“ฮาโดเคน” “โชริวเคน”
คำที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินเวลาเดินผ่าน ‘ตู้เกม’ ตามห้างสรรพสินค้า หรือถ้าใครเป็นคนเล่นเกมอาเขตอยู่แล้วก็จะคุ้นเคยกันดีว่านี่เป็นเสียงพูดก่อนที่ตัวละครหลักจากเกม Street Fighter จะปล่อยท่าทางใส่ศัตรู ผ่านมาแล้ว 30 ปี Street Fighter ยังเป็นเกมต่อสู้ที่ให้เราดวลกับคนอื่นได้ไม่รู้เบื่อ
ข้ามมา ณ ปัจจุบัน เกมภาคล่าสุดอย่าง Street Fighter V ยังคงได้รับความนิยมจากผู้เล่นทั่วโลก แถมตอนนี้สามารถดวลกันผ่านระบบออนไลน์ การวัดฝีมือจึงไม่ได้จบอยู่แค่ตามร้านเกมแต่เป็นการแข่งขันกับคนทั่วโลกแทน พร้อมกับตัวละครที่มีเลือกใช้ 32 ตัว (และจะมีเพิ่มเข้ามาอีกเรื่อยๆ)
แล้วหนทางของเกมนักสู้ข้างถนนเริ่มที่ตรงไหน ทำไมหลายคนถึงรู้จัก Street Fighter II มากกว่าภาคแรก และตอนนี้ตัวเกมไปถึงไหนแล้ว The MATTER ถือโอกาสในปีนี้ที่ตัวเกมมีอายุอานามครบรอบ 30ปี เล่าเรื่องราวของหนึ่งในเกมต่อสู้ที่มีชื่อมากที่สุดในโลกอย่าง Street Fighter
กว่าจะได้เป็นนักสู้ข้างถนน
ก่อนที่จะมาเป็นเกมภาคสองที่โด่งดังไปทั่วโลก Street Fighter ก็มีก้าวแรกที่หลายคนจำไม่ได้มาก่อน ต้องย้อนไปเมื่อช่วงปลายของทศวรรษ 1980s ณ ตอนนั้น CAPCOM เพิ่งปรับบริษัทมาเป็นผู้ผลิตเกมแทนที่จะผลิตฮาร์ดแวร์มาได้ราวๆ 4 ปี และได้เปิดรับพนักงานเข้ามาหลายคนเพื่อผลิตเกมแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ในช่วงเดียวกับที่บริษัทพัฒนาเกมอื่นๆ เริ่มสร้างเกมแนวต่อสู้ขึ้นมาอย่าง Karate Champ/Karate Do ของ Technos Japan หรือเกม Yie Ar Kung-Fu ของทาง Konami ทางทีมพัฒนาเกมจึงจัดทำเกมต่อสู้เกาะตามกระแส โดยผสมแรงบันดาลใจเพิ่มเติมมาจากการ์ตูนดังในยุค 1970s อย่าง Karate Baka Ichidai มารวมกับชื่อหนังของ ซอนนี ชิบะ และนั่นก็ทำให้คอนเซ็ปต์ของ Street Figther ภาคแรกกำเนิดขึ้น และตัวเกมได้ถูกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการใน ปี 1987
ตัวเกมภาคแรก ผู้เล่นสามารถเล่นเป็นตัวละครได้แค่สองตัว นั่นคือ Ryu ที่เป็นตัวละครหลักสำหรับคนที่เล่นจอยหนึ่ง และ Ken ตัวละครสำหรับคนที่มาหยอดเหรียญตามทีหลัง ซึ่งความจริงตัวละครสองตัวนี้ก็เล่นเหมือนกัน ต่างกันแค่สีชุดกับสีผมคนละสีเท่านั้น ส่วนตัวละครอื่นๆ นั้นไม่สามารถเลือกเล่นได้ และเมื่อมีคนหยอดเหรียญจอยหนึ่งและจอยสองแล้ว Ryu กับ Ken ต้องดวลกันจนจบก่อน แล้วค่อยไปท้าชิงกับตัวละครอื่นๆ ต่อไป
ณ ตอนที่เกมวางจำหน่าย ตัวเกมไม่ได้ระบุอะไรมากนอกจากว่าเป็นเกมต่อสู้ธรรมดา แต่ถ้ามีคนกดปุ่มทิศทางได้ถูกต้อง ก็จะสามารถใช้ท่าไม้ตายอย่าง ‘ฮาโดเคน’ ที่เป็นการปล่อยลูกพลัง ‘โชริวเคน’ ที่เป็นหมัดเสย และ ‘ทัตสึมากิ เซ็นปุเคียกขุ’ ซึ่งเป็นท่าเตะหมุนตัว ทั้งสามท่าล้วนกดได้ค่อนข้างยาก ด้วยความที่การควบคุมของเกม Street Fighter ยังไม่ละเอียดมากพอ แถมตอนเกมออกมาก็ไม่ได้มีการสอนวิธีกดท่าไว้แบบเกมภาคหลังๆ ด้วย
ส่วนเนื้อเรื่องของ Street Fighter ภาคแรก ก็บอกเล่ากันตรงๆ ว่าเป็นการเดินทางของ Ryu นักคาราเต้หนุ่มผู้เดินทางออกไปท้าทายผู้ใช้วิชาศิลปะป้องกันตัวจากทั่วโลก โดยศึกสุดท้ายที่รอเขาอยู่ก็คือราชันย์แห่งมวยไทยอย่าง Sagat (สกัด หรือ สงัด) ซึ่้งสุดท้าย Ryu ก็สามารถเอาชนะไปได้ด้วยท่าไม้ตายของเขาอย่าง ‘โชริวเคน’ ถือว่าเป็นพล็อตที่เข้าใจไม่ยากตามยุคสมัยแต่ก็กลายเป็นแกนเรื่องหลักที่ภายหลังมีการเอาตัวละครจากภาคแรกกลับมาใช้งาน อย่าง Birdie, Gen, Eagle, Adon และ Sagat ที่กลายเป็นตัวละครหลักของเกมมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการควบคุมยังไม่ค่อยลื่นไหล ความนิยมจึงไม่ดีมากนัก แต่ก็มีความโดดเด่นของตู้เกมที่ถูกออกแบบมาสองชนิด คือตู้กดแบบต่อยและเตะ เบา-กลาง-หนัก อย่างละสามปุ่มรวมกันเป็นหกปุ่ม แบบที่ใช้กันจนคุ้นเคยมาถึงปัจจุบัน กับตู้เกมแบบมีปุ่มต่อยกับเตะอย่างละปุ่ม แต่ตัวละครจะต่อยหนักต่อยเบานั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นทุบปุ่มต่อยเตะแรงขนาดไหน แม้จะมีคอนเซ็ปต์น่าสนใจแต่บุคลากรภายใน CAPCOM บอกว่าตู้แบบหลังนั้นถูกเก็บไปในเวลาไม่นานนักเพราะมีคนทุบปุ่มจนเลือดอาบ เหลือไว้เพียงแค่ตู้กดแบบหกปุ่มในตลาด
เกมตู้ของ Street Fighter ภาคแรกแทบจะหาตัวไม่เจอในประเทศไทย คาดว่าเพราะตัวตู้เวอร์ชั่นทุบปุ่มน่าจะแพงเกินกว่าจะมีคนจะหิ้วมาตั้งในไทย และเหมือนว่านักเล่นเกมชาวไทยหลายคนจะมีโอกาสได้เล่นเกมนี้เมื่อครั้งที่เกมถูกพอร์ตลงบนเครื่องคอนโซล PC Engine / TuroGrafx-16 แต่เกมไปใช้ชื่อ Fighting Street แทน ทำให้การถูกจดจำของเกมภาคแรกนี้เลือนรางอย่างแรงในแดนขวานทองบ้านเรา
