ความเป็นกลางทางการเมืองคืออะไร ขอบเขตของนิยามอยู่ตรงไหน หรือที่สุดแล้ว ‘ความเป็นกลางทางการเมือง’ มีจริงหรือเปล่า
ภายหลังการเดินหน้าจัดชุมนุมแฟลชม็อบของนักเรียนและนิสิตนักศึกษา ก็ทำให้ความเป็นกลางทางการเมืองถูกหยิบขึ้นมาค้นหาความหมายเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปสำหรับทุกฝ่าย ปัญหาในตอนนี้คือ เมื่อนักเรียนขออนุญาตจัดการชุมนุมแฟลชม็อบ บุคลากรบางโรงเรียนได้ปฏิเสธคำขอนั้นพร้อมแนบมาด้วยเหตุผลที่ว่า สถานศึกษาต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง และไม่สามารถแสดงออกว่า ตนเองเห็นด้วยกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้
ข้อถกเถียงที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้จึงเป็นการพยายามสำรวจสเปรคตรัมของ ‘ความเป็นกลางทางการเมือง’ ว่า ที่สุดแล้วสถานศึกษาเองต้องมีความเป็นกลางจริงไหม เส้นแบ่งระหว่างพื้นที่แห่งเสรีภาพกับพันธกิจว่าด้วยความเป็นกลางควรจะบรรจบตรงไหนกันแน่
นิยาม ‘ความเป็นกลางทางการเมือง’ ในสถานศึกษา
อาจารย์วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการจากวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้อธิบายเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองในสถาบันการศึกษาเอาไว้ว่า นิยามของความเป็นกลางทางการเมือง คือ ความนิ่งเฉย ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่การนิ่งเฉยในบางครั้งก็อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนกลุ่มหนึ่ง และถูกตีความไปใน 2 ลักษณะ
อย่างแรกคือ หากไม่ออกไปเคลื่อนไหวหรือทำอะไรสักอย่างก็อาจจะถูกมองว่า เป็นการสนับสนุน หรือกำลัง ‘ให้ท้าย’ ผู้รักษาอำนาจอยู่ และอีกแง่หนึ่งเมื่อออกมาเคลื่อนไหวแล้ว กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเองก็อาจจะถูกผลักให้กลายเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปพร้อมๆ กันด้วย ฉะนั้นความเป็นกลางทางการเมืองจึงถูกฉาบไปด้วยอคติทั้งสิ้น แม้ว่ากลุ่มคนจำนวนหนึ่งจะไม่อยากเกี่ยวข้องเลย แต่ที่สุดแล้วก็จะถูกจัดประเภทให้อยู่ข้างใดข้างหนึ่งโดยปริยายอยู่ดี
อาจารย์ชวนไปดูข้อกำหนดของหน่วยงานส่วนราชการแต่ละแห่งพบว่า ตามกรมกองส่วนใหญ่จะมีหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ที่มอบให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แต่ที่ผ่านจะเห็นว่ามีข้าราชการหรือหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งเหมือนกันที่เข้าไปอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้ง และบางครั้งก็กลายเป็นเครื่องมือเข้าไปสนับสนุน ทำให้ปลอดความเป็นกลางไปด้วยเช่นกัน
ส่วนพื้นที่สถานศึกษาสามารถนิยามความเป็นกลางทางการเมืองได้ขนาดไหนนั้น อ.วันวิชิตชวนมองถึงข้อสังเกตบางประการที่เปลี่ยนแปลงไปคือ สถานศึกษาหรืออาชีพครูในสมัยก่อนจะไม่มีการตั้งข้อสงสัยใดๆ ตัวครูเองก็ถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยซ้ำ เพราะครูเป็นเสมือนศูนย์รวมของความรู้ทั้งปวง แต่ปัจจุบันเมื่อเกิดวิกฤตในสังคมขึ้น สถานศึกษาได้กลายเป็นผู้ส่งสารหรือข้อความทางความรู้แทน ลักษณะแบบนี้จึงไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่ตัวบุคคลหรือครูอีกต่อไป แต่เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ
“ถ้าครูยังไม่ปรับตัวก็จะถูกมองว่าไม่เปลี่ยนแปลง ใช้ข้อบังคับในการควบคุม ลงโทษ มันจะนำไปสู่การเพิ่มดีกรีความก้าวร้าวเพราะเขามองว่า สถานศึกษาหรือครูไม่ปรับตัว จากความศักดิ์สิทธิ์จะกลายเป็นเพียงผู้ส่งสาร มีวิวาทะเกิดขึ้น มีการจับผิดบุคลากรครูที่ไม่เป็นไปตามกระแสหลัก การไม่ยอมปรับตัวจะไม่สามารถยืนอยู่ในยุคดิจิทัลแบบนี้ได้
“โดยการวางตัวเป็นกลางทางการศึกษาต้องไม่ล่วงเกินในพื้นที่ที่คนอื่นไม่สบายใจ ต้องให้กลุ่มที่ต้องการเคลื่อนไหวรับฟังหรือจัดเวทีกิจกรรมได้ และการวางตัวเองเป็นกลางเองก็ต้องมีการรายงานสถานการณ์แก่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับด้วย เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกเพ่งเล็ง เพียงแต่เป็นการประนีประนอมผ่อนปรนให้ผู้เห็นต่างในขณะเดียวกัน”
อ.วันวิชิตยังมองด้วยว่า อุดมการณ์ในการก่อตั้งสถานศึกษานั้นๆ ก็มีส่วนสำคัญกับทิศทางของผู้บริหารและบุคลากรด้วย ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พ่วงมาด้วยประโยคคุ้นหูอย่าง ‘เสรีภาพทุกตารางนิ้ว’ ถ้ามองลึกลงไปถึงอุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งเราก็จะเข้าใจบริบทของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้
หรืออย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เดิมทีก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรข้าราชการพลเรือน โดยรับมอบหมายปฏิบัติตามนโยบายจากส่วนกลางอีกทีหนึ่ง รวมไปถึงเครือราชภัฎ ที่มีวัตถุประสงค์พัฒนา-ยกระดับท้องถิ่นให้มีศักยภาพ อุดมการณ์หรือฐานรากในการก่อตั้งที่แตกต่างกันตรงนี้ก็เป็นอีกส่วนที่หล่อหลอมให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีมุมมองหรือจุดยืนในการแสดงออกทางการเมืองที่แตกต่างกันไป
“บุคลากรก็คือพลเมืองคนหนึ่ง” อ.วันวิชิตยืนยันว่า บุคลากรในสถานศึกษา รวมถึงตัวนักเรียน นิสิตนักศึกษาเองมีสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองอย่างเต็มที่ ในยุคดิจิทัลที่เข้าไปละลายความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นครู คงเหลือไว้เพียงสถานะบุคลากรทางการศึกษา ทำให้ครูไม่มีอำนาจในการครอบงำเด็กหรือให้ข้อมูลในทิศทางที่ตัวเองต้องการได้อีกต่อไป
อำนาจของครูมีอยู่ในชั้นเรียนเพื่อลงโทษตามความเหมาะสม แต่ไม่มีสิทธิไปล่วงละเมิดความคิดเห็นของผู้อื่นจนเกิดภาวะอึดอัด ที่อาจพัฒนากลายเป็นความไม่ไว้วางใจ และหากสถานศึกษานั้นขัดขวางการรวมตัวโดยยกเหตุผลเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองขึ้นมาโต้แย้งกลุ่มที่เคลื่อนไหว สถานศึกษาก็อาจจะถูกมองว่า อ่อนแอและไม่มีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ได้
สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ : ความเป็นกลางที่ไม่อาจเป็นกลางในโรงเรียน?
ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้นที่ประสบกับนิยามความเป็นกลางทางการเมืองที่มีความไม่ชัดเจน แต่ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็ต้องเผชิญกับบาลานซ์ของปัญหานี้อยู่ไม่น้อย
บทความจาก neaToday เปิดเผยถึงการพูดคุยหัวข้อประเด็นทางการเมืองอย่างการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในห้องเรียนที่มักจะถูกมองว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้บริหารโรงเรียนเท่านั้นแต่ผู้ปกครองเองก็มองว่า การเมืองไม่ควรเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในห้องเรียน ด้วยความเชื่อแบบนี้ทำให้เด็กๆ ในโรงเรียนเกิดความหวาดกลัวและเพิกเฉยทุกครั้งที่มีการชวนพูดคุยในหัวข้อดังกล่าว
อลิสสา ฮัดลีย์ ดันน์ (Alyssa Hadley Dunn) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยมิชิแกนมองว่า พื้นที่ในห้องเรียนและสถานศึกษาไม่สามารถแยกออกจากการเมืองได้ ทั้งตำรา หลักสูตร ไปจนถึงนโยบายโรงเรียน ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องของการเมืองทั้งสิ้น
เธอมองว่า การศึกษาคือสิ่งที่ต่อยอดมาจากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และการสั่งสมวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นมาเป็นระยะเวลานาน ฉะนั้นทั้งตัวนักเรียนและบุคลากรจึงไม่สามารถทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น และลดทอนการเมืองไว้เป็นปัญหาใต้พรมได้
ในบทความได้อ้างอิงถึงรายงานของศูนย์วิจัยกฎหมายที่ระบุว่า การหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ.2016 ส่งผลกระทบเชิงลบกับเด็กๆ ในโรงเรียนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ ที่เป็นชนกลุ่มน้อย ทำให้ครูหลายคนประสบปัญหาไม่สามารถพูดคุยกับเด็กๆ อย่างเปิดเผยในห้องเรียน เพราะอาจขัดแย้งกับนโยบายส่วนกลาง
สถานการณ์แบบนี้ทำให้บรรดาครูต่างรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่สามารถเปิดอกพูดคุยประเด็นละเอียดอ่อนกับเด็กๆ ได้ เพราะนิยามความเป็นกลางที่ทำให้การอภิปรายการเมืองในห้องเรียนถูกจับตามองเป็นพิเศษ เด็กๆ เองก็ไม่กล้า ในขณะที่โรงเรียนที่ควรจะเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพในการแสดงความเห็น ก็ถูกจำกัดเหลือเพียงสถานศึกษาที่ต้องรับคำสั่งจากส่วนกลางโดยตรงเท่านั้น
ความเป็นกลางที่เข้าไปลดทอนและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น จึงไม่อาจเรียกว่า ‘ความเป็นกลาง’ ได้อีกต่อไป หากเส้นแบ่งนั้นขึ้นอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มากกว่าการเปิดพื้นที่แห่งความหลากหลายให้กับทุกคน