สำหรับบางแห่ง ระบบทหารขับเคลื่อนเทคโนโลยี และเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่บางแห่ง เป็นนักกีฬา eSports ก็ทดแทนการรับใช้ชาติได้
หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมไทยมาอยู่ตลอด คือกระแสการยกเลิกเกณฑ์ทหาร หรือการปรับเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารให้มาเป็นการสมัครใจ ซึ่งมีการเรียกร้อง ถกเถียง รวมไปถึงการร่างกฎหมายใหม่เพื่อความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
โดยจากการสำรวจของ ข้อมูลจาก Pew Research Center พบว่า ปัจจุบันประเทศทั้งหมด 191 ประเทศทั่วโลกที่หาข้อมูลได้ มีประเทศที่ยังบังคับเกณฑ์ทหารอยู่ประมาณ 60 ประเทศ โดยเป็นประเทศที่บังคับผู้ชายเท่านั้น 45 ประเทศ และทั้งชายและหญิงในอีก 11 ประเทศ และ 4 ประเทศไม่มีข้อมูลเรื่องเพศ ซึ่งนอกจากเรื่องเพศแล้ว แต่ละประเทศเองก็มีวิธี มีระบบการเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปด้วย รวมไปถึงอีกหลายประเทศที่ไม่บังคับการเกณฑ์ทหาร แต่มีระบบรับสมัครแทน
The MATTER ขอพาไปดู 5 โมเดลการเกณฑ์ทหารของต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งแบบบังคับ และไม่บังคับ รวมไปถึงตัวเลือกอื่นๆ ทดแทนการเป็นทหารว่า พวกเขามีระบบ และการจัดการอย่างไร รวมถึงมีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้างในการสร้างกำลังทหารเหล่านี้
สหรัฐฯ – ระบบเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ ที่มีสวัสดิการรับประกัน
สหรัฐฯ ได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ในยุคของ ปธน.ริชาร์ด นิกสัน โดยเปลี่ยนมาเป็นระบบเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจแทน ซึ่งแม้ว่าสหรัฐฯ ยังมีกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร แต่ก็ไม่ได้มีการใช้ในทางปฏิบัติแล้ว ซึ่งระบบทหารในสมัครใจ ได้ใช้สวัสดิการในการดึงดูดประชาชนในการสมัคร
โดนสำนักข่าว Bussiness Insider รายงานว่า เงินเดือนขั้นต่ำของทหารยศต่ำที่สุดนั้นอยู่ที่ 1,554 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 47,000 บาท) และหลังจากสี่เดือนของการฝึกแล้ว เงินเดือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,681 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 50,000 บาท) นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ สินเชื่อบ้าน ทุนการศึกษา ประกันชีวิต บำนาญ และงานให้หลังปลดประจำการด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการวิเคราะห์จากรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ว่า กองทัพต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการทำโฆษณาชักชวนให้คนเข้ามาเกณฑ์ทหาร รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งชนชั้นล่างที่เข้ามาเกณฑ์ทหารเนื่องจากต้องการสวัสดิการจากทหารด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเพศ ที่กีดกัน LGBT หรือคนข้ามเพศในการรับใช้ทหารด้วย
ออสเตรีย – เลือกบริการสังคม หรือเข้าร่วมโครงการแทนการเกณฑ์ทหาร
ออสเตรียยังเป็นหนึ่งประเทศที่ยังมีการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่ โดยระบบนี้ เมื่ออายุครบ 18 ปี ชายชาวออสเตรียต้องเข้ารับราชการในกองทัพ 6 เดือน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีระบบบำเพ็ญประโยชน์ที่เป็นภาษาเยอรมัน เรียกว่า ‘Zivildienst’ โดยการทำงานนี้จำนวน 9 เดือน ทดแทนการเกณฑ์ทหารด้วย
โดยคนที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารนั้น สามารถทำงานในหน่วยงานที่รัฐบาลอนุญาติ เช่น องค์การสภาการชาด โรงเรียนอนุบาล กู้ภัย หน่วยงานดูแลผู้พิการ เป็นต้น ซึ่งตัวเลือกยอดนิยมสำหรับงานบำเพ็ญประโยชน์นั้น คือการบริการรถพยาบาล และสถานบริการ รวมถึงนอกจากหน่วยงานเหล่านี้แล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโครงการต่างๆ เป็นเวลา 10 เดือน ถึง 1 ปี เช่นงานสรางสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้ง
แม้จะมีระบบบังคับเกณฑ์ทหาร แต่ก่อนหน้านี้ ในปี 2013 ออสเตรียก็ได้มีการทำประชามติว่าจะยังคงระบบนี้ไว้ไหม ซึ่งสรุปแล้วประชาชนส่วนใหญ่ จำนวน 59.8% โหวตให้คงกฎหมายเกณฑ์ทหารไว้ ในขณะที่ 40.2% มองว่าให้ยกเลิก เนื่องจากหากมีกองทัพมืออาชีพ แทนทหารเกณฑ์ จะทำให้ทหารมีฝีมือมากขึ้นด้วย
ฟินแลนด์ – ระบบบังคับเกณฑ์ทหาร ที่ประชาชนภูมิใจในการรับใช้
“สำหรับชาวฟินแลนด์ เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับราชการทหาร”
