“ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้อยู่ดี”
คำกล่าวที่บ่งบอกให้คนเป็นได้รู้ว่าสุดท้ายแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ และตัวเราก็ไม่สามารถเอาอะไรติดตัวไปได้เช่นกัน แต่พอได้มาคิดดูแล้ว ถ้าเราสามารถส่งของหรืออาหารที่เหล่าผู้ล่วงลับไปแล้วชอบ ไปยังโลกหลังความตายได้ก็คงจะดีไม่น้อย
การส่งของให้คนตาย เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อต่อเรื่องโลกหลังความตายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมตามแต่ละพื้นที่ และแม้ว่าคนเป็นอย่างเราจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า แท้จริงแล้วโลกหลังความตายมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ในแง่หนึ่ง การส่งของให้คนตายก็เป็นวิธีที่ดี ที่จะทำให้คนเป็นได้หวนนึกถึงคนตายอีกครั้ง วันนี้ The MATTER จึงอยากชวนทุกคนไปดูวัฒนธรรมการส่งของให้ผู้ล่วงลับจากหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกกัน
ส่งของใช้ ด้วยการเผากงเต็ก
ตอนเด็กๆ เวลาเดินตลาดในช่วงใกล้วันไหว้ เรามักจะเห็นบ้านกระดาษ ธนบัตรกระดาษ หรือเสื้อผ้ากระดาษ ตอนนั้นเราอาจจะเข้าใจว่ามันคือของเล่นกระดาษสำหรับเด็กๆ แต่พอโตมาถึงได้รู้ว่ามันคือ กระดาษกงเต็ก แล้วใครที่โตมาในครอบครัวคนจีนหรือลูกหลานคนจีนด้วยแล้ว ยิ่งต้องคุ้นเคยกับกระดาษเหล่านี้กันเป็นอย่างดี
การไหว้แสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษเป็นความเชื่อตามแนวคิดของศาสนาพุทธ ลัทธิขงจื่อ และลัทธิเต๋า ที่สอนเรื่องความกตัญญู ความเชื่อในโลกหลังความตาย ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เป็นความเชื่อที่อยู่ในสังคมจีนมาเป็นเวลานาน พิธีกงเต็ก จึงเป็นภาพสะท้อนของความเชื่อดังกล่าวและเป็นพิธีสำคัญที่ชาวจีนนิยมปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย ด้วยการเผากระดาษข้าวของเครื่องใช้ไปให้เหล่าบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ในช่วงเทศกาลที่เกี่ยวกับการไหว้บรรพบุรุษ เช่น เทศกาลเชงเม้ง วันครบรอบวันเสียชีวิต หรือวันสารทจีน
ตามความเชื่อของวัฒนธรรมจีน กระดาษกงเต็กรูปแบบต่างๆ ที่ถูกเผาไป จะกลายเป็นสิ่งของสำหรับให้บรรพบุรุษได้นำไปใช้ในโลกหลังความตาย เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนตายไม่ได้สลายหายไปไหน เพียงแต่ไปอยู่อีกภพภูมิ การส่งข้าวของเครื่องใช้ไปให้ ก็เพื่อให้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษของพวกเขามีชีวิตที่สุขสบายในอีกภพหนึ่ง
ส่งของอร่อย ด้วยการใส่บาตร
ใครเคยมีกิจวัตรประจำวันแบบนี้บ้าง ตื่นเช้า ทำอาหารอร่อยๆ เอาไปใส่บาตร พร้อมคาดหวังว่าของอร่อยเหล่านี้จะส่งไปถึงคนที่เรารัก และพวกเขาจะได้ลิ้มรสของโปรดนี้อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเชื่อที่เราเชื่อต่อๆ กันมาเท่านั้น
เพราะแต่เดิมตามความเชื่อแบบศาสนาพุทธในไทย การตักบาตรทำบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ พวกเขาจะได้รับเพียงบุญกุศลที่เราทำบุญไปให้ ดังที่ปรากฏในบทกรวดน้ำหลังตักบาตรที่ว่า ‘อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหตุ ญาตะโย’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุขด้วยเทอญ’
