จะเสียเงินซื้อข่าวของเมื่อวานไปทำไม ในเมื่อปัจจุบันเราสามารถเสพข่าวสดๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อไม่กี่นาทีก่อนได้ทางเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก—แนวคิดทำนองนี้ทำให้มีสำนักข่าวออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย แต่ในช่วงเวลาแห่งการก่อร่างสร้างตัวซึ่งยังเต็มไปด้วยฝุ่นตลบของการก้าวสู่ยุคใหม่ ข่าวออนไลน์กำลังมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางไหน เราจะพาไปพูดคุยกับ 6 สำนักข่าวทางเลือกที่แต่ละสำนักก็มีเอกลักษณ์น่าสนใจไม่แพ้กัน
1. ThaiPublica—คือข่าวเชิงรุกและเชิงลึก
“กล้าพูดความจริง”
คือคอนเซปต์จั่วหัวบนหน้าเว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์เจ้าแรกๆ ของเมืองไทยอย่าง ThaiPublica คอนเซปต์ที่ทำให้เราตั้งคำถามว่ามันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในสังคมที่มีประเด็นพูดไม่ได้เต็มไปหมดอย่างสังคมไทย แต่มากกว่านั้น ThaiPublica ยังนิยามตัวเองเป็นสำนักข่าวที่พร้อมช่วงชิงข้อมูลข่าวสารเชิงลึกมาตีแผ่เปิดเผยทั้งด้านมืดและด้านสว่างให้ผู้รับสารใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรในสังคม
นั่นยิ่งทำให้เราอยากรู้ว่าพวกเขามีกระบวนการคิดและทำงานอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโลกออนไลน์ ซึ่งมักถูกตีตราว่าฉาบฉวยกลายมาเป็นสื่อกระแสหลักในปัจจุบัน
Beginning
จุดอ่อนของคนทำข่าวในเมืองไทยนอกจากต้องเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวซึ่งมีอยู่จำนวนมหาศาล อีกปัญหาคือการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงานต่างๆ นั้นทำได้ยาก ด้วยข้อมูลเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปเอกสารจึงต้องใช้เวลาและเงินทุนในการเข้าถึงมากเป็นพิเศษ และถึงแม้ข้อมูลบางชุดจะอยู่ในรูปแบบไฟล์ แต่เนื้อหาที่ได้ก็กลับย่อยยากเกินกว่าคนทั่วไปจะสละเวลาใส่ใจ—นั่นคือปัญหาตั้งต้นที่ทำให้ บุญลาภ ภูสุวรรณ คิดสร้างสำนักข่าวออนไลน์เชิงสืบสวนสอบสวนขึ้นเพื่อช่วยกระจายข้อมูลเชิงลึกในประเด็นต่างๆ ที่คนควรรู้ออกสู่สังคม ด้วยไวยกรณ์แบบตรงไปตรงมา และ “ถูกต้องชัดเจนในระดับสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ”
Goal
“ถามว่าตอนนี้เรานำเสนอข่าวเชิงลึกได้ดีที่สุดหรือยัง คำตอบคืออาจจะยัง แต่เป้าหมายแรกเริ่มของเราคือต้องการเปิดพื้นที่สำหรับข่าวเชิงลึกให้แก่สังคม ซึ่งนั่นบรรลุผลแล้ว” บุญลาภกล่าวเมื่อเราถามว่าเป้าหมายของ ThaiPublica คืออะไร ก่อนเสริมว่าแม้สำนักข่าวเชิงลึกที่มีข้อมูลเข้มข้นจริงจังอาจเติบโตได้ยากสักหน่อยในสังคมที่ค่อนข้าง ‘เลี่ยงการใช้ข้อมูลช่วยตัดสินใจ’ อย่างไทย นั่นยิ่งจำเป็นที่ใครสักคนจะต้องลุกขึ้นมากรุยทางให้สังคมเริ่มเห็นความสำคัญ “อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่เชื่อว่าสังคมจะเริ่มเห็นความสำคัญของข้อมูลเชิงลึกขึ้นเรื่อยๆ” เธอบอก พร้อมตั้งความหวังว่าอีกไม่ช้าสังคมจะหันหน้าเข้าสู่ความจริงมากกว่าเดิม
Method
วิธีการนำเสนอข่าวของ ThaiPublica นั้นเรียกเป็นภาษาทางการว่า Data journalism หรือการย่อยข้อมูลจำนวนมหาศาลเป็นประเด็นย่อยๆ ผ่านรูปแบบการนำเสนออันหลากหลาย—ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เช่นประเด็นเรื่องจำนำข้าว ที่เริ่มจากสืบค้นข้อมูลทั้งจากภาครัฐ เอกชน เลยถึงปากคำของผู้เกี่ยวข้อง ก่อนนำมากรองเอาเนื้อหาสำคัญ ประมวลอีกครั้งและนำเสนอออกมาให้น่าสนใจผ่านอินโฟกราฟิก คลิปข่าว หรือบทความ “ข้อดีของสื่อออนไลน์อย่างหนึ่งคือพื้นที่ในการนำเสนอมันไม่จำกัด” บุญลาภกล่าว ก่อนเสริมว่าสำหรับสำนักข่าวที่ไม่ได้เน้นความเร็วเพื่อช่วงชิงความสนใจ สื่อออนไลน์ยังลดความกดดันในการเร่งทำงานเพื่อตีพิมพ์ลงได้หลายเท่าตัว
Future
“ยังไงคนเราก็ต้องอ่าน เพราะสำหรับบางเรื่องคุณไม่สามารถเข้าใจได้เลยถ้าไม่สละเวลาเพื่ออ่านมัน” บุญลาภกล่าวเมื่อเราถามว่า จะทำอย่างไรหากวันหนึ่งคนในสังคมหันไปเสพสื่อภาพเคลื่อนไหวหรือเสียงกันหมด “แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ปรับตัว เพราะการจับความสนใจของคนก็สำคัญ” เช่นว่าในอนาคตเราอาจเห็น ThaiPublica ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการนำเสนอมากขึ้น พร้อมกับโฟกัสเนื้อหาไปยังประเด็น ‘ความยั่งยืนของสังคม’ ที่เธอมองว่าเป็นเรื่องที่สังคมต้องจริงจังกับมันเสียที “เรามองว่าการเข้าถึงข้อมูลมันช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเมื่อคุณรู้เท่ากับคนอื่น ความเสี่ยงในการตัดสินใจในการทำหรือไม่ทำอะไรก็ย่อมใกล้เคียงกัน” เธอทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
2. Way Magazine Online—คือข่าวจังหวะสองที่ครองความสนใจคน
ในขณะสนามสื่อออนไลน์กำลังวัดความสำเร็จเป็นหน่วยวินาที ถึงขึ้นบางครั้งต้องไลฟ์สถานการณ์กันแบบเรียลไทม์เพื่อช่วงชิงความสนใจอันวูบไหวของคนยุคปัจจุบัน
สื่อออนไลน์ที่มีฐานรากจากแมกกาซีนเนื้อหาเข้มอย่าง Way Magazine Online กลับมองต่างออกไป “เราเป็นนักมวยจังหวะสอง” พวกเขานิยามตัวเองแบบนั้น เพื่ออธิบายการทำเนื้อหาที่อาจมาช้าสักหน่อยแต่รับรองได้ว่าไม่ตกหล่นในรายละเอียด เป็นเนื้อหาที่ใช้เปรียบเทียบอ้างอิงได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง และยังรวมถึงการเลือกเนื้อหาที่เคยอยู่บนหน้านิตยสารมาฉีกโยนขึ้นไปในอากาศ เพื่อรอให้ใครสักคนมาคว้าไปอ่านและส่งต่ออย่างไม่รู้จบ
Beginning
ย้อนกลับไปราว 5 ปีก่อน ขณะ อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way กำลังมองเห็นเค้าลางขาลงของสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยพฤติกรรมผู้รับสารที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย จนทำให้นิตยสารหลายหัวเลือกหันมาทำเนื้อหาลงช่องทางออนไลน์แทนการพิมพ์เป็นเล่ม
ทว่าเขากลับมองว่าการอัพโหลดไฟล์นิตยสารทั้งเล่มลงโลกออนไลน์ไว้ให้คนคลิกเข้าไปอ่านนั้น ไม่ใช่วิธีการที่เวิร์กสักเท่าไหร่ “คำถามคือเราจะทำยังไงให้พื้นที่ใหม่ในโลกออนไลน์ยังเอื้อต่อการสร้างเนื้อหาที่เป็นตัวเองได้เหมือนเดิม” อธิคมเล่า ก่อนเสริมว่า คำถามดังกล่าวทำให้เขาต้องเรียนรู้การสื่อสารกับผู้อ่านใหม่ทั้งหมด เพราะโลกแห่งการสื่อสารทางเดียวนั้นได้ล่มสลายลงแล้ว
Goal
เป้าหมายแรกของ Way ในการกระโดดลงสนามสื่อออนไลน์นั้นไม่ใช่เรื่องการตลาด ทว่าเป็นความตั้งใจอยากเผยแพร่เนื้อหาแบบที่พวกเขาเรียกว่า ‘หมัดสอง’ ออกสู่สังคมออนไลน์ที่เต็มไปด้วยนักชกหมัดฉาบฉวยที่พร้อมอัพโหลดเนื้อหาแบบทันด่วนเป็นรายวินาที “เราไม่ใช่สำนักข่าวที่พร้อมลงไปทำข่าวปฐมภูมิ เพราะหนึ่ง ทรัพยากรในองค์กรเรามีไม่มากพอ และสอง การรายงานข่าวด่วนหรือข่าวตามกระแสไม่ใช่ความสนใจของเรา สิ่งที่เราทำได้ดีคือการเล่าเรื่องยากให้สนุกและไม่ตกหล่นในรายละเอียด” อธิคมบอกแบบนั้น ก่อนยกตัวอย่างขำๆ ให้ฟังว่า “อย่างเรื่องราคาข้าวตกต่ำมันไม่สามารถทำให้ง่ายภายในสามบรรทัดได้หรอก มันมีข้อมูลเชิงลึกที่คุณต้องให้เวลากับมัน และนั่นคือสิ่งที่ Way Magazine Online อยากนำเสนอ”
Method
การจับความสนใจอันวูบไหวของคนบนโลกออนไลน์ให้อยู่หมัดนั้นไม่ง่าย และแม้ Way จะวางตำแหน่งตัวเองเป็นสำนักข่าวเชิงวิเคราะห์ แต่เนื้อหาอันเข้มข้นก็ถูกย่อยผสมผ่านทั้งอินโฟกราฟิก คลิปข่าว หรือสกู๊ปข่าวสั้น ส่งตรงจากการเคี่ยวกรำทำงานของกองบรรณาธิการและฝ่ายศิลป์ ที่วางตารางการทำงานกันเป็นรายสัปดาห์ “เราประชุมข่าวกันทุกวันจันทร์ จะวางเรียงเลยว่าวันไหนควรพูดเรื่องอะไร โพสต์เวลาไหน แต่ถ้ามีประเด็นวูบวาบน่าสนใจเกิดขึ้นกะทันหันก็สามารถเอามาเสียบเฉพาะหน้าได้เหมือนกัน แต่ต้องเป็นประเด็นที่เหมาะกับคาแรคเตอร์ของ Way ไม่ใช่ข่าวตามกระแสที่เอามาเสียบเพื่อเรียกยอดไลก์ยอดแชร์” อธิคมเล่าเรื่อยๆ
Future
เมื่อถูกถามว่าอนาคตของสื่อออนไลน์จะไปทางไหน อธิคมอมยิ้มแล้วส่ายหน้าบอกว่าเขาก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะโลกเปลี่ยนเร็วมาก และเขาเชื่อว่าทุกสำนักข่าวก็ตอบไม่ได้เช่นกัน สิ่งที่แต่ละสำนักทำได้ก็แค่เพียงลองเดินดุ่มไปในเส้นทางที่พวกเขาคิดว่าเวิร์กอย่างรอบคอบและช่างสังเกตก็เท่านั้น
เมื่อแอบแย็บว่าถ้าเกิดวันหนึ่งคนในสังคมเลือกจะดูหรือฟังเท่านั้นก็พอ ไม่อ่านอีกแล้ว เขาจะเดินไปทางไหน “เราไม่เชื่อนะว่าคนจะไม่อ่าน หรือถ้ามันเกิดมีวันนั้นขึ้นมาจริงๆ ก็คงเรียกได้ว่าความล่มสลายของมนุษยชาติ” อธิคมกล่าวปิดบทสนทนาด้วยเสียงหัวเราะ
3. iLaw—คือข่าวที่แสดงข้อเท็จจริงอันสมบูรณ์
หากคุณยังจำช่วงเวลาก่อนออกเสียงประชามติได้ คุณก็น่าจะจำได้ด้วยว่าสังคมยามนั้นขาดแคลนข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเพียงใด และสำนักข่าวออนไลน์ที่ลุกขึ้นมานำเสนอข้อมูลอย่างแข็งขันก็คือ iLaw ด้วยการ์ตูนเข้าใจง่าย บทความสรุปใจความสำคัญ รวมทั้งการให้ข้อมูลดิบแก่สำนักข่าวอื่นๆ ไปเผยแพร่ต่อ
แต่ถึงอย่างนั้นชื่อเต็ม ‘โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน’ ก็บอกใบ้ว่า iLaw ไม่ใช่แค่สำนักข่าวออนไลน์ทั่วไป
ผู้จัดการโครงการ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ บอกว่า “มันมีสามขาที่เรามองตัวเอง สื่อ นักสิทธิมนุษยชน และศูนย์ข้อมูล”
“ถ้านิยามว่าเป็นนักกิจกรรมที่ใช้สื่อก็อาจชัดกว่า” ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์และสื่อสาร กล่าวเสริม
ถ้าเช่นนั้น ไปทำความรู้จักพวกเขาให้มากขึ้นกัน
Beginning
เมื่อแรกก่อตั้งในปี 2552 โจทย์ตั้งต้นของ iLaw คือการเชื่อมต่อและสร้างพื้นที่บนโลกออนไลน์ให้ประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย นับแต่นั้นมา iLaw ปรับโจทย์ในการทำงานของตนอยู่สม่ำเสมอเพื่อตอบรับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนโจทย์ไปกี่ครั้ง หลักการเดิมอันเป็นแก่นกลางขององค์กรก็ยังคงอยู่ นั่นคือความเชื่อในการมีส่วนร่วมของประชาชน
“เราเชื่อว่ากฎหมายที่ออกมาแล้วใช้กับประชาชน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาโดยตรง” ยิ่งชีพอธิบาย
แม้ว่าหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จะทำให้ ‘การมีส่วนร่วม’ นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ NGO แห่งนี้ก็ยังคงยืนหยัดทำในสิ่งที่เชื่ออยู่เช่นเดิม
Goal
ปัจจุบันโจทย์สำคัญของ iLaw คือการจับตาการออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติภายใต้รัฐบาลทหาร
“ตอนนี้คนแสดงความคิดเห็นไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะรู้ว่ากฎหมายอะไรออกมาแล้ว กฎหมายอะไรกำลังจะออก แล้วมันทำอะไรได้บ้าง” ผู้จัดการโครงการอธิบาย
นอกจากนี้งานอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือการติดตามและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก “อยากให้คนรู้ว่าที่เห็นเหมือนจะสงบ จริงๆ ไม่ใช่ เพราะเรื่องที่เป็นปัญหามันถูกห้ามพูด” ยิ่งชีพกล่าว
“ผมว่าทุกวันนี้เราไม่ได้เชื่อข้อเท็จจริง” เจ้าหน้าที่รุ่นน้องเพิ่มเติม ”เรามีฐานความคิดความเชื่ออยู่แล้ว ซึ่งบางครั้งเราก็ตะแบงเชื่อไปตามนั้น ผมอยากให้คนรับสาร iLaw ตั้งคำถามกับสิ่งที่เชื่อ และตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหน้า”
Method
กฎหมายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อน แต่ iLaw ก็พยายามย่อยให้ง่าย พร้อมเคลือบน้ำตาลให้น่าอ่าน
“ตัวกฎหมายมันไม่ง่ายหรอก ซึ่งคนที่เข้าใจก็ควรอธิบายให้คนอื่นเข้าใจบ้าง บางครั้งที่ดูว่ามันง่าย เพราะเราเข้าใจโครงสร้างทั้งหมด แล้วเด็ดยอดมันออกมาบางส่วน ซึ่งก็เป็นแค่ส่วนเดียว เรายังต้องพยายามกันต่อไป” ยิ่งชีพกล่าว
อีกหนึ่งความท้าทายคือการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกฎหมายบางข้อที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งคู่ยอมรับว่าในบางครั้งก็เลือกที่จะไม่กล่าวถึง เพื่อป้องกันทั้งตัวเองและผู้ที่เกี่ยวข้องที่อาจโดนซ้ำเติมอีก รวมทั้งต้องเลือกโทนเสียงที่เป็นมิตรกับทุกสาขาความเชื่อ
“เรานำเสนอโดยไม่ใส่ความเห็นของตัวเอง” ณัชปกรอธิบาย “เราเชื่อว่าไม่ต้องมีคำพูดที่หล่ออะไร ถ้าเราเรียงข้อเท็จจริงให้แน่นและสมบูรณ์ที่สุด มันจะบอกอะไรบางอย่างกับสังคมเอง”
Future
เมื่อถามถึงทิศทางในอนาคต ชายหนุ่มทั้งสองกล่าวตรงกันว่า ‘บอกยาก’ ด้วยความผันผวนของสถานการณ์บ้านเมือง
“สิ่งที่ทำอยู่ก็ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการจับตากฎหมายที่ออกโดย สนช. มาตรา 44 หรือคดีการปิดกั้นเสรีภาพ เพียงแต่ว่าเราจะเล่นเกมรุกไปสู่สังคมอย่างไร” นักกิจกรรมรุ่นพี่กล่าว
แล้วในเมื่อวางแผนหรือคาดการณ์ไม่ได้มากนัก จะรู้ได้อย่างไรว่าภารกิจของ iLaw สำเร็จแล้ว—เราสงสัย
“ต่อให้ทำถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ก็ยังมีอะไรต้องทำอีกเยอะ” ยิ่งชีพให้คำตอบ “ผมคิดว่าต่อให้เราตายไปความไม่เป็นธรรมก็ยังอยู่ เพียงแต่ว่ามันอาจเดินได้บางก้าว เปลี่ยนแปลงได้บางส่วน แต่ถ้ายังรู้สึกสนุกอยู่ ท้าทายอยู่ ยังเชื่อมากพอ ก็ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ”
“การทำงานสายนี้เป็นการวิ่งมาราธอนครับ” ณัชปกรทิ้งท้าย
4. สำนักข่าวอิศรา—คือเรื่องจริง เพื่อการตัดสินใจ
