ข่าวเจมส์ มาร์ ดาราหนุ่มที่ตั้งใจปกปิดตัวตนการเป็นทายาทมหาเศรษฐีของตัวเองเพราะไม่อยากให้การทำงานไปกระทบกับครอบครัว ฟังแล้วก็รู้สึกเหมือนอยู่ในความฝัน ยังกับออกมาจากเรื่องในนิยาย เหมือนละครหลังข่าวกลายเป็นเรื่องจริง
การปลอมตัว ไม่ว่าจะปลอมตัวจากคนรวยเป็นคนจน หรือปลอมจากชายเป็นหญิงดูจะเป็นกิมมิกสำคัญของนิยายรักโรแมนซ์ แกนหลักของเรื่องรักๆ คือการหน่วงความสัมพันธ์ของพระเอกนางเอกออกไปเรื่อยๆ ดังนั้นการปลอมตัวหรือการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นคนอื่นถือเป็นวิธีการหน่วงที่มีประสิทธิภาพ เช่นว่า พระเอกเริ่มรักคนสนิทที่เป็นผู้ชาย หรือนางเองสูงศักดิ์ที่ไปรักกับคนขับรถ กำแพงเรื่องเพศและชนชั้นจึงเป็นกำแพงสำคัญที่มาขัดขวางความรักของตัวละครหลัก นัยหนึ่งของวรรณกรรมที่มีแกนเรื่องการปลอมตัวจึงมักเป็นเล่นกับมาตรฐานของสังคม ของความเป็นชายและหญิง คนจนและคนรวย
ดังนั้นการปลอมตัวจึงเป็นการเล่นและตั้งคำถามกับตัวตน – กับอัตลักษณ์ การปลอมจากผู้หญิงเป็นผู้ชายเป็นหนึ่งในแนวเรื่องที่พบได้อย่างมากมายในหลายๆ วัฒนธรรม ในนิทานตำนานแทบจะทุกที่ทั่วโลกมักพูดถึงผู้หญิงที่แต่งกายและปฏิบัติตนเยี่ยงผู้ชาย เป็นการท้าทายกรอบสังคมที่มีต่อผู้หญิง
การละครก็ถือเป็นอีกอิทธิพลสำคัญของการให้ผู้หญิงมาแต่งตัวเป็นผู้ชาย บทละครของเชกสเปียร์จำนวนไม่น้อยมีการแต่งกายเป็นเพศตรงข้าม ในการละครมีเทคนิคการเล่าเรื่องเรียกว่า dramatic irony ประมาณว่าคนดูเข้าใจเรื่องอย่างหนึ่ง แต่ตัวละครบนเวทีเข้าใจไปอีกอย่าง กลเม็ดในการละครคือ ก็ให้นางเอกแต่งเป็นผู้ชาย ซึ่งคนดูก็รู้ว่านี่คือนางเอก ในขณะที่ตัวละครบนเวทีไม่รู้ว่านี่คือการปลอมตัว แถมภาพการแต่งตัวข้ามเพศเพื่อตบตานี้ยังให้ความตลกขบขันกับคนดูด้วย
การปลอมตัวปกปิดตัวตนจึงเป็นจินตนาการ เป็นเรื่องราวที่เราฝันถึงกันเรื่อยมาอย่างยาวนาน The MATTER จึงชวนไปดูการปลอมตัวนับตั้งแต่ตำนานเรื่องเก่า นิยายในศตวรรษที่ 19 ที่ในที่สุดนิยายรักบ้านเราก็ต่างเล่าเรื่องการปลอมตัวและกลายเป็นส่วนหนึ่งของความฝันโรแมนติกของผู้คนในยุคปัจจุบันนี้
The Faerie Queene (1590) – Edmund Spenser
The Faerie Queene เป็นวรรณคดีสำคัญของอังกฤษ ในเรื่องว่าด้วยการผจญภัยของอัศวิน ซึ่งตัวการผจญภัยเป็นทำนองนิทานสอนใจ สามารถตีความไปสู่การต่อสู้เชิงนามธรรมได้ด้วย ในเรื่องพูดถึงการผจญภัยของอัศวินหลายๆ คน ในบรรดานั้นมีคนหนึ่งชื่อ Britomart ซึ่งเธอคนนี้ก็เหมือนกับตำนานหญิงแกร่งในหลายวัฒนธรรม คือเป็นผู้หญิงที่ใส่เกราะและต่อสู้เยี่ยงชายชาตรี แถมยังไปหลงรักผู้หญิงด้วยอีกต่างหาก
Twelfth Night (1602) – Shakespeare
