“ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน”
นี่คือสโลแกนของขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่า ‘สมัชชาคนจน’ – ชื่อที่หลายคนอาจจะคุ้นหู และเป็นที่พูดถึงในสังคมการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2538
ผ่านมามากกว่า 20 ปี สมัชชาคนจนกลับมารวมตัวอีกครั้งในปีนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลที่นำโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แก้ปัญหา
8 ตุลาคม ถึง 8 พฤศจิกายน คือระยะเวลาในการชุมนุมระลอกปี 2566 นี้ ซึ่งปักหลักค้างแรมอยู่บริเวณเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ด้านข้างกระทรวงศึกษาธิการ
เหตุใดจึงต้องกลับมาอีกครั้ง?
The MATTER ลงพื้นที่ชุมนุม พูดคุยกับ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
อะไรคือข้อเรียกร้องในรอบนี้
จริงๆ มันมีแค่ มี 3 เรื่องใหญ่ๆ
เรื่องแรกก็คือ เราเห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายมาก เพราะมันรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด แล้วก็ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก ซึ่งจริงๆ รัฐธรรมนูนควรจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเครื่องมือของประชาชนในการที่จะต่อรองกับรัฐบาล ไม่ให้รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป แต่ตอนนี้ รัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการกดขี่ประชาชน เอารัดเอาเปรียบประชาชน
พอหลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2560 มันก็มีการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร หรือมีการออกกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร อย่างเช่น พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า, พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งทั้งหมด มันรวมศูนย์อำนาจไว้อยู่ที่ส่วนกลาง แล้วก็ให้อำนาจส่วนกลางสูงมาก เช่น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อุทยาน สามารถเข้าไปค้นบ้านของคนที่สงสัยได้ ตั้งแต่ตะวันขึ้นจนถึงตะวันตก และถ้าเกิดยังไม่เสร็จ ก็ค้นต่อได้อีก โดยที่ไม่ต้องไปขอหมายศาลเลย
เราก็เชื่อว่า ถ้าเกิดแก้รัฐธรรมนูญได้ และรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย มันก็จะสามารถทำให้ปัญหาของเราหลายเรื่องที่มันยาก ก็ทำได้ง่ายขึ้น
เรื่องที่สองก็คือ เรื่องร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฯ (NPO Bill) พวกเราก็เรียกกันว่าเป็นกฎหมายควบคุมพวกเรานี่แหละ ถ้าอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมขึ้นมา การออกมาทำอะไรมันก็กลายเป็นเรื่องยาก ต้องถูกตรวจสอบกันหมด ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ในขณะเดียวกัน กลุ่มต่างๆ ที่เป็นกลุ่มผู้หญิง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงฯ แต่ละที่ก็มีกฎหมายของเขา ตรวจสอบของเขาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายอีก
พูดตรงๆ คือเรายังเจ็บปวดกับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งก็กลายเป็นเครื่องมือของตำรวจในการเข้ามาทำร้ายพวกเรา ซึ่งตำรวจเองก็ไม่มีความสามารถในการควบคุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แทนที่จะมาสนับสนุนเรา กลายเป็นเครื่องมือในการรังแกพวกเรา เราก็เห็นว่า NPO Bill นี่ก็เป็นทำนองเดียวกัน
เรื่องที่สามก็คือ ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของพวกเรา ปัญหาของพวกเราก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นปัญหาเก่าๆ ที่สะสมต่อเนื่องมา แล้วก็ไม่รู้จักจบจักสิ้นสักทีหนึ่ง กลุ่มใหญ่ๆ ก็มีกลุ่มเขื่อน กลุ่มป่าไม้ที่ดิน กลุ่มคนงานอันนี้ก็เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ของพวกเราที่มาเรียกร้อง
สู้มา 20 กว่าปี ทำไมตอนนี้ถึงยังต้องออกมาอยู่
มันไม่จบ สู้มา 20 กว่าปี รัฐบาลก็บ่ายเบี่ยงแก้ไขปัญหาไปเรื่อย ตั้งกรรมการมาแล้วก็วนลูปอยู่ในอ่าง
เราก็ไม่ได้หยุด ต่อสู้มาตลอด เพียงแต่ว่า ช่วงหลังประหารปี 2557 เราก็ประกาศเลยว่า เราไม่สังฆกรรมกับรัฐบาลเผด็จการ เพราะฉะนั้น ประมาณ 10 ปีที่เราหยุดเคลื่อนไหวไป ไม่ใช่เจตนาเราจะหยุดเคลื่อนไหว แต่เราไม่ยอมรับรัฐบาลที่มันเลวร้ายขนาดนั้น ที่จะมาแก้ไขปัญหาให้เรา
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาของเรา ก็กลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีกอย่างเช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ รัฐบาลบอกจะแก้ไขปัญหาให้คนอยู่กับป่าได้ พอเอาจริงๆ ก็ปรากฏว่า ไปกำหนดเงื่อนไข ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ มากมาย อย่างเช่น แค่จะปลูกบ้าน สร้างบ้าน ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และปลูกตามแบบที่อธิบดีเห็นชอบ
คือ แทนที่จะจบ มันกลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมา แล้วตอนนี้ก็เอาปัญหาใหม่เข้ามาอีก ก็คือ จะเอาพื้นที่ของเราที่จะทำมาหากิน ก็กลายเป็นไปปลูกป่า ทำคาร์บอนเครดิตขึ้นมาอีก มันซ้ำลงไปอีก มันเลยไม่จบ เลยต้องมาอีก
เล่าย้อนถึงความเป็น ‘สมัชชาคนจน’ กลุ่มนี้คืออะไร มีลักษณะอย่างไร
เราอาจจะเรียกรวมๆ ได้ว่า เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ
หลายคนหลายกลุ่มก็ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ แต่เราก็ไม่เคยเรียกว่าตัวเองเป็นคนจน เราก็ยังเก็บผักหาปลากินได้ เก็บหาของป่ามาขายมาอะไรได้ แต่ปัญหาคือ ตั้งแต่รัฐบาลพยายามยึดทรัพยากรเข้ามาเป็นของรัฐ และรัฐบาลพยายามพัฒนา การพัฒนาต่างๆ เหล่านั้นต่างหากที่มไปสร้างผลกระทบให้เรา เขาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนเมืองใช้ น้ำท่วมที่เรา เราก็เดือดร้อน มันก็ไม่ได้มีการชดเชยที่ดีพอ