เมื่อพูดถึง สำนักข่าวอิศรา ทุกคนน่าจะเห็นภาพตรงกันคือ ข่าวสืบสวนสอบสวนที่เข้มข้นชวนติดตาม และสิ่งที่พวกเขาเลือกทำคือการคงความเป็น hard news เอาไว้อย่างเต็มรูปแบบ
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา บอกกับเราว่า “วิธีคิดของผมอาจจะผิดหรือถูกก็ได้นะ ว่าการทำ hard news ไม่จำเป็นต้องมีคนดูหลักแสนก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการตัดสินใจในสังคมประชาธิปไตย เท่านี้เราก็พอใจแล้ว”
และเมื่อถามถึงเรื่องของความยาก-ง่ายที่หลายสื่อกังวลกันอยู่ เขาก็โยนคำถามชวนคิดกลับมาว่า “เราทำข่าวยากๆ ที่มีปัจจัยซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่ายทั้งหมดได้จริงหรือ?”
Beginning
เมื่อ พ.ศ. 2548 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ข่าวอิศรา’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักข่าวจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ลงไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อนำเสนอข่าวสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจึงเกิดศูนย์ข่าวเพื่อสังคมอื่นๆ ตามมา โดยแต่ละศูนย์ก็จะมีพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลเป็นของตัวเอง
ต่อมา พ.ศ. 2554 ทางสถาบันต้องการรวบรวมข้อมูลของแต่ละศูนย์ข่าวเอาไว้ในเว็บไซต์เดียวกัน เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูล จึงเกิดเป็น ‘สำนักข่าวอิศรา’ ที่เผยแพร่ข่าวออนไลน์ ภายใต้องค์ประกอบ 3 ส่วนหลักๆ คือศูนย์ข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวนโยบายสาธารณะ และศูนย์ข่าวสืบสวนที่ขึ้นชื่อด้านการเจาะลึกเข้าประเด็นจนเหล่าผู้มีอิทธิพลร้อนๆ หนาวๆ กันได้แทบตลอดเวลา
Goal
ความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งของอิศราคือ ข้อเท็จจริงเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับสังคมประชาธิปไตย
“การนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยเป็นหน้าที่หลักของสื่อมวลชน ถ้าข้อมูลของเหล่าผู้มีอำนาจในประเทศนี้ถูกปกปิดก็จะมีแต่ความหวาดกลัว การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะยังคงเต็มไปด้วยความเคลือบแคลง ลองดูอย่างเกาหลีใต้ที่คนเห็นพ้องต้องกันรวมตัวกันมาขับไล่ประธานาธิบดี นั่นเพราะเขามีระบบฐานข้อมูลที่ดีและเปิดเผย ส่วนประเทศเราบางข่าวไม่ได้รับการเปิดเผย บางข่าวยังถูกบิดเบือนด้วย”
อิศราจึงเลือกทำหน้าที่สืบสวนและนำเสนอให้ทุกคนได้รับรู้ ส่วนคนที่อ่านแล้วจะตัดสินใจอย่างไร นั่นก็เป็นหน้าที่ของผู้รับข้อมูลแล้ว
Method
แม้จะเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์อย่างเดียว แต่อิศรากลับไม่มีทีมดูแลกลยุทธ์ด้านออนไลน์ นักข่าวแต่ละคนต่างก็ช่วยกันทำเว็บไซต์ไปด้วย อาจเพราะการทำงานของศูนย์ข่าวทั้งหลาย รวมถึงการเพิ่มศูนย์ข่าวสืบสวนเข้ามา ก็นับเป็นจุดแข็งที่ยากจะหาใครมาล้มได้แล้ว
“ถ้ามองในแง่การตลาด ตอนนี้ไม่มีสำหนักข่าวไหน หรือแม้แต่ทีวีที่เข้าไปคลุกอย่างเต็มตัวแบบเรา และในโลกที่ข้อมูลข่าวสารมันล้นไปหมด ผมเชื่อว่าข่าวที่จะอยู่ได้คือข่าวที่เป็นความจริง การเข้าไปหาข่าวของเราเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการจริงๆ เพราะตอนนี้ข่าวปลอมถูกส่งเยอะไปหมด แต่เราก็รู้ว่าคนรุ่นใหม่ชอบอะไรชิลๆ ง่ายๆ เราอาจจะทำอย่างนั้นทั้งหมดไม่ได้ แต่เราก็พยายามปรับวิธีการเล่าอยู่เหมือนกัน”
