“รัฐบาลนี้น่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปีครึ่ง เต็มที่ก็ปีกว่าๆ”
คือการคาดการณ์ของแกนนำรัฐบาลคนหนึ่ง ที่ประเมินอายุของรัฐบาลชุดนี้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยเรื่องการ ‘จัดสรรผลประโยชน์’ เป็นหลัก ที่ไม่ต่างจากการ ‘จับปูใส่กระด้ง’ เพราะไม่เพียงเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมถึง 19 พรรค กระทั่งในพรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) เองก็มีกลุ่มการเมืองต่างๆ นับสิบกลุ่ม
ถึงวันนี้ ก็เป็นวันที่ 100 แล้ว นับแต่การเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ผลปรากฎว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหน้าใหม่คนเดิม ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เสียที
บางคนอาจจะช่วยอธิบายเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ขยายเวลาการรับรอง ส.ส.ของ กกต. จากเดิมภายใน 30 วัน มาเป็น 60 วัน ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป
แต่หากไปย้อนดู ระยะเวลานับแต่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ย้อนหลัง 10 ปี 5 รัฐบาล ก็จะพบว่า ไม่มีครั้งใดที่ใช้เวลานานขนาดนี้
– รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (ปี 2551) ใช้เวลา 8 วัน
– รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (ปี 2551) ใช้เวลา 5 วัน
– รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ปี 2551) ใช้เวลา 4 วัน
– รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี 2554) ใช้เวลา 4 วัน
– รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ปี 2557) ใช้เวลา 7 วัน
ส่วนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ปี 2562) ถึงปัจจุบัน ยังจัดตั้งไม่ได้ แม้ตัว พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกฯ อีกสมัย ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.2562 หรือผ่านมา 21 วันแล้ว ก็ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปเรื่องรายชื่อรัฐมนตรีเสียที
และหากติดตามดูข่าวเก่าๆ ก็จะพบความเคลื่อนไหวในการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลและจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายใน พปชร. ซึ่งมีทั้ง 1.กลุ่มทหาร 2.กลุ่มของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่นำโดย 4 อดีตรัฐมนตรี 3.กลุ่มอดีต กปปส. 4.กลุ่มสามมิตร 5.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (กลุ่มภาคเหนือ) 6.กลุ่มชลบุรี 7.กลุ่มโคราช 8.กลุ่มเพชรบูรณ์ 9.กลุ่มกำแพงเพชร และ 10.กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ (กลุ่มด้ามขวาน)
เราไทม์ไลน์ให้ดูกับง่ายๆ ว่า มีแรงกะเพื่อมอย่างไรในการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัยสอง
06 มิ.ย.2562 – ที่ประชุมรัฐสภา เลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัย ด้วยเสียง ส.ส.และ ส.ว. 500 เสียง
07 มิ.ย.2562 – มีรายงานข่าวว่า แกนนำ พปชร.อยากจะขอเปลี่ยนกระทรวงที่ให้เป็นโควต้ารัฐมนตรีกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) – 1 รองนายกฯ 3 รัฐมนตรีว่าการ 4 รัฐมนตรีช่วย และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) – 1 รองนายกฯ 3 รัฐมนตรีว่าการ 4 รัฐมนตรีช่วย โดยจะขอเก้าอี้ รมว.กระทรวงพาณิชย์และ รมว.กระทรวงเกษตรคืนจาก ปชป. และขอเก้าอี้ รมว.กระทรวงคมนาคมคืนจาก ภท.
08 มิ.ย.2562 – อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ว่า กระทรวงมีไว้ทำงานไม่ใช่ให้แลกไปแลกมา และยืนยันว่าดีลทุกอย่างจบแล้ว คือ ภท.ได้เก้าอี้ รมว.ในกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
09 มิ.ย.2562 – มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ออกมาทวงเก้าอี้รัฐมนตรีให้ 10 พรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาล อ้างว่ามี ส.ส. 10 คน ควรจะได้เก้าอี้รัฐมนตรี 2 ตัว
11 มิ.ย.2562 – มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ
14 มิ.ย.2562 – ดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย ออกมาบอกว่าอาจทบทวนการร่วมรัฐบาล พปชร. หลังไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
15 มิ.ย.2562 – แกนนำภาคอีสานตอนบน พปชร.เรียกร้องจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีให้ หลังทำเสียงได้ถึง 1.3 ล้านเสียง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17 คน และ ส.ส.เขต 5 คน
17 มิ.ย.2562 – กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ของ พปชร.ที่มี 13 คน ออกมาทวงว่าควรจะได้เก้าอี้รัฐมนตรี 2 ตัว
21 มิ.ย.2562 – มีกระแสข่าว พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) อาจจะไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีแม้แต่ตัวเดียว จนแกนนำต้องออกมาทวง ‘สปิริต-ข้อตกลง’ ผ่านสื่อ
29 มิ.ย.2562 – กลุ่มสามมิตร ออกมาเปิดหน้าชนแกนนำ พปชร. หลังเสียโควต้าเก้าอี้ รมว.กระทรวงพลังงานที่เดิมคาดว่าจะเป็นของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (ก่อนหน้านี้ เสียเก้าอี้ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สมศักดิ์ เทพสุทิน รอคอยให้ ปชป.) ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า โผ ครม.ไม่มีเปลี่ยนแปลงแล้ว “กระทรวงไม่ใช่บริษัท!”
