ค่าเงินบาทที่แตะ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอาจทำให้หลายคนเริ่มใจคอไม่ดีเพราะเข้าใจว่าค่าเงินบาทอ่อนสะท้อนความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังชวนให้นึกถึงฝันร้ายคราววิกฤตต้มยำกุ้งที่หลายธุรกิจต้องล้มละลาย คนตกงานจำนวนมหาศาล และกิจการปิดตัวกันเป็นทิวแถว
แต่ใจเย็นๆ นั่งลงสบายๆ แล้วชงชาคาร์โมมายล์มาจิบสักแก้ว เพราะการอ่อนค่าของเงินบาทคราวนี้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ได้รวดเร็วฉับพลันจนถึงขั้นน่ากังวล แถมล่าสุดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังออกมายืนยันว่าไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ฐานะทางการเงินของไทยยังนับว่ายอดเยี่ยมโดยมีเงินทุนสำรองในระดับสูง และหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศค่อนข้างต่ำ
อีกอย่างถ้าใครติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องก็คงพอคุ้นๆ ว่าเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทก็อ่อนปวกเปียกโดยแตะระดับถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาแข็งปั๋งในเดือนมกราคมที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ความผันผวนดังกล่าวสะท้อนจากสารพัดตัวแปรในตลาดโลกที่ยากจะคาดเดา แต่ความผันผวนเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเกินคาดนับตั้งแต่วันที่ประเทศไทยเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
เงินบาทอ่อนเพราะอะไร?
หากตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ
‘เงินบาทอ่อนเพราะมีความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อ’
ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงินมายาวนานกว่าสามทศวรรษ เท่ากับว่าคนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถโยกย้ายเงินเข้าออกจากประเทศไทยได้อย่างเสรี (ตราบใดที่ถูกต้องตามกฎหมาย) ในแต่ละวันเงินบาทมูลค่ามหาศาลจึงนำมาขายแลกเป็นดอลลาร์ เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อซื้อเงินบาท หากความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อ ราคาผลิตภัณฑ์นั้นก็จะลดต่ำลงตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งหากแปลงเป็นภาษาของตลาดเงินตราก็เท่ากับว่าเงินสกุลนั้นๆ จะอ่อนค่าลงนั่นเอง
หนึ่งในตัวชี้วัดที่สามารถอธิบายการอ่อนค่าและแข็งค่าของสกุลเงินได้คือดุลการชำระเงิน ตัวเลขดังกล่าวจะบอกเราว่าในฐานะประเทศแล้วเราได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการทำมาค้าขายกับต่างชาติ หากดุลการชำระเงินเป็นบวกก็คือการทำมาค้าขายหักกลบลบกันแล้วมีกำไร สกุลเงินต่างประเทศไหลเข้าสร้างแรงซื้อเงินบาทจึงทำให้เงินบาทแข็งค่า แต่ถ้าดุลการชำระเงินเป็นลบก็เหมือนขาดทุน สกุลเงินบาทไหลออกนอกประเทศเป็นแรงขายเงินบาทจึงทำให้เงินบาทอ่อนค่า
เรื่องแรกที่จะส่งผลต่อดุลการชำระเงินโดยตรงคือการนำเข้าและการส่งออก การส่งออกของประเทศไทยในปีนี้ไม่สดใสนัก โดยในครึ่งปีแรกหดตัวลงถึง 5.5 เปอร์เซ็นต์ตามเศรษฐกิจโลก ประกอบการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวดีเพราะประเทศจีนซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวสำคัญก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ ขณะที่สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าคือสินค้าจำเป็นจำพวกเชื้อเพลิง เมื่อหักกลบลบกันก็เท่ากับว่าเงินไหลออกมากกว่าเงินไหลเข้า สร้างแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่านั่นเอง
เรื่องที่สองคือเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ปัจจุบันโลกของการลงทุนเชื่อมต่อกันทั่วโลกนักลงทุนจึงมีตัวเลือกมากมายในตลาดและพร้อมจะย้ายเงินลงทุนเพื่อไปยังประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะยาว ปีนี้เป็นปีที่ไม่สดใสนักสำหรับภาคการเงินไทย นับตั้งแต่ต้นปีมีกระแสเงินไหลออกจากตลาดหุ้นสุทธิกว่า 1.5 แสนล้านบาท และตลาดตราสารหนี้อีก 1.35 ล้านบาทซึ่งสาเหตุสำคัญก็เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาที่สูงกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่ไม่ค่อยสดใส และกลุ่มหุ้นไทยส่วนใหญ่ที่แทบไม่มีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
นอกจากสองปัจจัยข้างต้นที่ส่งผลโดยตรงต่อกระแสเงิน ค่าเงินยังผันผวนตามตัวแปรอย่าง ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน หนี้สาธารณะ อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงและความน่าสนใจทางเศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วยปัจจัยส่งผลกระทบที่มากมายหลายหลาก ทำให้ยากที่จะคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างแม่นยำ
เงินบาทอ่อนกระทบใครบ้าง?
เราคงเคยเรียนกันมาบ้างว่าค่าเงินบาทอ่อนจะกระทบต่อผู้นำเข้าสินค้าและบริการ คนที่วางแผนจะไปท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงคนที่มีหนี้สินในสกุลเงินต่างประเทศ
ผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อนแม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวเพราะคนส่วนใหญ่คงไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการทำธุรกิจนำเข้า แต่ความจริงแล้วอาจใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะสินค้าอันดับต้นๆ ที่ไทยนำเข้าคือน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อให้เราไม่ได้เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ แต่ต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแบบยกแผง เนื่องจากต้นทุนพลังงานจะเป็นส่วนที่แฝงฝังอยู่ในราคาสินค้าทุกอย่าง เมื่อต้นทุนเพิ่มเหล่าผู้ประกอบการก็ต้องเพิ่มราคาเพื่อรักษาส่วนกำไรของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลมากเกินไปในภาวะเงินบาทอ่อนค่า ยิ่งถ้าเป็นความผันผวนในระยะสั้นก็อาจยังไม่ส่งผลมากนักเพราะผู้นำเข้าส่วนใหญ่มักจะมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและป้องกันความเสี่ยงด้วยตราสารอนุพันธ์อยู่แล้ว ความผันผวนดังกล่าวจึงจะยังไม่สร้างผลกระทบในทันที นอกจากนี้
ค่าเงินบาทอ่อนก็เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน
คือมีทั้งผลกระทบเชิงลบและเชิงบวก
เงินบาทอ่อนมีประโยชน์ไหม?
การที่เงินบาทอ่อนจะช่วยให้สินค้าและบริการของประเทศไทยราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบซึ่งจะทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในด้านราคากับสินค้าชาติอื่นๆ เช่นเดียวกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากราคาถูกลงนั่นเอง
หากเทียบกับช่วงต้นปีที่อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐก็จะเปรียบเสมือนว่าสินค้าและบริการของไทยราคาปรับตัวลดลงราว 15 เปอร์เซ็นต์ทั้งกระดาน
อย่างไรก็ตาม ข้อความข้างต้นคือการให้เหตุผลในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เช่นในภาคการส่งออกปัจจุบันที่ไม่สดใสเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การที่ค่าเงินบาทไทยอ่อนลงอาจช่วยเรื่องการส่งออกได้บ้าง แต่ก็อาจไม่ได้มากมายอะไรเพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคาสินค้าแต่อยู่ที่ความต้องการซื้อของตลาดโลกมากกว่า
เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่คอยพยุงเศรษฐกิจไทยอยู่เนืองๆ แต่จากเหตุสะเทือนขวัญใจกลางห้างสรรพสินค้าย่านสยามเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนก็เริ่มไม่มั่นใจว่าการที่ค่าเงินบาทอ่อนจะจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาไทยได้หรือไม่ เพราะพวกเขาอาจยังกังวลเรื่องความปลอดภัยและเลือกไปประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น ที่ค่าเงินก็อ่อนยวบเช่นกัน
แล้วเมื่อไหร่เงินบาทจะแข็งค่า?
คำตอบคือผมก็ไม่รู้เหมือนกัน!
เนื่องจากค่าเงินมีความผันผวนจากหลายปัจจัย ถ้าใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าค่าเงินจะขยับไปทางไหนรบกวนกระซิบบอกสักหน่อย เพราะรับรองว่ารวยเละอย่างแน่นอน
ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้เขียนมักจะพึ่งพาข้อมูลในตลาดซื้อขายล่วงหน้าโดยหวังว่าเหล่านักลงทุนที่ลงเดิมพันเงินในกระเป๋าจะสามารถคาดการณ์ค่าเงินได้แม่นยำ ซึ่งข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ตลาดซื้อขายล่วงหน้าบอกว่าอัตราแลกเปลี่ยนในเดือนธันวาคมจะอยู่ที่ 36.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวบอกโดยนัยว่านักลงทุนคาดว่าค่าเงินบาทไทยจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยโดยไม่อ่อนค่าลงไปมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม ทุกคนคงทราบดีว่านักลงทุนไม่ได้คาดการณ์ถูกต้องเสมอไป เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภาคการส่งออกและการลงทุน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางสหรัฐ ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน และอีกสารพัดตัวแปร
ถึงตรงนี้ทุกคนคงจะทำใจให้สงบลงได้บ้าง ตราบใดที่การผันผวนยังไม่รุนแรงแบบชั่วข้ามคืน เศรษฐกิจไทยก็คงไม้เกิดวิกฤตเหมือนกับคราวต้มยำกุ้ง แม้การเปิดเสรีและใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวจะดูน่ากลัวราวกับนั่งรถไฟเหาะ แต่การอ่อนค่าและแข็งค่าของเงินตราก็เปรียบดั่งระบบอัตโนมัติที่จะช่วยปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้เข้าที่เข้าทางและสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงในระยะยาว