ย้อนกลับไปต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2002 โลก พบกับจุดเริ่มต้นของ ‘โรคระบาด’ ครั้งใหญ่ โดยมีจุดกำเนิดอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยเป็นเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนา ส่งผลทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง มีการติดเชื้อที่ปอด และทางเดินหายใจ รวมถึงสามารถแพร่ต่อได้ไม่ยากนัก ซึ่งในเวลาต่อมามีชื่อย่ออย่างไม่เป็นทางการว่า SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome)
สิ่งที่รู้กันภายหลังก็คือรัฐบาลจีนในขณะนั้น เลือกที่จะ ‘ปิดข่าว’ ปล่อยให้โรคแพร่ข้ามชายแดนจีนไปยังฮ่องกง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าโรคนี้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว และจากฮ่องกงนี้เองที่เป็นจุดศูนย์กลาง ระบาดต่อไปยังเวียดนาม สิงคโปร์ แคนาดา และย้อนกลับไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เอง ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2003 หรือ 4 เดือนหลังจากที่จีนเก็บโรคนี้ไว้ใต้พรม
องค์การอนามัยโลก ประกาศเตือนว่ามี ‘โรคระบาด’ ใหม่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในเวียดนามและฮ่องกง โดยได้รับข้อมูลสำคัญจาก นพ. คาร์โล เออร์บานี (Carlo Urbani) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อขององค์การอนามัยโลก ชาวอิตาลี ที่เผอิญเจอคนไข้โรคนี้ด้วยตัวเองในฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์
นพ.คาร์โล เดินทางมายังกรุงเทพ ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.2003 เพื่อเข้าร่วมประชุมเรื่องเชื้อปรสิตในเด็ก แต่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการ ‘ผิดปกติ’ ตั้งแต่อยู่บนเครื่อง ทันทีที่รู้สึกว่าตัวเองอาจติดเชื้อ เขาได้แยกตัวเองออกจากผู้โดยสารคนอื่นทันที และขอ ‘แอดมิท’ ในห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ ที่สถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่เครื่องแตะพื้นที่สนามบินดอนเมือง
การป่วยด้วยโรคลึกลับของ นพ. คาร์โล ทำให้ไทย รู้ข้อมูลการระบาด และใช้ข้อมูลจากเขาตั้งจุดตรวจคัดกรองที่สนามบินดอนเมือง พร้อมกับจัดทำแผน ‘เผชิญเหตุ’ ของโรคซาร์สได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ก่อนองค์การอนามัยโลกจะประกาศเตือนประเทศสมาชิก ด้วยคำแนะนำของ นพ. คาร์โล
แม้จะยังไม่มีข้อมูลชัดก็ตามว่าที่มาของโรคนี้
หรืออาการที่ชัดเจนเป็นอย่างไร
1 สัปดาห์ หลังจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมเอาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากทั่วประเทศ ตั้งเป็น ‘วอร์รูม’ และให้ นพ. จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา ทีมนักวิจัยขององค์การอนามัยโลกพบว่าอาการของโรคซาร์ส มีลักษณะคล้าย ‘ไข้หวัด’ โดยอาจมีอาการตั้งแต่ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหนื่อยหอบ เจ็บคอ ฯลฯ โดยสิ่งที่พบตรงกันในคนไข้ทุกคนคือจะมีไข้สูงประมาณ 38 องศา
29 มีนาคม นพ. คาร์โล เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ผลพวงจากโรคซาร์ส โดยขณะนั้น ไทยมีผู้ติดเชื้อเพียง 3 ราย จากระบบตรวจคัดกรองที่เข้มข้น มีประกาศเตือนคนไทยให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน รวมถึงได้ขอให้รัฐมนตรีอย่าง สิริกร มณีรินทร์ รมช. ศึกษาธิการ รวมถึงคณะข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ซึ่งเดินทางไปสิงคโปร์ ‘หยุดงาน’ เป็นเวลา 10 วันเช่นกัน
ถึงต้นเดือนเมษายน ราว 1 เดือน หลังจาก นพ. คาร์โล เดินทางมาไทย ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่าไทย ‘จัดการ’ โรคนี้ได้ พร้อมกับประกาศจะจ่ายเงินให้ 1 ล้านบาท หากมีการติดเชื้อด้วยโรคซาร์สในไทย และหากเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะจ่ายให้ทันที 2 ล้านบาท เพื่อเรียกความเชื่อมั่นว่า ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวไทยช่วงสงกรานต์
พร้อมกันนั้น ทักษิณ ยังให้ไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ‘อาเซียนบวกจีน’ ว่าด้วยโรคซาร์ส ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยสร้างความมั่นใจให้กับโลกว่าอาเซียน สามารถจัดการกับซาร์สได้ โดยในเวลานั้น เวียดนาม เริ่มไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ให้จีน ใช้เป็นเวทีประกาศกับโลกว่าวิกฤตของโรคซาร์ส จะจบสิ้นในเร็วๆ นี้
ถึงเดือนพฤษภาคม ทักษิณก็ออกมาประกาศว่าไทย เป็นประเทศปลอดซาร์ส พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และเมื่อถึงปลายเดือน ตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกลดลงเรื่อยๆ เหลือเพียง ฮ่องกง จีน และโตรอนโต ประเทศแคนาดา เท่านั้น ที่ยังเป็นพื้นที่ระบาด และในเดือนกรกฎาคม องค์การอนามัยโลก ก็ประกาศว่าการระบาดของโรคนี้ ได้ ‘ยุติ’ ลงแล้ว
รวมระยะเวลาการระบาดทั้งสิ้นประมาณ 5 เดือน
เป็นการยุติ โดยที่ไม่มีวัคซีน ไม่มียารักษา
แต่ไทย และทั่วโลก สามารถจำกัดวงการระบาดได้ โดยใช้วิธีการรักษาตามอาการ สรุปไทย พบผู้ติดเชื้อทั้งหมดรวม 9 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 2 ราย ส่วนทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 8,096 ราย เสียชีวิต 774 ราย โดยอัตราตาย อยู่ที่ 9.6% โดยกลุ่มที่เสียชีวิตสูงสุด คือกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
หลังจากเจอโรคซาร์สผ่านไปราว 9 ปี โรคเมอร์ส หรือ Middle East Respiratory Syndrome เชื้อ ‘COVID-19’ จากตะวันออกกลางก็ถือกำเนิดขึ้นใหม่เมื่อ ค.ศ.2012 ในซาอุดิอาระเบีย สันนิษฐานว่ามาจากค้างคาว แพร่ไปยัง ‘อูฐ’ โดยผู้ป่วยคนแรก หรือ patient 0 เริ่มป่วยเมื่อเดือน มิถุนายน ค.ศ.2012 ก่อนจะระบาดต่อ ไปในซาอุดิอาระเบีย และในประเทศอื่นๆ
สำหรับโรคเมอร์ส มีการติดต่อจาก ‘คนสู่คน’ ผ่านการสัมผัสผู้ป่วย ติดต่อผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย สัมผัสของใช้ร่วมกับผู้ป่วย รวมถึงอาจมีอาการทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันอย่างรุนแรง เหนื่อยหอบ และมีไข้สูงเช่นเดียวกับซาร์ส ทว่า การติดต่อของเมอร์ส ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ติดต่อได้ยากกว่า มักจะติดต่อในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก กับผู้ที่อยู่ร่วมในบ้านเดียวกัน หรือกับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล
ขณะเดียวกัน อาการป่วยของเมอร์ส มักจะรุนแรงกว่าซาร์สมาก โดยอัตราการเสียชีวิตของเมอร์ส สูงถึง 32% และมีห้วงเวลาของการระบาดที่ยาวนานกว่าซาร์สมาก โดยในซาอุดิอาระเบีย เริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2012 เรื่อยไปจนถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ.2015 ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดกว่า 1,115 ราย และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเมอร์ส มากกว่า 480 ราย แต่ประเทศที่มีผู้ติดเชื้ออันดับ 2 ไม่ใช่ในตะวันออกกลาง หากแต่เป็นเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มต้นระบาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ.2015 ภายหลังชายวัย 68 ปี เข้ารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงโซล หลังกลับจากคูเวต ซึ่งพาให้เกาหลีใต้ มีผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดกว่า 186 ราย เสียชีวิตกว่า 36 ราย
