เมื่อการ ‘สืบจากศพ’ กลายเป็นหนึ่งในหนทางที่จะคลี่คลายความสงสัย ถึงสาเหตุที่ดาราสาว ‘แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์’ ตกจากสปีดโบ๊ตกลางแม่น้ำเจ้าพระยา คืนวันที่ 24 ก.พ.2565 จนเสียชีวิต
เพราะสังคมไม่เชื่อคำบอกเล่าของสมาชิกที่อยู่บนเรือลำเดียวกันอีก 5 คน
รวมทั้งยังมีกระแสความไม่มั่นใจต่อแนวทางการสืบสวนหาความจริงของตำรวจ เพราะเรือลำดังกล่าวไม่ถูกอายัดไว้แต่ต้น ผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ไม่ถูกตรวจแอลกอฮอล์และสารเสพติดในที่เกิดเหตุ
กระทั่งพบร่างของดาราสาวในอีก 2 วันถัดมา (26 ก.พ.2565) ยังมีการเปลี่ยนสถานที่ชันสูตรพลิกศพจาก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ไปที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ
ที่ผลชันสูตรยืนยันว่า แตงโมเสียชีวิตจากการจมน้ำและไม่พบร่องรอยการทำร้ายร่างกาย
ซึ่งต่างจากข้อมูลของดารานักกู้ภัยชื่อดังที่อ้างว่า เห็นร่างของแตงโมฟันหักและตาถลน จนถูกนำไปตีความว่า เธอถูกทำร้ายร่างกายก่อนเสียชีวิตหรือไม่
มารดาของแตงโมจึงตัดสินใจร้องขอไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมขอให้ผ่าชันสูตรรอบที่ 2 พร้อมระบุจุดที่สังคมยังมีข้อสงสัย 11 จุด
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยเชิญทีมแพทย์จาก รพ.ที่น่าเชื่อถือหลายแห่งเข้าร่วมในการผ่าชันสูตรศพของดาราสาวเป็นรอบ 2 โดยเชิญตัวแทนญาติของผู้เสียชีวิต ทนายความ และ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่มารดาของแตงโมเคยติดต่อไว้ ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ผลการชันสูตรรอบ 2 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2565 ยังยืนยันตามผลชันสูตรรอบแรก คือร่างของแตงโมไม่มีร่องรอยบอบช้ำจากการถูกทำร้ายร่างกาย ฟันไม่หัก
แต่ข้อสงสัยจากสังคมก็ยังไม่จบสิ้น
หนึ่งในทีมแพทย์ที่เข้าร่วมการผ่าชันสูตรรอบ 2 คือ อาจารย์แพทย์นิติเวชจาก รพ.จุฬาลงกรณ์เปิดใจว่า ทีมแพทย์ทั้งหมดที่เข้าร่วมการชันสูตรทั้ง 2 รอบ ทำงานภายใต้จรรยาบรรณตามหลักวิชาชีพ นำเสนอผลการตรวจสอบไปตามความเป็นจริง และไม่มีทางที่จะบิดเบือนผลเพื่อปกป้องใครคนใดคนหนึ่ง
“พวกเรามีเกียรติและศักดิ์ศรีในวิชาชีพที่ยึดถือปฏิบัติ ไม่เอาไปแลกกับการช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์กับใครบางคนแน่นอน”
นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ รองผู้อำนวยการด้านสารสนเทศ รพ.จุฬาฯ และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ
“เขาอยากตั้งคณะกรรมการขึ้นมาในการผ่ารอบที่ 2 ให้มีทีมแพทย์นิติเวชจากหลายๆ ที่มารวมกัน มีความเห็นที่เป็นอิสระ ก็เชิญมาหมด ทั้งทีมจาก รพ.รามาฯ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ให้ทุกคนได้เห็นหลักฐานการตรวจพิสูจน์ตั้งแต่ต้น ผมในฐานะที่เป็นอาจารย์แพทย์และเป็นกรรมการในสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ก็เลยให้ความร่วมมือ เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันแสดงให้เห็นว่า แพทย์นิติเวชไม่ได้ถูกซื้อ”
นพ.ภาณุวัฒน์เล่าขั้นตอนการทำงานให้ฟังว่า ก่อนเริ่มผ่า ทีมแพทย์ทั้งหมดประชุมกันตั้งแต่ 11.00 น. แนะนำแพทย์แต่ละคน มีตัวแทนฝ่ายญาติ ทนายความ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ และเลขานุการ รมว.ยุติธรรมร่วมอยู่ด้วย ทุกคนได้เห็นภาพถ่ายทั้งแต่ภาพแรก ผ่านการบันทึกภาพของแพทย์นิติเวช สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ตรวจชันสูตรร่างแตงโมคนแรก ไปจนถึงภาพสุดท้ายของสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ทีมผ่าพิสูจน์ศพ ซึ่งไม่ใช่ภาพที่หลุดออกไปตามสื่อสังคมออนไลน์
“ก็จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนเลยว่า สภาพศพในแต่ละภาพนั้นมีความแตกต่างกัน ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพศพโดยตลอดตามทามไลน์จากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนในวันนั้น และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการชันสูตรเบื้องต้นระหว่างขนย้าย จนมาถึงช่วงที่นำร่างของคุณแตงโมมาในห้องตรวจพิสูจน์ ของสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ”
