ผู้ใหญ่ในสังคมไทย มักพูดถึงแง่งามความดีของความคิดสร้างสรรค์ แต่ในหลายๆ ครั้ง เมื่อเด็กไทยแสดงออกเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมือง พวกเขาก็มักถูกแปะป้ายว่าทำลายชาติ หรือบางครั้งก็ถูกปิดกั้นการแสดงออกเหล่านั้น ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง
วันนี้ (13 มิถุนายน) มีข่าวที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก ประเด็นคือนักเรียนชั้นมัธยมปลายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในทำ ‘พานไหว้ครู’ โดยมีลักษณะคล้ายตาชั่ง ข้างหนึ่งเป็นรูปและข้อความเขียนว่า ‘250 เสียง’ ส่วนอีกข้างคือรูปคนและธงชาติไทย พร้อมข้อความเขียนว่า ‘หลายล้านเสียง’
ตาชั่งที่ว่านี้เทน้ำหนักลงไปที่ฝั่ง 250 เสียง สะท้อนให้เห็นถึงเสียงจากคน 250 เสียง มีน้ำหนักมากกว่าคนไทยหลายล้านเสียง
หลายๆ คนตีความว่าพานไหว้ครูนี้ต้องการสะท้อนถึงภาพการเมืองไทย สมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ถูกทำให้มีเสียงมากกว่าคนทั้งประเทศ ภาพพานไหว้ครูนี้ถูกแชร์กันค่อนข้างมาก และกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการแสดงออกผ่านพานไหว้ครู
อย่างไรก็ดี รูปเหล่านั้นก็ถูกลบออกจากโซเชียลมีเดียต้นทางไปแล้ว
“มีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเดินทางเข้ามาในโรงเรียน โดยเข้าไปพบนักเรียนชั้น ม.6/2 ที่ทำพานไหว้ครู และครูวิชาสังคม ซึ่งเป็นที่ปรึกษา พร้อมขอความร่วมมือให้ลบภาพพานไหว้ครูออกจากโซเชียลทั้งหมด และเด็กๆ ก็ลบออกจากโซเชียลของตัวเองหมดแล้วครับ” ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกกับไทยรัฐออนไลน์ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น (มีคำชี้แจงจาก ผอ.ในเวลาต่อมาโดยต่างไปจากที่ไทยรัฐออนไลน์เคยรายงาน ซึ่ง ผอ.ระบุว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่มาสั่งการให้ลบรูปแต่อย่างใด ส่วนตำรวจก็บอกว่าได้เข้าไปในโรงเรียนจริงๆ เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย)
กลายเป็นคำถามว่า ฝ่ายความมั่นคงหวาดกลัวอะไรกับการแสดงออกในรูปแบบนี้?
ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากๆ ก็คือการแสดงออกทางการเมือง ที่ถูกกำหนดว่าเป็นคุณค่าสำคัญในรัฐธรรมนูญ และตามหลักประชาธิปไตยสากลที่นักเรียนไทยควรจะมี มันอาจจะถูกคุกคามและลดเพดานลงมาอีกครั้ง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การแสดงออกของนักเรียนไทย ถูกภาครัฐพยายามกำกับและควบคุม
ย้อนดูร่างกฎกระทรวงศึกษา ตีกรอบพฤติกรรมนักเรียน
เมื่อปีที่แล้วเคยมีความพยายามของกระทรวงศึกษา ที่แก้ไขผลักดันร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาฉบับใหม่ โดยที่หลายฝ่ายเป็นกังวลถึงการใช้ถ้อยคำที่ตีความได้ค่อนข้างกว้างขวาง ที่จะกลายเป็นช่องทางที่ควบคุมการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษา
โดยเฉพาะประโยคที่กำหนดไว้ในร่างกฎกระทรวงที่ว่า “ห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”
ขณะที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ชลำ อรรถธรรม ชี้แจงเรื่องนี้ผ่าน BBC Thai ว่า นี่คือการปรับปรุงกฎกระทรวงให้สอดคล้องกับยุคสมัย และไม่เกี่ยวข้องกับการห้ามนักเรียนนักศึกษาไปชุมนุมทางการเมือง
เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ธัญชนก คชพัชรินทร์ มองต่างไปจากมุมของกระทรวงศึกษาเคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า