ในยุคของเชกสเปียร์ ผู้คนถูกกำหนดด้วยเพศและชนชั้นอย่างเคร่งครัด ดังนั้นการเอาผู้หญิงมาแต่งชุดผู้ชายจึงเป็นการเล่นกับขนบของสังคม และในระดับของการละคร การที่ผู้ชมได้เห็นตัวละครไม่รู้ในสิ่งที่เรารู้ เช่น Twelfth Night มีตัวละครหญิงชื่อ Olivia ไปตกหลุมรักหญิงสาวชื่อ Viola ตามท้องเรื่องยัย Viola แต่งตัวเป็นผู้ชาย ผู้ชมดูไปก็รู้สึกสงสาร Olivia ที่ไม่รู้ว่าคนที่เธอรักแท้จริงแล้วเป็นผู้หญิง กิมมิกนี้คล้ายๆ กับปมปัญหาของละครไทยแนวปลอมตัวในยุคปัจจุบัน
Belle-Belle ou Le Chevalier Fortuné (1697) – Madame d’Aulnoy
ถ้าจีนมีมู่หลาน ทางฝรั่งเศสก็มีเรื่อง Belle-Belle ou Le Chevalier Fortuné เขียนโดย Madame d’Aulnoy โดยตัวเรื่องพูดเรื่องเด็กสาวที่ยอมออกสงครามแทนพ่อผู้แก่เฒ่าของตัวเอง นอกจากนิทานศตวรรษที่ 17 เรื่องนี้ ในฝรั่งเศสก็มีตำนานเก่าแก่ที่พูดถึงผู้หญิงแต่งตัวเป็นผู้ชาย
Jane Eyre (1847) – Charlotte Bronte
Jane Eyre เป็นนิยายแนวพาฝัน – เรื่องรักโรแมนติกเล่มสำคัญของ Charlotte Bronte ที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก บ้านเรามีเรื่อง ‘รักเดียวของเจนจิรา’ ที่ใช้โครงเรื่องใกล้เคียงกัน เรียกได้ว่างานอมตะของโลกนี้ส่งอิทธิพลต่อการสร้างนิยายแนวพาฝันของไทย ใน Jane Eyre มีฉากที่พระเอกปลอมตัวเป็นหมอดูยิปซีเพื่อลวงให้นางเอกพูดความในใจของตัวเองออกมา
ทัดดาวบุษยา – ชอุ่ม ปัญจพรรค์
ทัดดาวบุษยา เป็นงานเขียนของ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ก่อนจะได้รับการแปลงเป็นทั้งฉบับหนังและฉบับละคร ทัดดาวบุษยาถือเป็นนิยายไทยที่เป็นไอคอนสำคัญของเรื่องแนวปลอมตัว ละครที่ผู้หญิงแปะหนวดแล้วกลายเป็นผู้ชาย ในตัวเรื่องก็มักจะว่าด้วยประเด็นเรื่องเพศ เช่น พระเอกหวั่นไหวและพยายามห้ามใจเพราะคิดว่าตัวเองรักเพศเดียวกัน
พ่อครัวหัวป่าก์ – กนกเรขา
พ่อครัวหัวป่าก์เป็นหนึ่งในนิยายที่ร่วมจินตนาการถึงหนุ่มร่ำรวยที่ปลอมตัวและยอมเป็นคนอื่นเพื่อความรัก พ่อครัวหัวป่าก์เป็นงานเขียนของกนกเรขา ได้รับการแปลงเป็นฉบับละครในปี 2522 แนวเรื่องชวนฝันว่าวันหนึ่งหนุ่มเศรษฐีจะแอบมาชอบเราจนยอมเปลี่ยนตัวเองดูจะได้รับความนิยมอย่างไม่รู้จบ จนไม่นานมานี้ก็มีฉบับหลุยส์ สก๊อต ซึ่งหลังจากเรื่องนี้ นิยายรักรุ่นใหม่ของไทยก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่พูดเรื่องทายาทธุรกิจที่แอบมาทำตัวเป็นลูกจ้างเพื่ออะไรบางอย่าง เช่น พิสูจน์รักแท้จากการไม่มีสถานะ
ปัญญาชนก้นครัว – ว.วินิจฉัยกุล
จากการปลอมตัวเรื่องเพศ ปัญญาชนก้นครัว เป็นอีกหนึ่งนิยายไทยเรื่องดังที่พูดถึงการปลอมตัวข้ามชนชั้น ตัวเรื่องได้รับการแปลงเป็นละครครั้งแรกในปี 2529 ในเรื่องพูดถึงนางเอกที่แท้จริงแล้วมีฐานะดี แต่ด้วยต้องการทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ เลยต้องปลอมตัวไปเป็นสาวไช้ในบ้าน ในที่สุดแล้ว ตามอีหรอบละครไทย พระเอกก็กลายเป็นหลงรักสาวไช้และต้องเจอกับความรักที่ดูจะไม่เหมาะสมและเป็นไปไม่ได้