01 ก.ค.2562 – พล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ขอโทษประชาชน ที่การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีมีความวุ่นวาย ส่วนกลุ่มสามมิตรนับรวม ส.ส.ในกลุ่ม 30 คนแสดงพลัง และประกาศไล่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พ้นเก้าอี้เลขาธิการ พปชร. ด้านเจ้าตัวประกาศไม่รับตำแหน่ง รมว.กระทรวงพลังงาน
02 ก.ค.2562 – อุตตม สาวนายน หัวหน้า พปชร. และแกนนำกลุ่มสามมิตร ร่วมแถลงข่าวความขัดแย้งเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีจบแล้ว “ทุกอย่างอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่มีข้อต่อรองใดๆ อีก”
สำหรับหลักการคำนวณโควต้ารัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผู้เกี่ยวข้องเล่าให้ฟังว่า ใช้หลักคิดง่าย ก็คือ เสียง ส.ส.ร่วมรัฐบาลทั้งหมดมี 254 เสียง เก้าอี้รัฐมนตรีมีจำนวนได้ 35 คน (ไม่รวมนายกฯ)
ทำให้สูตรคร่าวๆ ในการคำนวณโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี 7 ส.ส. : 1 รัฐมนตรี
ดังนั้น พปชร.มี ส.ส. 116 คน จะได้โควต้ารัฐมนตรี 17 ตัว ปชป.กับ ภท.มี ส.ส. 51 คนและ 50 คนตามลำดับ จะได้โควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี 7 ตัว พรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส. 10 คน จะโควต้ารัฐมนตรี 1 ตัวครึ่ง ปัดขึ้นเป็น 2 ตัว พรรครวมใจไทยชาติพัฒนามี ส.ส. 5 คน ได้โควต้ารัฐมนตรี 1 ตัว พรรคชาติพัฒนามี ส.ส. 3 คน ได้โควต้ารัฐมนตรี 1 ตัว เป็นต้น
ช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ มาจากปัญหาการ ‘แย่งชิงกระทรวง’ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายใน พปชร.เสียมากกว่า โดยเฉพาะการแย่งชิงกระทรวงเกรดเอ ซึ่งหมายถึงกระทรวงที่มีงบประมาณค่อนข้างมาก มีโอกาสทำโครงการต่างๆ เพื่อให้ได้รับความนิยมจากประชาชน แม้ตามหลักการแล้ว ผู้พลาดหวังจากการเป็นรัฐมนตรี ก็ยังมีตำแหน่งอื่นรอปลอบใจอยู่ เช่น ประธานคณะกรรมาธิการสามัญชุดต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎร
หลายคนอาจดูการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นเรื่องของ ‘ความขัดแย้ง’ (คนบางพวกแสดงความรังเกียจถึงขั้นเรียกว่าเป็นการ ‘แย่งชามข้าว’)
แต่ความขัดแย้งเหล่านี้ ก็สะท้อนได้ว่า การเมืองไทยไม่ได้อยู่ในภาวะกินรวบแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ไว้ในมือตนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ต้องแบ่งปันกับฝ่ายอื่นๆ โดยมีแต้มต่อเป็นจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ที่มาจากเสียงของประชาชนอีกทีหนึ่ง
น่าจับตาว่า ที่สุดแล้ว หน้าตารัฐมนตรีใน ครม.ชุดนี้จะออกมาเป็นอย่างไร? ความขัดแย้งที่บอกว่ายุติหมดแล้วจะยุติจริงหรือไม่? และรัฐบาลชุดต่อไปจะทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่?
จะสร้างมิติใหม่ของการทำงานการเมือง หรือแค่วนลูปทำการเมืองแบบเดิมๆ เพียงแต่เปลี่ยนหน้าผู้มีอำนาจเข้ามาแสวงหาประโยชน์ กันแน่ (แต่ก็จะโฆษณาว่าตนดีกว่าคนอื่นๆ ในอดีต)
หลายคนบอกว่า อดใจรอดูหน้าตา ครม.ประยุทธ์ 2/1 ไม่ไหวแล้ว และจับตาต่อไปจะมีอายุไขสั้น-ยาวเพียงใด?
– ที่มาภาพประกอบ: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล