ค.ศ. 1604 ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างชาวดัตช์กับสยามได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ผ่านบริษัทดัตช์อินเดียตะวันออก (Vereenigde Oostindische Compagnie หรือ VOC) – นั่นคือจุดเริ่มต้น 420 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-เนเธอร์แลนด์ ที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
ในเวลานั้น – คริสต์ศตวรรษที่ 17 – กรุงศรีอยุธยาถือเป็นเมืองท่านานาชาติที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ ที่มีเรือสินค้าของสยามเองหรือเรือสินค้าต่างชาติมาเทียบท่าจากทั่วทุกสารทิศ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ สาธารณรัฐดัตช์ก็เรียกได้ว่าอยู่ใน ‘ยุคทอง’ จากการขยายตัวด้านการค้าและความมั่งคั่ง
การค้าและการเจริญสัมพันธไมตรีนำมาสู่การตั้งถิ่นฐานของชาวดัตช์ในบริเวณพระนครศรีอยุธยา ภายในปี ค.ศ. 1634 สถานีการค้าและโรงงานของบริษัท VOC ก็ถูกก่อสร้างขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองของกรุงศรีอยุธยา – หลักฐานที่หลงเหลืออยู่ก็คือพื้นที่ทางโบราณคดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารที่เรียกว่า ‘บ้านฮอลันดา’ (Baan Hollanda) ในปัจจุบัน
ชัดเจนว่า พื้นที่ของบ้านฮอลันดามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสำหรับประวัติศาสตร์การทูต ไทย-เนเธอร์แลนด์ แต่ปัจจุบัน โบราณสถานแห่งนี้ก็ยังมีข้อจำกัด ความท้าทาย และโจทย์สำคัญว่าจะบริหารจัดการอย่างไรต่อไปในอนาคต
The MATTER ชวนสำรวจ ‘บ้านฮอลันดา’ และหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

บ้านฮอลันดา
‘บ้านฮอลันดา’
บนพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านฮอลันดาในปัจจุบัน เคยเป็นที่ตั้งของสถานีการค้าชาวดัตช์ ที่เรียกกันว่า ‘หมู่บ้านฮอลันดา’ หรือ ‘บ้านฮอลันดา’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นชุมชนของชาวดัตช์ที่มาทำการค้าเป็นหลัก ประกอบด้วย พนักงานของบริษัท VOC และคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านด้วย
ในขณะที่อาคารบ้านฮอลันดาในปัจจุบันได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่ โดยในระหว่างการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ค.ศ. 2004 สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ (Queen Beatrix of the Netherlands) พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งศูนย์ข้อมูลและจัดแสดงนิทรรศการ
ปัจจุบัน บ้านฮอลันดาถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เป็นศูนย์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ ไทย-เนเธอร์แลนด์ ก่อนหน้านี้ดำเนินการโดยมูลนิธิบ้านฮอลันดา จากนั้นได้ส่งมอบให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม บริหารจัดการอย่างเต็มตัว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เป็นต้นมา

บ้านฮอลันดา
ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่รอการสะสาง
แน่นอนว่า บ้านฮอลันดา และโบราณสถานในบริเวณเดียวกัน เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความเป็น ‘พหุวัฒนธรรม’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหากสำรวจในย่านใกล้เคียงกัน ก็จะพบว่ามีหมู่บ้านชาวต่างชาติอื่นๆ ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ เช่น หมู่บ้านโปรตุเกส และหมู่บ้านญี่ปุ่น
แต่หากจะดึงศักยภาพของบ้านฮอลันดาเพื่อประโยชน์สาธารณะให้ได้มากที่สุด ก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันก่อน
ในงานเสวนา Suitable Management Mechanisms/Forms for the Future Baan of Hollanda จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บ้านฮอลันดายังเผชิญกับปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน

(จากซ้ายไปขวา) รวีดาอร มณเฑียร นักออกแบบพิพิธภัณฑ์ ฮันส์ ฟาน เดน บอร์น (Hans van den Born) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย (Netherlands-Thai Chamber of Commerce หรือ NTCC) และ สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร
สุกัญญาเล่าว่า ภายหลังจากที่กรมศิลปากรรับมาดูแล จากการตรวจสอบก็พบว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดพนัญเชิง ทำให้กรมศิลปากรต้องดำเนินการและเจรจาการซื้อขายที่ดิน ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย
กระบวนการเจรจาใกล้แล้วเสร็จ แต่ทางกรมศิลปากรพบว่า การโอนที่ดินต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ทำให้ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสุกัญญายืนยันว่า ขณะนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยื่นเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“เหตุที่มันต้องสําเร็จตรงนี้เพราะอะไร เพราะมันจะนําไปสู่การบริหารจัดการอย่างเต็มรูปแบบ โดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านฮอลันดาในแง่ของการบริหารจัดการ” สุกัญญาระบุ

