“นิติเวชไม่ได้เหมือนในหนัง ที่มันตอบได้ทุกเรื่อง บางเรื่องเราก็ไม่สามารถตอบได้” เป็นข้อความที่ นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ ต้องการสื่อสารกับทุกคน ในวันที่การชันสูตรพลิกศพถูกตั้งความหวัง ว่าจะสามารถเฉลยทุกข้อสงสัยคล้ายกับตอนจบละคร
หลายคนไม่ได้หลับไม่ได้นอน นับตั้งแต่เกิดกรณีการตกเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ของนักแสดงสาว แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ ก่อนจะพบร่างในเวลาต่อมา และเป็นจุดเริ่มของการสืบสวนอย่างเป็นทางการ โดยมี “ชันสูตรพลิกศพ” เป็นหนึ่งขั้นตอนที่คลี่คลายความจริงให้ปรากฏ เพื่อเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิผู้เสียชีวิต และญาติ
The MATTER ไปพูดคุยกับ นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ว่าเหตุใดกระบวนการชันสูตรพลิกศพจึงสำคัญ รวมถึงร่างกายของมนุษย์ที่จากไปนั้น สามารถทิ้งเรื่องราวอะไรไว้ให้รับรู้ได้บ้าง
ทำไมต้องมีการชันสูตรพลิกศพ
“การชันสูตรพลิกศพไม่จำเป็นต้องผ่าศพก็ได้ แต่เราต้องตอบปัญหา 5 อย่างให้ได้ว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อไหร่ สาเหตุและพฤติการณ์ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ทราบสาเหตุการตายก็จำเป็นต้องผ่า”
หมอสมิทธิ์ เริ่มต้นอธิบายถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 148 ที่กล่าวถึงการตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานว่าต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยทีมแพทย์ที่ทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวน ซึ่งการตายผิดธรรมชาติ มีดังนี้
- ฆ่าตัวตาย
- ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
- ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
- ตายโดยอุบัติเหตุ
- ตายโดยมิปรากฏเหตุ
สำหรับกรณีของคุณแตงโม อาจจะนับว่าเป็นการตายโดยยังมิปรากฏเหตุ จึงเป็นที่มาของบรรยากาศที่เจ้าหน้าที่กั้นแนวผ้าบังตาหลังนำร่างขึ้นมาจากน้ำ เพื่อดำเนินขั้นตอนการชันสูตร ณ ที่เกิดเหตุในเบื้องต้น และเมื่อไม่สามารถตอบข้อสงสัยได้ครบถ้วนตามที่หมอสมิทธิ์กล่าวไว้ ก็จำเป็นต้องส่งเพื่อทำกการผ่าพิสูจน์เพิ่มเติม
รอยเลือดคือคำตอบ
สำหรับขั้นตอนการชันสูตรนั้นก็มีรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อนอยู่ไม่น้อย หมอสมิทธิ์ เล่าอย่างง่ายว่า หมอจะเริ่มที่การประเมินบาดแผลทั่วร่าง ทั้งรอยขีดข่วน ฟกช้ำ รวมถึงการแตกหักหรือบิดเบี้ยวของกระดูกที่สังเกตได้จากภายนอก ก่อนที่จะทำการผ่าที่บริเวณกะโหลกศีรษะ ตั้งแต่ระดับผิวหนังเป็นลำดับแรก
“ถ้าสมมติโดนทำร้าย เราก็จะเห็นร่องรอยได้เลย จะมีเลือดออกใต้หนังศีรษะที่ดูจากข้างนอกไม่เห็น” ก่อนที่จะทำการประเมินกะโหลกว่าแตกร้าวหรือไม่ และเลื่อยไปยังส่วนของเยื่อหุ้มสมอง เนื้อสมอง เพื่อสังเกตดูเลือด ก้อนเลือด ร่องรอยการฟกช้ำ
หน้าอกก็เป็นส่วนต่อไปในการผ่าพิสูจน์ เป้าหมายก็เพื่อดูเลือดในช่องอกและช่องเยื่อหุ้มหัวใจ หารอยการบาดเจ็บฉีกขาด และฟกช้ำของอวัยวะภายใน สำหรับช่องท้องก็เช่นกัน ที่จำเป็นต้องหาร่องรอยของเลือด การฉีกขาด ทั้งตับ ม้าม เป็นต้น
รวมถึงการผ่าเปิดบริเวณคอ เพื่อดูร่องรอยความบอบช้ำของกล้ามเนื้อ กระดูกอ่อน และเส้นเลือดบริเวณนั้น
ดูไปเกือบทุกบริเวณที่ชันสูตรก็เพื่อค้นหารอยเลือดในบาดแผล เหตุผลก็ด้วยเลือดเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่าบาดแผลนั้นเกิดก่อนการเสียชีวิต
ขณะเดียวกันหากใครติดตามสืบสวนก็มักคุ้นชินกับการตรวจเส้นผม ซึ่งคุณหมอสมิทธิ์ เล่าว่าในทางปฏิบัติจริงตรวจค่อนข้างน้อย นอกเสียจากว่ามีข้อบ่งชี้ในการใช้สารเสพติด และต้องการตรวจดีเอ็นเอ แต่ปกตินิยมตรวจหาสารพิษจากเลือดหรือปัสสาวะ และดีเอ็นเอจากเลือดมากกว่า
ศพที่พบในน้ำไม่ได้หมายความว่าเสียชีวิตเพราะจมน้ำ