ต่อสู้รอบสุดท้าย ก่อนจะไปถึงภาคสอง
ด้วยความที่ว่าความนิยมของเกม Street Fighter ไม่ได้ดีเด่ แต่ก็ไม่เลวร้ายมากพอให้ CAPCOM ขุดหลุมฝังกลบเกมต่อสู้เกมนี้ไปเสียทีเดียว เพราะพวกเขายังสั่งการให้ทำเกมภาคต่อ แต่ทีมงานพัฒนาเกมไม่สามารถทำภาคต่อแบบทันทีทันควัน ซึ่งเหตุผลทำนั้นก็มีมาหลายทาง ที่ยืนยันได้ก็คือผู้กำกับของเกมภาคแรกอย่าง นิชิยามะ ทาคาชิ กับดีไซเนอร์ มัตสึโมโตะ ฮิโรชิ ได้ลาออกจาก CAPCOM แล้วไปทำงานต่อที่ SNK ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งในการสร้างเกมตู้แนวต่อสู้กับ CAPCOM ในช่วงปี 1990s
ส่วน โอคาโมโตะ โยชิกิ โปรดิวเซอร์ของเกม Street Fighter II เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งแต่ก็พูดไม่สอดคล้องกัน ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวว่า ไม่สามารถทำภาคต่อได้ทันทีเพราะคอนเซ็ปต์เกมตอนนั้นล้ำหน้าเกินเทคโนโลยี แต่ก็มีอีกหลายครั้งที่เขาสัมภาษณ์สอดคล้องกันกับ นิชิทานิ อากิระ ดีไซเนอร์ของ Street Fighter II ว่า ทาง CAPCOM ในฝั่งอเมริกาอยากจะให้ทำภาคต่อทันที แต่พอดีว่าทีมพัฒนาเกมชุดนี้ไม่ค่อยทำตามคำสั่ง (อ้าว!) กอปรกับเกมแนวเดินต่อสู้ตามอย่าง Double Dragon ของทาง Technos Japan ได้รับความนิยมอย่างสูง พวกเขาเลยพัฒนาเกมใหม่ไปเป็นเกมแนวเดียวกัน แล้วตั้งชื่อชั่วคราวไว้ว่า Street Fight’89 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Final Fight ซึ่งก็มีเรื่องเล่าหลายทิศว่า เปลี่ยนชื่อเพราะเกมไม่ใกล้เคียง Street Fighter เลย ไม่ก็เพราะเหตุผลว่าชื่อเกม Street Fighter ในตอนนั้นยังไม่เป็นที่นิยมพอ จึงปรับเกมเป็นชื่ออื่นแทนเพื่อความปลอดภัย
อาจจะเพราะเหตุผลต่างๆ ข้างต้น ทำให้ Street Fighter กับ Final Fight มีเนื้อเรื่องอยู่ในจักรวาลเดียวกัน และตัวละครหลายๆ ตัวของฝั่ง Final Fight จึงได้ไปปรากฎตัวในเกม Street Figther ภาคหลังๆ อาทิ Guy, Sodom, Rolento, Cody, Poison, Hugo และ Abigail
Final Fight ได้รับความนิยมอย่างมากจนทำให้มีโอกาสได้ออกภาคต่อ ทีมพัฒนาเกมก็ตัดสินใจว่านี่น่าจะเป็นเวลาที่พวกเขาควรจะกลับไปทำเกมภาคต่อของ Street Fighter แล้ว
เกมภาคต่อที่เปลี่ยนมุมมองของคนทั้งโลก
หลังจากการพัฒนา Final Fight จบลง การพัฒนา Street Fighter II ก็เริ่มต้นขึ้น โดยยังเก็บคอนเซ็ปต์หลักของเกมที่เป็นการต่อสู้ระหว่างนักสู้จากทั่วโลกที่ใช้ศิลปะการต่อสู้แตกต่างกันเอาไว้ และเอาสิ่งที่คนชื่นชอบอย่างระบบปุ่มต่อย-เตะหกปุ่มที่เข้าใจได้ง่าย เพิ่มเติมด้วยไอเดียการให้ผู้เล่นสองคนแข่งขันกันเองได้ง่ายดายขึ้น หลังจากที่เกมภาคแรก ผู้เล่นสามารถสู้กันเองได้แค่ครั้งเดียว รวมกับความคิดที่ว่าเกมตู้ยุคนั้นราคาแพงเอาเรื่องและเกมอื่นๆ ส่วนใหญ่ในยุคนั้นจะเปิดให้ผู้เล่นหลายคนช่วยเหลือกัน ทีมพัฒนาเกมเชื่อว่าการให้ผู้เล่นมีโอกาสสู้กันเองจะทำให้มีความเคืองใจในการจ่ายเงินน้อยลง และทำให้การสร้างเกมตั้งต้นด้วยไอเดียนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น อีกสิ่งที่ถูกปรับปรุงจากเกมภาคแรกก็คือ ระบบการปล่อยพลังพิเศษ ซึ่งในภาคต่อถูกปรับปรุงให้กดได้ง่ายดายขึ้น ทั้งยังเพิ่มเติมวิธีการกดตามจำนวนตัวละครที่เพิ่มมากขึ้น
กล่าวกันว่าทีมงานใช้เวลาพัฒนาเกมนี้ราว 2 ปี และสุดท้ายก็ออกปล่อยเกมตู้เกมนี้แบบเป็นทางการทั่วโลกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1991 ตัวเกมเปิดให้ผู้เล่นได้มีโอกาสเลือกตัวละคร 8 ตัว และมีตัวละครบอสที่ถูกเรียกว่า ‘จตุรเทพ’ ซึ่งผู้เล่นควบคุมไม่ได้อีก 4 ตัว เรียกได้ว่าเกมภาคใหม่นี้มีตัวละครใหม่ถึง 9 ตัว โดยมี Ryu, Ken กับ Sagat กลับมาจากภาคแรกและใช้ตัวละครทั้งสามตัวนี้ในการเล่าเรื่องต่อยอดในภาคสอง
ในกลุ่มตัวละครที่มาใหม่ ทุกตัวถือว่าเป็นตัวละครที่สำคัญต่อหน้าประวัติศาสตร์วงการเกม แต่ถ้าระบุว่าใครมีความโดดเด่นที่สุดในกลุ่มตัวละครเหล่านี้ก็ต้องยกให้ Chun-Li ตัวละครนักสู้หญิงชาวจีนที่ถือว่าเป็นผู้หญิงคนแรกในเกมแนวต่อสู้ เธอชำนาญเพลงเตะ และเล่นได้ไม่ยาก จึงทำให้เธอได้รับความนิยมนับตั้งแต่บัดนั้น ส่วนตัวละครอื่นๆ โดยรวมแล้วก็จะเป็นการนำเอาจุดเด่นของคนในแต่ละชาติมาปนกับความเหนือจริงเล็กน้อยเพื่อให้ตัวละครมีท่าไม้ตายที่น่าสนใจออกมา อาทิ Guile (ไกล์ หรือที่บ้านเราติดปากว่า กิล) ทหารอากาศจากสหรัฐอเมริกา E. Honda นักซูโม่จากญี่ปุ่น Zangief นักมวยปล้ำจากสาธารณรัฐโซเวียต Dhalsim นักโยคะพ่นไฟได้จากอินเดีย Blanka นักสู้พันธ์ประหลาดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบราซิล ส่วนเหล่าจตุรเทพ นอกจาก Sagat แล้วก็มี M.Bison นักมวยมาดดุผู้หลงใหลในเงินตรา Balrog นักสู้กระทิงรูปงามที่มาพร้อมกรงและเล็บเหล็ก และ Vega ผู้นำองค์กรลับ Shadaloo (ถึงตรงนี้บางคนอาจจะงงว่าชื่อจตุรเทพ 3 คนที่พูดมาดูจะสลับกันรึเปล่า เดี๋ยวจะได้รู้กันว่าทำไมชื่อถึงถูกเปลี่ยน)
