การเมืองของเราเริ่มคึกคัก หลังจากมีการเปิดสภาประเด็นเรื่องของการเป็นผู้แทนหญิงก็ถูกพูดถึงมากขึ้น หลังพรรคอนาคตใหม่ ส่งตัวแทนหญิง เข้าชิงตำแหน่งรองประธานสภา รวมไปถึง ส.ส. หญิง จากหลายพรรค ที่เป็นท็อปปิคถูกพูดถึง จนมีการตั้งแฮชแท็ก และติดเทรนด์กันในทวิตเตอร์
ในการเมืองโลก นักการเมืองหญิง ต่างก็เริ่มมีบทบาทในสภากันมากขึ้น ทั้งในการเป็นผู้นำประเทศ รวมไปถึงการเป็นดาวสภา ได้ซีนในการอภิปราย ไปจนถึงการผลักดันนโยบายอย่างโดดเด่น เป็นที่ถูกพูดถึง
The MATTER ขอพาไปรู้จัก 6 นักการเมืองหญิงทั่วโลก ที่แต่ละคนมีฟอร์มที่โดดเด่นในสภา และได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเธอไม่ใช่แค่ไม้ประดับทางการเมือง แต่มีทั้งความสามารถในการนำ การคัดค้าน อภิปราย และผลักดันกฎหมาย จนได้การยอมรับจากในและนอกประเทศเลยด้วย
Jacinda Ardern – นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
จาซินดา อาร์เดิร์น เป็นนักการเมืองไฟแรง ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของนิวซีแลนด์ในรอบ 161 ปี โดยพรรคแรงงานของเธอชนะเลือกตั้ง ในปี 2017 ขณะที่เธอมีอายุ 37 ปี ทำให้เธอเป็นผู้นำหญิงคนที่ 3 ของประเทศ
ไม่เพียงแค่ถูกพูดถึง เพราะเป็นผู้นำที่อายุน้อยที่สุดของประเทศ แต่อาร์เดิร์นยังเป็นผู้นำที่โดดเด่น ควบคู่ไปกับการเป็นแม่ด้วย โดยเธอได้ประกาศถึงการตั้งครรภ์ และกลายเป็นผู้นำคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรระหว่างดำรงตำแหน่ง (คนแรกคือ เบนาซีร์ บุตโต นายกฯปากีสถาน) ซึ่งในช่วงนั้น เธอก็ได้ลางาน 6 สัปดาห์ เพื่อไปทำหน้าที่ ‘แม่’ อย่างเต็มที่ ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากคลอดบุตรกลับมาแล้ว เธอยังได้พาลูกสาวซึ่งอายุ 3 เดือน ในตอนนั้น เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ด้วย
เธอได้ให้สัมภาษณ์ว่า เธอสามารถพาลูกไปทำงานได้ ซึ่งไม่ได้มีทุกที่ที่สามารถทำได้ แต่เธอหวังวันหนึ่งมันจะกลายเป็นมาตรฐานที่ผู้หญิงสามารถหาสมดุลในการทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วยกันได้
นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงในการประหยัดงบประมาณของรัฐ จากการประกาศงดการขึ้นเงินเดือน ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงตัวเธอเองด้วย รวมไปถึงภาพลักษณ์ของผู้นำที่เข้าถึงประชาชน โดยเป็นนายกฯ นิวซีแลนด์คนแรกที่เข้าร่วมเดินขบวน Pride Parade กับประชาชน
และในช่วงที่ประเทศเผชิญความโศกเศร้า จากเหตุการณ์กราดยิงมัสยิดที่มีผู้เสียชีวิตกว่า50 ราย เธอยังได้แสดงภาวะความเป็นผู้นำจนถูกนานาชาติพูดถึง ทั้งการเข้าหา พบกับประชาชนชาวมุสลิมในบริเวณที่เกิดเหตุ คำแถลงต่อการสูญเสีย ที่ไม่มีการเอ่ยถึงชื่อผู้ก่อการร้ายเลย และยังมีการจัดการกับกฎหมายครอบครองปืนในประเทศอย่างเร่งด่วนด้วย
Alexandria Ocasio-Cortez – สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา
“เพี้ยนดีนะ เราเลือกแต่ส.ส.หน้าเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกมา 14 ปี แล้วดันหวังว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลง” นี่คือ คำพูดของอเล็กซานเดรีย หรือ AOC จากภาพยนตร์สารคดี Fahrenheit 11/9
อเล็กซานเดรีย วัย 29 ปี กลายเป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่สภาคองเกรสเคยมีมาในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ที่เพิ่งก้าวเข้ามาในสภาคองเกรสได้ไม่ถึง 1 ปี หลังเอาชนะผู้สมัครจากรีพับลิกัน ได้รับคะแนนถึงกว่า 79% เป็นตัวแทนของประชาชนในเขต 14 นิวยอร์กได้
อเล็กซานเดรีย เรียกตัวเองว่าเป็น นักสังคมนิยมประชาธิปไตย และสนับสนุนนโยบายแนวก้าวหน้า หลังรับตำแหน่ง เธอได้กลายเป็นดาวของสภาคนหนึ่ง จากการอภิปรายในสภา ที่ได้โชว์ความสามารถ จนหลายคนให้ฉายาว่า เธอคือภัยคุกคามของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายในสภา อย่างไม่เกร็งกลัวนักการเมืองรุ่นเก่า กล้าพูด กล้าเสนอนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงช่องโหว่ในกฎหมายของสหรัฐฯ ที่เปิดช่องให้การคอร์รัปชัน ไปจนถึงการเสนอร่างกฎหมาย ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาอย่างมากในสหรัฐฯ นั้นคือ ‘Green New Deal’
ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปทั้งเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังมีกรอบเป้าหมายถึง 15 โครงการ ทั้งเป็นครั้งแรกในการเสนอกรอบนิยาม และขอบเขตของการลดการใช้คาร์บอนในสหรัฐฯ โดยหลังจากที่เธอ และ ส.ว.เอ็ด มาคีย์ ร่วมกันเสนอ ร่างกฎหมายก็กลายเป็นกระแสที่มีทั้งผู้เห็นด้วย และคัดค้านจำนวนมากด้วย ซึ่งน่าสนใจว่า ต่อจากนี้ นโยบาย หรือการอภิปรายของเธอ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้การเมืองสหรัฐฯ แค่ไหน
Tsai Ing-wen – ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
ไช่ อิงเหวิน เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยเธอเป็นผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวันและยังเป็นผู้นำคนแรกที่ไม่แต่งงานด้วย เธอเป็นผู้นำหัวก้าวหน้า และมีท่าทีแข็งกร้าวกับจีน ต่อต้านนโยบายการรวมประเทศ ทำให้ในช่วงนี้ไต้หวัน กับจีนมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกันด้วย
ในช่วงเข้ารับตำแหน่ง เธอได้สาบานตนว่า จะส่งมอบไต้หวันที่ดีกว่าเดิมให้แก่คนรุ่นเก่า โดยเธอเน้นการดำเนินนโยบายพลังงาน และสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผลักดันพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมความร่วมมือกับเอกชน
แต่นโยบายที่โดดเด่นในสมัยของเธอ คือการสนับสนุนความเท่าเทียมของกลุ่มเพศที่ 3 หรือเพศทางเลือก ซึ่งเธอได้ลงนามรับรองให้ร่างกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกันมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการทำประชามติ และผ่านสภามาแล้วหลายครั้ง
ซึ่งไต้หวันกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งใน เดือนมกราคมปีหน้า โดยที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจากผลงานของเธอ แม้จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งกลางเทอม แต่ก็คาดว่าจะคว้าชัยชนะ ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง
Nancy Pelosi – ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา
แนนซี เพโลซี นักการเมืองจากพรรคเดโมแครต ได้สร้างประวัติศาสตร์โดยการเป็นผู้หญิงคนแรก ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ในปี 2007 ก่อนที่จะหวนคืนตำแหน่งนี้อีกครั้ง ในวัย 78 ปี หลังการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งเธอกล่าวว่า เป็นเรื่องน่าประทับใจมากที่ได้กลับมาในตำแหน่งอีกครั้ง ในช่วงที่สภามีจำนวนผู้หญิงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
การกลับมาของแนนซี ทำให้ทรัมป์เจองานที่ยากขึ้น เพราะเมื่อเธอกลับมารับตำแหน่ง ท่ามกลางการชัตดาวน์รัฐบาลของสหรัฐฯ เธอก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอของทรัมป์ ที่จะการคุ้มครองผู้ที่อพยพเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายตั้งแต่เด็ก หรือโครงการ DACA เพื่อแลกกับงบประมาณอนุมัติสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก ทั้งเธอยังแถลงการณ์ระบุว่า แผนการของทรัมป์ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะโดยรวมไม่แสดงให้เห็นถึงความพยายามการฟื้นฟูการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างสุจริตใจ
ทั้งเธอเองยังไม่ปล่อยให้เรื่องของทรัมป์ผ่านไปง่ายๆ โดยยังตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเงินภาษีและคดีความสัมพันธ์ของเขากับรัสเซีย ซึ่งเมื่อทรัมป์พยายามเลี่ยงสอบสวน เธอก็ระบุว่า การสกัดกั้นการสอบสวนหลายกรณีของสภาคองเกรส ยิ่งทำให้ทรัมป์เข้าใกล้การถูกถอดถอนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เรียกได้ว่า ทรัมป์เจอคู่ปรับที่สูสี และทำให้ต้องคิดหนักแล้ว
นอกจากการทำงานการเมือง เธอยังเป็นเจ้าแม่แฟชั่น ที่เสื้อโค้ทของเธอ ที่ใส่ระหว่างการแถลงผลการหารือกับทรัมป์ ก็ได้กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ จนขายกระทั่งเจ้าของแบรนด์เสื้อ ต้องนำโค้ทรุ่นนี้กลับมาขายอีกครั้งในปีนี้เลยด้วย
Ana Brnabic – นายกรัฐมนตรีเซอร์เบีย
