“กองทัพสยามยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์; กษัตริย์ทรงยอมรับการจำกัดพระราชอำนาจ” (Siam’s Army Ends Absolute Monarchy; King Accepts Curbs.)
ข้างต้นคือพาดหัวข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1932 หรือ พ.ศ. 2475
แน่นอน เรากำลังพูดถึงเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – เหตุการณ์ที่กลุ่มนายทหารและพลเรือน ซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร’ เข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ภายหลังการปฏิวัติสยามไม่กี่วัน เหตุการณ์ดังกล่าวได้ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศอยู่ไม่น้อย สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าชาวต่างชาติก็ให้ความสนใจเหตุการณ์นี้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ The New York Times
“หนึ่งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งของโลกถูกโค่นล้มแล้ววันนี้ เมื่อกองทัพบกและกองทัพเรือของดินแดนที่งดงาม (picturesque land) แห่งนี้ จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาก่อการปฏิวัติ และสถาปนา ‘ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ’ (constitutional monarchy)” (The New York Times ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1932)
นอกเหนือจาก The New York Times ก็ยังมีหนังสือพิมพ์อีกหัวหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ The Economist หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในอังกฤษ ซึ่งสรุปและวิเคราะห์เหตุการณ์การปฏิวัติสยามไว้ในฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1932
ทั้ง The New York Times และ The Economist ตั้งข้อสังเกตตรงกันถึงปัจจัยระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบถึงสยามในช่วงนั้น นั่นคือ เศรษฐกิจโลกที่กำลังวิกฤตในห้วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ซึ่งกินระยะเวลานานนับทศวรรษ ตั้งแต่ ค.ศ. 1929-1939
“การลุกฮือ ณ ขณะนี้ในสยาม ชัดเจนว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองถึงอาการป่วยไข้ที่เกิดจากแรงกดดันของวิกฤตเศรษฐกิจ” (The Economist ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1932)
“สยามได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การเงินของรัฐบาลกำลังย่ำแย่ ต้องจัดเก็บภาษีอย่างหนัก และภาคเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นภาคส่วนหลักของประเทศ กำลังตกต่ำ” (The New York Times ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1932)
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่ The New York Times และ The Economist กล่าวตรงกันคือ ความเกี่ยวข้องทางการศึกษาของคนชนชั้นสูงในสยาม ที่ได้รับการศึกษาในยุโรปจนทำให้เกิดการรับแนวคิดทางการเมืองแบบตะวันตกมา
“ในสยาม นายทหารคือฝ่ายที่สุดโต่งทางการเมือง เพราะพวกเขาคือฝ่ายที่ได้รับการบ่มเพาะด้วยแนวคิดแบบตะวันตกมากที่สุดของประเทศ” (The Economist ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1932)
“คนจำนวนมากจากชนชั้นบนๆ ได้รับการศึกษาจากอังกฤษและยุโรป และนำแนวคิดการปกครองแบบที่ไม่ได้สอดคล้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาด้วย” (The New York Times ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1932)
ยังมีหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ และอังกฤษอีกจำนวนหนึ่งที่รายงานถึงการปฏิวัติสยาม แม้จะถกเถียงได้ว่า เหตุการณ์นี้อาจไม่ได้มี ‘อิมแพ็กต์’ ไปทั่วโลกเหมือนการปฏิวัติอื่นๆ แต่เมื่อถอยออกมาย้อนดูมุมมองระดับโลกผ่านหนังสือพิมพ์ตะวันตก ก็น่าสนใจว่า แล้วมีปัจจัยระดับโลกอะไรบ้าง ที่ส่งอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของการปฏิวัติสยาม?
ในวาระครบรอบ 92 ปีของการปฏิวัติสยาม The MATTER พูดคุยกับ ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ และรองคณบดีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการจัดวางเหตุการณ์ดังกล่าวในบริบทโลก
จาก Great Depression สู่ 2475
“ถ้าถามผมว่า ทำไมความไม่พอใจยิ่งขยายตัว [จนมาสู่การปฏิวัติสยาม] ที่มาสุกงอมตรงนี้ ผมคิดว่า เรื่องเศรษฐกิจค่อนข้างมีผล เผลอๆ มีผลมากกว่าอุดมการณ์อีก” นี่คือความเห็นของนักประวัติศาสตร์อย่างศุภวิทย์
ในทางเศรษฐกิจ เขาอธิบายว่า ประเทศไทย หรือสยามในอดีต เริ่มจะเข้าร่วม (integrate) กับเศรษฐกิจโลก นับตั้งแต่การลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) กับสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1855 ทำให้ในระยะต่อมา เมื่อเศรษฐกิจโลกสั่นสะเทือน ก็ย่อมส่งผลกระทบมาถึงสยามด้วย
ศุภวิทย์ชี้ว่า สนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้รัฐสยามมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็คือข้าว ในตลาดโลก ถึงขนาดกลายมาเป็นรายได้หลักในเวลาต่อมา จนกระทั่งปี ค.ศ. 1929 เป็นต้นมา โลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า Great Depression เรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบถึงสยามที่เป็นประเทศส่งออก
“มูลเหตุหนึ่งของมันคือ อุปสงค์ (demand) ในตลาดโลกลดลง และราคาโภคภัณฑ์ขั้นปฐม (primary products) โดยรวมลดลง ฉะนั้น ไทยก็กระทบด้วย แล้วพอฟองสบู่แตกในสหรัฐฯ ก็มีการดึงเงินทุนกลับ พวกบริษัทตะวันตกหรือกิจการที่มีเครือข่ายภายนอก จะเป็นแบบเดียวกันหมด ก็คือ พอกิจการต้นทางเริ่มมีปัญหา ก็ดึงเงินกลับ
“สยามเคยมีรายได้จากการส่งออก มีเงินตราต่างประเทศเข้ามา ดังนั้น มันก็ส่งผลแน่นอน เพราะมันทำให้สยาม โดยเฉพาะทางฝั่งภาครัฐ รายได้มันหดตัวลง เพราะฉะนั้น ภาครัฐก็มีปัญหา”
ศุภวิทย์เล่าย้อนในมุมประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ซึ่งเป็นช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รายจ่ายภาครัฐมีปริมาณที่สูง โดยเฉพาะราชสำนักที่สูงเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของการทหาร และในขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลทางฝั่งรายจ่ายของรัฐบาลด้วย เพราะราชสำนักก็ถือเป็นรัฐบาล
วิธีหนึ่งในการรับมือของรัฐไทย ต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คือ การ ‘ดุลข้าราชการ’ หรือการให้ออกจากงาน ลดจำนวนข้าราชการ เพื่อตัดทอนรายจ่าย
“มันก็เหมือนทุบบ้านแหละ คุณนึกภาพว่า สมมติอยู่บ้านเดียวกัน แล้วคุณบอก เราต้องลดรายจ่ายในบ้าน ถ้ามันจะทะเลาะกันก็คือ ถ้าฉันยอมลด คุณยอมลดไหม การดุลข้าราชการมันคือฝั่งรัฐบาล มันคือฝั่งระบบราชการ ก็มีการมองมาที่ราชสำนักว่า รายจ่ายราชสำนักก็สูงนะ แล้วคุณยอมลดไหม”
ศุภวิทย์เท้าความเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงรัชกาลที่ 5-6 นั้น “เรื่อง career path หรือการอยู่ในตำแหน่งที่ใหญ่โต ที่เกิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันยังค่อนข้างโอนเอียงไปทางพวกมีเชื้อมีสาย ก็จะเป็นแรงกดดันอันหนึ่ง ซึ่งมันก็เดาได้ไม่ยากว่า แล้วถ้าต้องดุลข้าราชการ ใครจะมีอำนาจต่อรองมากกว่าหรือน้อยกว่า ดังนั้นคนตัวเล็กก็มีสิทธิที่จะโดนมากกว่า”
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ความคับข้องใจในหมู่ชนชั้นกลางจึงเกิดขึ้น “อันนี้ผมคิดว่า แทบจะไม่มีข้อวิเคราะห์ไหนปฏิเสธเรื่องนี้ว่า ทำไมพวกข้าราชการระดับกลางที่เป็นสามัญชนส่วนหนึ่งถึงอึดอัดคับข้องในเรื่องนี้ แล้วมาแสดงออก อย่างที่เรารู้กันว่า ในท้ายที่สุด มันเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2475”
ในขณะเดียวกัน ศุภวิทย์ชี้ให้เห็นด้วยว่า การปฏิวัติสยามไม่ใช่แค่การแย่งอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำเก่าและชนชั้นนำใหม่แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องพิจารณาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของชนชั้นราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งแปรรูปเป็นแรงสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย
“มีงานของตะวันตกที่มาศึกษาปัญหาสำหรับชาวนาไทย ในระดับสามัญชน ตั้งแต่หลังสนธิสัญญาเบาว์ริงมา ก็จะเห็นภาพว่า เป็นการทำนาในแบบที่พึ่งฟ้าพึ่งฝนเยอะ และมีปัญหาเรื่องหนี้สินค่อนข้างมาก ถ้าไปดูพวกเอกสารเก่าๆ มันจะพูดถึงเรื่องนี้อยู่ว่า ในระดับราษฎรเอง ถ้าอยู่โดยวิถีในภาคเกษตร จำนวนหนึ่งก็เป็นหนี้สิน แล้วก็ต้องขายที่
“โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่า ก็เข้าใจได้ ถ้ามันมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมบอกว่า คนเดือดร้อนทาง เศรษฐกิจ และคนจำนวนมากเป็นหนี้หรือไม่ได้มีทุนทรัพย์ของตัวเองมากนัก พอรัฐบาลใหม่ ประกาศหลัก 6 ประการ ว่ารัฐจะช่วยดูแลบำรุง แน่นอนมันต้องให้ความหวังมากขึ้น มันก็สอดรับกัน” ศุภวิทย์ระบุ
‘พลเมืองตื่นรู้’ (Active Citizen) อิทธิพลแนวคิดจากตะวันตก ที่ส่งผ่านคณะราษฎร
“โดยการสันนิษฐาน (assumption) ของผม มันคืออย่างนี้ เวลาคุณพูดถึงเรื่องรับไอเดีย เราต้องมองข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า ไม่มีไอเดียไหนมีขาเดินมาเอง ทุกไอเดียมากับคน ดังนั้น คนเป็นตัวสำคัญ” ศุภวิทย์อธิบาย
ในเรื่องของความคิดทางการเมือง ดูเหมือนว่าข้อถกเถียงที่น่าจะเป็นที่ยอมรับทั่วไป (แม้แต่ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่กล่าวไปข้างต้น) ก็คือ ตัวละครในคณะราษฎรรับเอา ‘ไอเดีย’ ต่างๆ ทางการเมืองมาจากตะวันตก จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สำหรับศุภวิทย์ เขาไม่เชื่อว่า ทุกคนในกลุ่มผู้ก่อการปฏิวัติจะรับเอาชุดอุดมการณ์ชุดเดียวกันมา ยกตัวอย่างเช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปเรียนทหารปืนใหญ่ที่ฝรั่งเศส ปรีดี พนมยงค์ ไปเรียนด้านกฎหมาย คงไม่มีทางที่จะคิดเหมือนกัน แต่เขามองว่า สิ่งที่น่าจะเห็นตรงกัน ก็คือประสบการณ์เกี่ยวกับความเป็น ‘พลเมืองตื่นรู้’ (active citizen) ในยุโรป
“จุดหนึ่งซึ่งบุคคลสำคัญที่ก่อการปฏิวัติสยามเห็นร่วมกัน และอันนี้ถือเป็นอิทธิพลจากระดับโลกจริงๆ คือ ส่วนมากเขาไปเรียนในยุโรป พลเมืองในยุโรปมีความเป็นพลเมืองตื่นรู้ (active citizen) มากกว่า ผมคิดว่า เขาน่าจะเห็นตรงนี้
“ต่อให้คุณเรียนทหาร แต่คุณเห็นว่า ทำไมคนที่นี่มีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมทางการเมือง ในขณะที่สยามยังไม่มี การเห็นตรงนั้นว่า สิ่งที่เป็นระดับประเทศประชาชนควรมีส่วนร่วม มีภาวะแอกทีฟมากขึ้น ต้องปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้นมา ผมคิดว่า จุดนี้เป็นจุดที่เขาแชร์จากการเห็นอะไรบางอย่างในยุโรป มากกว่าเรื่องอุดมการณ์หรือไอเดีย
“เผลอๆ คำว่า ‘democracy’ ผมยังไม่แน่ใจเลยว่า แต่ละคนพูดถึงสิ่งนั้นด้วยมุมมองเดียวกันหรือเปล่า” ความเห็นจากผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อย่างไรก็ดี หากจะมีอีก ‘ไอเดีย’ หนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากในระดับโลก และปรากฏอยู่ในการบริหารแผ่นดินภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่ว่าจะในขั้วของปรีดีหรือจอมพล ป. ที่แตกหักกันภายหลังก็ตาม ศุภวิทย์มองว่าน่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘strong government’ หรือ ‘ประเพณีรัฐเข้มแข็ง’
“อันนี้ในระดับมหาภาคเลย ไม่เฉพาะในไทย ประเด็นหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 1 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ คือ มันเหมือนถึงทางตัน เพราะเศรษฐกิจก็แย่ แต่พอเข้าสู่ช่วงหลัง ค.ศ. 1932-1933 ก็จะเห็นว่า บางประเทศสร้างความเข้มแข็งของตัวเองขึ้นมาได้ จากการที่มี strong government”
ถ้าตัดเรื่องอุดมการณ์แบบฟาสซิสต์หรือทหารนิยม ประเทศที่สะท้อนแนวโน้มดังกล่าวในเวลานั้น ก็คือญี่ปุ่นและนาซีเยอรมนี – หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ ก็ตาม ที่สะท้อนให้เห็นผ่านนโยบาย ‘New Deal’ นโยบายปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ ที่มีแนวทางเน้นการแทรกแซงของรัฐ (government intervention) ในสมัยของประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)
“ผมก็เลยมาดูว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของคุณปรีดี ถ้าตัดออกไปก่อนว่า อันนี้มันคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ยึดที่ดินเจ้ามาให้ชาวนาหรือเปล่า แต่ถ้าคุณไปดู เอาที่ดินเป็นของรัฐ แล้วประชาชนทุกคน มีความมั่นคง เพราะถือว่าเป็นลูกจ้างของรัฐ – เป็นข้าราชการ ใช้คำนี้ด้วยซ้ำ – มันคือ strong government มันคือรัฐเข้าไปจัดการ
“สิ่งเหล่านี้ยิ่งชัดเจน ในยุคที่ จอมพล ป. เป็นใหญ่ ก็ strong government ทั้งปรีดีและจอมพล ป. ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกันคือ มีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศเกษตรกรรม ขายแต่ของถูกๆ พอเจอความผันผวนที ก็ซวยไป ของไทยถ้าทำได้ ก็ต้องทุนนิยมโดยรัฐ (state capitalism) คนจนเกินกว่าที่จะเป็นนายทุนและสะสมทุน ตั้งอุตสาหกรรม ก็ต้องทุนนิยมโดยรัฐก่อน
“ผมรู้สึกว่า ทุกฝ่ายที่ขึ้นมาตอนนั้นเห็นด้วยกับเรื่องนี้ คือ ถ้าจะให้ประเทศไทยพลิกจากสิ่งที่เคยเป็นมา ก็ต้อง strong government และรัฐก็เข้าไปมีบทบาทในทางเศรษฐกิจ”
การอธิบายด้วย ‘ปัจจัยระดับโลก’ อาจทำให้เห็นว่าไม่ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เสมอไป
“นัยยะเวลาที่มีคนใช้ข้อถกเถียงเรื่อง ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ คือเขาจะบอกว่า คนไทยยังไม่พร้อม ซึ่งถ้าถามผม เท่าที่ผมศึกษาประวัติศาสตร์ มันมีปฏิวัติไหนด้วยเหรอที่มานั่งถามกันว่า พร้อมยังพวกเรา แล้วปฏิวัติ ผมไม่เจอ
“ดังนั้น ที่บอกว่า ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ หรือคนไทยยังไม่พร้อม จริงๆ ผมไม่ซื้อ แต่ไม่ได้บอกว่า คนไทยพร้อมหรือเข้าใจระบบ เพราะการเข้าใจระบบจากที่ไม่เคยปกครองตนเอง จนต้องปกครองตนเอง มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา”