Future
เมื่อถามถึงแผนในอนาคต ประสงค์พูดติดตลกก่อนจะหัวเราะว่า “เราไม่มองไกลขนาดนั้นหรอก เอาวันต่อวันให้รอดเสียก่อนเถอะ”
“เราต้องไม่โกหกตัวเองว่าปัจจัยสำคัญคือทุน และการหาทุนไม่ง่าย เพราะสังคมไทยมีความกลัว ว่าสำนักข่าวนี้ที่นำเสนอข่าวเปิดโปงทุกฝ่าย จะไปกระทบอำนาจหรือธุรกิจไหนเข้าตอนไหน ก็เลยยากที่คนจะให้ความสนับสนุนอย่างเปิดเผย”
อีกหนึ่งแนวคิดที่เคยผุดเข้ามาในแผนหลายครั้งคือการใช้ crowdfunding ซึ่งอิศรามองว่าสังคมไทยอาจยังไม่พร้อม “คนไทยจะบริจาคเงินทำบุญมากกว่า ให้สำนักข่าวมันได้บุญตรงไหนวะ?” ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่พวกเขายืนหยัดจะทำก็คือการนำเสนอความจริงกันต่อไป
5. ประชาไท—คือข่าวเพื่อความเท่าเทียม
ท่ามกลางการนำเสนอข่าวออนไลน์ หลายสำนักเลือกดึงความสนใจด้วยการย่อยให้ง่ายหรือพาดหัวหวือหวา แต่ข้อนั้นไม่ใช่หัวใจสำคัญของ ประชาไท มากเท่ากับการยกระดับความเป็นมนุษย์ โดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหาร นิยามประชาไทว่าเป็นกึ่งสื่อกึ่งการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน
“เราต้องการให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา และจนถึงตอนนี้ก็เข้าใจว่ายังไม่มีสื่อไหนที่ทำด้านนี้อย่างจริงจัง ผมพูดได้ว่าคนทำงานด้านสื่อ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ นักการเมือง ฝ่ายความมั่นคง ต่างก็จับตาประชาไท นี่คือจุดยืนของเรา”
และเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ประชาไทก็ได้พิสูจน์จุดยืนนั้นอย่างที่เราทุกคนได้เห็นแล้ว
Beginning
ประชาไทเริ่มต้นเมื่อปี 2548 โดย จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นทั้งนักวิชาการและอดีตนักการเมือง
“ท่านเป็น NGO คนหนึ่ง และคิดว่าการพัฒนาในประเทศไทยยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำหรือยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนได้ เพราะอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือ การผลักดันนโยบายเกี่ยวกับประชาชนยังมีข้อจำกัด เพราะสื่อเองไม่ได้ให้ความสนใจกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมากพอ”
เขาบอกถึงปัญหาในสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมา
“ดังนั้นท่านเลยคิดว่าอยากทำสื่อเอง และยุคนั้นเป็นยุคที่เว็บไซต์เพิ่งมาบูมในประเทศไทย ท่านเลยคิดว่าได้เวลาแล้ว ที่ภาคประชาสังคม หรือ civil society ควรจะต้องมีสื่อของตัวเอง”
Goal
เป้าหมายของพวกเขาคือการก้าวข้ามอุปสรรค และประชาไทมองว่าอุปสรรคของสื่อคือความไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นอิสระทั้งจากการเงินหรืออำนาจรัฐ ทำให้ไม่สามารถตอบสนองการพัฒนาของภาคประชาสังคมได้ และเมื่อมีอินเทอร์เน็ต สื่อไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่มากนัก ประชาไทจึงเป็นอิสระจากรัฐและทุน”
ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาต้องการต่อมาคือ การเป็นพื้นที่จัดระบบความคิดของคนในสังคม
“เราเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากก็อ่านประชาไท คือเขาอาจจะเก็บปกิณกะมากมายมาจากข่าวสารที่ท่วมท้น และพอมาอ่านประชาไท เราจะเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยจัดระบบความคิด แล้วเขาก็ค่อยนำมากลั่นกรองและเลือกที่จะดำเนินชีวิตของเขา ขับเคลื่อนสังคม ด้วยระบบคิดของเขาเอง”
Method
นอกจากวิธีการหาข้อมูล สรุป วิเคราะห์ สังเคราะห์ที่เป็นหลักการของอาชีพแล้ว เมื่อถูกถามถึงความยากลำบากในการทำงาน ปัญหาใหญ่ของพวกเขากลับเป็น ‘ความกลัว’
“เราต้องเผชิญกับรัฐและมาตรการทางสังคมที่พร้อมจะคุกคาม ทุกคนเผชิญอยู่กับความกลัวนี้ แต่ด้วยจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพ เราก็ต้องยืนท้าทายเผชิญหน้ากับมัน ที่ต้องระวังคือการนำเสนอโดยไม่ให้แหล่งข่าวถูกคุกคามไปด้วย”
แต่ถ้าถามว่าพวกเขาจะยอมหักไม่ยอมงอเลยหรือ คำตอบคือ “เราก็ไม่ถึงขนาดขวานผ่าซาก อาจจะเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ หรือยืนยันในความจริงใจของเรา และ 12 ปีนี้ก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่าประชาไทไม่มีข่าวบิดเบือน ไม่มีข่าวปั้นน้ำเป็นตัว ไม่มี conspiracy ใดๆ ทั้งสิ้น”
Future
ในเรื่องอนาคตนั้น ชูวัสพูดถึงเป้าหมายระยะสั้นในปีหน้าของประชาไทว่า คือการสร้าง ‘ศูนย์ข่าวคนพิการ’ ขึ้นมา
“ยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรจะเป็นจุดโมเมนตั้ม เป็นคานงัดที่จะไปยกระดับให้คนเราเท่ากันได้ หนึ่งในนั้นคือเหล่าคนที่ถูกคุกคามจากรัฐ คนที่อยู่ชายขอบจากปัญหาการพัฒนา เช่น คนต่างด้าว แรงงาน ชาวเขา คนพิการก็เป็นหนึ่งในนั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่เราจะทำต่อไปในปีหน้า คือหาประเด็นอื่นๆ ที่จะอธิบายกับสังคมไทยว่า แท้จริงแล้วคนเราเท่ากันโดยสมบูรณ์”
โดยเนื้อหาจะเป็นข่าวด้านคนพิการทุกประเภท “เราอาจจะเป็นสำนักแรกที่ไม่ใช่นำเสนอแค่จุดยืนด้านสังคมสงเคราะห์ แต่จะนำเสนอว่าทุกคนก็คนเหมือนกัน แค่อวัยวะอาจจะไม่เท่ากันเท่านั้นเอง”
6. #สรุป—คือการเข้าใจในเวลาสั้นๆ
คืองี้…—(ไม่ใช่ว่าฝ่ายพิสูจน์อักษรของเราปล่อยประโยคไม่ถูกไวยากรณ์ออกมา) แต่ที่ต้องพูดว่า ‘คืองี้…’ เพราะนี่คือเอกลักษณ์หนึ่งของเพจสรุปข่าวที่มีนามว่า สรุป
ว่ากันว่าอินเทอร์เน็ตได้ละลายให้พฤติกรรมที่เรียกว่า brand loyalty หายไป สำหรับคนทำคอนเทนต์เมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่นี้ก็จำต้องเริ่มใหม่หมด เพราะอินเทอร์เน็ตลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสื่อใหญ่และสื่อเล็กลงได้อย่างเห็นภาพ เมื่อโพสต์ของ The New York Times อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าสำนักข่าวเล็กๆ อีกต่อไป สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะทำคอนเทนต์อย่างไรให้เข้าถึงคนอ่านมากที่สุด อย่างที่เพจเล็กๆ ที่มีแอดมินเพียง 3 คนอย่าง #สรุป พิสูจน์มาแล้ว
Beginning
คืองี้… เพจ สรุป เกิดมาจากคนที่เป็น ‘ผู้บริโภคข่าว’ มากกว่าที่จะมาจาก ‘คนผลิตข่าว’ มันเริ่มต้นจากการต้องการพื้นที่เพื่อจะได้พูดคุยกับคนอื่นๆ ในเรื่องที่สนใจ “บางเรื่องมันน่าสนใจ เราเลยอยากขยายวงพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น” แอดมินผู้ริเริ่มก่อตั้งเพจเล่า “ตอนแรกคิดว่าคนอาจจะไม่อยากอ่านอะไรยาวๆ แต่บางเรื่องมันน่าสนใจเกินจะมองข้ามไป ถ้าเขาไม่อยากอ่าน เราเลยคิดว่า งั้นเราสรุปให้เขาฟังก่อน แล้วเราค่อยมาคุยกัน”
เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่ง เขาจึงชวนเพื่อนอีกสองคนซึ่งเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์มาด้วยกันมาช่วยเพิ่มความหลากหลาย จากการแชร์ลิงก์เนื้อหาข่าวและเขียนสรุปสั้นๆ สู่การทำการบ้านเป็นตั้งๆ เพื่อสรุปข่าวในโพสต์เดียว ที่ตอนนี้ทำให้ยอดไลก์ของเพจทะลุ 2.6 แสนไปแล้ว
Goal
“ถ้าเราพูดเฉพาะเนื้อหาที่ข่าวนั้นพูด คนอาจจะไม่เข้าใจ เพราะบางข่าวมันอาจมีสตอรี่ซับซ้อนย้อนหลังกลับไปอีกเยอะ”
เป้าหมายจริงๆ ของเพจสรุปนั้นแรกเริ่มมาจากความต้องการส่วนตัวที่ต้องการ ‘สร้างพื้นที่ของการพูดคุยถกเถียง’ แต่มากไปกว่านั้นคือการมอบข้อมูลที่สังคมกำลังต้องการอย่างง่ายและรวดเร็ว “ถ้าเรารู้สึกว่าช่วงเวลานี้มีเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา และเราเห็นว่ายังไม่มีใครมาตอบคำถามในคอนเทนต์เดียว เราก็จะรวบรวมมาเขียนเป็นสรุปให้อ่าน” ซึ่งหนึ่งในแอดมินมองว่า “บางครั้งเนื้อหาที่เราเขียนมันก็ช่วยให้คนได้รับความเข้าใจในบางเรื่อง เพราะเราคิดว่าเนื้อหาที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตที่มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมันอาจจะกระจัดกระจาย”
Method
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่สรุปมาถูกต้อง?
วันนี้เพจสรุปมีเนื้อหาหลากหลาย ทั้งการเมือง สังคม เทคโนโลยี ไปจนถึงเรื่องยากๆ อย่างฟิสิกส์ ซึ่งทำให้ต้องทำการบ้านอย่างหนัก โดยแต่ละโพสต์อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลไม่ต่ำกว่า 10 แหล่ง
“อันดับแรกเราต้องได้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และข้อมูลนั้นก็ต้องน่าเชื่อถือในตัวมันเอง ถ้าส่วนไหนน่าสงสัย ก็จะไปหาข้อมูลอีกแหล่ง หลังจากนั้นเราค่อยมาลำดับเรื่อง หรือถ้าเป็นเรื่องของความคิดเห็นเราก็พยายามจะนำเสนอความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายโดยไม่ตัดสิน”
และที่เป็นเอกลักษณ์ของเพจสรุปก็คือ การสรุปเนื้อหาที่สั้นและตรงประเด็น “บางเรื่องพอมันเป็นนามธรรม เราจะใช้วิธียกตัวอย่างเพื่อให้คนนึกภาพออก ทำตัวเป็นมิตรกับคนอ่าน อย่างศัพท์เฉพาะเราจะเอาไว้ข้างหลังเลย”
Future
แม้สรุปจะยังไม่มีภาพชัดในระยะยาว แต่สิ่งที่พวกเขาพยายามทำตอนนี้ก็น่าสนใจ ทั้งการทดลองการสรุปในรูปแบบ crowd summarizing ที่ทำให้คนอ่านมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยให้ลูกเพจทางบ้านเขียนสรุปเรื่องต่างๆ และเพจสรุปจะโพสต์ให้ รวมถึงแผนการในอนาคตที่อาจเป็นการทดลองใหม่ๆ “อาจจะมีการสรุปดีเบต ตั้งหัวข้อ เอาผู้เชี่ยวชาญสองฝั่งที่มีความเห็นแย้งมาดีเบตกัน แล้วเราสรุปให้”
ส่วนวงการสื่อ แอดมินมองว่า “สื่อต้องปรับรูปแบบการนำเสนอ เช่น เมื่อก่อนต้องบอกว่านายตำรวจคนนี้ สน.นี้ ไปที่นี่ เวลานี้ อารัมภบทยืดเยื้อ—เหล่านี้จะทยอยตาย เพราะคนอ่านอยากได้ใจความสำคัญ เขาไม่ต้องการอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเขา คนไทยไม่ได้อ่านน้อยนะครับ ผมคิดว่าคนไทยเลือกอ่าน ถ้าเรื่องไหนที่ตัวเองสนใจ ต่อให้ยาวแค่ไหนก็อ่าน”
จากคอลัมน์ Face x Core—Giraffe Magazine 51—Online News Issue