ก็มีกลุ่มคนที่อยู่ในป่าหรือทำมาหากินอยู่ในป่า พอรัฐประกาศป่าเป็นของรัฐ เขาก็กลายเป็นคนผิดกฎหมายขึ้นมาทันที ถ้าเกิดเขาไม่ประกาศ เราก็จะอยู่เฉยๆ ถ้าเกิดรัฐหวงห้ามเน้นเข้าไปอีก ประกาศเป็นเขตอุทยาน ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขึ้นมา ที่เคยทำมาหากินได้ ก็ทำมาหากินไม่ได้ขึ้นมาอีก
แล้วก็มีอีกพวกหนึ่ง ก็คือ พวกที่ทำมาหากินไม่ได้ทั้งหลาย พอเข้ามาอยู่ในเมือง มาเป็นคนงาน ก็ถูกกดขี่ขูดรีดแรงงาน ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง
เราเป็นคนจนที่ไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนจน แต่เราเป็นคนจนเพราะว่าโครงสร้างการพัฒนามันทำให้เรายากจน จนอำนาจ จนโอกาส จนสิทธิ เราเป็นคนที่ถูกทำให้จน
ซึ่งแต่ละกลุ่มก็เคยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้ด้วยตัวของตัวเอง และหลายรอบที่ได้มาเจอกัน ได้เห็นการต่อสู้ซึ่งกันและกัน ก็มีการพูดคุยกัน จนในที่สุดเห็นว่า มันต้องรวมพลังต่อสู้ด้วยกัน มันถึงจะแก้ไขปัญหาได้ ก็เป็นที่มาของว่า ทำไมถึงต้องมาเป็นสมัชชาคนจน
เล่าปัญหาที่ของคนจนเผชิญอยู่ให้ฟังหน่อยได้ไหม
ปัญหาของทุกคนสำคัญ เราไม่ได้บอกว่าปัญหาของเราสำคัญที่สุด แต่ปัญหาของเราถูกละเลย มีคนไม่เห็นความสำคัญของปัญหาเรา เราเลยต้องออกมาแสดงตัวให้เห็นว่า เรามีความเดือดร้อนจริง มีปัญหาจริง
เราไม่ได้บอกว่าเราสำคัญไปกว่าคนอื่น เราเห็นด้วยว่า ประเทศต้องมีการพัฒนา ไฟฟ้าก็ต้องมีใช้ ปัญหาน้ำท่วมก็ต้องจัดการ ปัญหาน้ำแล้งก็ต้องจัดการ แต่ไม่ใช่มาบีบบังคับว่า เราต้องเป็นคนที่ต้องเสียสละโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอะไรเลย ในขณะเดียวกัน เราเห็นว่า ปัญหาที่ได้รับการแก้ไขของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นปัญหาของคนรวย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาของชนชั้นกลาง หลายเรื่องเป็นปัญหาที่รัฐพัฒนามาตอบโจทย์กับคนรวยมากกว่า
รัฐสร้างทางด่วน ขอโทษนะ บางคนไม่มีโอกาสได้ใช้ทางด่วนเลย รัฐจะสร้างรถไฟความเร็วสูง พวกเราจะมีสักกี่คนที่จะมีค่ารถไฟความเร็วสูง แล้วอยู่ตรงไหน ก็อยู่ในกรุงเทพ อยู่ในเมืองใหญ่ๆ เคยมีไหมรถไฟความเร็วสูงหรือทางด่วนที่อยู่ในต่างจังหวัด ในหัวเมือง ไม่มี รถไฟในภาค ข้ามภาคก็ไม่มี มีแต่ระดับประเทศ
ขยายความสโลแกน “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน” ได้ไหม
เราพูดถึงบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ต้องพัฒนานู่น ต้องพัฒนานี่ แต่การพัฒนานั้นเป็นการพัฒนาที่ไม่เคยเห็นหัวพวกเราเลย ไม่มาถามพวกเราสักคำว่า เราต้องการนิคมอุตสาหกรรมหรือเปล่า เราต้องการโรงไฟฟ้าหรือเปล่า เราต้องการเหมืองแร่เหรือเปล่า เราต้องการเขื่อนหรือเปล่า
การรับฟังความคิดเห็น ยิ่งทุกวันนี้ก็หนักเข้าไปอีก รับฟังความคิดเห็นออนไลน์ ให้เวลา 7 วัน ชาวบ้านยังไม่รู้ข้อมูลเลย คนไหนที่รู้ข้อมูล ก็ยังไม่รู้ทิศทางว่าจะเข้าไปยังไง เข้าไปแสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้ง่าย แบบนี้ต่อให้จะบอกว่ามีส่วนร่วมยังไง มันก็มีส่วนร่วมแบบที่ไม่เห็นหัวพวกเราวันยังค่ำ มันก็เป็นเรื่องที่กินไม่ได้วันยังค่ำ
มันต้องสร้างอะไรที่เราสามารถจับต้องได้ อย่างเช่น เอาอำนาจในการจัดการทรัพยากรของพวกเราคืนมา เอาอำนาจในการดูแลท้องถิ่นของเราคืนมา มันถึงจะบอกได้ว่า แบบนี้คือเห็นหัวคนจน ปลาในน้ำไม่ได้เป็นของรัฐ ปลาในน้ำเป็นของธรรมชาติ ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงปลา เข้ามาจับปลาได้ ไม่ใช่บอกว่า อันนี้เป็นของรัฐ แล้วคุณก็ต้องควบคุมไปทั้งหมด
เราต้องการให้มันเกิดแบบนี้ ให้เห็นหัวพวกเรา และเข้าใจพวกเรา อันนี้ก็เป็นสโลแกนของเราว่า ทำไมถึงต้องเป็น “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน”
ในการชุมนุมแต่ละรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ได้บทเรียนอย่างไรบ้าง
จริงๆ แล้ว บทเรียนที่สำคัญของเราก็คือว่า ถ้าเกิดรัฐบาลที่เข้มแข็งมาก ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้เห็นหัวคนจน ถึงแม้ว่าเขาจะบอกว่าเขาทำเพื่อคนจน แต่เขาทำเพื่อคนจนแบบสงเคราะห์มากกว่า ไม่ได้ทำเพื่อคนจนในแบบที่เข้าใจว่า คนจนเท่าเทียมกับเขา เขายังมองว่า คนจนเป็นคนอื่นอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลที่เข้มแข็งมาก
ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอมาก ก็จะฟังแต่ข้าราชการอย่างเดียว ข้าราชการไปยังไง ก็ไปอย่างนั้น ซึ่งวิธีคิดของราชการเป็นวิธีคิดที่ล้าหลังอยู่แล้ว เพราะเรามีปัญหาขึ้นมา ก็เกิดจากระบบราชการส่วนหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ความอ่อนแอ-ความเข้มแข็งของรัฐบาล หรือความเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ ของรัฐบาล ก็ส่งผลกับการแก้ไขปัญหาของเรา
อีกอันหนึ่ง ผมคิดว่า กระแสสาธารณะก็มีความสำคัญ ก็คือ ถ้าสังคมเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของพวกเรา สมัยปี 2540 ตอนนั้น พล.อ.ชวลิต [ยงใจยุทธ] เป็นนายกฯ พอเราออกมาชุมนุม นักข่าวสื่อมวลชนตอนนั้นให้ความสำคัญกับพวกเรา มันก็เกิดเป็นข่าว ไม่เหมือนทุกวันนี้ นักข่าวก็ไม่ได้สนใจพวกเรา อันนี้ก็เป็นอุปสรรคอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนเรื่องของปัจจัยภายในของพวกเราก็เหมือนกัน ความพร้อมความไม่พร้อมของเรา ถ้าเกิดเราพร้อมที่จะอยู่ยาวได้ เราก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเกิดเราไม่พร้อมขึ้นมา เรามาชุมนุมได้ไม่กี่วันเราต้องรีบกลับ เราก็กดดันได้ไม่พอ
เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแค่ไหน หรือมีอุปสรรคอย่างไรบ้าง
ปัญหาหลักของเรา คือ ปัญหาตำรวจนั่นแหละครับ ตำรวจไม่ตรงไปตรงมากับพวกเรา ทั้งที่เราแจ้งการชุมนุมโดยชอบอยู่แล้ว และเขาก็รับทราบการชุมนุม
หรือว่าเราแจ้งเดินขบวน เราก็แจ้งเส้นทางเรียบร้อยว่าเราจะไปทางไหนยังไง เขาก็บอกมาว่า ให้ไปทางนี้ หรือพิจารณาทางอื่นที่เหมาะสม พอเราไปทีไร ก็เอาตำรวจมากัก มากั้นรั้ว เข้ายากออกยาก วันที่เดินไปกระทรวงเกษตรฯ ก็ปิดสะพานมัฆวานฯ ผมก็ไม่รู้ว่าปิดทำไม คนจะไปหาหมอก็ไปไม่ได้ แล้วคนไปหา 2 สองคน คนแก่ๆ ก็ไม่ยอมเปิดให้เขาไป ผมก็ไม่รู้ว่าเกิดเหตุอะไร
ส่วนฝ่ายราชการ ผมคิดว่า ราชการก็มีทั้งส่วนที่อยากแก้ไขปัญหาให้ และส่วนที่ไม่อยากแก้ไขปัญหาให้ด้วย อันนี้ ทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วย เพรารัฐบาลเองก็ไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจน ถ้าเกิดรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน ผมคิดว่า การแก้ไขปัญหาพวกเราจะไม่มีอุปสรรคอย่างนี้
คุณมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ทำไมถึงเลือกที่จะมาเป็นนักกิจกรรม
ไม่รู้สิ อาจจะเรียกผมว่านักประชาธิปไตยก็ได้นะ หรือว่ารักความเป็นธรรม ผมก็ไม่ได้อยากอวดอ้างตัวเองขนาดนั้น แต่พอเห็นใครโดนรังแก เห็นคนเดือดร้อน ผมรู้สึกมันยอมไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่เราเห็นว่าเขาไม่รู้จักวิธีการต่อสู้ ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ได้รู้จักวิธีการต่อสู้อะไรหรอกนะ เราก็เริ่มจากที่เราไม่รู้เรื่องไม่รู้อะไรหรอกครับ
ตอนเด็กๆ สมัยก่อนที่จะเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย ผมก็ได้รับรู้ข่าวความแห้งแล้ง ความเดือดร้อนของคนอีสาน มีข่าวเด็กอีสานกินดิน มีเรื่องของเด็กขาดอาหาร เด็กน้อยผู้หิวโหย ซึ่งผมเห็นก็อยากจะไปช่วยเขา ผมมาเรียน มาเจอค่ายกิจกรรม ค่ายอาสาพัฒนารามคำแหง ผมก็สมัครเลย อยากเข้าไป กะว่าเราต้องไปช่วยเขาอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ ไปช่วยอะไรไม่ได้หรอก ไปเป็นภาระให้เขาด้วยซ้ำไป
แต่ก็เรียนรู้ปัญหามาเรื่อยๆ ว่า หลายเรื่องมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดจากบุญทำกรรมแต่ง แต่มันเกิดจากโครงสร้างการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม การพัฒนาที่ไม่เห็นหัวคนจนเลย ทุกอย่างท็อปดาวน์หมด ดังนั้น ก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย มันต้องเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง
เพราะถึงที่สุดแล้ว เราเองก็โดนด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เราไม่โดน เราก็โดนกดขี่ โดนขูดรีด เราควรจะมีโรงเรียนที่ดี มีโรงพยาบาลที่ดี มีบริการขนส่งสาธารณะที่ดี แต่เรากลับไม่มี เราก็ต้องมาเสียเงินกับเรื่องอะไรก็ไม่รู้ มาเสียเงินหล่อเลี้ยงระบบที่มันเทอะทะ ล้าหลัง เน่าเฟะ อย่างนี้อยู่
และการทำให้ชาวบ้านก็ไม่ใช่ทำแบบสังคมสงเคราะห์ แต่ทำแบบที่เคารพนับถือเชื่อถือกันว่า เขาก็เป็นคนเท่าเทียมกับเรา ไม่ใช่ทำแบบว่า เขาเป็นคนอื่น
ถ้าบอกว่า อันนี้เป็นอุดมการณ์ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอุดมการณ์หรือเปล่า แต่สุดท้ายก็คือว่า เราก็อยากเห็นสังคมที่มันอยู่ด้วยกันแบบเป็นธรรม มีความสุข ไม่มีใครเอารัดเอาเปรียบกัน
แล้วระบบการเมือง โครงสร้างการเมืองแบบไหน ที่จะตอบโจทย์ชาวบ้านจริงๆ
กระจายอำนาจ
รัฐส่วนกลางต้องเล็ก และกระจายอำนาจให้ชุมชน ให้ท้องถิ่นจัดการ ไม่ใช่กระจายอำนาจไปแค่เลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือเลือกตั้ง อบต. แต่มันต้องกระจายอำนาจกว้างขวางกว่านั้น กระจายอำนาจ หมายถึง ไม่ใช่อำนาจอย่างเดียว คน เงิน งบประมาณ ทรัพยากร เครื่องมืออื่นๆ มันก็ต้องกระจายออกไปด้วย
ผมคิดว่า ถ้าเกิดกระจายอำนาจได้จริงๆ ปัญหาหลายเรื่องก็จะถูกแก้ไขโดยอัตโนมัติเลยด้วยซ้ำไป
นอกจากกระจายอำนาจ อีกเรื่องหนึ่ง คือ มันต้องเคารพกันจริงๆ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มองเห็นว่าเป็นคนอื่น ไม่ได้มองว่าคนนี้เป็นลาว คนนี้เป็นเจ๊ก คนนี้เป็นคนสามจังหวัด [ชายแดนภาคใต้] คนนี้เป็นนู่นนี่ การไปชี้หน้าตีตราคนอื่นว่าเป็นคนนั้นคนนี้มันไม่ถูก ไม่ว่าเรื่องไหนทั้งนั้น ไม่ว่าเรื่องการศึกษา ภาษา ศาสนา ความเชื่อ หรือเรื่องเพศ มันต้องเคารพกันจริงๆ หลักเรื่องเคารพสิทธิเสรีภาพมันต้องถูกปฏิบัติได้จริง
รัฐธรรมนูญเองก็ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือของประชาชนในการต่อรองกับรัฐบาล ไม่ให้รัฐมีอำนาจเหนือพวกเราจริงๆ งบประมาณปีๆ หนึ่ง พวกเราก็ควรจะต้องมีส่วนในการจัดสรรงบประมาณด้วย เราเสียภาษีไป เราต้องการงบประมาณกลับมาท้องถิ่น
พี่น้องที่สะเอียบ [จ.แพร่] ที่คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ผลิตเหล้าพื้นบ้าน ภาษีเข้า อบต. ปีนึง 400-500 ล้านบาทเลยนะ แต่ถูกดึงมาส่วนกลางหมด แต่ถ้า 400-500 ล้านบาท เอาไว้ที่สะเอียบ ผมว่าตั้งโรงพยาบาลเองก็ได้ ตั้งโรงเรียนเองก็ได้ พัฒนาคมนาคมเองก็ยังได้เลยครับ 400-500 ล้านบาท นี่มันไม่น้อยเลย มหาศาลมากเลย
เราก็เลยคิดว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นได้แบบนั้นจริงๆ ก็จะเกิดประโยชน์ รัฐธรรมนูญต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็ง ทำให้กองทัพอ่อนแอ
ถ้ามองไปในอนาคต ในเมื่อมันยากที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไขจริงๆ คิดว่าจะต้องชุมนุมไปอีกกี่ปี
ก็ชุมนุมเรื่อยๆ ล่ะครับ ตามข้อจำกัดของเรา ถ้าเกิดชุมนุมเที่ยวนี้ยังไม่ได้ ก็อาจจะกลับไปก่อน แล้วก็ค่อยมาชุมนุมรอบใหม่เมื่อเราพร้อม พอเราหมดกำลัง เหนื่อยล้า เราก็กลับไปพักก่อน ถึงเวลามีแรง รวบรวมแรง และทรัพยากรได้ ก็กลับมาสู้ใหม่ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ ก็ต้องทำแบบนี้ล่ะครับ
เรารู้ว่าการต่อสู้ของเราไม่ใช่เรื่องชั่วคราว ปัญหาของเราหลายเรื่องต้องใช้เวลาในการแก้ไข หลายเรื่องก็ต้องต่อสู้ในเชิงความคิด สู้กันมา 20 ปีแล้ว ก็ยังสู้กันต่อไปยาวๆ