เรานับเวลาย้อนกลับไปได้มากแค่ไหนจึงจะเป็นยุคใหม่? เราเรียกโลกห้าพันปีที่แล้วว่าใหม่ได้หรือไม่ หากมันยังคงเป็นความใหม่มากกว่าหมื่นปีที่แล้ว? เรื่องราวชวนให้ขบคิดเล็กน้อย เมื่อเดินชมคอลเล็กชั่นงานเซรามิก โดยคุณดุษฎี ฮันตระกูล ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ในชื่อ ‘A Trail at the End of the World’
เราอาจจะคุ้นเคยว่าพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน จะแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่นับจากหลังช่วงวิกฤต COVID-19 นักท่องเที่ยวอาจไม่สะดวกในการเดินทางไปไหนมาไหนอย่างเคย หากเราลองเข้าไปเยี่ยมบ้านจิม ทอมป์สันอีกครั้งในวันนี้ เราจะได้เจอแต่ความสงบ รมรื่น ลมหนาวที่พัดแรงขึ้นตามฤดูกาล และคอลเล็กชั่นงานเซรามิกที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งและเติมสีสันให้กับสถานที่ได้อย่างลงตัว
เราเลยได้กลับมาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สันอีกครั้ง ในวันที่นักท่องเที่ยวน้อยลง แต่ที่นี่ก็ยังคงความสวยงามตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าได้อย่างเคย
ช่องแสงที่ส่องเข้ามาในส่วนที่เหมาะสมของบ้าน ช่วยยืนยันว่าที่นี่ถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจในทุกส่วน โดยเฉพาะใต้ถุนนี้ที่มีแดดรำไร แต่ลมยังคงพัดแรงจนไม่รู้สึกถึงความร้อน ช่วยให้การยืนชมชมคอลเล็กชั่นงานเซรามิกที่เป็นทั้งของสะสมจากคุณดุษฎี และบางส่วนจากทางบ้านจิม ทอมป์สันเอง ในตู้โชว์ที่เป็นของเก่ายิ่งสร้างความเพลิดเพลินพอๆ กับเรื่องราวในแต่ละชิ้น
การแสดงผลงานในส่วนนี้ เป็นเรื่องที่ชวนให้เราตั้งคำถามถึงอายุขัยของยุคใหม่ แค่ไหนจึงจะใหม่ ความเก่าที่เราเคยชิน มันยังคงเป็นความใหม่ของอะไรที่มันเก่ากว่าอยู่ดี ชิ้นงานเซรามิกในตู้แสดงนี้ จึงมีอายุที่ปะปนกันไป ตั้งแต่ยุคบ้านเชียง ยุคสงครามโลก การหายตัวไปของจิม ทอมป์สัน ไปจนถึงโลกในศตวรรษที่ 20 และทั้งหมดนี้ถูกเชื่อมกันด้วยดิน ที่เป็นวัสดุตั้งต้นของทุกชิ้นที่มาจากโลกใบเดียวกัน จึงเป็นเหมือนเรื่องเล่าจากแต่ละมุมของโลกใบนี้ ที่มาจากต้นทางเดียวกันแม้เวลาต่างกัน
เดินลัดเลาะผ่านสวน ที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการแสดงผลงานนี้เช่นกัน ถ้าสังเกตอาจจะเห็นได้ไว แต่ถ้าเราเพลิดเพลินเกินไป อาจไม่ทันสังเกตว่ามีอะไรตั้งอยู่ตรงนี้หรือเปล่านะ
ผลงานจากสำริดของคุณดุษฎี ถูกตั้งอยู่ในสวนหลายจุด เป็นเหมือนอนุสาวรีย์เล็กๆ ที่ต้องการจะกลมกลืนไปกับที่นี่ ไม่ได้อยากเป็นของชิ้นใหญ่ที่ส่งเสียงดัง ดึงดูดความสนใจ ด้วยความตั้งใจแรกของคุณดุษฎี ที่อยากให้งานของเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้ามาร่วมแสดงในพื้นที่ตรงนี้ จึงไม่ได้มีการขยับของเดิมออกไปมากนัก เพียงแต่หาจุดที่ลงตัวให้กับผลงานเท่านั้น
นอกจากงานศิลปะแล้ว เราจะได้เพลิดเพลินกับระบบนิเวศที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นานาพันธุ์ไม้และแมลงคอยทักทายเราระหว่างทาง
เดินขึ้นมาบนบ้าน ผ่านห้องต่างๆ จนมาถึงห้องรับประทานอาหาร ที่มีผลงานปั้นเซรามิกของคุณดุษฎีคอยต้อนรับอยู่ด้านใน ผลงานชุดนี้ เป็นเหมือนนักดนตรีจากชุมชนบ้านครัว ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นอุตสาหกรรมไหมไทยของจิม ทอมป์สัน คอยขับกล่อม บรรเลงเพลงให้เราได้ฟังเมื่อมีใครก้าวเข้ามาในห้องนี้
แม้ที่นี่จะเป็นบ้านทรงไทย แต่คุณดุษฎีเล่าอย่างติดตลกว่า มันกลับไม่ได้ไทยจ๋าอย่างที่ทุกคนคิด ที่นี่ถูกรีโนเวตให้มีความโมเดิร์นอยู่กลายๆ โดยเฉพาะในส่วนของฟังก์ชั่นการใช้งานของบ้าน ที่ไม่ได้มีแปลนอย่างบ้านทรงไทยอื่นๆ เราเองก็รู้สึกได้ถึงรูปแบบที่ต่างออกไป
นอกจากผลงานศิลปะของคุณดุษฎีแล้ว ที่นี่ยังเต็มไปด้วยของสะสมมากมายนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ภาพวาด ถ้วยชาม ประติมากรรม และรูปแบบอื่นๆ อีกมาก ที่ถูกแสดงในรูปแบบของสะสม บนชั้นวาง บนตู้โชว์ บนผนัง หรือแม้แต่ของใช้บางชิ้นที่วางอยู่ในบ้าน รายละเอียดเล็กน้อยที่ซ่อนอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งในของที่เราไม่ได้หาดูได้ตามบ้านทั่วไป ต่างซ่อนเรื่องราวมากมายไว้เช่นกัน
หากหน้าหนาวนี้ยังไม่มีแพลนไปไหน ลองมาเพลิดเพลินกับสวนอันรมรื่นในกรุงเทพฯ เสพเรื่องราวของงานศิลปะและของสะสม กันได้ที่ พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 มกราคม พ.ศ.2564 ทุกวันตั้งแต่เวลา 11:00 – 19:00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้เยี่ยมชมอายุต่ำกว่า 22 ปี 70 บาท (กรุณาแสดงบัตรประจำตัวประชาชน) และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่เสียค่าเข้าชม
กว่าจะเดินชมครบทุกห้อง เราใช้เวลาไปเกือบสองชั่วโมง และเป็นสองชั่วโมงที่เราไม่รู้จะหาประสบการณ์แบบนี้ได้ที่ไหนในกรุงเทพฯ ได้