เนื้อเรื่องของ Street Fighter II ดำเนินหลังจากภาคแรกไม่นานนัก เมื่อ Sagat พ่ายแพ้ให้กับ Ryu เขาได้ไปเข้าร่วมกับ Shadaloo โดยหมายว่าจะได้ล้างอายอีกครั้ง และองค์กรลับดังกล่าวก็ได้ก่อการร้ายไว้จำนวนมาก ในศึกการต่อสู้ครั้งใหม่ที่มีผู้เข้าร่วมศึกหลายคนมีปมส่วนตัวกับองค์กรลับนี้ ในขณะที่บางคนต้องการอาศัยอำนาจขององค์กรเพื่อประโยชน์ส่วนตน
เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเกม Street Fighter II
การมาถึงของ Street Figher II ทำให้อุตสาหกรรมได้รู้จักเกมแนวต่อสู้ที่ผู้เล่นสามารถแข่งขันกันเองได้อย่างชัดแจ้ง จึงทำให้มีคนจำนวนมากสนใจเข้ามาเล่นเกมเหล่านี้และทำให้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเกมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่เรื่องภายใน CAPCOM กันเองที่ต้องปรับชื่อของตัวละครจุตรเทพ จากตัวละครนักมวย M.Bison ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Balrog ตัวละครมีกรงเล็บ Balrog ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Vega และตัวละครผู้นำชองชาโดลู Vega ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น M.Bison ซึ่้งทีมงานทาง CAPCOM ได้ยืนยันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันการโดนฟ้องร้องจาก ไมค์ ไทสัน นักมวยชื่อดังที่อาจจะเห็นว่าตัวละครนักมวยในเกม Street Fighter II เป็นชาวอเมริกาเชื้อสายปอฟริกา แถมชื่อก็ดูคล้ายๆ กันอีก สร้างความสับสนให้ผู้เล่นสองทวีปที่ต้องใช้ชื่อต่างกันไปโดยปริยาย
อีกเรื่องหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับ Street Fighter ซึ่งในยุคนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจำเป็นแต่ก็เหมือนเป็นการปลูกฝังนิสัยเสียให้ CAPCOM ในภายหลัง นั่นก็คือการออกเกมเวอร์ชั่นใหม่ที่มีการแก้ไขเกมให้ดีขึ้น อย่างเช่น Street Fighter II: Champion Edition ที่ผู้เล่นสามารถเลือกตัวละครบอส 4 ตัวมาเล่นได้แล้ว รวมถึงการเลือกเล่นตัวละครซ้ำกันได้ และเริ่มปรับให้ Ryu กับ Ken มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ส่วน Street Fighter II: Turbo ปรับแก้ให้ตัวเกมเร็วขึ้น และเพิ่มท่าไม้ตายใหม่เล็กๆ น้อยๆ ให้ตัวละครบางตัว
แล้วก็ยังมีการอัพเดตใหญ่ๆ อย่าง Super Street Fighter II ที่ออกวางจำหน่ายในปี 1993 ไฮไลต์หลักคือการเพิ่มตัวละครใหม่มาอีก 4 ตัว ประกอบไปด้วย Cammy ทหารหน่วยพิเศษผู้มีอดีตอันลึกลับจากประเทศอังกฤษ, ที. ฮอว์ค (T.Hawk) นักสู้จากเม็กซิโกที่ Shadaloo บุกเข้าทำลายบ้านเกิดและลักพาตัวน้องสาวของเขาไป, Fei Long ดารานักบู๊จากฮ่องกงที่อยากทดสอบฝีมือการต่อสู้ของเขา และ Dee Jay ผู้ใช้วิชาคิกบ็อกซิ่งจากจาไมกา ซึ่งนี่เป็นตัวละครตัวแรกที่ CAPCOM อเมริกาเป็นผู้ออกแบบ ส่วนตัวละครเก่าก็มีการปรับเปลี่ยนภาพตัวละครเล็กน้อย ปรับปรุงเอฟเฟกต์การเคลื่อนไหว ใส่ท่าไม้ตายเพิ่มเติม อย่างเช่น Ryu ที่มีฮาโดเคนไฟ ส่วน Ken ได้โชริวเคนไฟ ฯลฯ ที่ไมเปลี่ยนไปเลยก็คือเนื้อเรื่องของตัวละครที่ปรากฏตัวมาก่อนแล้วก็เท่านั้น
Super Street Fighter II ออกภาคปรับปรุง Super Street Fighter II X / Super Street Fighter II Turbo ในปี 1994 นอกจากการปรับเพิ่มความเร็วได้ตามความต้องการของผู้เล่นแล้ว เกมภาคนี้ยังมีระบบใหม่ที่เห็นได้ชัดเจนคือระบบ ‘ซูเปอร์คอมโบ’ ที่มาพร้อมกับเกจพลังทางด้านล่างซึ่งเมื่อเต็มแล้วจะทำให้ตัวละครใช้ท่าไม้ตายพิเศษที่อาจจะพลิกเกมได้หนึ่งครั้ง และเป็นเกมภาคนี้เองที่มีตัวละคร Gouk) (หรือ Akuma) ที่ใช้วิชาเหมือน Ryu กับ Ken แต่มีความดุดันกว่า ทั้งยังสามารถปล่อยลูกพลังจากกลางอากาศได้ออกมาปรากฏตัวครั้งแรก โดยหากผู้เล่นสามารถเอาชนะแบบไม่เสียเลือดได้มากกว่าสามครั้งเขาจะมาปรากฏตัวเป็นบอสแทน M.Bison (หรือ Vega ก่อนเปลี่ยนชื่อ)
พูดถึง Gouki แล้ว ก็รู้สึกอดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงการอำระดับโลกของนิตยสาร Electronic Gaming Monthly หรือ EGM ที่จับเอาประโยคหลังจากที่ Ryu ชนะการต่อสู้แล้วว่า “เจ้าต้องกำราบ Sheng Long ถ้าอยากมีโอกาสชนะ” (You must defeat Sheng Long to stand a chance.) ซึ่งอาจจะเป็นการบ่งบอกว่า Sheng Long เป็นตัวละครลับที่ถูกซ่อนในเกม ซึ่งทางนิตยสาร EGM ได้เอาเรื่องนี้มาขยายใหญ่เป็นคอลัมน์เต็มหน้าโดยระบุว่ามีคนพบวิธีเข้าไปสู้กับ Sheng Long ได้ด้วยการเล่นเป็น Ryu ใน Street Fighter II และเอาชนะตัวละครทุกตัวแบบไม่เสียเลือดแม้แต่หยดเดียว จากนั้นเมื่อต่อสู้กับบอสของเกมให้หลบการโจมตีให้ได้ทั้งสองยกโดยห้ามได้รับบาดเจ็บเช่นกัน แล้ว Sheng Long จะปรากฎตัวออกมาต่อสู้
