ถูกประเมินว่าจะเป็นพรรคขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก นักวิชาการบางคนเคยวิเคราะห์ว่า ต่อให้กระแสดีแค่ไหน ก็น่าจะได้ ส.ส.ไม่กี่คน (“ได้ 10 คนก็ฉลองแล้ว”) ยากจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
จึงน่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน ว่าเหตุใด ‘พรรคอนาคตใหม่’ (อนค.) ถึงได้กลายเป็นเป้าโจมตีของบางฝ่าย อย่างต่อเนื่องและยาวนาน แทบจะตลอดทั้งเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
..บ้างงัดสารพัดข้อกล่าวหาในอดีต กลับมารีรันอีกครั้ง
..บ้างก็ว่า กระแส #ฟ้ารักพ่อ เพราะวัยรุ่นเลือกคนจากหน้าตา
..บ้างก็ว่า คนกลุ่มนี้เป็นแค่ ‘เสื้อแดงรุ่นใหม่’ เท่านั้นแหล่ะ
แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า สำหรับ อนค. กลับไม่ใช่วาทกรรมหรือข้อกล่าวหาออนไลน์เหล่านั้น ทว่าเป็นสารพัดคดีความจริงๆ ที่มุ่งกระทำต่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และกับตัวพรรคเอง
ที่ปลายทางอาจนำไปสู่การคุมขังบุคคลสำคัญ ตัดสิทธิทางการเมือง หรือกระทั่งยุบพรรค!
1 ขวบ อนาคตใหม่ กับสารพัดปัญหาภายใน
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจหนุ่มจากเครือไทยซัมมิต วัย 40 ปี เปิดตัวว่าจะลงเล่นการเมืองในรอบนี้ ผ่านการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ของปีก่อน กระทั่งภรรยาของเขาเอง ก็เพิ่งรู้การตัดสินใจของเขา ผ่านการดูบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
จุดเริ่มต้นการจัดทำพรรคการเมืองของเจ้าของฉายา ‘ไพร่หมื่นล้าน’ (ฉายานี้ตั้งโดยมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี 2553) เกิดจากผู้ร่วมก่อการ 3 คน คือตัวธนาธรเอง, ปิยบุตร แสงกนกกุล และเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งขอไม่ออกนาม
15 มี.ค.2561 ธนาธรและปิยบุตรเดินทางไปยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคกับ กกต. พร้อมเปิดชื่อ ‘อนาคตใหม่’ หรือ Future Forward Party โดยใช้ชื่อย่อว่า อนค. โดยเลือกใช้สีส้มเป็นสีประจำพรรค
การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ จึงอาจถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งในปีเกิดของพรรคน้องใหม่นี้ และอาจถือเป็นสนามสอบแรกของ พรรคการเมืองนี้ ว่าจะเป็นแค่ ‘พรรคเฉพาะกิจ’ ที่ตั้งขึ้นมาเป็นเอาคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ หรือจะสามารถเดินต่อไปได้ จนกลายเป็น ‘พรรคทางหลัก’ อย่างที่ธนาธรเคยประกาศเอาไว้
ท่ามกลางสารพัดปัญหาความวุ่นวายภายใน ตั้งผู้ร่วมก่อตั้งบางส่วนลาออก ปัญหาการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ผู้เคยสนับสนุนบางรายถอยหนี ฯลฯ หรือเอาพูดได้ว่า 365 ที่ผ่านมา อนค. แสดงสารพัดจุดอ่อนออกมาให้สาธารณชนได้เห็น
จนคะแนนนิยมของธนาธร ที่นิด้าโพลสำรวจทุกๆ 2 เดือน ลดลงจากเคยสูงสุด 14% เหลือเพียง 5-6% เท่านั้น
#ฟ้ารักพ่อ ชายผู้มากับกระแส
ตอนที่ อนค. เปิดตัว พร้อมกับถูกพูดถึงอย่างคึกคัก ผู้มีอำนาจก็เคยนำชนักหนึ่งมาปักหลังไว้ ด้วยข้อหาว่า “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ” มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14(2) จากการจัดรายการคืนวันศุกร์ให้ประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ผ่านทางเพจอนาคตใหม่ – The Future We Want และเพจ Thanathorn Juangroongruangkit ในคืนวันที่ 29 มิ.ย.2561 โดยพูดถึงการดึงอดีต ส.ส.เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า “พลังดูด” ในขณะนั้น
โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ให้เอาผิด ธนาธร, ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับสูงสุด 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ – ซึ่งทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา
ก่อนที่คดีนี้จะค่อยๆ เงียบหายไป พร้อมกับความวุ่นวายภายใน อนค.เอง
กระทั่งชื่อธนาธร กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังเหตุการณ์ ‘แผ่นดินไหว’ ทางการเมือง เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ทำให้คนทั่วๆ ไป เริ่มหันมาสนใจและสนทนาเรื่องการเลือกตั้ง และหลังจากเขาไปปรากฎตัวในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งรูปที่เขาจับมือกับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อีกหนึ่งเน็ตไอดอลจากพรรคเพื่อไทย ถูกนำไปล้อกลายเป็น meme หลากหลายรูปแบบ
พร้อมกับกระแส #ฟ้ารักพ่อ ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ในทวิตเตอร์ (ประโยคฮิตจากละครเรื่องดอกส้มสีทอง ที่นางเอกใช้บอกรักพระเอกที่มีอายุมากกว่า) กลายเป็นกระแสฮิต ธนาธรและ อนค. รอบที่ 2 ขึ้น
โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18-25 ปี ที่เพิ่งจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก และเพิ่งหันมาสนใจการเลือกตั้ง
..ว่าแต่ พ่อของฟ้าจะไปถึงคูหาไหม?
และท่ามกลางกระแสนิยมที่ถูกจุดติดอีกครั้ง ก็มีจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค. ออกมาระบุว่า ตำรวจ ปอท.จะนำสำนวนคดีผิด พ.ร.บ.คอมฯ ส่งอัยการให้ยื่นฟ้องต่อศาล ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ – ซึ่งตรงกับวันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ
เดิมพันสำหรับธนาธรในคดีนี้ก็คือ ขั้นตอนระหว่างตำรวจ ปอท. ส่งสำนวนฟ้องอัยการ และอัยการส่งฟ้องศาล จะมีการขอให้ ‘ฝากขัง’ เขากับพวกหรือไม่ จนเกิดแฮชแท็ก #savethanathorn ขึ้นมาอีกรอบ
แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 98 จะไม่ได้กำหนดให้ตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. กรณีที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณาคดี (จะตัดสิทธิเฉพาะกรณีมีคำพิพากษาให้จำคุกแล้ว และถูกคุมขัง)
แต่หากแกนนำ อนค. ทั้ง 3 คนสิ้นอิสรภาพ จะส่งผลกระทบต่อการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายแน่นอน
ไม่รวมถึงเกิดกรณีล่าสุด ที่ลงประวัติธนาธรในเว็บไซต์พรรคผิด ว่าเคยเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปยื่นคำร้องขอให้ กกต. พิจารณายุบ อนค.แล้ว ซึ่งถ้ายังจำกันได้ ก็เป็นศรีสุวรรณคนเดียวกัน ที่ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ และ กกต.มีมติให้ยุบพรรคดังกล่าวอย่างรวดเร็วใน 48 ชั่วโมงเท่านั้น
และก็เริ่มมีคนสะกิด ให้จับตาการแจกใบส้ม (ตัดสิทธิรับสมัคร ส.ส. 1 ปี) ของ กกต.
แม้การตั้งประเด็นว่า อนค. หรือธนาธรกับพวก อาจไปไม่ถึงคูหาเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ อาจดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายสุดๆ ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องยังประกาศพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งใน 77 จังหวัด 350 เขตอยู่เลย
แต่ในสถานการณ์ประเทศเช่นนั้น อะไรที่ไม่เคยเกิด ก็อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อฝ่ายหนึ่งมีเดิมพันว่าจะแพ้ไม่ได้ ถึงขั้นวางกลไกต่างๆ ให้ตัวเองได้เปรียบไว้ล่วงหน้า อะไรๆ ก็เลยดูจะไม่ปกติธรรมดาไปเสียทุกอย่าง
น่าจับตาอนาคตของพรรคน้องใหม่อายุใกล้ 1 ขวบ ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน บนเส้นทางการเมืองอันคดเคี้ยวและโหดร้ายนี้
– ที่มาภาพปก: AFP