ในฐานะแพทย์นิติเวชที่ต้องผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตายมานับครั้งไม่ถ้วน ยอมรับว่า การชันสูตรศพในน้ำถือเป็นเรื่องท้าทายที่สุดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการหาคำตอบว่าเกิดขึ้นจากการจมน้ำหรือไม่ “ยากมากครับ” คำตอบสั้น ๆ แต่หนักแน่นของหมอสมิทธิ์อธิบายได้ชัดเจน
จนถึงตอนนี้ที่วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก ก็ยังไม่มีวิธีพิสูจน์การตายจากการจมน้ำ เป็นเพียง “การวินิจฉัยโดยตัดสาเหตุอื่นออกให้หมด”
ข้อพิสูจน์ที่ตอบได้ใกล้เคียงที่สุด คงมีเพียงการบอกว่า “เสียชีวิตระหว่างที่อยู่ในน้ำ”
อย่างผลชันสูตรเบื้องต้นของคุณแตงโม ที่พบทั้งน้ำและดินโคลนในปอด แขนงขั้วปอด ไปจนถึงกระเพาะอาหาร ก็ถือเป็นคำอธิบายกลาย ๆ ว่าเกิดการหายใจขณะอยู่ในน้ำ
และสิ่งที่ทำให้ลำบากยิ่งกว่าเดิม ก็ด้วยธรรมชาติของเหตุการณ์ตกน้ำ ที่ไม่สามารถค้นหาพบในที่เกิดเหตุทันที กว่าจะพบร่างอีกครั้งก็เมื่อกินเวลาไป 2-3 วัน ซึ่งถึงตอนนั้นร่างก็เน่าเปื่อยเกินว่าจะตอบข้อสงสัยทุกอย่างผ่านการชันสูตรแล้ว
“ผู้ตายคือใครก็ตอบยาก เพราะเน่าจนใบหน้าเปลี่ยน ตายที่ไหนก็ตอบยากอีกไม่รู้ว่าตายข้างบนแล้วโยนศพลงน้ำรึเปล่า ตายเมื่อไหร่ยิ่งยากเพราะการเน่า ทำให้ประเมินเวลาตายได้ลำบาก”
บาดแผลเกิดก่อนหรือหลังการตาย?
ไม่ต้องพูดถึงบาดแผลที่เกิดบนร่างผู้เสียชีวิต คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ก็เกิดแผลหรือรอยช้ำขึ้นได้ตลอดเวลา แล้วลักษณะแผลเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนไปตามระยะเวลา ทำให้ “อายุของบาดแผล” เป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากในการพิสูจน์
“สังเกตง่าย ๆ อย่างแผลถลอกใหม่มันก็ยังมีเลือดซึม พอผ่านไปแล้วสองสามวันก็เริ่มตกสะเก็ด บาดแผลฟกช้ำแต่มีสีที่ต่างกันไปตามระยะเวลา แผลฉีกขาดเองผ่านไปนาน ๆ ก็เริ่มติดกัน มีคราบหนอง”
แต่ความยากกลับไปอยู่ที่ว่า “บาดแผลเกิดก่อนที่จะตายหรือหลังตาย” ซึ่งเป็นข้อสงสัยสำคัญ ที่คนมักตั้งคำถามในทุกการชันสูตรที่มีบาดแผล
“ไม่มีจริงหรอกที่ฟันธง” เป็นคำยืนยันของหมอสมิทธิ์ที่ตอบข้อสงสัยนี้
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เป็นกระแสตอนนี้ จากการตกน้ำแล้วมีบาดแผล บางกรณีอาจเกิดบาดแผลก่อนถึงจะบาดเจ็บ แต่บางครั้งอาจเสียชีวิตแล้วถึงโดนของมีคม “เราแยกได้ยากมาก อันนี้เขียนในหนังสือเลยว่า วิธีแยกบาดแผลก่อนและหลังตายแทบเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะหากศพนั้นเน่า”
“อย่างคนกระโดดน้ำ เห็นอยู่ชัด ๆ ว่าไม่ได้โดนอะไร พออีกสองวันเจอศพกลายเป็นมีร่องรอยใบพัดเรือ นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้”
ที่ผ่านมาคนไม่น้อยเข้าใจในความสำคัญของการชันสูตรพลิกศพ แต่ก็มักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คู่กันมา ว่ากินเวลานานกว่าจะทราบผล หมอสมิทธิ์จึงอยากทำความเข้าใจว่า ในขั้นตอนการผ่าร่างอาจใช้เวลาเพียงสั้น ๆ แต่ผลทางห้องปฏิบัติการจำเป็นต้องใช้เวลา อีกอย่าง “ห้องแล็บไม่ได้ทำแค่ศพ แต่ทำเรื่องผู้ป่วยด้วย ดังนั้นตามลำดับผลของผู้ป่วยจึงควรมาก่อน”
นอกจากนี้ปัญหาของการชันสูตรศพของไทยที่คนทั่วไปอาจไม่ทราบ คือ ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมีแพทย์นิติเวช ดังนั้นจึงต้องเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตไปยังโรงพยาบาลที่สามารถทำการผ่าได้ แต่กลับไม่ได้มีการจัดตั้งงบประมาณในส่วนนี้ “บางทีตำรวจต้องเรี่ยรายจากหมอร่วมกับชาวบ้านช่วยกันออกเงิน”
ท้ายที่สุดไม่ว่าร่างของมนุษย์จะทิ้งร่องรอยหลังความตายไว้น้อยแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถมองข้ามการชันสูตรพลิกศพไปได้ ด้วยหัวใจหลักตามหลักมนุษยธรรมสากล ที่ทุกความตายต้องมีคำตอบที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้