นพ.ภาณุวัฒน์ยังเล่าต่อว่า ความเปลี่ยนแปลงในร่างของดาราสาว แม้จะผ่านมาเพียง 4-5 ชั่วโมงจากเวลาที่พบศพครั้งแรก แต่ทุกอย่างสามารถอธิบายด้วยหลักวิชาการทางนิติเวชศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายมนุษย์เมื่อเริ่มมีการเน่าสลาย ภายหลังจากมีการทำความสะอาด เราเห็นหมดว่าสภาพศีรษะไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยบอบช้ำการการถูกกระแทกใดๆ บริเวณใบหน้าหรือลำคอ สภาพบวมที่พบเห็นเป็นลักษณะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากการเน่าเท่านั้น รวมทั้งฟัน ซึ่งทั้งดูด้วยตาและทำ CT Scan ก็พบว่าอยู่ครบเรียงเป็นปกติ
“ส่วนฟันที่ไม่ครบ 32 ซี่นั้นเกิดจากการรักษาหรือบูรณะฟันทางทันตกรรม ซึ่งต้องยืนยันจากหลักฐานการทำฟันก่อนหน้านี้ แต่สภาพฟันยังเรียงเป็นปกติ ไม่มีช่องโหว่จากการแตกหักอันเกิดจากการการบาดเจ็บใดๆ ตามข้อสงสัย”
อาจารย์แพทย์จากจุฬาฯ รายนี้ยังกล่าวว่า เมื่อมาถึงการผ่ารอบที่ 2 ในช่วงบ่ายของวันที่ 17 มี.ค.2565 เราทำการตรวจซ้ำทุกจุดตามมาตรฐาน พบว่าผลทุกอย่างสอดคล้องกับภาพถ่ายและผลการชันสูตรตามที่ทีมแพทย์สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจได้สรุปไว้จากการผ่าชันสูตรในครั้งแรก ที่ยังมีประเด็นอยู่ มีเพียงแผลที่น่องทั้ง 2 ข้าง (คนละแผลกับที่ต้นขา) ซึ่งเป็นรอยตื้นๆ ขนานกันจำนวนหลายแผล ลักษณะเป็นรูปแบบเฉพาะ ที่ดูแล้วเป็นไปได้ยากที่บาดแผลดังกล่าวจะเกิดได้จากคนมากระทำ ทั้งนี้น่าจะต้องไปเทียบกับวัตถุที่พบจากเรือหรือสถานที่เกิดเหตุ ก็เป็นส่วนที่ต้องพิสูจน์ต่อไป
แม้ นพ.ภาณุวัฒน์จะยอมรับว่า ปัญหา ‘ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม’ จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมมีข้อสงสัยกรณีแตงโม แต่การทำงานของแพทย์นิติเวช ก็ต้องทำงานโดยปราศจากอคติจากทุกฝ่าย
เป็นกระบวนการหาความจริงที่เกิดขึ้นผ่านร่างของผู้เสียชีวิต โดยไม่แปลผลการตรวจพิสูจน์ไปตามความรู้สึก หรือแปลผลเกินไปกว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็น
ทุกอย่างต้องอธิบายได้ด้วยทฤษฎีและหลักวิชาการทางนิติเวชศาสตร์ได้ ซึ่งบางครั้งมันอาจไม่เป็นไปตามสิ่งที่สังคมคาดหวังไว้ เราต้องเริ่มนับหนึ่งจากข้อมูลพยานหลักฐานจนได้ข้อสรุป ไม่ใช่เริ่มจากข้อสรุปที่วางไว้ แล้วลงมาหาหลักฐานเพื่อสนับสนุนสมมติฐานนั้น และด้วยหลักวิชาชีพก็ทำให้แพทย์ไม่สามารถนำภาพหลักฐานต่างๆ ที่ทุกคนได้เห็นออกมาแสดงให้สาธารณชนได้เห็นได้ เพราะต้องเคารพผู้เสียชีวิตและครอบครัว ตลอดจนอาจส่งผลต่อรูปคดี แต่ทุกคนที่เข้าร่วมตรวจสอบก็ได้เห็นอย่างละเอียด และสามารถอธิบายประเด็นข้อสงสัยได้เกือบทั้งหมด
“มันไม่คุ้มหรอกครับ ที่จะเอาวิชาชีพของพวกเราหรือชื่อเสียงของ รพ.ต้นสังกัดไปแลกกับการช่วยเหลือแค่คนบางคน ในยุคสมัยที่ทุกวันนี้การตรวจสอบทำได้ง่ายจากทุกช่องทาง เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะมาซื้อแพทย์จากหลายหน่วยงานที่ทั้งคณะกรรมการตั้งขึ้นมาได้” นพ.ภาณูวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
จากผลชันสูตรพลิกศพแตงโมในรอบที่ 2 ซึ่งผ่านมือผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชวิทยาจากหลายหน่วยงาน แม้จะยังไม่ใช่กุญแจสำคัญที่จะไขคดีได้ทั้งหมด
แต่อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า การผ่าชันสูตรในรอบแรกของสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจทำได้อย่างถูกต้อง ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมาอย่างมากมายในโลกออนไลน์ได้ว่า อันไหนเป็นข้อมูลที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้-ไม่ได้บ้าง
จากนี้ ยังต้องติดตามการทำงานของทีมสืบสวนสอบสวนของตำรวจต่อไป ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปิดคดีด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลพอให้ประชาชนเชื่อถือได้
เพราะแม้ผลชันสูตรพลิกศพทั้ง 2 รอบจะช่วยยืนยันได้ว่า แตงโมไม่ได้ถูกกระแทกที่ศีรษะ
แต่ก็ยังไม่มีคำตอบต่อคำถามที่สำคัญที่สุดคือ ..แตงโมตกจากเรือเพราะอะไร?