ทว่าก็ไม่มีใครรู้ได้ ว่าแท้จริงแล้วอาหารอร่อย ของโปรดของพวกเขา จะถูกส่งตรงไปเสิร์ฟให้ได้ลิ้มลองหรือเปล่า แต่อย่างน้อยที่สุด เราในฐานะคนตักบาตรก็รู้สึกอุ่นใจว่าเราได้ส่งมอบความตั้งใจ และบุญกุศลให้คนที่รักแล้ว
ส่งของโปรด ในเทศกาล Día de los Muertos
เมื่อพูดถึงเทศกาลแห่งความตาย ฟังจากชื่อแล้ว หลายคนอาจคิดภาพว่าต้องมีความเศร้าโศกหรือน่ากลัว แต่หากใครเคยดูหนังเรื่อง Coco (2017) อาจจดจำฉากและบรรยากาศภายในเรื่องได้ ซึ่งฉากหลังของหนังเรื่องนี้คือการอิงจากบรรยากาศจริงของ เทศกาลแห่งความตาย หรือ Día de los Muertos ในประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญมากของชาวเม็กซิโก
Día de los Muertos จะถูกจัดขึ้นในช่วงวันที่ 1 และ 2 พฤศจิกายนของทุกปี โดยชาวเม็กซิกันจะกลับมารวมตัวกันในครอบครัว เพื่อเฉลิมฉลองและต้อนรับการกลับมาของเหล่าบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ โดยจะมีการตระเตรียมรูปของผู้ล่วงลับบนแท่นบูชา พร้อมตกแต่งด้วยดอกดาวเรือง เทียน เครื่องหอมต่างๆ รวมถึงเตรียมอาหารทั้งคาวหวานและข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นของโปรดเอาไว้ต้อนรับ
สิ่งที่ทำให้เทศกาล Día de los Muertos เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชาวชาวเม็กซิโก เนื่องจากคนเป็นจะมีเวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมงที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับเหล่าคนที่พวกเขารักอีกครั้ง ทั้งยังเป็นวันที่พวกเขาจะได้นำสิ่งที่เหล่าดวงวิญญาณโปรดปรานมามอบให้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารรสเลิศ หรือสิ่งของที่ชอบก็ตาม
ส่งสมบัติ ด้วยการฝังพร้อมร่าง
หากพูดถึงอารยธรรมอียิปต์โบราณ แน่นอนว่าภาพที่หลายคนนึกถึงเป็นสิ่งแรก คงหนีไม่พ้น พีระมิด ฟาโรห์ และสุสาน ทั้งหมดนี้ต่างเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ โดยในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้น ศตวรรษที่ 20 เป็นยุคที่มีการขุดค้นพบสุสานของราชวงศ์อียิปต์โบราณมากที่สุด นับเป็นการค้นพบที่สร้างความตื่นตามากที่สุดในการสำรวจทางโบราณคดี เพราะการค้นพบดังกล่าว นำไปสู่ความเข้าใจต่อแนวคิดและความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณด้วยเช่นกัน
ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ เมื่อต้องฝังศพใครสักคน เราจำเป็นต้องนำข้าวของเครื่องใช้และทรัพย์สมบัติของผู้เสียชีวิตลงไปในสุสานพร้อมโลงศพ แล้วถึงจะทำการปิดสุสานนั้น ทั้งนี้ของที่ใส่ลงไปนั้นยังสามารถบ่งบอกได้ถึงสถานะทางสังคมของผู้เสียชีวิตด้วย โดยของที่ใส่ลงไปมีตั้งแต่ เสื้อผ้า รูปปั้น หีบ เตียง สมบัติล้ำค่าอย่าง วัตถุที่ทำมาจากเงินหรือทอง และอัญมณีเครื่องประดับต่างๆ นอกจากนี้ขุนนางหรือกษัตริย์บางพระองค์ อาจถึงขั้นมีการนำอาหารและเครื่องดื่มมาถวายทุกวัน เพราะพวกเขาเชื่อว่าดวงวิญญาณผู้ล่วงลับจะได้รับอาหารเหล่านี้กลับไปในโลกหลังความตายด้วย