“มันเหมือนกับกฎควบคุมการชุมนุมเลย ถ้ากฎกระทรวงนี้ออกไป มันจะเป็นแม่แบบให้กับโรงเรียน แล้วโรงเรียนอาจจะใช้เพื่อไม่ให้เด็กไปร่วมชุมนุม ไม่ให้ออกไปทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในที่สาธารณะ เด็กเองก็จะไม่กล้า เพราะเขาอาจจะโดนหักคะแนนความประพฤติก็ได้ เด็กอาจจะเรียนไม่จบ และเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแต่ละโรงเรียนจะเอากฎนี้ไปปรับใช้อย่างเข้มงวดขนาดไหนบ้าง”
วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ฝังลึกในการศึกษาไทย
ไม่ใช่แค่การใช้อำนาจแบบดิบๆ เช่นการออกมาตรการควบคุม หรือ ‘ขอความร่วมมือ’ ให้ทางโรงเรียนยุติการแสดงออกของเหล่านักเรียนในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง
ที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญที่ถูกเถียงกันมาเสมอๆ คือความเป็น ‘อำนาจนิยม’ ที่ฝังลึกอยู่ในระบบการศึกษาไทย ที่ทำให้นักเรียนไม่กล้าที่จะแสดงออก เพราะถูกกำกับอยู่ภายใต้วาทกรรมการเป็นเด็กดี ความสามัคคี และศีลธรรมอันดีของสังคม
ธรณ์เทพ มณีเจริญ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เคยอธิบายไว้ในงานเสวนา ‘อำนาจลี้ลับ ในตำราเรียน’ เอาไว้ว่า การศึกษาไทยยังไม่ได้ส่งเสริมความคิดความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยให้กับนักเรียนเท่าที่ควร ในเวลาเดียวกัน ระบบอำนาจนิยมทั้งในห้องเรียนและตำราเรียนต่างๆ ก็มีส่วนทำให้นักเรียนเชื่อฟังผู้มีอำนาจโดยไม่รู้ตัว
“การกำหนดการศึกษาของผู้มีอำนาจ คือการปลูกฝังให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง เพื่อทำให้เรารู้สึกไม่มีอำนาจ นั่นคือความสำเร็จที่พวกเขาต้องการ เพราะหากประชาชนหมดหวัง คือสิ่งที่อันตรายที่สุดของประชาธิปไตย” ธรณ์เทพ ระบุ
ลักษณะความเป็นอำนาจนิยม ที่กดทับการแสดงออกของนักเรียนไทย ยังสามารถตีความได้ผ่าน ‘การลงโทษ’ ต่างๆ ที่นักวิชาการเป็นกังวลว่าจะบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าแสดงออกของนักเรียนไทย ยกตัวอย่าง การลงโทษ การตี การกล้อนผม
อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมอำนาจนิยม และการแสดงออกแบบประชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจ
เขามองว่าระบบการศึกษาไทย ได้ปลูกฝังค่านิยมที่เน้นลำดับชั้นตามความอาวุโส เมื่อผู้ใหญ่คือฝ่ายถูก และเด็กคือฝ่ายผิด พูดอะไรก็ผิด และควรเชื่อฟังตามคนที่อาวุโสกว่าเท่านั้น
“สังคมไทยชอบให้ทุกคนคิดเหมือนกัน รู้สึกว่าเป็นระเบียบเรียบร้อยดี สงบดี สุดท้ายการศึกษาก็เลยสร้างคนเป็นหุ่นยนต์ไง ทุกคนคิดเหมือนกันทำเหมือนกันตามกันหมด ไม่มีความแตกต่างหลากหลาย และก็คนไม่กล้าคิดแตกต่าง
“นักการศึกษาเองหรือผู้ใหญ่ก็ชอบมาบ่นว่าทำไมเด็กไม่กล้าคิดสร้างสรรค์ เด็กไทยไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เด็กไทยเรียนหนังสือเน้นแต่ท่องจำไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้ายกมือถามคิดถาม ก็ต้องถามว่า มันต้องโทษใคร? มันควรจะโทษเด็กหรือ?
“เด็กเป็นเหยื่อของระบบการศึกษาที่มันปลูกฝังแบบอำนาจนิยม ในเมื่อเราหล่อหลอมเขาเป็นแบบนี้เขาจะกล้าตั้งคำถาม กล้าคิดแตกต่าง กล้าสร้างสรรค์ได้อย่างไร? คือกลายเป็นว่าเด็กเป็นเหยื่อที่ถูกโทษอีกที ทั้งๆ ที่ระบบที่ผู้ใหญ่วางเอาไว้มันก็ผลิตคนแบบนี้ออกมา” อ.ประจักษ์ อธิบาย
นอกจากนั้น ความเป็นอำนาจนิยมยังถูกมองว่าเป็นบุคลิกภาพแบบหนึ่งในระบบการศึกษาไทย และถูกทำให้เป็นที่ยอมรับและตั้งมั่นอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งปัญหาที่ใหญ่มากๆ จึงน่าจะอยู่ที่ความน่ากลัวของระบบที่กลืนกินนักเรียน ทำให้พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั้น ถูกทำให้กลัวจนไม่กล้าตั้งคำถาม หรือตั้งข้อสงสัยกับเหล่าผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจในสังคม