ในงานหนังสือครั้งที่ผ่านมา มีสิ่งที่ผมอาจเรียกได้ว่า ‘ปรากฏการณ์’ เกิดขึ้นกับหนังสือเล็กๆ เล่มหนึ่งครับ หนังสือที่หากมองเพียงแค่ปกหน้า คุณอาจเผลอคิดว่ามันเป็นหนังสือท่องเที่ยว หรือ travelogue หรือเปล่านะ นั่นเพราะกลุ่มตัวอักษรที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบบนหน้าหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยชื่อของเมืองต่างๆ ที่เราล้วนคุ้นเคยกันดี บ้างอยู่ในต่างประเทศ แต่บ้างก็เป็นชื่อจังหวัดเล็กๆ ในประเทศเรา ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เบอร์ลิน หรือปาดังเบซาร์ หากมองเพียงแค่ปก คุณอาจคาดเดาไปต่างๆ นานาครับ ว่าหนังสือบางๆ เล่มนี้อาจเป็นไดอารี่บันทึกการเดินทางของใครสักคนก็เป็นได้
ไม่ง่ายนักที่จะหาคำจำกัดความที่ชัดเจนว่า There คือหนังสือประเภทไหน เพราะในทางหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ประหนึ่งบทบันทึกความทรงจำที่คลุ้งเคล้าไปด้วยเขม่าควัน ถ่ายทอดผ่านเมืองต่างๆ ที่กระจัดกระจายตามจุดต่างๆ ของแผนที่ หากในขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ก็คล้ายจะเป็นฟิกชั่นที่คัดกลั่นขึ้นจากจินตนาการ ที่อาจหยิบฉวยมาบ้างจากประสบการณ์ส่วนตัวผู้เขียนเอง แต่เพื่อให้ง่ายต่อการพูดถึงหนังสือเล่มนี้ ผมจะขอลดทอนคำนิยามอันซับซ้อน และสรุปเอาอย่างห้วนๆ ว่า There คือรวมเรื่องสั้นแล้วกันนะครับ
There คือรวมเรื่องสั้นที่เกิดจากการเคาะแป้นพิมพ์ของ ใหม่–ศุภรุจกิจ และ พวงสร้อย–อักษรสว่าง สองนักเขียนที่เคยแจ้งเกิดจากซีนเล่มบางๆ อย่าง คุณทั้งสองติดตามซึ่งกันและกัน สุรี และ มัทนี รวมสิบเรื่องสั้นว่าด้วยความสัมพันธ์ ถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงของตัวละครอย่างสุรีและมัทนี ที่ต่างก็ติดตามชีวิตของอีกฝ่าย และถ่ายทอดเรื่องราวของกันและกัน และกับ There เอง นักเขียนทั้งสองก็ยังคงไว้ซึ่งลักษณะของเรื่องสั้น เพียงแต่กับเล่มนี้ พวกเขาเลือกจะวางโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้นเมื่อเทียบกับเล่มก่อน อาศัยเมืองทั้ง 8 แห่ง เป็นพื้นที่สำหรับถ่ายทอดเรื่องราวที่พาดเกี่ยวอยู่กับหลากหลายชีวิต ซึ่งต่างก็ผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากันมาถ่ายทอดเรื่องราวอันจำเพาะเจาะจงและหมุนวนในชีวิตของพวกเขา
หากเปรียบ คุณทั้งสองติดตามซึ่งกันและกัน สุรี และ มัทนี เป็นการลองหยั่งเท้าบนเส้นทางน้ำหมึกของใหม่และพวงสร้อย There คือบทพิสูจน์ที่เจนชัดถึงศักยภาพที่มากล้นของนักเขียนทั้งสอง ทั้งด้วยความกล้าหาญที่มากขึ้นในการสรรสร้างเรื่องเล่า และด้วยความแม่นยำที่มากขึ้นในการจัดเรียงตัวอักษร จึงส่งผลให้รวมเรื่องสั้นบางๆ เล่มนี้เปี่ยมล้นด้วยรายละเอียดแพรวพราว และเรื่องราวที่น่าสนใจ จนเราพร้อมจะจมดิ่งไปในโลกที่นักเขียนทั้งสองอย่างจำยอม
There คืองานเขียนที่ก้าวพ้นไปจากเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนหนุ่ม-สาว นั่นเพราะงานเขียนชิ้นนี้ประกอบขึ้นจากหลายเศษเสี้ยวชิ้นส่วนของชีวิตที่ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้จ้องมองอย่างสนใจแค่กับหัวใจอันว้าวุ่น และคลุมเครือของวัยรุ่น แต่ขยายขอบข่ายกว้างขวางไปสู่ระดับที่ลึกซึ่ง จริงจัง และเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน การปรากฏตัวของพ่อและแม่อย่างที่ตัวละครทั้งสองในสถานะของตัวดำเนินเรื่องหลักในเรื่องสั้นบางเรื่อง คือตัวอย่างที่ชัดเจนถึงโครงข่ายความสนใจที่ขยับขยายของนักเขียนทั้งสอง พาเราสำรวจรูปแบบความสัมพันธ์ในสถานะที่ซับซ้อนขึ้นกว่าการเป็นเพื่อนหรือแฟน
ในบรรดาเรื่องสั้นทั้งหมดที่ปรากฏในเล่มนี้ ปาดังเบซาร์ คือเรื่องที่ผมสนใจที่สุด ในแง่ของสถานที่ที่หยิบมาเล่า นั่นเพราะไม่บ่อยนักที่จะพบเห็นพื้นที่นี้ถูกยกมาเป็นวัตถุดิบหลักของเรื่องเล่า ปาดังเบซาร์ถูกบอกเล่าอย่างซื่อตรงและสัตย์จริง ผ่านสายตาของคนนอกที่ก็ไม่ได้เห็นถึงความสลักสำคัญใดๆ ของเมืองนี้ แค่เมืองเล็กๆ ตรงชายแดน ที่การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของมันคงไม่ส่งผลต่อความรู้สึกของตัวละคร เพียงแต่ความงดงามที่ปรากฏขึ้นภายใต้ความไม่สำคัญของเมืองนี้ คือการที่ผู้เขียนเองก็ตระหนักในความไม่สลักสำคัญนี้ดี และไม่พยายามเรียกร้องให้เรามองปาดังเบซาร์ด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจแต่อย่างใด ปาดังเบซาร์คือเมืองที่ไม่มีอะไร และเมื่อเราอ่านจบก็ไม่ได้รู้สึกอยากไปเมืองแห่งนี้ขึ้นมา หากมันกลับอัดแน่นไปด้วยความว่างเปล่าที่บริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ทุกประสบการณ์ชีวิตจะต้องมีบทเรียนสอนใจ ไม่ใช่ทุกประสบการณ์ชีวิตจะต้องมีอะไรให้ระลึกถึงราวกับเป็นกำไรสำคัญ
เรื่องสั้นต่างๆ ของ There ยังคงถูกบอกเล่าผ่านน้ำเสียงที่ขมุกขมัวราวหมอกควัน นักเขียนทั้งสองต่างโดดเด่นในการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างไม่ซื่อตรงนัก ลัดเลี้ยวบ้างในบางครั้ง แต่กลับส่งให้เรื่องเล่าของพวกเธอทรงพลังและน่าติดตามอย่างน่าชื่นชม
There มอบความประทับใจให้กับผมมากทีเดียวครับ ยิ่งเมื่อเทียบกับ คุณทั้งสองติดตามซึ่งกันและกัน สุรี และ มัทนี ก็ยิ่งเห็นได้ชัดถึงความอยู่มือของนักเขียนทั้งสอง แต่แม้จะชอบรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เอามากๆ หากจะมีที่น่าเสียดายอยู่บ้าง ก็อาจเป็นน้ำเสียงในเรื่องสั้นบางเรื่องที่ผมอาจยังไม่ค่อยเชื่อนักว่าเป็นน้ำเสียงของตัวละครนั้นกำลังพูดอยู่จริงๆ ที่เห็นได้ชัดน่าจะเป็นเรื่องกรุงเทพฯ ที่น้ำเสียงของผู้เล่ายังชวนให้จินตนาการถึงวัยรุ่นสมัยนี้อยู่สักหน่อย เมื่อเทียบกับว่าเรื่องราวของมันบอกเล่าผ่านน้ำเสียงของตัวละครที่ผ่านโลกมาพอตัว