เข้าสู่ฤดูของการ ‘เกณฑ์ทหาร’ ที่เรามักจะได้เห็นบรรยากาศการจับใบดำ-ใบแดงที่วนกลับมาทุกปี เช่นเดียวกับบรรยากาศของชาว LGBTQ+ ที่ต้องต่อสู้กับระบบเกณฑ์ทหารที่บางครั้งก็บีบให้พวกเขาต้องทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็ต้องยอมรับกับสภาพและระบบที่ทำให้แต่ละวันของพวกเขามันยากเย็นยิ่งขึ้น
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘วาเนสซ่า’ Content Creator วัย 28 ปี ชาว LGBTQ+ ที่จับได้ใบแดงและต้องไปใช้ชีวิตในค่ายทหาร 1 ปีและ ‘แบงค์’ ฟรีแลนซ์ วัย 25 ปี ที่ลาออกจากหลักสูตร รด.กลางคัน และต้องไปพิสูจน์ความเป็น ‘กะเทย’ เพื่อกระดาษ 1 ใบ — พวกเขาพูดถึงประสบการณ์ที่เป็นเหมือนฝันร้าย โอกาส เวลา และเงินทองที่เสียไปกับระบบเหล่านี้ที่มันควร ‘สิ้นสุด’ ได้สักที
แบงค์เริ่มเล่าให้เราฟังว่า จริงๆ สมัครไปเรียนรด. แต่สุดท้ายเรียนไม่จบ ลาออกก่อน สาเหตุอย่างแรกเลยคือมันใช้เงิน ซึ่งมันยิบย่อยมากทั้งค่าชุด ค่าสมัคร ฯลฯ พอเข้าไปเรียนแล้ว มันไม่ได้มีความรู้สึกอยากเรียนต่อเลย ทั้งคำพูดของครูฝึกที่เขาไม่ได้พูดดีกับเรา ทำเหมือนเราเป็นทหารจริงๆ ไม่ใช่นักศึกษาที่มาเรียน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจลาออกเลยคือพวกเขาบูลลี่เพศเรา
“มันมีครั้งนึงที่ครูฝึกเขาจะให้เราขานชื่อ ซึ่งพอเราขานไปด้วยน้ำเสียงของเรา ครูฝึกเขาพูดใส่เราว่า ‘อย่าไปทำสบู่ตกในค่ายนะ’…ดูเขาพูดดิ เราก็แบบช็อต อึ้งไปเลย พออาทิตย์ต่อมาเราเลยมาลาออก เรารู้สึกว่าถ้าอยู่ต่อไปก็ไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไรบ้าง จะหนักกว่านี้มั้ย หรือถ้าถึงขั้นเรียนจนถึงปีสุดท้ายที่ต้องไปเข้าค่ายจะโดนอะไรบ้าง เรารู้สึกไม่ปลอดภัย” แบงค์เล่าพร้อมบอกว่า อีกอย่างนึงคือฝึกไปก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี ให้ไปฝึกซ้อมยิงปืน ไปฝึกจัดแถวจะได้ประโยชน์อะไร? แล้วยิ่งเจอครูฝึกที่เป็นแบบนี้ด้วย ก็ขอไปเสี่ยงดวงจับใบดำ-ใบแดงยังดีกว่า
การพิสูจน์ตัวตนว่าเป็น ‘กะเทย’
ถึงอย่างนั้นแบงค์ก็รู้สึกโชคดีที่ได้รับการช่วยเหลือจากพี่กะเทยแถวบ้านที่แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลเดียวในจังหวัดบ้านเกิดแบงค์ที่สามารถขอใบรับรองแพทย์เพื่อไปยื่นกับทหารได้
แบงค์เล่าว่า จริงๆ ไปทำมาตั้งแต่ปีแรกที่โดนเรียกแล้วแต่พอไปยื่นปีนั้น ทหารดันบอกว่าไม่รับใบรับรองแพทย์เลยต้องทำเรื่องผ่อนผันไป ส่วนค่าใบรับรองแพทย์ที่จ่ายก็ตกใบละประมาณ 500 บาท เท่ากับว่าในกระบวนการนี้เสียเงินไป 2 รอบ (รวมประมาณ 1,000 บาท) แถมต้องไปยืนรอนานมากเพราะมันเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล
“ตอนไปหาหมอเหมือนไปโดนขุดรากเหง้าเลยว่าเป็นกะเทยจริงหรือเปล่า แล้วกว่าจะติดต่อได้มันลำบากมากเหมือนเราต้องไล่ตามเขาตลอด พอไปตามวัน-เวลาที่เขาบอกก็ต้องไปนั่งรอหมอเกือบทั้งวัน เราก็บอกเขาว่าเรามีการเทคฮอร์โมนเพศหญิงด้วยนะ นมมันขึ้นนะ ก็เล่าแล้วก็ให้เขาดูรูปที่เราแต่งหญิง” ขณะที่แบงค์กำลังเล่ามาจนถึงการเปิดภาพแต่งหญิง เราเกิดคำถามขึ้นมาในหัวแบบทันทีเลยว่า “ต้องโชว์รูปด้วยหรอ?”
แบงค์อธิบายต่อด้วยว่า “ไม่รู้ว่าหลายๆ คนโดนมาแบบไหนแต่ของเราคือต้องโชว์รูปที่เคยแต่งหญิงด้วย เห็นบางคนโดนขอดูคลิป ขอดูรูป ขอหลักฐานที่แสดงว่าเป็นกะเทยจริง สำหรับเราถ้าแค่รูปก็ให้ดูได้แหละ แต่ก็รู้สึกไม่โอเคที่ต้องไปยืนยันตัวตนด้วยรูป ด้วยคลิปให้มันวุ่นวาย”
LGBTQ+ กับการถูก(เลือก)ปฏิบัติในค่าย
“ตอนนั้น สาบานเลยว่าอยากพิการ ให้พิการซักส่วนในร่างกายเหอะ จะแขน-ขาไม่เท่ากันก็ได้” ความคิดที่ผุดเข้ามาในหัวของวาเนสซ่า ขณะที่กำลังวัดขนาดตัวก่อนการจับใบดำ-ใบแดง ซึ่งผ่านฉลุยตรงตามมาตรฐานชายไทย 100% ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นถึงสาเหตุที่วาเนสซ่าเลือกที่จะไม่เรียนรด. เป็นเพราะ “ถ้าต้องเรียนรด.เราก็จะต้องไปเข้าชมรมนักศึกษาวิชาทหาร แต่ตอนนั้นเราเป็นเด็กกิจกรรมเราก็อยากเข้าชมรมกิจกรรมที่อยากเรียน เราไม่ได้อยากเรียนวิชาทหาร” ทำให้ในวันนี้ต้องมานั่งอยู่ในแถวจับใบดำ-ใบแดง
วาเนสซ่าเล่าให้เราฟังว่า สุดท้ายก็จับได้ใบแดง ตอนนั้นที่จับได้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าแขน-ขาอ่อนแรงอะไรเลย แค่หูอื้อ และหิวข้าวเพราะไม่ได้กินอะไรเลยทั้งวัน ช่วงเวลาระหว่างรอเข้ากรม และต้องกลับไปอยู่บ้านที่หาดใหญ่ ที่บ้านก็เครียดมากกลายเป็นคนรอบตัวที่เครียด กังวลไปหมดเลย ยกเว้นเราที่รู้สึกว่าเลยจุดนั้นมาแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะก่อนหน้านั้นทำมาหมดแล้วทั้งบนบานศาลกล่าว เรียกได้ว่าไปมาหมดทุกที่ที่ว่าศักดิ์สิทธิแต่สุดท้ายก็ได้ใบแดง