บ้านฮอลันดา
หนทางบริหารจัดการบ้านฮอลันดา สู่อนาคต
ในกรณีอย่างบ้านฮอลันดา มีวิธีใดบ้างในการบริหารจัดการร่วมกันอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน รวมถึงในเชิงวิชาการ?
ในวงเสวนาที่บ้านฮอลันดา พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงที่จะต้องบริหารจัดการในเชิงค่าใช้จ่าย เขาเสนอว่า กรมศิลปากรสามารถใช้วิธีสัมปทาน หรือ sub-contract ให้หน่วยงานเอกชนดูแล ในรูปแบบของการทำธุรกิจ
เช่นเดียวกับ ณัฐปคัลภ์ อัครวิชญ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พระนครศรีอยุธยา ที่มองถึงการสร้างศักยภาพของบ้านฮอลันดา และเพิ่มความหลากหลายให้กับการท่องเที่ยวในพระนครศรีอยุธยา ผ่านแง่มุมทางธุรกิจ

บ้านฮอลันดา
“ถ้ามีเรื่องของธุรกิจเข้ามา สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากหน่วยงานอื่น สามารถประคองตัวเองให้เดินต่อหน้าได้ ถ้าทางกรมศิลปากรเปิดโอกาสให้หมู่บ้านฮอลันดาสามารถทําธุรกิจหรือหารายได้จากการดําเนินการต่างๆ มันก็จะเกิดความยั่งยืน” ณัฐปคัลภ์ ระบุ
ทางด้าน ฮันส์ ฟาน เดน บอร์น (Hans van den Born) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย (Netherlands-Thai Chamber of Commerce หรือ NTCC) ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาบ้านฮอลันดา เปิดเผยว่า NTCC จะหารือในเรื่องการบริหารจัดการต่อไป โดยจะต้องให้มีกิจกรรมในเชิงพาณิชย์ เพื่อความยั่งยืนในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ดี หัทยา สิริพัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรม ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ซีมีโอ (SEAMEO SPAFA) ให้ความเห็นว่า โมเดลของการทำธุรกิจเพื่อสร้างรายได้เป็นเรื่องดี แต่อาจต้องมีขีดจำกัด โดยไม่ใช่เป็นการค้ากำไร แต่ทำเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ และอาจต้องคืนกำไรสู่สังคม

(จากซ้ายไปขวา) หัทยา สิริพัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรม ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ซีมีโอ (SEAMEO SPAFA) ณัฐปคัลภ์ อัครวิชญ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พระนครศรีอยุธยา พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ รวีดาอร มณเฑียร นักออกแบบพิพิธภัณฑ์
ยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมในชุมชน (Community Engagement)
อีกแง่มุมหนึ่งที่ได้รับการหยิบยกร่วมกันในวงเสวนา คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน (community engagement) เพื่อให้บ้านฮอลันดามีชีวิตชีวา และดึงเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ในชุมชนโดยรอบ เข้ามากำหนดทิศทางร่วมกัน
รวีดาอร มณเฑียร นักออกแบบพิพิธภัณฑ์ ผู้ทำงานร่วมกับบ้านฮอลันดาในการออกแบบศูนย์ข้อมูลฯ กล่าวว่า โครงการที่สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนจะทำให้มีหุ้นส่วนเข้ามาร่วมงานกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้มากขึ้น
“หากไม่มีโครงการแบบนี้ ก็เสมือนสร้างอาคาร แต่ไม่มีกลไกด้านในที่จะสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บ้านฮอลันดาดำเนินการในลักษณะนี้” รวีดาอร ระบุ
“บ้านฮอลันดาต้องคิดเกินที่ดินของบ้านฮอลันดา จะต้องทำงานร่วมกัน” พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ให้ความเห็น ซึ่งหมายถึงการทำงานในระดับ ‘ย่าน’ และ ‘ชุมชน’ เพื่อดึงดูดกลุ่มองค์กรท้องถิ่นเข้ามาทำงานร่วมกัน
สอดคล้องกับ ระพีพัฒน์ เกษโกศล เลขานุการเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ที่กล่าวว่า ต้อง “ขยายพื้นที่ ให้เป็นเป็นย่านวัฒนธรรม ไม่ใช่เป็นบ้านฮอลันดาอย่างเดียว” โดยอาจเชื่อมโยงกับกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณเดียวกัน หรือเชื่อมโยงพื้นที่ทางวัฒนธรรมริมน้ำ
“เมื่อเป็นเรื่องของย่าน มันจะสนุก คนจะสนใจมากขึ้น มาแล้วก็รู้ว่าจะได้เจออะไรที่หลากหลายมากขึ้น”
“เพราะบ้านฮอลันดาไม่ใช่แค่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย-เนเธอร์แลนด์ แต่เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรม (multiculturalism) ในอยุธยาด้วย” รวีดาอร กล่าว