พูดไปแล้ว อาจคิดไม่ถึงว่าประเทศฟินแลนด์ยังมีการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่ โดยผู้ชายที่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป จำต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยฟินแลนด์ก็เป็นหนึ่งประเทศที่มีระบบบริการสังคมทดแทนด้วย แต่จุดเด่นของระบบทหารของฟินแลนด์ คือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับระบบทหาร ให้ประชาชนรู้สึกภูมิใจกับการรับใช้ชาตินี้
ฟินแลนด์ปลูกฝังสังคมให้มีทัศนคติที่ดีต่อระบบทหาร รวมถึงตั้งแต่ปี 2002 มีการใช้ระบบ Transformational Leadership ในการติดตาม และประเมินผลความรู้สึกของทหารในทุกระดับยศ ในทุกๆเรื่อง เช่น การกินอยู่ การทำงาน ไปถึงเรื่องความเครียด ทั้งทหารชั้นผู้น้อยยังรู้สึกกล้าพูดคุยกับผู้บังคับบัญชา รวมถึงยังไม่มีเรื่องของเส้นสาย หรือการใช้อำนาจเกินควรด้วย
โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของ Gallup ในปี 2015 ยังพบว่า 74 % ของชาวฟินแลนด์ กล่าวว่าพวกเขาเต็มใจที่จะจับอาวุธเพื่อปกป้องประเทศของตนซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในยุโรป เมื่อเทียบกับรัสเซียที่ 60% และสวีเดน 55% อีกทั้ง 80% ของผู้ที่ผ่านการเกณฑ์ทหารในฟินแลนด์แล้ว ยังสนับสนุนให้มีการเกณฑ์ทหารต่อไป และ 42 % ก็พร้อมจะเป็นทหารเกณฑ์ ถึงแม้จะไม่บังคับเกณฑ์แล้วก็ตามด้วย
ไต้หวัน – ระบบเกณฑ์ทหาร ที่ให้ Esports เป็นการบริการสังคมได้
ไต้หวันเอง ก็มีกระแสซึ่งรัฐบาลได้พูดคุยถึงการปรับเปลี่ยน ปรับลดระยะเวลาการเกณฑ์ทหาร และเงื่อนไขการบริการสังคม โดยไต้หวันยังถือว่ามีความขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหม่ และการมีกองทัพจะช่วยปกป้องความมั่นคงไว้ได้ ซึ่งไต้หวันนั้นก็มีทั้งการเลือกเกณฑ์ทหาร และการทำงานสายบริการสังคม
โดยแต่เดิม ผู้ชายทุกคนจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 2 ปี แต่ในปี 2013 ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ประชาชนที่เกิดหลังปี 1994 เป็นต้นไปนั้น ต้องเข้าเกณฑ์ทหารเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งสามารถกลับบ้านในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ได้ด้วย ขณะที่ประชาชนที่เกิดก่อนปี 1994 ต้องเข้ารับเกณฑ์ทหาร 1 ปี ขณะที่ทหารเกณฑ์จากการสมัครนั้น จะเข้ารับราชการถึง 4 ปี ซึ่งทำให้มีการพูดคุยว่า ทหารที่มาจากการสมัคร จะมีประสิทธิภาพมากกว่าทหารที่เกณฑ์เข้ามา
นอกจากนี้ในปี 2018 กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ยังได้รองรับให้ eSports เป็นงานบริการสังคมแทนการเกณฑ์ทหารได้ โดยนักกีฬา eSports หรือผู้ที่เป็นนักแข่งขันเกมคอมพิวเตอร์สามารับใช้ชาติด้วยการลงแข่งขันได้แล้ว โดยในช่วงแรก มีโควต้าที่กำหนดที่ 10 คน และจะเพิ่มปริมาณขึ้น หากประสบความสำเร็จด้วย
อิสราเอล – ระบบทหาร ที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยี และเศรษฐกิจ
หนึ่งในพื้นที่ที่ยังมีความขัดแย้งอย่างร้อนแรง คือแถบตะวันออกกลาง ซึ่งอิสราเอล ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่ยังคงมีข้อพิพาท และความขัดแย้งอยู่ การมีกองทัพ และระบบเกณฑ์ทหารจึงยังจำเป็น โดยอิสราเอลเอง ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่มีการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งผู้ชาย ในระยะเวลา 3 ปี และผู้หญิง ในระยะเวลา 2 ปี
แต่ถึงอย่างนั้น ระบบเกณฑ์ทหารของอิสราเอลก็ขึ้นชื่อว่าเป็นระบบที่สร้างนวัตกรรม ขับเคลื่อนเทคโนโลยี และเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ โดยระบบทหารของอิสราเอล มีระบบ Selective Draft หรือการเกณฑ์อย่างมีการคัดสรรคนไปลงหน่วยต่างๆ ที่เหมาะสม ซึ่งทำให้คนที่มีการศึกษา หรือถนัดด้านเทคโนโลยีได้เข้าไปอยู่ในหน่วยงานเหล่านั้น รวมถึงยังเป็นวิธีที่สร้างนวัตกรรม และคอนเนคชั่นให้กับทหาร ที่เมื่อพวกเขาจบจากการเป็นทหารเกณฑ์แล้ว ได้เอาสกิลเหล่านั้น ไปต่อยอดในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย หรือกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนวัตกรรมของอิสราเอล
Gary Shainberg ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จาก British Telecom เองยังเคยกล่าวว่า “ไม่มีที่ไหนในโลกที่คนที่ทำงานในศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีต้องรับใช้ชาติ” ซึ่งการรับใช้ชาตินี้ ได้ช่วยให้เยาวชนชาวอิสราเอลมีทักษะในการแก้ปัญหา มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลาย และได้ประสบการณ์ ทักษะความเป็นผู้นำด้วย
นอกจากนี้ อิสราเอลยังขึ้นชื่อว่า มีระบบกองกำลังสำรองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งสามารถเรียกระดมพลพร้อมรบของอิสราเอลจะใช้เวลาเพียง 18-24 ชั่วโมงเท่านั้น รวมถึงยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกองทัพ และประชาชนในประเทศได้ด้วย
อ้างอิงจาก