน ครูมาดเป็นทุกอย่างเท่าที่จะเป็นได้เพื่อเติมเต็มความอบอุ่นให้กับเด็กๆ ที่เรือนแพแห่งนี้ ถึงแม้จะเหงาและยากลำบากเพียงใด แต่ครูมาดก็พูดอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยว่า “ทุกลมหายใจของครูคือเรือนแพ ครูจะขอมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับนักเรียน”
อ้างอิงข้อมูลจาก