หลังพูดคุยถึงบริบทเบื้องหลังของการปฏิวัติสยามไปแล้ว เราชวนศุภวิทย์อภิปรายถึงมายาคติ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ ที่ถูกใช้หักล้างการปฏิวัติเดียวกันนี้มานานแสนนาน
ข้อสังเกตประการหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์อย่างศุภวิทย์มีก็คือ การพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่รายล้อม ไม่ว่าจะปัจจัยภายในหรือปัจจัยระดับโลกก็ตาม จะทำให้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเหตุการณ์ดังกล่าวจึงสุกงอมในช่วงเวลานั้น
“ผมมองแบบนักประวัติศาสตร์มากกว่าว่า เราสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นในช่วงนั้น โดยไม่ต้องสนใจว่าใครพร้อมหรือใครไม่พร้อม ซึ่งพอเรามาดูจากปัจจัยต่างๆ ที่เล่ามา ก็จะเห็นว่า มันมีความอึดอัดคับข้อง”
ศุภวิทย์อธิบายให้เห็นภาพว่า “คณะราษฎรระดับท็อปๆ ที่มียศเป็นพระยาแล้วมีไม่กี่คน ส่วนมากเป็นระดับขุน-หลวง ทำไมมันถึงมีส่วนประกอบเป็นคนเหล่านี้มากกว่า เราก็ตอบได้ว่า อ๋อ เพราะยิ่งเป็นคนระดับกลาง ไม่มีเชื้อไม่มีสาย ความรู้สึกว่าตัวเองมั่นคงในระบบราชการ มันมีน้อย มันก็ถูกแปลงเป็นความไม่พอใจ
“เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว มันน่าจะพยายามหาคำอธิบายได้ว่า ทำไมมันถึงเกิดขึ้น ด้วยแรงหนุนจากคนนั้นคนนี้ แต่ละฝ่ายมีเดิมพันอะไรมันถึงเอาตัวเองเข้ามาสู่ตรงนี้ มากกว่าที่จะบอกว่า พร้อมไม่พร้อม”
ท้ายที่สุด การกลับมาอภิปรายเรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติสยามจะยังคงมีความสำคัญต่อไป
“ทำไมมันถึงสำคัญและมีคนอยากไปรื้อ ก็แน่นอนว่า มันถือเป็นหมุดหมายที่ทุกคนยอมรับว่า นี่เป็นจุดเริ่มของประชาธิปไตยไทย ถ้าจะว่าอย่างนั้นกันก็ได้ เพราะฉะนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน หรือแม้แต่หลังจากนี้ ยังไงก็ตัดกันไม่ขาด เมื่อคุณต้องพูดถึงประชาธิปไตยในสังคมไทย ยังไงทุกคนต้องกลับไปหาสิ่งนี้แน่นอน”
แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ เราจะเก็บรักษาความทรงจำในเรื่องนี้อย่างไร
สำหรับศุภวิทย์ เขายอมรับว่า “ที่ผมมักจะกลัว หรือพวกนักประวัติศาสตร์มักจะกลัว น่าจะเป็นเรื่องที่ว่า พอเรื่องไหนสำคัญ แล้วมีการพยายามสถาปนาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น บอกว่าความจริงต้องเป็นหนึ่งเดียว เวอร์ชั่นนี้เท่านั้น อันนี้จะอันตราย ถ้ามันจะสำคัญต่อไป โดยส่วนตัวผมอยากให้มันเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างได้มากกว่า
“2475 หรือจริงๆ แม้แต่ประวัติศาสตร์อื่นๆ ก็ตาม ถ้ามันจะอยู่ ผมอยากให้มันอยู่ในแบบที่ถกเถียงได้” เขากล่าว
ยกตัวอย่างเช่น การอภิปรายถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจข้างต้น ก็อาจทำให้เห็นว่า แรงจูงใจที่นำมาสู่การปฏิวัติสยามไม่เพียงแต่จะถูกอธิบายในเชิงอุดมการณ์ แต่สามารถได้รับการอธิบายในมุมอื่นๆ เช่น ในเชิงเศรษฐกิจ ได้ด้วย
“มันก็เหมือนหลายๆ เหตุการณ์ ถ้าคุณไปดูคนที่อยู่ในบริบทตอนนั้น ก็จะเห็นว่า พวกเขากำลังเริ่มชีวิตราชการ ต้องการความมั่นคงในชีวิต แต่ระบอบเก่าให้พวกเขาไม่ได้ ไม่ได้บอกว่าไม่มีเรื่องอุดมการณ์เลย แต่มันก็มีเรื่องผลประโยชน์อยู่ด้วย
“ดังนั้น มันจะมีความสำคัญอยู่ต่อไป และถ้าเราอยากให้มันสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง ต้องพยายามช่วยกันให้มันเป็นสิ่งซึ่งสามารถมองได้แบบจากหลายๆ มุม และถูกตั้งคำถามได้” ศุภวิทย์ทิ้งท้าย