Brnabic เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก และยังเป็นนายกฯ เกย์ที่เปิดเผยตัวคนแรกของเซอร์เบียด้วย โดยการเปิดตัวของเธอ ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะประเทศในแถบบอลข่านนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่มีการยอมรับความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน รวมถึงยังไม่มีการพูดถึงการแต่งงานของเพศเดียวกันด้วย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คู่รักเพศเดียวกันของเธอ ก็เพิ่งคลอดลูก จากการผสมเทียม โดยเธอ อ้างว่า เธอเป็นนายกคนแรกที่คู่รักได้ให้กำเนิดบุตร ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกฯ และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเป็นคู่รักเพศเดียวกันคู่แรกของโลก
นอกจากเรื่องเพศของเธอแล้ว เธอยังเป็นผู้นำที่พยายามเปลี่ยนประเทศจากการทำสงคราม มาเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยี ด้วยการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสตาร์ทอัพ โดยเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และยังมีนโยบายที่สนับสนุนเงินลงทุนจำนวนมากกับการศึกษา และสิ่งอำนาวยความสำดวกกับสตาร์ทอัพ และนวัตกรรม เพื่อหวังดึงคนกลับมาพัฒนาประเทศด้วย
และด้วยตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบริหาร Brnabic ได้พยายามผลักดันให้ทันสมัยประเทศโดยการแนะนำระบบการกำกับดูแลด้วยดิจิทัล ให้เป็น e-government และการกำหนดหลักสูตรให้วิชา IT เป็นวิชาบังคับของนักเรียนซึ่งในปี 2018 Brnabic ได้ติดอันดับ 100 ผู้หญิงที่ทรงพลังที่สุดในโลก ในอันดับที่ 91 ด้วย
Sheikh Hasina Wajed– นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ
ชีค ฮาสินา ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ บังกลาเทศ ถือเป็นผู้หญิง และนักการเมืองคนหนึ่งที่มีบทบาทเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมืองของบังกลาเทศ โดยเธอเป็นลูกสาวของชีค มูจิบู เราะห์มาน ปธน. คนแรกของประเทศ หรือบิดาแห่งการก่อตั้งบังกลาเทศด้วย
ฮาสินามีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา แต่ภายหลังพ่อของเธอ รวมถึงแม่ และน้องชายถูกสังหาร และโดนยึดอำนาจจากกลุ่มทหาร โดยมีเพียงเธอและน้องสาวที่สามารถเอาชีวิตรอดได้ เพราะอาศัยอยู่ต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นเธอก็ได้ลี้ภัยทางการเมือง และต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบบเผด็จการในประเทศ จนสามารถเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำฝ่ายค้าน กดดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบอบการปกครองจากประธานาธิบดีเป็นระบอบรัฐสภา นำให้ประเทศมีการเปลี่ยนผ่านสู่สันติ
หลังจากนั้น เธอได้รับเลือกเป็นนายกฯ ของบังกลาเทศ ถึง 4 สมัย โดยสมัยแรกคือในปี 1996-2001 ก่อนจะได้รับเลือกอีกครั้งในปี 2009 ระหว่างการดำรงตำแหน่งเธอเป็นผู้นำที่โดดเด่นด้านการรักษาความเป็นประชาธิปไตย และสันติภาพ ทั้งยังสนับสนุนสิทธิสตรี โดยการให้สิทธิสตรี ควบคู่กับการแก้ปัญหาความยากจน และยังผลักดันร่างกฎหมายที่ให้ผู้หญิง เขามามีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นได้ด้วย
ในปี 2018 ฮาสินา เป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญ ในการจัดพื้นที่ในประเทศบังกลาเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยมุสลิมโรฮิงยา ที่หนีออกจากประเทศพม่า และยังดำเนินการทำเรื่องเพื่อส่งชาวโรฮิงญากลับประเทศพม่าอย่างปลอดภัยด้วย แต่ถึงเธอจะมีผลงานทางการเมืองที่โดดเด่น แต่ก็มีความกังวลว่าประเทศจะมีความเป็นเผด็จการมากขึ้น หลังเธอรับตำแหน่งมายาวนานถึง 3 สมัยติดต่อกัน หรือเข้าปีที่ 11 แล้ว ซึ่งเธอและทางพรรคได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จัดขึ้นอย่างยุติธรรม
อ้างอิงจาก
https://www.the101.world/green-new-deal/
https://www.matichonweekly.com/column/article_163018
https://www.bbc.com/news/world-europe-47312826
ผ่าแนวคิดนายกหญิงแห่ง ‘เซอร์เบีย’ นำภาครัฐผลักดันประเทศสงครามสู่ประเทศเทคโนโลยี
https://www.forbes.com/power-women/list/#tab:overall
http://sameaf.mfa.go.th/th/important_person/detail.php?ID=4971
https://taiwantoday.tw/news.php?unit=2,6,10,15,18&post=141933