คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้นลำบากยากเย็นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกต้องหยุดชะงักและชะลอตัวมากว่า 3 ปี แล้ว
ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น หลายชีวิตก็ได้สัมผัสกับอุปสรรคในหลากหลายรูปแบบและก็มีอีกหลายคนที่จะมีชะตาชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล
สำหรับมนุษย์ทุกคน เราคงมีเป้าหมายในชีวิตไม่ต่างกันคือต่างคนต้องการเสาะแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเองและคนที่เรารัก การตรากตรำทำงานอย่างหนักก็เป็นไปเพื่อที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของเราด้วยเม็ดเงินที่เราเรียกกันว่า ‘รายได้’ หรือ ‘เงินเดือน’ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้หากพูดกันแบบเข้าใจง่ายก็คือกระบวนการ ‘สร้างตัว’ ของคนในวัยทำงานทุกคนนั่นเอง
บ่อยครั้งที่เราพูดถึงการทำมาหากิน เรามักจะได้ยินเรื่องราวความสำเร็จของผู้คนมากมายที่มักจะกล่าวแบบเป็นนัยว่าการสร้างตัวของเขานั้นเริ่มจากศูนย์หรืออย่างคำว่า ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ อย่างไรก็ตามยุคสมัยเปลี่ยนโลกก็เปลี่ยน เทคโนโลยี และ อีกหลายปัจจัยรุมเร้า ทำให้สำหรับคนรุ่นใหม่แล้วอาจจะพูดได้ไม่เต็มปากนักว่าการ ‘สร้างตัว’ ที่เริ่มต้นจากการมีเสื่อผืนหมอนใบจะเป็นไปได้ในยุคสมัยนี้
การสร้างตัวคือการสร้างรายได้ให้มากกว่าพ่อแม่เพื่อ ‘เลื่อนชนชั้นทางสังคม’
กระบวนการ ‘สร้างตัว’ ของคนในวัยทำงานนั้นในยุคสมัยปัจจุบันนั้นก็คือกระบวนการ ‘เลื่อนชนชั้นทางสังคม’ ในวันที่สถานะทางสังคมของมนุษย์ถูกกำหนดโดยเงินตราที่เรามีหรือที่เราสามารถหาได้
เพราะฉะนั้นการสร้างตัวจึงคือการที่คนในวัยทำงานจะต้องมีความสามารถในการสร้างรายได้ให้มากกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ของตัวเองเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนในด้านต่างๆ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่จะสามารถอธิบายได้ดีที่สุด คือการไปดูที่ศักยภาพของ ‘คนรุ่นใหม่’ หรือ คนในวัยที่เพิ่งจะก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานว่าพวกเขานั้นมีศักยภาพมากแค่ไหนในการสร้างรายได้ในมากกว่าพ่อแม่ของเขา
สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะเข้าสู่โลกของการทำงานนั้นก็คือคนใน 2 เจนเนอเรชั่นซึ่งก็คือ คน Gen-Y (เกิดในช่วง ค.ศ. 1981-1996) และ คน Gen-Z (เกิดในช่วงหลังปี ค.ศ. 1996) ซึ่งกลุ่มคน 2 กลุ่มนี้มีอายุอยู่ในช่วงที่เราสามารถเรียกพวกเขาได้ว่า ‘วัยรุ่นสร้างตัว’ นั่นเอง
3 วิกฤตทางเศรษฐกิจในรอบ 20 ปี ที่คนรุ่นใหม่ต้องเจอ
ในหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นช่วงปีที่เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างรวดเร็วจากหลายปัจจัยจนได้ชื่อว่าเป็น ‘ยุคทองของทุนนิยม’ โดยผลวิจัยจากศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ พบว่า ชาวสหรัฐฯที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจะมีโอกาสสูงถึง 90% ที่จะสามารถหารายได้มากกว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจในยุคหลังปี 80 โลกต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่มากถึง 4 ครั้งติดต่อกันภายในระยะเวลา 40 ปี โดยเริ่มจาก วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1997) ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอทคอม (เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2000) ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2007) และวิกฤตโควิด-19 (เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2020)
แน่นอนว่ามรดกที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ครั้งนั้นส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มคนที่เกิดในช่วงเวลานั้นๆ พอดิบพอดี ซึ่งก็คือกลุ่มคน คน Gen-Yและ คน Gen-Z นั่นเอง
อัตรารายได้เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่น้อยกว่ารุ่นพ่อแม่
เมื่อเราได้เห็นแล้วว่าคนทั้ง 2 เจนเนอเรชั่นนั้นต้องประสบพบเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจในทุก ๆ 10 ปี โดยเฉลี่ย โดยเมื่อมองไปที่ปีแรกที่คนกลุ่มนี้เข้าสู่โลกแห่งการทำงานซึ่งก็คือปี ค.ศ.2001 ที่ คน Gen-Y ที่อายุมากที่สุดจะมีอายุครบ 20 ปี พอดี คนกลุ่มนี้ก็จะเจอกับ ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอทคอม และ สำหรับคน Gen-Z ที่อายุมากที่สุดที่จะเข้าสู่วัยทำงานก็คือปี ค.ศ. 2020 ซึ่งก็จะตรงกับวิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พอดี
ต้องยอมรับเลยว่านี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่สร้างตัวได้ยากมากกว่าคนในยุคก่อน ซึ่งก็เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละครั้งที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีรายได้น้อยลงกว่ามากเมื่อเทียบกันกับยุคพ่อแม่หลังจากที่ปรับเทียบอัตราเงินเฟ้อแล้ว
The Washington Post เปิดเผยว่าในสหรัฐฯ วิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่มากที่สุดก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (2007) โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ได้ศึกษาผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ว่า คน Gen-Y และ คน Gen-Z นั้นมีอัตราการสูญเสียรายได้สูงที่สุดกว่าคนเจนอื่นคือที่ 13% เมื่อเทียบกับคน Gen-X ที่ 9% และ Babyboomer ที่ 7% แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือหลังจากที่วิกฤตได้ผ่านพ้นไปแล้ว ผลสำรวจพบว่ารายได้ของคน Gen-X และ Babyboomer นั้น ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องขณะที่ของคน Gen-Yและ คน Gen-Z นั้นยังคงต่ำกว่าอัตราที่ควรจะเป็น
สาเหตุที่รายได้ของคน Gen-Y และ Gen-Z ไม่ฟื้นก็มาจากการที่อัตราว่างงานที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ทำให้คนกลุ่มนี้มักไม่มีทางเลือกมากนักในการประกอบอาชีพทำให้พวกเขาต้องทำงานที่มีรายได้น้อยกว่าเดิม ซึ่งส่งผลต่ออนาคตการทำงานของพวกเขาไปทั้งชีวิตอีกด้วย
ขณะเดียวกันในปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคน Gen-Z ที่ส่วนใหญ่แล้วเพิ่งจะเข้าสู่โลกของการทำงาน การจ้างงานในกลุ่มคนอายุเท่านี้ลดลงเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤต ส่งผลให้พวกเขาเองไม่มีทางเลือกมากนัก และ อาจจะต้องทนทำงานที่รายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นและก็จะส่งผลต่ออนาคตในการหารายได้ของพวกเขาไปตลอดชั่วชีวิตอีกด้วย
‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ในปัจจุบันกลายเป็นความน่ากังวลมากกว่าแรงบันดาลใจ?
จากข้อมูลทั้งหมดที่ว่ามานี้ ทำให้เราได้เห็นว่าการยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองด้วยการสร้างรายได้ให้มากขึ้นกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่เราในปัจจุบันนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เมื่อโลกต้องประสบพบเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตามยังยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทั้งมีผลทางตรงและทางอ้อมต่อการ ‘เลื่อนชั้นทางสังคม’ ของคนกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็น สภาพสังคมที่อยู่ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ หรือ แม้แต่กระทั่งนโยบายภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากต่อการสร้างตัวของคนรุ่นใหม่ ในปัจจุบัน
ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่กับในการที่จะอยู่รอดและเอาชนะระบบเศรษฐกิจในวันที่การแข่งขันสูงขึ้นอยู่ทุกวัน ในวันนี้หากใครบอกว่ามีแค่เสื่อผืนหมอนใบ ก็คงต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ ในการที่จะสร้างตัวให้สำเร็จ
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=T1FdIvLg6i4&ab_channel=TheEconomist
https://www.washingtonpost.com/business/2020/05/27/millennial-recession-covid/
https://kevinrinz.github.io/recession.pdf
https://www.cnbc.com/select/can-gen-z-become-rich-generation/
https://ourworldindata.org/economic-growth
https://www.statista.com/statistics/1031678/gdp-and-real-gdp-united-states-1930-2019/
Illustration by Manita Boonyong