“ด้วยความที่เราไม่รู้ว่าจะต้องไปอยู่นานแค่ไหน อะไรที่เราขนไปได้เราก็เอาไปหมดเลย ครีมทาผิว ทาหน้า ยา หนังสือ ปลั๊กสามตา ฯลฯ คือเอาไปหมดทุกอย่างจริงๆ ใส่เป้แบ็คแพ็คใบใหญ่มากจนครูฝึกถามว่ามึงมาเข้าค่ายเหรอ” วาเนสซ่าเล่าถึงตอนที่ต้องเดินทางไปรายงานตัว ด้วยความที่อยู่หาดใหญ่ แต่การรายงานตัวต้องนั่งรถเข้าไปที่ตัวจังหวัดสงขลา ซึ่งมันเป็นรถไฟชั้น 3 ที่โคตรร้อนและกลายเป็นปณิธานใหม่ของชีวิตเลยว่าจะไม่นั่งรถไฟร้อนอีกตลอดชีวิต
สิ่งที่ทำให้วาเนสซ่าผ่านพ้นช่วงเวลา 1 ปีในค่ายทหารนี้ได้คือ ‘วุฒิป.ตรีและความอยู่เป็น’ เธอเล่าว่า เธอต้องเดินเกมให้เป็น วางตัวให้ดี เธอกลายเป็นที่รักของคนในกองและเป็นที่เอ็นดูของทหารยศใหญ่ นั่นเป็นเพราะอะไรที่เหล่าพลทหารพยายามเลี่ยงไม่ทำ เธอจะเป็นคนเดียวที่บอกว่าเธอทำได้ และเธอขอเป็นคนทำ
“มันจะมีการคัดคน เขาก็จะเลือกจากคนที่จบป.ตรีไปช่วยงาน ครูฝึกเขาก็ไว้ใจเราให้เราเป็นเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ ซึ่งเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ก็คือคนที่คอยจดว่าใครมาใช้โทรศัพท์บ้าง ใช้นานเท่าไหร่ ก็คิดเงินพวกเขานาทีละ 2 บาท ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราไม่ต้องไปฝึกเหมือนคนอื่นๆ เราเคยคำนวณกันเล่นๆ นะ วันนึงครูฝึกได้เงินเยอะมาก พอช่วงหลังๆ เราเห็นทหารบางคนจนมากไม่มีเงินจริงๆ เราก็เลยจดบ้างไม่จดบ้างช่วยเขาไป” วาเนสซ่าเล่า เธอใช้เวลาในการจดบันทึกเรื่องราวในแต่ละวันลงสมุดที่ทหารแจกให้ มีทั้งวันที่ดีและวันที่แย่ มีบางวันที่อยากแก้แค้นใครสักคนและบางวันที่เหงามาก คิดถึงบ้านสุดหัวใจ
ตั้งแต่มาเป็นทหารเธอโดนทำโทษแค่ 1 ครั้ง จากการที่ครูฝึกให้ไปขายลูกชิ้นแล้วขายไม่หมด จนมีครั้งนึงที่เธอต้องควักเงิกส่วนตัวประมาณ 700 บาทเพื่อซื้อลูกชิ้นนี้แจกเพื่อนๆ เพราะไม่อยากโดนทำโทษ “คือลูกชิ้นมันทอดมาตั้งแต่เช้ามืดอะ ตอนเย็นมันก็ยมหมดแล้ว ใครมันจะไปอยากกินนึกออกปะ แต่เราไม่อยากโดนทำโทษแล้วไง ก็เลยใช้เงินตัวเองออกไปเลย” และหลังจากนั้นมาเธอก็ใช้สารพัดวิธีในการแก้ปัญหาเพื่อให้แต่ละวันมันผ่านไป
“คนในกรมเขาทรีทเราเหมือนเราเป็นผู้หญิงคนนึงเลย และเราต้องใช้สมองหาวิธีที่จะพาเพื่อนไม่ให้ถูกทำโทษ ส่วนการบูลลี่มันก็มีแค่ผู้ชายบางคนที่อาจจะไม่ได้เข้าใจเรา มาแกล้งเรา เราก็เลือกที่จะพูดกับเขาดีๆ อธิบายให้เขาฟังก็เข้าใจกัน เรียกว่าเป็นการพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า เพราะเราต่างตกอยู่ในเรือลำเดียวกันแล้วอะ แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องที่โรแมนติกว่าเป็น LGBTQ+ ในนี้แล้วจะได้รับการปฏิบัติที่ดี แต่สิ่งที่เราทำไปมันคือการทำเพื่อเอาชีวิตรอดมากกว่า” วาเนสซ่าเล่า
