มิถุนายนถือเป็น ‘Pride Month’ หรือเดือนแห่งความปีติซึ่งชาว LGBT ทั่วโลกพากันเฉลิมฉลอง ฉะนั้น การนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยคงเหมาะสมเลยทีเดียว
อันที่จริง ผมเองก็เคยเขียนงานว่าด้วยเนื้อหาดังกล่าวลงพิมพ์เผยแพร่ผ่าน The MATTER มาแล้วไม่น้อยชิ้น เฉกเช่น คนธรรมดาในหน้าประวัติศาสตร์ : ‘เขียวกะเทย’ คนดังทั้งพระนครเมื่อ 100 ปีก่อน, กว่าอ้ายขวัญจะรักอีเรียม : ‘ไม้ เมืองเดิม’ เคยเขียนนวนิยายหญิงรักหญิง และ งานวิวาห์ผู้หญิงกับผู้หญิง ในเมืองไทย เมื่อกว่า 100 ปีก่อน
สำหรับคราวนี้ ผมใคร่เชื้อเชิญคุณผู้อ่านให้ไปสัมผัสนวนิยายไทยช่วงประมาณหกสิบปีก่อนที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวแบบหญิงรักหญิงของตัวละครจนถูกนักอ่านวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงไม่เบา ประกอบกับในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 ยังปรากฏวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของ ประมูล อุณหธูป เจ้าของนามแฝง ‘อุษณา เพลิงธรรม’ (เขาเกิด 17 มิถุนายน พ.ศ. 2463) นักประพันธ์ผู้สรรค์สร้างงานเขียนและงานแปลมากมายไว้ประดับบรรณพิภพ อาศัยสำนวนภาษาพิถีพิถันจนได้รับฉายาว่าเป็นผู้ ‘ตัดไม้ทั้งป่ามาทำเก้าอี้ตัวเดียว’ หากผลงานที่เลื่องลืออื้อฉาวย่อมจะมิพ้นนวนิยายเยี่ยง เรื่องของจันดารา
‘อุษณา เพลิงธรรม’ หรือประมูล อุณหธูป เขียน เรื่องของจันดารา ขึ้นปลายทศวรรษ 2500 ลงตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และต่อมาจัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 แต่รายละเอียดเนื้อหารวมถึงฉากบรรยากาศตามท้องเรื่องส่วนใหญ่น่าจะก่อนปี พ.ศ. 2500 หรือช่วงทศวรรษ 2460 เรื่อยมาถึงกึ่งพุทธกาล ซึ่งประมูลได้ประมวลและรวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยในความทรงจำและเหตุการณ์ที่ตนพบเห็นมาเรียงร้อยตัวอักษร ตอนนวนิยายลงพิมพ์รายสัปดาห์ ผู้อ่านได้เขียนจดหมายมาสอบถามทางกองบรรณาธิการเนืองๆ ว่าทำไมนิตยสารชั้นนำเยี่ยง สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ จึงยอมให้งานเขียนที่นำเสนอเรื่องเพศและการร่วมเพศโจ่งแจ้งอย่างเลวร้ายและเสื่อมศีลธรรมเช่นนี้ลงตีพิมพ์ ‘อุษณา เพลิงธรรม’ ก็ถูกถล่มด่ายับเยิน ทว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรณาธิการใหญ่แห่งสยามรัฐตอบกลับไปทำนองว่าให้ลงได้ เพราะตนชอบและไม่เห็นเป็นเรื่องเสียหายแต่อย่างใด
ใน เรื่องของจันดารา ผู้ประพันธ์ได้เปิดเผยบทบาทของตัวละครหญิงรักหญิงคนสำคัญคือคุณแก้ว บุตรีคุณหลวงวิสนันท์เดชากับน้าวาด ถ้ากล่าวแบบปัจจุบันใครๆ ก็คงเรียกลักษณะแบบคุณแก้วว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน (lesbian) แต่ตามความเข้าใจของคนไทยในยุคสมัยที่ ‘อุษณา เพลิงธรรม’ เขียนเรื่องนี้ ยังใช้คำเรียกเหมารวมพฤติกรรมรักร่วมเพศหรือผู้มีกิริยาอาการผิดแผกไปกว่าเพศสภาพที่แลเห็นภายนอกของตนว่า ‘กะเทย’ ดังความในนวนิยายว่า
“นับแต่บัดนั้นเองเป็นต้นมา คุณแก้วก็ดังว่าจะจูงใจทำตัวเป็นคู่แข่งกับผมในการรณรงค์ทำเสน่ห์กับผู้หญิงในบ้าน ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ เสือสนามแต่โดยเดียวอย่างผมได้ถึงกาลต้องมามีคู่แข่งเป็นกะเทยเข้าให้แล้ว”
พร้อมทั้งบรรยายความรู้สึกของจัน ดาราที่มีต่อคุณแก้ว ซึ่งสะท้อนกรอบคิดของผู้ชายว่า
“ตามความรู้สึกร้ายของผม เธอไม่ใช่ผู้หญิงอย่างเดียวเสียแล้ว เธอเป็นกะเทย กะเทยซึ่งเป็นคนสองเพศได้อย่างละเท่าๆ กัน และยิ่งปีก็จะยิ่งเป็นข้างผู้ชายแก่กล้าขึ้นทุกที จนในที่สุดผู้ชายก็แทบจะจับถกก้นเตะได้โดยไม่ค่อยจะอายใจเท่าไหร่นัก”
คุณบุญเลื่อง ภรรยาเก่าคุณหลวงวิสนันท์ ดูจะเป็นอีกตัวละครที่เข้าข่ายมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ แต่ ‘อุษณา เพลิงธรรม’ พยายามบ่งชี้ในงานเขียนว่าคุณบุญเลื่องแตกต่างจากคุณแก้ว เพราะคุณบุญเลื่องหาใช่ ‘กะเทย’ “เธอเพียงแต่เป็นคนไบเซกซ์ ซึ่งสามารถร่วมรสได้กับคนทั้งสองเพศ และไม่ได้กลายเป็นคนโฮโมเซกซ์ ซึ่งพึงใจร่วมแต่เพศเดียวกันอย่างคุณแก้ว” คุณบุญเลื่องจึงร่วมเพศได้กับทั้งผู้ชายแบบจัน ดาราและผู้หญิงแบบคุณแก้ว โดยเฉพาะในฉากผู้หญิงร่วมเพศกับผู้หญิงที่ ‘อุษณา เพลิงธรรม’ บรรยายการเล้าโลมเสพสมร่วมรสระหว่างคุณบุญเลื่องกับคุณแก้วท่ามกลางบรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิด และเมื่อจัน ดาราขึ้นไปบนบ้านพลันพบเห็นภาพชัดถนัดสายตา
“คุณแก้วหันหลังให้ผม กำลังซุกหน้าไซ้เข้าชำแรกหาความหื่นบันเทิงให้แก่เพื่อนและแก่ใจร่านหฤหรรษ์ของตัวเองด้วย เธอกำลังเป็นฝ่ายปรนปรือและทำอย่างเดียวกับที่ผมเคยทำให้คุณบุญเลื่องเสมอ เป็นการเบิกโรงก่อนจะเข้าถึงแก่นของกรีฑาการ นี่ถ้าผมกำซาบเข้าร่วมวงด้วยอีกคน ก็จะได้ภาพลามกอย่างอุกฤษฏ์และบริบูรณ์ตามที่เคยเห็นจากภาพโป๊สการ์ดฝรั่งเศสกันเชียวหละ”
ผมคิดว่า ‘อุษณา เพลิงธรรม’ ไม่เพียงเขียนถึงตัวละครที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศหรือมีความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง โดยใช้ข้อมูลที่เขาคงเคยประสบพบเห็นมาในชีวิตจริงเท่านั้น แต่ยังค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อพยายามอธิบายลักษณะของกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย ดังที่เขาเอ่ยถึงและจำแนก ‘โฮโมเซกซ์’ และ ‘ไบโอเซกซ์’ ลองพิจารณาบริบทห้วงยามเดียวกันกับที่นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นคือช่วงทศวรรษ 2500 ก็พบว่ามีกระแสตื่นตัวทางการแพทย์และทางด้านจิตวิทยาที่จะทำความเข้าใจบุคคลผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศด้วย
ไม่เพียงแค่ เรื่องของจันดารา เท่านั้น ผมขออนุญาตแนะนำนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่มีตัวละครแสดงพฤติกรรมทางเพศเชิงหญิงรักหญิงเช่นกัน และพิมพ์ออกเผยแพร่ก่อนหน้างานเขียนของ‘อุษณา เพลิงธรรม’ อยู่หลายปี นั่นคือ ระเมียรเรียนโลก ผลงานของสันต์ เทวรักษ์ ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร เพื่อนบ้าน ต้นทศวรรษ 2500 และจัดพิมพ์เป็นเล่มเมื่อปี พ.ศ. 2502
ผมเริ่มต้นรู้จักงานเขียนนี้ครั้งแรกจากข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์ของบรรจง บรรเจิดศิลป์ชื่อ ‘นักประพันธ์กามวิตถาร’ ลงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สายธาร ฉบับที่ 5 เดือนกันยายน พ.ศ.2501 โดยบรรจง เปิดด้วยการนำเอาจดหมายของผู้ใช้นามว่า ‘นิยะดา’ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ ประจำวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 มาลงไว้ ซึ่งเธอเขียนถึงนวนิยาย 4 เรื่องที่เธอมองว่าเป็นบทประพันธ์ที่บัดซบ เพราะนำเสนอเรื่องเพศโจ่งแจ้ง ดังเนื้อความจดหมายตอนหนึ่งว่า
“เรื่องที่ ๓–๔ คือเรื่อง ระเมียรเรียนโลก ของสันต์ เทวรักษ์ และ กึ่งทางจากสวรรค์ ของสงัด บรรจงศิลป์ ในนิตยสาร “เพื่อนบ้าน” ของคุณสุดา นครานุรักษ์ ผู้สำเร็จวิชาการโรงเรียนอนุบาลซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของผู้หญิง ดิฉันเองก็รักคุณสุดาอยู่มาก ติดตามอ่านเรื่องของเธออยู่เสมอ น้องสาวดิฉันคนหนึ่งได้เก็บรวบรวมหนังสือเพื่อนบ้านไว้ทุกเล่ม จะเอาไว้ให้ลูกสาวตัวเล็กๆ ของเธอดูว่าสมัยของแม่มีหนังสือพิมพ์ของผู้หญิงที่น่าอ่านอยู่ฉบับหนึ่ง แต่เธอก็ผิดหวังมานั่งตากะปริดกะปรอยเพราะปรากฏว่า หนังสือพิมพ์เพื่อนบ้านของคุณสุดา มีนวนิยายบรรยายความโจ่งแจ่งว่าด้วยการเล่นเพื่อนของผู้หญิงอย่างเปิดเผยถึง ๒ เรื่อง คือเรื่องที่พูดถึงข้างบนนี้ ดิฉันอ่านหนังสือของสันต์ เทวรักษ์มาทุกเรื่อง ให้นึกเสียใจแทนคุณสันต์หรือพูดให้ถูกก็คือเสียใจให้แก่ความศรัทธาของดิฉันที่มีอยู่ต่อคุณสันต์ เทวรักษ์ ที่บรรยายถึงผู้หญิงสองคนนอนกอดกันกลมดิกอยู่ริมหาดทราย กระโปรงถลกออกมาถึงขาอ่อนทั้งสองคน สามัญชนก็มองเห็นภาพได้ว่าผู้หญิงสองคนนั้นกำลังทำอะไรกัน…”
และอีกตอนที่ ‘นิยะดา’ กล่าวถึงการเล่นเพื่อนว่า
“พูดกันตามตรง ดิฉันยังไม่เคยเห็นสัตว์ชนิดไหน มัน “เล่นเพื่อน” กันเลย แล้วเหตุใดเล่านักประพันธ์และหนังสือพิมพ์เหล่านี้จึงทำการประหนึ่ง “ชี้โพรงให้กระรอก” ชักจูงและมอมเมาอนุชนของชาติให้เสื่อมและต่ำลงยิ่งกว่าสัตว์ชนิดอื่น”
จากนั้น บรรจง บรรเจิดศิลป์ก็วิพากษ์วิจารณ์นักเขียนเจ้าของบทประพันธ์ดังที่ ‘นิยะดา’ เอ่ยนามมาอย่างเผ็ดร้อนรุนแรงว่าเป็นพวกนักประพันธ์กามวิตถาร มุ่งเสนองานเขียนเรื่องเพศที่ทำลายศีลธรรม เป็นการให้ยาพิษต่อนักอ่าน ก็เพราะนักประพันธ์เป็นโรควิตถารเช่นกัน นั่นทำให้ผมเริ่มสนใจและไปค้นหานวนิยายเรื่อง ระเมียรเรียนโลก ของสันต์ เทวรักษ์มาลองอ่านดู ซึ่งก็พบว่ามีประเด็นน่าศึกษายิ่ง
ระเมียรเรียนโลก บอกเล่าเรื่องราวชีวิตรักของหญิงสาววัยรุ่นชื่อระเมียร เธอเป็นลูกของคำแปง ต่อมาคำแปงได้แต่งงานกับ ประวัติ ผู้มีลูกชายอยู่แล้วกับภรรยาเดิมชื่อ ประวิตร ทั้งระเมียรและประวิตรเข้าใจว่าตนสองคนเป็นพี่น้องแท้ๆ กันมาตลอด จนเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มสาว ประวิตรกับระเมียรกลับรู้สึกมีความรักแบบชู้สาวต่อกัน ระเมียรเกรงว่าการหลงรักพี่ชายตนเองย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม เธอจึงหนีออกจากบ้านไปกับเพื่อนหญิงที่สนิทกันมาก ซึ่งเธอก็มีความสัมพันธ์เชิงหญิงรักหญิงกับเพื่อนสาวรุ่นคนนั้น ทางด้านประวัติเอง เมื่อคำแปงไม่อยู่แล้ว เขาพลันนึกหลงรักระเมียร ลูกเลี้ยงของตนเอง ต่อมาประวัติยอมบอกความจริงกับประวิตรว่าระเมียรไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของตน ระเมียรกับประวิตรมิใช่พี่น้องกัน แต่กว่าเรื่องนี้จะเปิดเผย ระเมียรก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้เสียแล้ว
จริงอยู่ ในนวนิยาย สันต์ เทวรักษ์เขียนให้ตัวละครแสดงความวาบหวามหลายตอน นอกจากฉากที่ผู้หญิงกับผู้หญิงประกอบกิจกรรมริมชายหาดแล้ว ยังมีตอนที่ประวัติสอนระเมียรว่ายน้ำโดยเอาฝ่ามือรองหน้าท้องของเธอ ทำให้ประวัติเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาและต้องข่มใจ หรือตอนประวิตรอยู่ในกระท่อมร้างกับระเมียรแล้วหญิงสาวถอดเสื้อผ้าที่เปียกออกมาผึ่งไว้ ประวิตรก็ข่มอารมณืทางเพศเพราะเกรงจะทำอะไรไม่ดีกับหญิงที่เขาเข้าใจว่าเป็นน้องสาว ไม่แปลกเลยที่ฉากเหล่านี้จะกลายเป็นเป้าโจมตี
ทางด้านสำนวนภาษาและความเปรียบเปรยก็สละสลวยสมกับเป็นฝีมือของสันต์ ถ้อยความบางตอนที่ผมชอบ เช่น
“หัวใจของมนุษย์เรามักจะชิงสุกไปเสียก่อนห่าม เพราะเราไม่ค่อยจะมีความอดทนรอให้มันห่ามเสียก่อน แล้วจึงค่อยสุกไปตามระยะ ชีวิตของบุคคลเราก็อย่างนั้น ปรารถนาจะเป็นผู้ใหญ่รวดเร็วเกินไปแล้วเราก็ไม่ทันใจที่โตไม่ค่อยทันสักที จิตใจจึงเป็นคล้ายผลไม้ที่งอมเหลืองเพราะแก่แดด มีเนื้อสวกและรสเปรี้ยว เหมาะสำหรับที่จะโยนทิ้งไว้ข้างทางเท่านั้น จะใช้บริโภคก็ไม่ได้ แล้วเราก็ป้ายโทษโจทบาปว่า ชีวิตนี้มีแต่ความผิดหวังอย่างเดียว”
ปัจจุบันไม่ค่อยพบการใช้คำว่า ‘เนื้อสวก’ กับผลไม้ มักจะไปเจอในหนังสือเก่าๆ ความหมายของ ‘สวก’ ก็คือเนื้อไม่แน่น
ศรีวิภา จรูญโรจน์ ณ อยุธยา เสนอไว้ตอนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของเธอเรื่อง ชีวประวัติและผลงานวรรณกรรมของสันต์ ท. โกมลบุตร เมื่อปี พ.ศ. 2520 ว่า
“ผู้วิจัยมีความเห็นว่า เรื่อง “ระเมียรเรียนโลก” เป็นนวนิยายสมจริงที่มีโครงเรื่องพัฒนาไปไกลกว่าเรื่องอื่น คือใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวมาตั้งเป็นโครงเรื่อง ด้วยการวาดภาพชีวิตของหญิงสาวผู้หนึ่งที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความผิดปกติในชีวิตทางเพศ เนื่องด้วยขาดความอบอุ่นในครอบครัวและการสมาคมกับเพื่อนหญิงที่มีความวิปริตทางเพศ อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่อง “ระเมียรเรียนโลก” เป็นนวนิยายไทยเรื่องแรกที่มีโครงเรื่องเกี่ยวกับความรักร่วมเพศของผู้หญิง”
แต่ ระเมียรเรียนโลก หาใช่นวนิยายไทยเรื่องแรกที่มีโครงเรื่องเกี่ยวกับความรักร่วมเพศของผู้หญิงอย่างที่ศรีวิภาเข้าใจ เพราะเคยมีนวนิยายทำนองนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 2470 แน่ละ เราจะไม่นับจำพวกวรรณคดีร้อยกรองเก่าๆ ที่เสนอการ ‘เล่นเพื่อน’ ของผู้หญิงกับผู้หญิง เช่น กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ ของคุณสุวรรณ แต่นับกันที่จำพวกวรรณกรรมร้อยแก้วประเภท ‘นวนิยาย’ หรือ ‘โนเวิ่ล’ (novel) ก็พบว่าในปี พ.ศ.2478 ผู้ประพันธ์นามว่า กฤษณ์ พึ่งบุญฤทธิ์ ได้เขียนนวนิยายเรื่อง ชาววัง ถ่ายทอดความสัมพันธ์หญิงรักหญิงในรั้วในวังมาแล้ว ดังที่อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ (หรือตัวผมเอง) เคยให้ข้อมูลไว้ใน กว่าอ้ายขวัญจะรักอีเรียม : ‘ไม้ เมืองเดิม’ เคยเขียนนวนิยายหญิงรักหญิง
สังเกตได้ว่า ในอดีตนับแต่ทศวรรษ 2470 จนกระทั่งในทศวรรษ 2500 นวนิยายเรื่องใดก็ตามที่พยายามนำเสนอเรื่องราวของหญิงรักหญิงมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงจากนักอ่านและถูกมองเชิงลบจากสายตาสังคม ซึ่งพอเราในฐานะคนยุคปัจจุบันลองไปอ่านดูบ้างกลับรู้สึกว่า จริงๆ มิใช่เรื่องร้ายแรงอะไรเลย ถ้ามาจัดพิมพ์ทุกวันนี้ นักอ่านก็คงรับได้แน่ๆ และเผลอๆ อาจจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ขณะที่หนังสือคู่มือทางเพศยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 และทศวรรษ 2500 ซึ่งมักจะส่งน้ำเสียงจัดระเบียบเรื่องเพศในสังคมและนำเสนอภาพความเลวร้ายของพฤติกรรมรักร่วมเพศ เช่น ใน ตำราพิเศษ กามชีพของหญิง ของโกศล กมลาภิรมย์ ที่มองว่า “หญิงสาวผู้ที่ชอบทำแก่ตนเอง หรือชอบเล่นเพื่อนเนืองๆ ย่อมมีลักษณาการอันน่าเกลียดชัง” แต่อย่างน้อยที่สุดงานวรรณกรรมและนักเขียนนวนิยายที่หาญกล้าจะทดลองเปิดพื้นที่ให้เรื่องราวเหล่านี้ซึ่งมีอยู่จริงๆ ได้เผยแพร่สู่สายตาสาธารณะ ต่อให้พวกเขาต้องถูกด่ายับเยิน ถูกจัดให้เป็นพวกนักประพันธ์กามวิตถารก็ตาม นับเป็นคุณูปการไม่น้อย แม้คนในสังคมยุคก่อน ราวๆ 60- 90 ปีที่แล้วจะยังอดทนยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมิได้
ทั้งนวนิยาย เรื่องของจันดารา ของ อุษณา เพลิงธรรม และ ระเมียรเรียนโลก ของ สันต์ เทวรักษ์ อาจจะเคยเป็นวรรณกรรมที่ถูกโจมตีว่าหมกมุ่นเรื่องเพศและกามารมณ์ ทำลายศีลธรรมอันดีในวันวาน พอมองอีกแง่หนึ่ง การเกิดขึ้นและมีอยู่ของงานเขียนทั้งสองชิ้นกลับเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ LGBT กับสังคมไทยได้อย่างดียิ่ง
เอกสารอ้างอิง
โกศล กมลาภิรมย์. ตำราพิเศษ กามชีพของหญิง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรนิติ์, 2472
เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. วาทกรรมเกี่ยวกับ “เกย์” ในสังคมไทย พ.ศ. 2508-2542.วิทยานิพนธ์
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520
‘นักประพันธ์ “กามวิตถาร” ข้อเขียนวรรณกรรมวิจารณ์ของบรรจง บรรเจิดศิลป์ เมื่อ พ.ศ.
๒๕๐๑’ บานไม่รู้โรย ปีที่2 ฉบับที่9 (ตุลาคม 2529), หน้า 80-85
ศรีวิภา จรูญโรจน์ ณ อยุธยา. ชีวประวัติและผลงานวรรณกรรมของสันต์ ท. โกมลบุตร.
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย, 2520
สันต์ เทวรักษ์. ระเมียรเรียนโลก. พระนคร: คลังวิทยา, 2502
อุษณา เพลิงธรรม (นามแฝง). เรื่องของจันดารา. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2542