อย่างที่บอกไปแล้วว่านี่เป็นการอำระดับโลก ด้วยเหตุที่ว่านิตยสาร EGM เล่มดังกล่าวเป็นฉบับเดือนเมษายน ปี 1992 และเทคนิคลับนี้ก็เป็นแค่มุกที่ทางทีมงานหนังสือตั้งใจใส่ไว้พร้อมกับภาพตัดต่อ แต่ความเชื่อนี้ก็ฝังอยู่ในใจคอเกมจนทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้ CAPCOM ทำการใส่ตัวละครลับตัวจริงอย่าง Gouki ไปใน Super Street Fighter II X / Super Street Fighter II Turbo ก่อนที่ทาง EGM จะอำอีกครั้งว่ามี Sheng Long จริงๆ ใน Street Figher III ซึ่ง CAPCOM ก็เอาความอำมายำกับเนื้อเรื่องที่เกมสร้างไว้แล้วมาใส่ลร้างเป็นตัวละคร Gouken ซึ่งปรากฎตัวใน Street Fighter IV
ความจริงแล้ว Sheng Long นั้นเป็นการแปลผิดพลาดของคำว่า Shoryu (ที่มาจากโชริวเคน) และในภายหลัง CAPCOM ก็แก้ไขคำพูดของริวให้เป็น “เจ้าต้องกำราบโชริวเคนของข้าถึงจะมีโอกาสเอาชนะได้” (You must defeat my dragon punch to stand a chance) ถึงไม่กล้าบอกว่านี่คือการอำจนได้ดี แต่ก็ปฏิเสธได้ว่ามันเป็นมุกที่ฝังใจคนเล่นเกม แถมยังเป็นคนเล่นเกมนี้ทั้งโลกอีกต่างหาก!
กระแสที่ Street Fighter II กระจายไปยังสื่ออื่นๆ
ความดังของ Street Fighter II ทำให้หลายๆ อย่างตามมา นับตั้งแต่การออกตู้เกมก๊อปอย่างที่ โอคาโมโตะ โยชิกิ ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าทาง CAPCOM ไม่เคยขายเกมตู้ในประเทศเม็กซิโก แต่ในประเทศดังกล่าวดันมีตู้เกม Street Fighter II อยู่เพียบ (ในบ้านเราเองก็มีตู้ก๊อปไม่น้อยนะ) ไปจนมีคนดัดแปลงตู้เกมจนกลายเป็น ‘ภาคพิสดาร’ ที่ตัวละครต่างๆ ใช้ท่าผิดแผกแหวกแนวมากมาย ทั้งยืนปล่อยพลังกลางอากาศ หรืออยู่ๆ ก็แปลงร่างเป็นตัวละครอื่น เป็นอาทิ
ปัญหาทางกฎหมายก็ยังมีตามมาอีกเมื่อทาง Date East ปล่อยเกม Fighter’s History ออกมาในปี 1993 และตัวเกมมีบรรยากาศใกล้เคียง Street Fighter II มาก ทาง CAPCOM USA จึงทำการฟ้องร้องว่าเกมดังกล่าวว่า มี ‘ตัวละครที่คล้ายเคียง’ ‘มีท่าไม้ตายที่คล้ายเคียง’ ‘มีระบบควบคุมที่คล้ายเคียง’ แต่ในคดีนี้ทาง CAPCOM USA เป็นผู้แพ้คดีไปเนื่องจากทางศาลเห็นว่า สไตล์ของการเล่นและประเภทของเกมถือว่าเป็นไอเดียร่วมไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ กระนั้นถ้ามองจากยุคนี้ที่เกม Fighter’s History หายไปตามกาลเวลา ก็พอจะเป็นการพิสูจน์ได้ว่าผู้เล่นเลือกเกมไหนให้ไปต่อ
นอกจากดราม่าลิขสิทธิ์แล้ว Street Fighter II ยังถูกดัดแปลงเป็นสื่ออื่นๆ อีกหลายอย่าง นับตั้งแต่หนังสือการ์ตูน อนิเมชั่น และถูกดัดแปลงเป็นหนังคนแสดงแบบถูกลิขสิทธิ์ นำแสดงโดย ฌอง-โคลด แวนแดม กับ ราอุล จูเลีย และมีหนังแบบไม่ขออนุญาตลิขสิทธิ์อีกหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ บัลล็อค ผู้ชายทะลุเวลา
และอีกสิ่งที่ Street Fighter II ลงหมุดตอกเข็มไว้คือการเปิดทางให้เกมแนวต่อสู้ได้มีลีกการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ซึ่งในยุคเกมตู้นั้นก็เป็นการจัดแข่งกันตามประเทศต่างๆ ก่อนที่จะขยับมาเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติ แล้วแปลงรูปลักษณ์มาเป็น eSports แบบในปัจจุบันที่การเล่นเกมออนไลน์ได้รับความนิยมมากกว่า ถ้าไม่มีการแข่งขันเพื่้อปล่อยท่า ‘ฮาโดเคน’ ณ วันนั้น เราก็อาจจะไม่ได้เห็นเกมต่อสู้เกมอื่นๆ มาแข่งขันกันในวันนี้เสียด้วยซ้ำ
ถอยหลังกลับไปจุดเริ่มต้น ในเกม Street Fighter ภาคต่อ
หลังจาก Super Street Fighter II X / Super Street Fighter II Turbo ออกอาละวาดบนตู้เกม และได้วางจำหน่ายในแบบคอนโซลอยู่ระยะหนึ่ง ก็ได้เวลาที่ผู้เล่นเกมรู้สึกว่าพวกเขาควรจะได้เล่น ‘ภาคต่อที่แท้จริง’ ได้แล้ว และทาง CAPCOM ก็ได้พัฒนาภาคต่อขึ้นมา แต่การเดินเรื่องนั้นกลับเป็นก้าวถอยหลังไปเล็กน้อย ด้วยเหตุที่ว่าเนื้อเรื่องของเกมภาคนี้ย้อนไปเดินเรื่องในช่วงระหว่างเกมภาคแรก กับภาค II เพื่อเสริมรายละเอียดหลายๆ อย่างที่ยังดูตกหล่นไป
แล้ว Street Figher Zero หรือ Street Fighter Alpha ก็ได้ออกวางจำหน่ายในปี 1995 ที่ปรับภาพให้เกมมีความเป็นอนิเมะมากขึ้นตามความนิยมของอนิเมะที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในทั่วโลกในช่วงนั้น กับปรับภาพลักษณ์ของตัวละครหลายๆ ตัวอย่าง Ryu, Ken และ Chun-Li จะดูเด็กลง ส่วน Sagat กับ M.Bison ถูกวาดเป็นตัวละครที่ล่ำบึ้กขึ้นให้สอดคล้องกับรายละเอียดที่เคยเป็นตัวอักษรอธิบายมาก่อน ตัวเกมยังเก็บข้อดีจากเกมภาคเก่าๆ เอาไว้ทำให้ผู้เล่นเก่าทำความคุ้นเคยได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มเติมด้วยท่าไม้ตายใหม่ๆ สำหรับตัวละครเดิม แล้วก็มีระบบใหม่ๆ อย่าง Zero Counter / Alpha Counter ที่เปิดให้ผู้เล่นเสียพลังท่าไม้ตายเพื่อปัดป้องการโจมตีของคู่ต่อสู้ได้ และระบบ Chain-Combo ที่ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่กดท่าต่อเนื่องได้ง่ายขึ้น และพอจะมีโอกาสต่อกรกับคนที่เก่งกว่าได้บ้าง
ตัวละครที่ปรากฎในเกมภาคนี้ ก็คือ Ryu, Ken, Chun-Li, Sagat, M.Bison แล้วก็มีตัวละครจากเกมภาคแรกอย่าง Birdie กับ Adon กลับมาสู่เกมภาคหลักอีกครั้ง และด้วยเนื้อเรื่องเริ่มต้นก่อน Street Fighter II ทำให้ Charlie Nash (Nash) มาปรากฏตัวก่อนที่เนื้อเรื่องจะจบลงที่เขาเสียชีวิตเพื่อที่ Guile จะก้าวเข้ามาล้างแค้นให้กับเพื่อนในภายหลัง ตัวละครของเกม Final Fight อย่าง Guy กับ Sodom ก็เข้ามาสู่เกม Street Fighter ในภาคนี้ ส่วนตัวละครใหม่เอี่ยมของภาคนี้ก็คือ Rose หมอดูสาวจากอิตาลีผู้มีโซลพาวเวอร์ พลังลึกลับที่เกี่ยวข้องกับไซโคพาวเวอร์ของ M.Bison และในเกมมีตัวละครลับอีกสองคน หนึ่งคือ Gouki ที่ยังรับหน้าที่ตัวละครลับแบบเกมภาคก่อนหน้า ส่วนตัวละครอีกตัวคือ Dan ที่เหมือนจะดูดี เพราะทีมผู้สร้างเกมตั้งใจสร้างตัวละครนี้เพื่อมาแซะตัวละครของ SNK ที่เป็นเกมคู่แข่งกัน โดยให้ Dan ปล่อยพลังไม่พ้นฝ่ามือ ใส่ชุดแบบเรียวของเกม Art of Fighting กับไว้ผมทรงเดียวกับ โรเบิร์ต ของ Art of Fighting เช่นกัน …แต่เป็นตัวละครที่ออกมาแล้วค่อนข้างเห่ยในเกม Street Fighter แต่ก็ยากที่คนจะเกลียดเพราะมันออกมาแล้วฮานั่นล่ะ
ถึงจะบอกว่าเป็นภาคเริ่มต้น แต่เกมชุด Zero/Alpha ก็ออกภาคต่อตามมาถึงสองภาค เริ่มจากที่ Street Fighter Zero/ Alpha 2 ที่วางจำหน่ายในปี 1996 ตัวเกมปรับปรุงจากภาคแรกในด้านกราฟิกไปไม่มากนัก แต่มีเพิ่มเติมด้านระบบการเล่นอยู่ไม่น้อย อย่างการตัดระบบ Chain-Combo ออกไปแล้วเอาระบบ Custom Combo ที่ต้องใช้พลังท่าไม้ตายในเปิดใช้งาน และมีการเดินเรื่องแบบชัดเจนมากขึ้น ตัวละครในภาคนี้ ยกเอา 13 ตัวละครจากภาคแรกที่สามารถเลือกใช้ได้เลยโดยไม่ต้องใส่สูตรลับใดๆ มีการดึงเอา Dhalsim กับ Zangief จาก Street Fighter II กลับมาอีกครั้ง และ Gen จากเกมภาคแรกก็ได้กลับมายืนในสังเวียนอีกครั้ง ส่วนฝั่ง Final Fight ก็ส่ง Rolento ให้เข้ามาร่วมต่อยตีกันด้วย กลายเป็นว่าตัวละครของใหม่เอี่ยมของเกมภาคนี้ก็คือ Sakura สาวน้อยที่ชื่นชอบ Ryu จนลอกเลียนวิชาการต่อสู้และตามมาร่วมวงนักสู้กับเขาด้วยซะงั้น ซึ่ง Sakura ได้รับความนิยมจากผู้เล่นเป็นอย่างมากจนมีการ์ตูนเดี่ยวๆ ของตัวเอง ที่สุดท้ายก็มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับภาคเกมอีกต่างหาก ส่วนตัวละครลับในภาคนี้กลายเป็น Ryu จิตมาร หรือ Evil Ryu ที่มาจากการตีความว่าถ้า Ryu เดินเส้นทางเดียวกับ Akuma จะเป็นอย่างไร
เวลาผ่านไปสองปีทาง CAPCOM ก็ส่งเกม Street Fighter Zero / Alpha 3 ออกมาสู่ตลาด โดยเพิ่มเติมความลึกของเกมให้มากขึ้นไปอีกด้วยการแยกระบบการเล่นของตัวละครแต่ละตัวเป็น Z-ISM (หรือ A-ISM) ที่ใช้ระบบการต่อสู้ของเกมซีรีส์ Street Fighter Zero ตามปกติ V-ISM ที่ปรับแยก Custom Combo แยกออกมาต่างหากเนื่องจากนักเล่นมือโปรเห็นว่าเป็นระบบที่ทรงพลัง และ X-ISM ที่ปรับให้ตัวละครกลับไปใช้สไตล์คลาสสิกแบบ Super Street Fighter II X แต่ก็มีหลายคนที่รู้สึกว่าการให้เลือกระบบแยกแบบนี้ออกจะเป็นการลดศักยภาพตัวละครมากกว่าเช่นกัน ส่วนระบบการต่อสู้กลางอากาศของภาคนี้ก็ถูกปรับให้การเล่นคล่องแคล่วขึ้น ดุเดือดขึ้น อีกระบบที่ทำให้นักเล่นสายเฝ้าบ้านลำบากขึ้นก็คือระบบการ์ดเบรค ที่ผู้เล่นจะมีพลังการ์ดอยู่และถ้านั่งตั้งการ์ดจุมปุ้กนานเกินไป สุดท้ายการ์ดก็จะแตกออกและพลังการ์ดก็จะลดลง
ตัวละครในเกมภาคนี้เพิ่มไปจนถึง 28 ตัว โดยมีตัวละครเก่าที่กลับมาอีกครั้งอย่าง E. Honda, Cammy, Blanka, Vega ส่วน Final Fight ก็ส่งตัวเอกอีกตัวอย่าง Cody มาในเกมภาคนี้แต่ในเรื่องเขามาในชุดนักโทษเนื่องจากเขาต้องคดีอยู่ตามพล็อตเรื่อง ส่วนตัวละครใหม่ที่เพิ่มเข้ามาก็มี R. Mika นักมวยปล้ำหญิงที่เป็นคลั่งไคล้ Zangief กับ Karin ตัวละครคู่ปรับของ Sakura ที่เดิมทีปรากฏตัวในการ์ตูนภาคแยกแล้วได้มาปรากฎตัวเป็นตัวละครให้เล่น และมีตัวละครลับ Juli กับ จูนิ Juni ที่เป็นหน่วยดอลล์ส (Dolls) ของ M. Bison ส่วนด้านเนื้อเรื่องของเกมภาคนี้ถึงจะยังอยู่ก่อน Street Fighter II และมีการลงรายละเอียดมากขึ้นตั้งแต่ฉากก่อนต่อสู้ที่ตัวละครที่มีความสัมพันธ์กันจะมีท่าแอ็กชั่นพิเศษ ซึ่งภายหลังเกมภาคอื่นก็เอามาใช้อย่างต่อเนื่อง
Street Fighter Zero 3 ในฉบับเกมตู้ยังมีการอัพเดตเล็กน้อยในญี่ปุ่น ที่ใช้ชื่อว่า Street Fighter Zero 3 Upper ซึ่งเพิ่มตัวละครให้มากขึ้นเท่ากับฉบับที่ลงบนเครื่องเกมอื่นๆ แต่เนื่องจากไม่มีการออกเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษทำให้เกมตู้เวอร์ชั่นนี้ไม่ค่อยถูกจดจำเท่าใดนัก
ก้าวที่สามที่ดูเงียบเหงาแต่ก็มีตำนาน
ในจังหวะที่ Street Fighter Zero / Alpha 2 กวาดความนิยมทั้งในกลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่และผู้เล่นดั้งเดิม ทาง CAPCOM และเกมแนวต่อสู้สามมิติเริ่มรุกคืบตีตลาดเกมต่อสู้ CAPCOM ยังทำการสร้างเกมภาคใหม่ในรูปแบบสองมิติ แต่ด้วยความตั้งใจสร้างมันอย่างละเอียดทำให้ Street Figher III ที่วางจำหน่ายในปี 1997 แสดงศักยภาพให้โลกได้เห็นว่าเกมต่อสู้สองมิติยังมีพื้นที่อยู่ ทว่าในด้านการตอบรับนั้นออกจะปนเปไปเสียหน่อย แม้เกมจะดูจัดแน่นจัดเต็มทั้งระบบการต่อสู้นั้นเรียบง่ายขึ้น แต่ก็มีการเพิ่มระบบ ‘ปัด’ (parry) ที่ผู้เล่นสามารถปัดป้องการโจมตีใดๆ ก็ได้ หากกดเดินหน้าหรือกดลงในจังหวะที่ถูกต้อง และการบังคับให้เลือกท่าไม้ตายเพียงแค่หนึ่งท่าจากสามท่า
กอปรกับว่า Street Fighter III ภาคแรกสุดนั้นมีตัวละครเก่ากลับมาแค่สองคนคือ Ryu กับ Ken ส่วนที่เหลือเป็นตัวละครใหม่ทั้งหมด โดยมี Alex นักมวยปล้ำจากอเมริการับบทเป็นตัวเอกของภาค Dudley นักมวยสุภาพบุรุษจากอังกฤษที่มีเป้าหมายทวงรถคืนจากคนที่ขโมยมันไป, Elena เจ้าหญิงชาวเผ่าจากเคนยาที่ใช้เพลงเตะเป็นอาวุธ, Ibuki นินจาสาววัยรุ่นที่รับภารกิจมาตามล่าจีไฟล์ Necro ชายชาวรัสเซียที่โดนทดลองจนมีทักษะประหลาดติดตัว Oro นักสู้เฒ่าที่ตั้งใจออมมือให้คู่ต่อสู้ด้วยการใช้แขนข้างเดียเกือบตลอดเวลา Sean วัยรุ่นบราซิลที่เป็นลูกศิษย์ของ Ken ฝาแฝดหยุน Yun กับ Yang ที่คอยปราบตัวป่วนในโซนบ้านเกิด ที่ในภาคนี้เป็นแค่การกดสลับชุดตัวละครเท่านั้น และ Gill หัวหน้าองค์กรลับ Illuminati ผู้ควบคุมไฟกับน้ำแข็ง แถมยังมีพลังคืนชีพสุดโกงติดตัว
ความที่เกมดูไม่หวือหวามากแถมตัวละครก็ไม่คุ้นเคย ทำให้ช่วงแรกๆ มีแต่คอเกมต่อสู้ตัวจริงเท่านั้นที่พึงพอใจกับภาคนี้ แถมเหล่ามือโปรก็ใช้เวลาไม่นานในการทำความคุ้นเคยกับระบบใหม่จน CAPCOM ต้องออกเกมภาคสอง Street Fighter III: 2nd Impact ออกมาในปี 1997 เช่นเดียวกับภาคแรก ที่ถือว่าเป็นการอัพเดตแบบเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเพิ่ม EX Special การโจมตีท่าพิเศษแบบแรงกว่าปกติด้วยการใช้พลังพิเศษส่วนหนึ่งซึ่งถูกเก็บไปใช้งานในภาคอื่นๆ ด้วย พลังพิเศษแต่ละท่าที่จะมีความยาวไม่เท่ากัน นอกจากนั้นก็เป็นการปรับปรุงเชิงรายละเอียดให้เกมมีสมดุลมากขึ้น
ในภาคสองของเกมชุด Street Figher III มีตัวละครเพิ่มเติมมาไม่มากนัก อย่าง Yun กับ Yang ตอนนี้ถูกแยกเป็นตัวละครสองตัวเนื่องจากมีท่าไม้ตายสุดยอดไม่เหมือนกัน ส่วนตัวละครที่กลับมาคือ Akuma ที่คืนสู่สถานะตัวละครลับ และมี Hugo จาก Final Fight ที่โดนเซ็ตบทว่าเป็นนักมวยปล้ำคู่แข่งของ Alex กับตัวละครใหม่เอี่ยมอย่าง Urien น้องชายของ Gill ที่มีเทคนิคการต่อสู้เหมือนพี่ชายแต่ไม่โกงเท่า อาจจะเพราะตัวเกมออกมาใกล้เคียงกันกับภาคแรกมาก ทำให้เกมถูกมองข้ามไปบ่อยๆ
กว่าที่ Street Fighter III จะถูกจดจำได้แม่นๆ ก็คงเป็นตอนที่ Street Fighter III: 3rd Strike วางจำหน่าย ในปี 1999 ภาคนี้เพิ่มตัวละครเข้ามาอีกเล็กน้อย อย่าง Akuma ก็กลับมาเป็นตัวละครปกติไม่ต้องใช้สูตรลับ Chun-Li กลับมาอีกครั้งพร้อมกังฟูที่ดุดันขึ้น Makoto นักคาราเต้สาวที่ใช้วิชาคาราเต้แบบไม่มีปล่อยพลัง Remy ตัวละครสไตล์ Guile กับ Nash ที่มีทั้งท่าปล่อยพลังคล้ายโซนิคบูมกับท่าเตะซัมเมอร์ซอลต์ Q ตัวละครที่อ้างตัวว่าเป็นนักสืบลึกลับที่มาพร้อมหน้ากากเหล็กไร้อารมณ์ และ Twelve มนุษย์ทดลองที่ดูหลุดมาจากการ์ตูน Marvel มากกว่า
3rd Strike มีเนื้อเรื่องเป็นภาคปิดท้ายของ Street Fighter ทุกๆ ภาค (ภาค IV กับ V ก็จบก่อนภาคนี้) ตัวเกมได้ปรับปรุงระบบการต่อสู้อีกเล็กน้อยอย่างการกดท่าทุ่มเป็นปุ่นเตะเบาต่อยเบา กับ ระบบ guard parry ที่สามารถทำให้ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนจากการตั้งการ์ดมาเป็นการปัดได้แต่ต้องกดให้ถูกจังหวะเท่านั้น และการปัดจากการป้องกันนี้เองที่ทำให้เกมทhาทายมาก และทำให้คนที่ไม่เคยเล่นหลายคนได้เห็นการปัดขั้นสุดยอดของ อุเมฮาระ ไดโกะ ที่ได้รับฉายา The Beast จากการแข่งขันเกม Street Fighter III: 3rd Strike ในปี 2004