สุดท้ายแล้วใบเบิกทางชิ้นสำคัญที่วาเนสซ่ามองว่าเป็นแต้มต่อในการเอาชีวิตรอดคือ ‘ใบปริญญา’ เธอบอกว่า ไม่ใช่ว่ามันจะทำให้ชีวิตดีเสมอไป เพราะก็มีเพื่อนกะเทยที่จบป.ตรีแต่ไม่ได้รับประสบการณ์แบบเธอเหมือนกัน แต่เธอก็มั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นใบเบิกทางในค่ายนี้ ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีบางคืนที่เธอยังฝันร้าย “บางคืนยังฝันอยู่เลยว่าเป็นทหาร…มันแย่ขนาดนั้นเลย”
แล้ว #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นไปได้มั้ย?
“รู้สึกว่ามันยกเลิกได้นะ แต่ประเทศไทยจะทำรึเปล่า? เพราะไม่ใช่ว่ามันดีกับแค่กับคนเพศเดียวกับเรานะ แต่มันดีกับคนอื่นด้วยที่เขามีภาระหน้าที่ และมีคนที่ต้องดูแลอะ ถ้าวันนึงเขาไปจับแล้วได้ใบแดง คิดดูว่าคนพวกนี้ต้องแลกกับอะไรบ้าง? เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ และไม่จำเป็น เพราะมันก็มีคนที่สมัครใจจะเป็นอยู่แล้ว ก็เอาแค่คนที่สมัครใจดีกว่า มันก็ง่ายๆ แค่นี้เลยมั้ย?” แบงค์ตอบ
ส่วนวาเนสซาบอกกับเราว่า เอาจริงๆ ตอนที่มีประเด็นเรื่องนี้ เราก็ยังอยู่ในกรมนะ คนในนั้นก็มีบางส่วนที่เห็นด้วยแต่มันแสดงออกไม่ได้ แต่สำหรับเรา เราไม่รู้ว่ามันยกเลิกได้มั้ยแต่เราโคตรอยากให้ยกเลิก เพราะว่าจากที่เห็นนะ เขาอยากได้คนที่มีวุฒิป.ตรีไปช่วยงานเขา แทนที่จะไปเปิดรับสมัครและให้เงินเดือนดีๆ ไปเลย แต่พอมันเป็นแบบนี้เงินเดือนทหารเริ่มต้น 7,000 บาท เอาอะไรไปพออะ? อีกอย่างคือตอนนี้ทหารมันเฟ้อมาก จำนวนคนมันเยอะกว่างานอีก
แม้ว่าทั้งสองจะเห็นด้วยกับการยกเลิกเกณฑ์ทหาร แต่เมื่อถามถึงความเป็นไปได้แล้ว เราคิดว่าคงไม่ได้เห็นมันเกิดขึ้นในประเทศไทยเร็วๆ นี้ และคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลพอสมควร อย่างไรก็ดีเมื่อช่วงเวลาแห่งการเกณฑ์ทหารวนกลับมาในทุกๆ ปี ก็ยังมีอีกหลายคนที่ต้องทุกข์ทนกับระบบการเกณฑ์ทหาร อย่างน้อยๆ ก็ชาว LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ตัวตนที่มีกระบวนการที่ซับซ้อน หรือการถูกปฏิบัติที่ไม่ดีในค่ายทหาร ต่างสะท้อนความยากลำบากของพวกเขาในแต่ละวัน