“ข้าพระพุทธเจ้า จักรักษามรดกของพระองค์ท่าน ไว้ด้วยชีวิต”
คือคำกล่าวปฏิญาณตนของนายทหารในกองทัพบก ทั้งผู้บังคับหน่วยระดับกองพัน ผู้บังคับการกรม ผู้บัญชาการกองพล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก และนายทหารระดับสูง รวม 796 คน นำโดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน ช่วงเช้าวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา
วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารชื่อดังระบุว่า คำกล่าวปฏิญาณดังกล่าว พล.อ.อภิรัชต์เป็นผู้เขียนขึ้นเอง มีเนื้อหาดังนี้
“ข้าพเจ้าจักรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า และจะธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของทหาร
“ข้าพเจ้าในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะสนับสนุนรัฐบาลที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความจงรักภักดีและมีธรรมาภิบาล
“ข้าพเจ้าจักดูแลและช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส และจะปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว ด้วยความเมตตาและเป็นธรรม”
บีบีซีไทย ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นครั้งแรกที่ ผบ.ทบ.นำกำลังพลคุมกำลังรบปฏิญาณตน ก่อนการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก วาระพิเศษ ภายหลัง ‘กองทัพ’ อยู่ในพื้นที่ข่าวหลายครั้ง ในช่วงใกล้ก่อนการเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้
คำปฏิญาณที่ พล.อ.อภิรัชต์เขียนขึ้นเองนี้ มีวลีหนึ่งที่น่าสนใจ และหลายๆ คนหยิบไปถ่ายทอดกันต่อ นั่นคือการที่บอกว่าจะสนับสนุนรัฐบาลที่ “มีความจงรักภักดีและมีธรรมาภิบาล”
นับแต่รัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา ในยุคหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ.มาแล้วถึง 4 ครั้ง จาก พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็น พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร, พล.อ.ธีรชัย นาควานิช, พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ก่อนจะมาเป็น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์
ผบ.ทบ.หลายๆ คนจะวางตัวแบบมีระยะห่างกับการเมือง บางคนได้รับเสียงชื่นชมว่า พยายามทำตัวให้เป็นทหารอาชีพ ดูแลงานรักษาความสงบ แต่ พล.อ.อภิรัชต์ มีสไตล์เฉพาะของตัวเอง
The MATTER ลองรวบรวมสิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ บุตรชาย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผู้นำการยึดอำนาจในปี 2534 ทำ นับแต่เข้ารับตำแหน่งสำคัญนี้ในกองทัพ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ของปีก่อน
- ไม่การันตีว่าจะไม่มีรัฐประหาร โดยระบุเพียงว่า ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจล ก็ไม่มีอะไร (17 ต.ค.2561)
- ฟ้องกลับ 2 นักกิจกรรม คือเอกชัย หงส์กังวาน และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ที่ไปยื่นเอาผิดตนฐานกบฎว่าแจ้งความเท็จ (22 ต.ค.2561)
- เตือนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่ให้เลื่อนเลือกตั้งว่า ‘อย่าล้ำเส้น’ (15 ม.ค.2562)
- ปฏิเสธข่าวลือยึดอำนาจ หลังปรากฎภาพรถเกราะวิ่งบนถนน พร้อมกับพูดในที่ประชุมกำลังพลให้สนับสุนนการทำงานของรัฐบาล เพื่อไม่ให้สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำมาเสียของ กลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ (13 ก.พ.2562)
- แนะนำเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ ตอบโต้นโยบายของพรรคการเมืองที่จะปฏิรูปกองทัพ (18 ก.พ.2562
- ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ฐานหมิ่นประมาทตนเองจากการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง (5 มี.ค.2562)
- นำนายทหารระดับสูงกว่า 800 ปฏิญาณตน โดยถ้อยคำช่วงหนึ่งระบุว่า จะสนับสนุนรัฐบาลที่มีความจงรักภักดีและมีธรรมาภิบาล (7 มี.ค.2562)
วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เคยทำงานทำงานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับกองทัพไทย มองว่า คำปฏิญาณตนของ พล.อ.อภิรัชต์ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสถาปนาอำนาจนำของกองทัพเหนือรัฐบาลพลเรือนหลังเลือกตั้ง โดยสื่อเป็นนัยว่าจะไม่ยอมอยู่ใต้รัฐบาลที่ไม่ใช่เนื้อเดียวกับพวกเขา
“นับแต่เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อย จปร. มา พล.อ.อภิรัชต์ก็เคยได้อยู่ในช่วงที่กองทัพมีความรุ่งโรจน์ มีส่วนเข้ามาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ การยึดอำนาจของ รสช. ที่นำโดยบิดาตัวเอง ไปจนถึงการยึดอำนาจในปี 2549 และปี 2557 จึงอาจทำให้เห็นว่า กองทัพน่าจะแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองได้ดีกว่านักการเมือง ผู้ที่คุมชะตากรรมของประเทศควรจะเป็นทหารไม่ใช่นักการเมือง”
ขณะที่ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การที่ ผบ.ทบ.ต้องออกมาแสดงบทบาทเช่นนี้ สะท้อนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีเดิมพันสูง เพราะถือเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่เหล่า traditional elite หรือชนชั้นนำเดิม ต้องการรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้
“ในระยะยาว เขารู้ว่ามันยากที่จะครองอำนาจแบบเดิม เพราะสังคมเปลี่ยนไป มีคนรุ่นใหม่ๆ และการเลือกตั้งก็ไม่ใช่อะไรที่เขาควบคุมได้”
ประจักษ์ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวแทนของชนชั้นนำฝั่งนี้ หากแพ้ก็ถือว่ากองทัพแพ้ไปด้วย จึงต้องออกมาแสดงท่าทีเชิงสัญญะ (symbolic) เช่นนี้