ฉากปัดฉากนั้นแค่ฉากเดียว กลายเป็นการดึงดูดให้คอมเกมรุ่นใหม่สนใจกลับไปเล่นเกมที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองข้ามด้วยความที่คิดว่า ‘มันยากเกินไป’
ภาคต่อที่เว้นวรรคไปอย่างยาวนาน
หลังจากปี 1999 Street Fighter ภาคหลักก็หายไปจากตลาดเกม และไปเพิ่มภาคแยกภาคพิเศษ ทั้งภาค VS. ที่จับเอาตัวละครของ Street Fighter ไปแจมกับคนอื่น หรือภาค EX ที่แปลงเกมสองมิติให้เป็นสามมิติ เวลาผ่านไปกว่าสิบปี CAPCOM ถึงได้ส่ง Street Fighter IV ออกมาในปี 2008 ซึ่งเกมดังกล่าวถูกร่วมพัฒนาโดย DIMPS ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยสองผู้สร้าง Street Fighter ภาคแรก หรือถ้าบอกว่านี่เป็นการเยือนรังเก่าหลังจากที่หายไปนานก็ไม่ผิดนัก และเกมก็ได้ โอโนะ โยชิโนริ บุคลากรภายใน CAPCOM ที่มีความติ่งในเกม Street Fighte มาดูแลการผลิต
ในช่วงสิบปีที่หายไปก็เป็นจังหวะที่อุตสาหกรรมเกมยอมรับได้กับการใช้เอนจิ้นสามมิติมาสร้างเกมสองมิติ เพื่อรักษาบรรยากาศแบบเก่าๆ เอาไว้แต่ก็ยังสามารถทำฉากที่หวือหวาด้วยภาพแบบสามมิติขึ้นมาได้ สอดคล้องกับความตั้งใจให้เกมออกมาพื้นเพสุดๆ ของโอโนะ โยชิโนริ ระบบใหม่ๆ ที่ซับซ้อนหลายอย่างในเกมภาคหลังๆ จึงถูกเก็บไป ยังเหลือแค่เพียงระบบใช้งานไม่ยากอย่าง EX specials, guard break และเพิ่มเติมระบบ revenge ที่ตัวละครจะได้พลังนี้จากการโดนโจมตีเมื่อพลังตัวนี้เต็มก็จะใช้ Ultra Combos ที่รุนแรงกว่าท่าไม้ตาย Super Combos ได้ และระบบ focus attack ที่เปิดให้ตัวละครรับการโจมตีได้หนึ่งครั้งและการโจมตีจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามหยุดการเคลื่อนไหวได้แบบแน่นอน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วตัวเกมก็กลับมาเล่นใกล้เคียงกับ Super Street Fighter II X
ตัวละครที่ปราฎในเกมนี้คือ 12 ตัวละครเดิมจาก Street Fighter II และมี่ตัวละครใหม่อย่าง Abel ชายฝรั่งเศสผู้สูญเสียความทรงจำและตามล่าสมาชิกของเหล่า Shadaloo C. Viper สายลับจากอเมริกาที่มีอุปกรณ์พิเศษช่วยในการต่อสู้ Rufus นักกังฟูตัวกลมแต่มีความพลิ้วไหวสุดยอด และ El Fuerte พ่อครัวจากเม็กซิโกที่ใช้มวยปล้ำลูชาดอร์ในการต่อสู้ ส่วนตัวละครกลุ่มบอสก็มีตัวละครหน้าใหม่อย่าง Seth ผู้บริหาร S.I.N. หน่วยพัฒนาอาวุธของ Shadaloo ที่หมายจะยึดครองโลกเสียเอง Gouki ที่กลับมาอีกครั้งในฐานะตัวละครลับกับบอสลับ และ Goukenอาจารย์ของ Ryu กับ Ken และน้องชายของ Akuma ซึ่งเป็นการปรากฎตัวในเชิงตอบรับข่าวลือของ Sheng Long ที่คนเชื่อมาหลายสิบปี
Street Fighter IV ได้รับการตอบรับจากผู้เล่นเป็นอย่างดี และถูกพอร์ตลงเครื่องเล่นเกมต่างๆ รวมถึงบนคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มตัวละครอย่าง Dan, Fei Long, Sakura, Cammy, Gen และ Roseเข้ามา และทำให้ผู้เล่นสามารถเลือกเล่น Seth, Gouki, Goukrn ได้ด้วย ก่อนที่จะมีการอัพเดตยกแรกที่ใช้ชื่อว่า Super Street Fighter IV ที่เปิดขายแยกต่างหากจากเกมฉบับดั้งเดิมในปี 2010 ได้มีการเพิ่มตัวละครเก่ากลับมาอีกหลายตัว ทั้ง Dee Jay, T. Hawk, Adon, Cody, Guy, Dudley, Ibuki และ Makoto จาก Street Fighter III ก็ได้มีโอกาสมาร่วมสู้กับตัวละครภาค เก่าๆ ในภาคนี้ และมีสองตัวละครใหม่อย่าง Juri หญิงสาวผู้ใช้วิชาเทควันโดกับดวงตาลึกลับที่มี ‘ฮวงจุ้ยเอนจิ้น’ (Feng Shui Engine) ติดตั้งอยู่ กับ Hakan นักมวยปล้ำน้ำมันจากตุรกี
โดยหลักระบบเกมปรับปรุงเพื่อรองรับระบบออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แล้วก็มีการดึงระบบการเลือก Ultra Combos ได้หนึ่งท่าจากสองท่า (คล้ายๆ กับการเลือกท่าไม้ตายใน Street Fighter III) และถ้าบอกว่าเป็นการอัพเดตเพื่อดักแฟนเก่าให้กลับมาเล่นเกมเดิมอีกครั้งก็ไม่ผิดนัก ต่อมาไม่นานนักเกมก็มีการออกฉบับ Arcade Edition เนื่องจากภาค Super Street Fighter IV ลงเกมตู้ทีหลัง แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นเก่าได้ซื้อเกมฉบับ Arcade Edition ในแบบ DLC ซึ่งมองแง่หนึ่งได้ว่าไม่ต้องซื้อเกมใหม่หมด แถมในอัพเดทตัวนี้ก็มีการปรับปรุงสมดุลของเกมและเพิ่ม Yun กับ Yang เป็นตัวละครใหม่