ตัวอย่างของสุสานที่สามารถอธิบายความเชื่อนี้ได้ คงจะหนีไม่พ้น สุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน หนึ่งในสุสานที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ไม่ใช่แค่เรื่องคำสาปอย่างที่เคยรู้กันมาเท่านั้น แต่ยังเป็นในเรื่องของทรัพย์สมบัติที่ถูกฝังลงไปพร้อมพระศพของพระองค์ด้วย โดยมีการบรรยายถึงหลุมของพระองค์เอาไว้ว่า มีทรัพย์สมบัติมากกว่า 5,000 ชิ้นในห้องนั้น ไม่ว่าจะเป็น หีบทองคำ เครื่องประดับ รูปปั้น รถศึก อาวุธ และเบียร์สด ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่แสดงถึงความร่ำรวยและสถานะของเจ้าของหลุมศพ ที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีไว้ในหลุมได้
ส่งค่าผ่านทาง ด้วยการฝังเหรียญในหลุม
หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘เหรียญปากผี’ กันมาบ้าง และอาจตั้งคำถามว่า มันมีที่มาจากไหน ทำไมเราถึงต้องเอาเหรียญใส่ปากผี ความจริงแล้วเราไม่ได้เอาเหรียญใส่ปากผี สำหรับกันผีหลอกแต่อย่างใด แต่ผีในที่นี้หมายถึงคนตายหรือร่างของผู้ล่วงลับ โดยคนเป็นจะนำเหรียญใส่ลงไปในปากของผู้เสียชีวิต เพื่อให้นำไปใช้ต่อในโลกหลังความตาย
ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวกรีก-โรมัน ญาติพี่น้องจะทำการใส่เหรียญไว้ในปากของคนตายหรือใส่ไว้โลงก่อนที่จะฝัง เพื่อใช้เป็นค่าโดยสารสำหรับเรือข้ามฟากแม่น้ำสติกซ์ (Styx) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่กั้นระหว่างโลกมนุษย์และโลกหลังความตายเอาไว้ โดยจะต้องนำเหรียญดังกล่าวมอบให้กับคารอน (Charon) ผู้ทำหน้าที่พายเรือข้ามฟาก เพื่อไปส่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับ ถ้าหากดวงวิญญาณใด ที่ไม่มีใครใส่เหรียญเอาไว้ให้ จะต้องรออยู่ที่ฝั่งเป็นเวลา 100 ปี และไม่ได้ไปอยู่ในโลกหลังความตายตามที่พวกเขาควรจะได้ไป
ด้วยความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมกรีก-โรมัน ทำให้แนวคิดเรื่องการใส่เหรียญไปพร้อมกับศพแพร่หลายไปพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จนเกิดธรรมเนียมปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่ได้ยึดโยงกับตำนานความเชื่อของกรีก-โรมันดั้งเดิมแล้ว อย่างในไทยเอง ก็มีการใส่เหรียญในปากคนตายเช่นกัน โดยเชื่อกันว่า หลังจากนำประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเรียบร้อยแล้ว หากนำเหรียญดังกล่าวมาเก็บไว้ จะกลายเป็นเครื่องรางช่วยปกป้องคุ้มครองเรา
วัฒนธรรมการส่งของให้คนตาย ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ต่างก็เป็นภาพสะท้อนของแนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับความตายของผู้คนในแต่ละพื้นที่ โดยถูกแสดงออกมาผ่านพิธีกรรมที่เกี่ยวโยงกับความตาย อีกทั้งยังทำให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องโลกหลังความตาย ที่แม้กายหยาบจะจากโลกคนเป็นไปแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นและคนตายยังคงถูกสานต่อ ผ่านวัฒนธรรมและพิธีกรรมเหล่านี้
อ้างอิงจาก