เวลาเรา – โดยเฉพาะหนุ่มๆ – เดินไปเห็นคนเล่นเกมต่อสู้กันอย่างมีฝีมือ หรือเมื่อไม่นานนี้ที่เราเห็นคนต่อยกันจริงๆ การต่อยตีกันนั้นกลับสร้างสังคมเล็กๆ และดึงคนแปลกหน้าให้มีปฏิสัมพันธ์กันขึ้นมา ตรงนี้เองคงเป็นเหตุผลที่เกมที่ดูแสนง่าย เอาคนมาต่อยกันถึงยังได้รับความนิยมอย่างไม่รู้จบ
พอเราอยู่ในโลกสมัยใหม่ ดินแดนศิวิไลซ์ เราก็รู้แหละว่าการใช้กำลังต่อยตีกันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่พอมีคลิปหรือเห็นคนต่อยกัน เรา – โดยเฉพาะเหล่าชายหนุ่มทั้งหลาย – ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกออกรสออกชาติไปกับการออกอาวุธและฟุตเวิร์กสุดเท่เหล่านั้น
แม้จะพ้นจากยุคสมัยแห่งหยาดเหงื่อและกำปั้นเพื่อพิสูจน์ตนมาแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าการต่อยตีและพลังของกำปั้นจะยังคงอยู่ในสายเลือดของเรา นับตั้งแต่ปี 1990 เมื่อโลกรู้จัก Street Fighter II เกมประเภทต่อสู้ (fighting game) พวกเราก็มีช่องทางที่จะได้สาดหมัด แสดงฝีมือ และสานไมตรีต่อกันในรูปแบบเสมือนจริง ความนิยมของสตรีทไฟต์เตอร์ทำให้เกิดวัฒนธรรมเกมต่อสู้และตู้เกม ส่งผ่านมาจนถึงการเล่นเกมต่อสู้ในระบบออนไลน์ ทุกวันนี้ เกมต่อสู้หลายเกมได้รับการสถาปนาเป็นแฟรนไชส์อมตะ ขึ้นสถิตบนหิ้งและได้รับการนำกลับมาสร้างแล้วสร้างอีกให้เราได้ต่อยกันอย่างไม่มีวันเบื่อ ทั้ง Street Fighter, Tekken, SoulCalibur, King of Fighter เรื่อยมาจนถึง Dragon Ball ที่กำลังจะเปิดให้เล่นเร็วๆ นี้
การต่อสู้และการชมเชียร์การต่อสู้นับตั้งแต่การต่อสู้ในสังเวียน มาจนถึงการแสดงฝีไม้ลายมือผ่านจอยและตู้เกม พร้อมกับเสียงเชียร์จากคนรอบข้าง ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและการสร้างสังคมของเด็กหนุ่มที่ยังคงอยู่เรื่อยมาจนถึงยุคดิจิทัล
ร่ายกายที่หายไปในโลกสมัยใหม่
ถ้าเราเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการ สิ่งสำคัญหนึ่งของชีวิตพวกเราคือการพิสูจน์ตน โดยเฉพาะการพิสูจน์ในการหาคู่ครอง สิ่งมีชีวิตเพศผู้มักต่อสู้กันเพื่อเป็นอันดับหนึ่ง เป็นจ่าฝูงเพื่อให้ได้รับการยอมรับและได้คู่ครองเพื่อส่งต่อทายาทรุ่นต่อไป ในสมัยก่อนมนุษย์เราก็ดูจะวัดฝีมือกันด้วยการสู้รบ เอาชนะกันด้วยหยาดเหงื่อและการฆ่าฟัน จนกระทั่งเราเริ่มวิวัฒน์และพัฒนามาสู่การมีวัฒนธรรม มีอารยธรรม แต่ก็ดูเหมือนว่าความรุนแรงและความชมชอบในการฟาดฟันกันจะไม่ได้หายไปไหน แต่เราค่อยๆ เปลี่ยนความรุนแรงและใช้ช่องทางของวัฒนธรรมอื่นๆ ในการส่งผ่านความรุนแรง รวมถึงเพศทั้งหลายก็ยังคงใช้ความรุนแรงนั้นในมิติอื่นๆ อยู่ เช่น กีฬา ศิลปะการต่อสู้ มาจนถึงเกมต่อสู้
ถ้าเราไม่ได้มองว่าความรุนแรงคือเรื่องต้องห้าม ต้องปฏิเสธ เราจะเห็นว่าในอารยธรรมและวัฒนธรรมของเราต่างมีช่องทางให้เราได้ ‘บันเทิง’ โดยมีความรุนแรงประกอบอยู่เสมอ เรามีวัฒนธรรมการชมการต่อสู้ไม่ว่าในสนามประลองทั้งของคนและสัตว์ ไปจนถึงการชมศิลปะการต่อสู้ กลุ่มการต่อสู้ใต้ดินอย่างไฟต์คลับ มาจนถึงการพัฒนาเกมแนวไฟต์ติ้งที่ค่อยๆ กลายมาเป็นกีฬาสำหรับนักแข่งอาชีพ มีสมาคม (Fighting game community) กฏระเบียบ เทคนิคและการฝึกฝนอย่างจริงจัง
ยิ่งเราอยู่ในยุคที่ ‘ร่างกายหายไป’ (disembody) คือเราอยู่ในห้วงสมัยที่วิถีชีวิตของเราใช้ร่างกายน้อยลงทุกวัน เราทำงานนั่งโต๊ะ ขับรถ และนั่งๆ นอนๆ ดูทีวี จริงๆ เราทุกคนต่างปรารถนาที่จะขยับตัวและออกไปฟาดฟัน และหนุ่มๆ เองก็ยังคงชมชอบที่พิสูจน์ตัวเองว่ามีฝีไม้ลายมือเหนือชายอื่นอยู่ในที ตรงนี้เองที่เมื่อเรามีการวางแนวเกมแบบไฟต์ติ้งขึ้นมา จึงเป็นช่องทางและความนิยมที่มาตอบสนองความปรารถนาลึกๆ ที่ยังอยู่คุกรุ่นอยู่ในสายเลือดเราอยู่
วัฒนธรรมตู้เกมและชุมชนของการเชียร์มวย
จริงอยู่ว่า Street Fighter II: The World Warrior ไม่ใช่เกมแนวต่อสู้เกมแรก ก่อนหน้านี้เครื่อง Sega เคยมีเกมชื่อ Heavyweight Champ เป็นเกมแนวต่อยกันวางขายในปี 1967 ในขณะที่ในปี 1979 มีเกมชื่อ Warrior เป็นเกมแนวดวลดาบ แต่สตรีทไฟต์เตอร์เป็นเกมแรกที่สร้างความนิยมแบบถล่มทลายไปทั่วโลก ในยุคนั้นก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เราไปยืนเล่นเกมตู้ ซึ่งเราไม่ได้ไปเล่นเพื่อสนุกกับตัวเอง หรือต่อยกับเพื่อนเท่านั้น แต่เรายังไปเพื่อไปยืนดูคนอื่นเล่น และบางครั้งก็เล่นกับคนอื่นที่เราไม่รู้จักด้วย
การเล่นเกมต่อสู้จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนในตัวเอง ทั้งในแง่ของระบบการเล่นที่ต้องอาศัยการควบคุม การออกอาวุธ และทำคอมโบใช้ท่าการต่อสู้ต่างๆ อย่างมีชั้นเชิง ทั้งในการเล่นเกมนั้นยังมีความเป็นคอมมูนิตี้ มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่ตู้เกม เป็นรูปแบบและพื้นที่ของความบันเทิงที่ผู้คนไปรวมตัวกันเพื่อแสดงฝีมือและชมฝีมือของคนอื่น Todd Harper นักวิชาการเจ้าของ The Culture of Digital Fighting Games: Performance and Practice งานศึกษาที่ลงไปเจาะลึกเกมต่อสู้เรียกวัฒนธรรมนี้ว่า Arcade Culture
นั่นสินะ การไปเล่นเกม ดูจะเป็นแค่เรื่องของเด็ก แต่จริงๆ ทุกวันนี้การเป็นเล่นเกมเป็นมากกว่านั้น กิจกรรมเกมเป็นสันทนาการ และการเป็นสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนสมัยใหม่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยี ความสนุกของการเล่นเกมต่อสู้หลักๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่การเอาชนะและเล่นจบเนื้อเรื่องเพียงอย่างเดียว แต่ความสนุกอยู่ที่การได้เล่นกับเพื่อน หรือมากกว่านั้นคือการได้เล่นกับคนอื่น ในยุคหลัง ฟีเจอร์สำคัญของเกมต่อสู้คือระบบออนไลน์ ด้วยพลังของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้เราสามารถสร้างคอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงนักสู้ทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน
เกมของจิตใจ ศิลปะของเกมต่อสู้ไม่ได้อยู่แค่กำปั้น แต่คือสมอง
เกมต่อสู้ – จริงๆ การต่อสู้ในโลกแห่งความจริงเป็นเรื่องของเทคนิคประกอบกับการอ่านและควบคุมจิตใจฝ่ายตรงข้าม ฟังดูแล้วเหมือนโขกออกมาจากหนังจีนที่ว่า ทุกการต่อสู้อยู่ที่ความนิ่งและสติปัญญา ยิ่งเกมต่อสู้ มันคือการที่เราควบคุมตัวละครและออกอาวุธในรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสมทั้งการ โจมตีระยะไกล ใกล้ หนัก เบา การป้องกัน การหลอกล่อ และโต้กลับ การที่เราจะเป็นผู้ชนะของเกมต่อสู้ได้นั้น ดูจะเป็นเรื่องของการใช้ความคิด ทั้งในการอ่านใจฝ่ายตรงข้ามและวางอาวุธเพื่อรับมืออย่างแยบคาย
นักเล่นเกมแนวต่อสู้ระดับสูงพูดถึงกลเม็ดสำคัญในเกมต่อสู้ว่าเป็นเรื่องทางจิตวิทยาและการเล่นกับธรรมชาติของมนุษย์ หลักการเล่นเกมต่อสู้ในผู้เล่นเลเวลสูงๆ อยู่ที่การบงการคู่ต่อสู้ด้วยกลยุทธ์การล่อ (baiting) และสร้างเงื่อนไข (conditioning)
ในระดับเบื้องต้นเราอาจใช้เทคนิคแบบพื้นฐาน เช่น ถ้าเราเล่นแบบรุก เราอาจจะใช้ท่าระยะไกลอย่างการปล่อยลูกไฟนำไปก่อน แล้วค่อยเข้าประชิดตัวคู่ต่อสู้ แต่จริงๆ การวางรูปแบบการต่อสู้หรือกลยุทธ์ใดก็ตามคือเราต้องมองให้ข้ามช็อตไปอีกขั้น
การวางเงื่อนไขคือการเล่นกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ฝ่ายตรงข้ามจะเริ่มเรียนรู้ จดจำ และคาดเดาการกระทำครั้งต่อไป ดังนั้นสิ่งที่ผู้เล่นระดับล่างและกลางทำคือการ ‘ตอบโต้’ (react) กับสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามโจมตีมา แต่ในทางกลับกันสิ่งที่ผู้เล่นระดับสูงทำ คือการสร้างเงื่อนไขให้อีกฝ่ายเล่นตามเกม โปรเพลเยอร์บอกว่าพูดแบบนี้ฟังดูง่าย แต่จริงๆ การจะเทพในเกมต่อสู้จำเป็นต้องใช้ทั้งความทรงจำและไหวพริบในระดับสูงในการจดจำ อ่านเกม และควบคุมฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเหมาะสม
จากเกมต่อสู้ที่ถ้าใครเล่นก็พอจะเข้าใจว่า ไม่ใช่แค่การสาดหมัดใส่กันแต่คือการสู้กันด้วยความคิดและกลยุทธ์ต่างๆ ประกอบกับการตอบสนองของสายเลือดนักสู้ที่อยู่ในตัวของพวกเรา จึงไม่แปลกที่เกมต่อสู้จะยังคงอยู่คู่กับเรามานับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จนกระทั่งปี 2017 ที่เกมระดับตำนานถูกนำกลับมาเล่าใหม่
…ว่าแล้ว วันนี้ก็ลองไปฝึกปรือฝีมือเตรียมกับรับเกมต่อสู้ที่กำลังจะเดินหน้าวางแผงกันเร็วๆ นี้กัน
อ้างอิงข้อมูลจาก