จนกระทั่ง CAPCOM ประกาศออก Ultra Street Fighter IV อีกภาคที่ทำให้แฟนๆ ต้องเสียเงินอีกรอบ ซึ่งมีขายทั้งแบบแยกและรวม DLC แต่งวดนี้เป็นการอัพเดตใหญ่ที่ใส่ระบบใหม่อย่าง Ultra Combo Double ที่ผู้เล่นไม่สามารถใช้ท่า Ultra Combo ทั้งสองแบบในการต่อสู้ได้แล้ว แลกกับว่าท่าไม้ตายเหล่านั้นจะเบากว่าคนที่เลือกท่าไว้แค่ท่าเดียว ระบบ Focus Attack ก็มีการเพิ่ม Red Focus Attack ที่ป้องกันการโจมตีได้มากครั้งขึ้นแต่ถ้าพลาดก็จะเสียเปรียบมากขึ้น และมี Delayed Standing
ตัวละครที่เพิ่มเติมเข้ามาใน Ultra Street Fighter IV ก็มีตัวละครจากเกมภาคก่อนอยบ่าง Rolento, Hugo, Elena และ Poison ตัวละครจาก Final Fight ที่เดิมทีมาเป็นแค่ตัวละครจาก Final Fight แล้วมามีบทสมทบใน Street Fighter III ส่วนตัวละครใหม่อีกตัวถือว่าใหม่แค่หน้าตาเท่านั้นเพราะ Decapre เป็นหนึ่งในหน่วยดอลล์สที่เคยถูกแนะนำตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนตัวเนื้อเรื่องของเกมภาคนี้ เป็นเหตุการณ์ต่อจาก Street Fighter II ที่โฟกัสอยู่กับการขึ้นมาเป็นใหญ่ของหน่วย S.I.N. ที่มาเป็นกบฎกับอดีตผู้นำอย่าง M. Bison และเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวว่าทำไมพวกเขาถึงเปลี่ยนแปลงไปใน Street Fighter III ตัวอย่างเช่น Sagat ที่เข้าใจการต่อสู้ที่แท้จริงและถอนตัวจาก Shadaloo ด้วยการที่เอนจิ้นเปลี่ยนแปลงเป็นสามมิติ การเล่าเรื่องของตัวละครแต่ละตัวจึงละเอียดมากขึ้นและมีรายละเอียดน่าสนใจ แม้ว่าจะชวนหงุดหงิดนิดหน่อย ที่มีการขายเกมซ้ำซ้อนหลายเวอร์ชั่นก็ตามที
สู่ภาค V ในปัจจุบัน
หลังจากปล่อยเกมภาค IV ออกทำตลาดอยู่หลายปี และมีลีกการแข่งขันจัดอยู่เป็นระยะ CAPCOM ก็ได้ประกาศภาคใหม่ Street Figther V ที่เดินเรื่องหลังจากภาค IV หลายปี และถือว่าเป็นบทส่งท้ายให้กับ M. Bison กับ Shadaloo และมีเนื้อเรื่องเกริ่นนำให้กับการมาถึงของ Gill ผู้เป็นบอสใน Street Fighter III อีกด้วย
อาจจะเพราะว่ามีเสียงบ่นระงมเกี่ยวกับการออกตัวเสริมมาหลายตัวของภาคก่อนหน้า เกมภาคที่ห้าของ Street Fighter จึงมีการแจ้งตั้งแต่เริ่มว่าจะมีการอัพเดตออนไลน์อย่างต่อเนื่อง (แต่หลายคนก็เผื่อใจไว้แล้วว่ามีโอกาสออกภาคเสริมแหงๆ) รวมถึงว่าเนื้อหาในเกมจะสามารถปลดล็อกได้ด้วยเงินในเกมที่เรียกว่า Fight Money หรือถ้าจะซื้อ DLC แบบเสียเงินเพื่อเอาเนื้อหาเพิ่มเติมเลยก็ได้เช่นกัน ด้านการต่อสู้ของตัวเกมมีความใกล้เคียงภาค IV และมีการใส่ระบบใหม่อย่าง V Trigger ซึ่งแต่ละตัวละครจะมีทักษะนี้ไม่เหมือนกัน ทำให้มีความหลากหลายทางการต่อสู้มากขึ้น
ตัวละครล็อตแรกที่ออกมาพร้อมกับเกมก็คือ Ryu, Ken, Chun-Li, Cammy, Dhalsim, Zangief, Karin,K. Mika, Birdie, Vega, M. Bison, Nash และสี่ตัวละครใหม่ Laura นักยิวยิตสึชาวบราซิลที่ใช้พลังไฟฟ้าร่วมกับท่าจับทุ่ม F.A.N.G. รองผู้บังคับบัญชาของ Shadaloo ผู้เข้ามาแทนที่ Sagat ตัวละครตัวต่อมาคือ Necalli สิ่งมีชีวิตลึกลับที่ออกเข้าอาละวาดกับนักสู้ และ Rashid นักสู้จากแดนอาหรับที่มาตามหาเพื่อนที่หายตัวไป
นอกจากตัวละครกลุ่มแรกนี้ ยังมีการอัพเดตตัวละครใหม่ๆ เข้าไปใน DLC ตามแผนการที่ทาง CAPCOM วางไว้ แต่ ณ ตอนแรกสุดที่เกมวางจำหน่าย ตัวเกมได้รับความชื่นชมในแง่ความสนุกของการต่อสู้ รวมถึงระบบใหม่ก็ช่วยเพิ่มสีสัน แต่มาตกม้าตายตรงที่เนื้อหาของเกมที่มาพร้อมการวางจำหน่ายตอนแรกแทบทั้งหมดนั้นพึ่งพิงการต่อสู้ออนไลน์เท่านั้น แถมเมื่อมีการอัพเดตโหมดเนื้อเรื่องเข้ามาก็กลายเป็นการเล่าเรื่องแบบพายเรือในอ่างอยู่ระยะหนึ่ง แต่ปัญหาก็ค่อยๆ ถูกแก้ไขไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการอัพเดทใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า Street Fighter V: Arcade Edition ซึ่งเพิ่มโหมดการเล่นใหม่ เพิ่มตัวละครใหม่ กับเพิ่มเติมให้ตัวละครทุกตัวมี V-Trigger คนละสองแบบ และถ้าใครเพิ่งมาซื้อเกมฉบับใหม่ก็จะได้ตัวละครจาก DLC มาด้วย จนตัวเกมได้รับความชื่นชมจากนักวิจารณ์มากขึ้น สร้างความพึงพอใจให้แฟนๆ จนตัวละครตอนนี้เพิ่มทะลุหลัก 30 ตัวแล้ว
ย่างก้าวกว่าสามสิบปีของเกม Street Fighter ไม่ได้มีแต่กลีบกุหลาบ ผู้พัฒนาเกมก็ได้ลองผิดลองถูกไปหลายอย่าง และฟังเสียงของกลุ่มผู้เล่น หลังจากช่วงหนึ่งเหมือนจะไม่เคยสนใจฟังเสียงมาก่อน ถ้าเกมต่อสู้เกมนี้รักษาคุณภาพเอาไว้ได้ละก็ ตัวเกมย่อมมัดใจแฟนเกมต่อสู้ทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ได้เหมือนอย่างที่เกมภาคเก่าเคยทำมาก็ได้ แล้วตอนนี้ก็มีการออกเกมภาคเก่าๆ อย่าง ภาค I, II, III มาให้เล่นใหม่กันอีกครั้ง นี่ก็ถือเป็นโอกาสดีของเกมเมอร์อายุ 30 ปีขึ้นไปจะได้กลับไประลึกความหลังอีกครั้งเหมือนตอนเด็กๆ ที่เราเคยหยอดเหรียญเพื่อเล่นเกมนี้อย่างสนุกสนาน
อ้างอิงข้อมูลจาก