ไทยเริ่มเฝ้าระวังโรคเมอร์สครั้งแรกในเดือน มิถุนายนปีนั้น โดยเริ่มเฝ้าระวังจากผู้ที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในซาอุดิอาระเบีย และใน ‘ทัวร์ไทย’ ที่เดินทางไปเกาหลีใต้
โดยกรมควบคุมโรค ได้เตรียมห้องแยกโรค 89 แห่ง
และเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด
เพราะรู้ว่าอย่างไร โรคเมอร์ส ก็มาถึงไทยแน่ๆ จากการเป็นเป้าหลักของกลุ่ม ‘ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ จากประเทศแถบตะวันออกกลาง ในที่สุดก็มีการยืนยันผู้ป่วยจากประเทศโอมาน วัย 75 ปี ซึ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน และส่งต่อไปรักษาในห้องแยกโรคความดันลบ ที่สถาบันบำราศนราดูร พร้อมๆ กับกักตัวคนใกล้ชิดอีก 59 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 163 รายในภายหลัง
โรคเมอร์สในไทยรอบแรก จบลงในวันที่ 28 มิถุนายนปีเดียวกัน หลังตรวจไม่พบเชื้อในชายคนดังกล่าว และไม่มีการติดเชื้อในผู้สัมผัสใกล้ชิด กว่าจะพบผู้ป่วยรายที่ 2 ก็ล่วงเข้าไปช่วงปลายเดือนมกราคม ค.ศ.2016 มาจากประเทศโอมาน และมาในรูปแบบนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือมารักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แบบเดียวกับผู้ป่วยคนแรก และพบผู้ป่วยรายที่ 3 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน เป็นชายชาวคูเวต ซึ่งเข้ามารักษาตัวในไทยเช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมด ไม่มีใครเสียชีวิต สามารถควบคุมให้จำกัดวง และสามารถรักษาผู้ป่วยจนหายได้ แม้จะไม่มีวัคซีน และยาเฉพาะสำหรับโรคนี้
สะท้อนให้เห็น ‘ความพร้อม’
ของการจัดการโรคระบาดในไทย ว่าไม่เป็นสองรองใคร
แต่นั่นคือสถานการณ์ที่แตกต่างกับ COVID-19 เพราะโรคซาร์ส เกิดขึ้นในวันที่การเดินทางทั่วโลก ไมได้สะดวกสบายแบบนี้ และระยะฟักตัวค่อนข้างต่ำ อาการผู้ติดเชื้อแสดงออกชัดเจน ขณะเดียวกัน ไทย ก็ ‘รู้ตัว’ ก่อนที่โลกจะรู้ตัว จากนพ. คาร์โล ผู้ที่ว่ากันว่ามีบทบาทสำคัญในการ ‘จัดการระบบ’ เตรียมความพร้อม รับมือโรคระบาดของไทย
ขณะที่โรคเมอร์ส ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะไทยตั้งการ์ดเป็นอย่างดี และด้วยธรรมชาติของโรค ก็ไม่ได้ติดต่อกันง่าย การรับมือ – การเฝ้าระวัง ผู้ติดเชื้อกับผู้สัมผัสใกล้ชิด เป็นไปอย่างเข้มงวด ราว 100 – 200 คน อยู่ในวิสัยที่กระทรวงสาธารณสุขพร้อมจะรับมือ
สถานการณ์ใน ค.ศ.2020 ผ่านมา 2 เดือน ระบบสาธารณสุข และการจัดการโรคระบาด กำลังถูกท้าทายครั้งสำคัญ เพราะดูเหมือนว่าระบบ จะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับโรคที่มีความซับซ้อนมากขนาดนี้ และการระบาดที่ยาวนาน ขยายเป็นวงกว้างทั่วโลก ก็ส่งผลกระทบต่อทั้งโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้อัตราการเสียชีวิตของโรคซาร์ส และโรคเมอร์ส ต่อผู้ติดเชื้อ จะสูงกว่า COVID-19 มาก แต่สะท้อนชัดว่า ความเสียหายจาก COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อไทย และส่งผลกระทบต่อทั่วโลก มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ติดแน่นอน