คนจำนวนไม่น้อยอดไม่ได้ที่จะรู้สึกหวั่นใจเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเริ่มขยับเข้าใกล้ 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เงินบาทที่อ่อนยวบชวนให้ระลึกถึงความทรงจำอันเลวร้ายคราววิกฤตต้มยำกุ้งที่ยังทิ้งแผลใจร่วมสมัยไว้ให้คนหนึ่งช่วงอายุคน ภาพอดีตเศรษฐีที่กลายเป็นบุคคลล้มละลายในชั่วพริบตา ตึกระฟ้าที่ถูกทอดทิ้งให้กลายเป็นตึกร้าง เศรษฐกิจซบเซายาวนานและระบาดไปทั่วทั้งภูมิภาคคือภาพจำของเหตุการณ์ที่ฝรั่งขนานนามว่า ‘วิกฤตการเงินแห่งเอเชีย ค.ศ.1997’
แม้แต่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีที่มีวลีเด็ดคือ ‘ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้’ ยังออกคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าพบปะหารือเพื่อหาทางตรึงเงินบาทที่อัตรา 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเกรงว่าประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันยุคต้มยำกุ้งอาจอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่า ‘เงินบาทอ่อน’ เลวร้ายอย่างที่เขาว่ากันจริงๆ หรือ และเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังเดินหน้าสู่ความล่มสลายซ้ำรอยเดิมในอดีตหรือเปล่า ผู้เขียนขอใช้บทความนี้คลายความสงสัยไปทีละเปลาะ ตั้งแต่ผลกระทบจากเงินบาทอ่อนไปจนถึงคำถามคาใจว่าเงินบาทจะอ่อนไปถึงเมื่อไหร่กัน
หรือนี่คือต้มยำกุ้งปี V.2?
ผมอยากให้ผู้อ่านสบายใจได้เลยครับว่าสถานการณ์ในปัจจุบันต่างกันโขเมื่อเทียบกับคราววิกฤติ พ.ศ. 2540
ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้ใกล้เคียง 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเนิ่นนานนับสิบปี ส่งผลให้เหล่านักลงทุนและนักธุรกิจ ‘คาดการณ์’ ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะคงที่เช่นนั้นตลอดไป แต่ทุกอย่างกลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้เงินบาทอ่อนยวบในชั่วข้ามคืนจนคนจำนวนไม่น้อยปรับตัวไม่ทันและนำไปสู่วิกฤตในที่สุด
นับตั้งแต่วันนั้น ประเทศไทยก็ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้การจัดการ ซึ่งค่าเงินจะผันผวนไปตามกลไกตลาด แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวเร็วเกินไป ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยื่นมือเข้ามาช่วยเพื่อรักษาเสถียรภาพ เหล่าผู้ประกอบการจึงทราบดีถึงความเสี่ยงดังกล่าว อีกทั้งปัจจุบันยังมีเครื่องมืออย่างตราสารอนุพันธ์ที่สามารถใช้บรรเทาความผันผวนอีกด้วย
แม้ค่าเงินบาทในปัจจุบันจะอ่อนปวกเปียกจนชวนให้นึกถึงเหตุการณ์คราวต้มยำกุ้ง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทคราวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่ทยอยอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อซึ่งส่งผลกระทบให้เงินแทบทุกสกุลอ่อนค่าลงแทบทุกประเทศเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เราจึงไม่ได้อยู่ในวิกฤตนี้เพียงลำพัง
ที่สำคัญ เงินสำรองระหว่างประเทศ หรือก็คือสารพัดสินทรัพย์และสกุลเงินต่างประเทศที่ใช้สำหรับรักษาเสถียรภาพค่าเงินของไทยก็ยังนับว่าไม่น่าห่วง โดยปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึงราว 43% ของ GDP มากกว่าหลายประเทศในแถบเอเชียไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย (27% ของ GDP) ฟิลิปปินส์ (24% ของ GDP) เกาหลีใต้ (25% ของ GDP) อินเดีย (17% ของ GDP) และอินโดนีเซีย (10% ของ GDP)
ใครได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน?
เราเรียนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมว่าค่าเงินอ่อนจะช่วยเรื่องส่งออกเพราะสินค้าของเราจะถูกลงโดยเปรียบเทียบ
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นหากฝรั่งอเมริกันมาเที่ยวเมืองไทย จากแต่ก่อนที่พกเงินหนึ่งดอลลาร์ฯ มาแลกได้แค่ 30 บาท หากมาไทยวันนี้เงินหนึ่งดอลลาร์ฯ เท่ากันจะแลกเงิน 38.30 บาทหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 30% เลยทีเดียว ส่วนในฝั่งการส่งออกสินค้าก็คล้ายคลึงกันคือสินค้าจากไทยไปวางขายในสหรัฐฯ ก็จะมีต้นทุนถูกลงโดยเปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันอาจจะแปลกแปร่งไปสักหน่อยเพราะเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าอย่างโดดเดี่ยว แต่แทบทุกสกุลต่างอ่อนปวกเปียกกันหมดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนผมจึงขอเปรียบเทียบค่าเงินของประเทศที่เราส่งออกสินค้าไปจำหน่ายเป็นหลักห้าประเทศคือ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
ประเทศ | อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 กันยายน 2565 | เมื่อเปรียบเทียบกับต้นปี |
สหรัฐอเมริกา (USD) | 38.27 | บาทอ่อนค่าลงราว 15% |
จีน (CNY) | 5.38 | บาทอ่อนค่าลงราว 2% |
สหภาพยุโรป (EUR) | 37.24 | บาทแข็งค่าขึ้นราว 2% |
ญี่ปุ่น (JPY) | 26.75 | บาทแข็งค่าขึ้นราว 8% |
มาเลเซีย (MYR) | 8.31 | บาทอ่อนค่าลงราว 4% |
จะเห็นว่าภาคส่งออกไทยค่อนข้างได้เปรียบโดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่ทำการค่ากับสหรัฐอเมริกาเพราะค่าเงินบาทอ่อนลงมากเมื่อเทียบกับต้นปี อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นมากหากเทียบกับสกุลเงินเยนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของเราเช่นกัน ขณะที่คู่ค้ารายอื่นๆ อัตราแลกเปลี่ยนมีการปรับตัวเล็กน้อยแต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าตื่นตระหนกตกใจใดๆ
อีกภาคธุรกิจที่ต้องจับตาคือภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ เมื่อหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการระบาดของ COVID-19 นักท่องเที่ยวที่กลับมาเยือนไทยในช่วงไฮซีซั่นน่าจะนำเม็ดเงินมหาศาลมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเหล่านักท่องเที่ยวอเมริกันและจีนที่การท่องเที่ยวในไทยถือว่าค่อนข้างราคาถูก
ใครเสียประโยชน์จากเงินบาทอ่อน?
หากเงินบาทอ่อนช่วยเรื่องส่งออก ผู้ที่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มเติมก็คือธุรกิจนำเข้า แต่สถานการณ์ปัจจุบันอาจไม่ได้ตรงไปตรงมาเช่นนั้น เพราะประเทศคู่ค้าสำคัญที่เรานำเข้าสินค้ามูลค่ามหาศาลคือจีนที่เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับหยวน รองลงมาคือญี่ปุ่นที่เงินบาทแข็งปั๋งเมื่อเทียบกับเยน ที่น่ากังวลคือเหล่าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสามของเรา แต่ก็คิดเป็นมูลค่าเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าเงินบาทอ่อนคราวนี้ผลกระทบน้อยนะครับ เพราะเงินสกุลที่แข็งค่าคือดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของโลกในการกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ ไปจนถึงสารพัดสินค้าเกษตรและแร่มีค่า
ประเทศไทยปัจจุบันยังต้องนำเข้าเชื้อเพลิงมูลค่ามหาศาล อีกทั้งเชื้อเพลิงที่ผลิตในไทยก็อิงจากราคาตลาดโลกซึ่งอยู่ในหน่วยดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงในไทยแพงขึ้นโดยปริยายเมื่อแปลงค่าเงินดอลลาร์ฯ กลับมาอยู่ในสกุลบาทไทย ยังไม่นับสินค้าโภคภัณฑ์อย่างวัตถุดิบในการผลิตอาหารและสารพัดน้ำมันพืชซึ่งอิงจากราคาตลาดโลกในหน่วยดอลลาร์ฯ เช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้ต้นทุนค่าครองชีพพุ่งสูงซึ่งสะท้อนออกมาในรูปอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งเป็นประวัติการณ์
หลายคนอาจสงสัยว่าสินค้าก็ผลิตในไทย ทำไมต้องไปอิงกับราคาตลาดโลก?
คำตอบก็คือเราเป็นประเทศที่เปิดเสรีทางการค้า ตลาดภายในประเทศจึงเชื่อมโยงกับตลาดโลก หากรัฐบาลจำกัดราคาสินค้าภายในประเทศไม่ให้ขยับขึ้นตามกลไกลในตลาดโลก ผู้ผลิตย่อมตัดสินใจส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนภายในประเทศนั่นเอง
รัฐบาลควรจัดการอย่างไร?
ถ้าปัญหาคือเงินบาทอ่อน ทางออกแรกที่หลายคนนึกได้คือการทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นซึ่งสามารถใช้สองมาตรการหลักโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศโดยควักกระเป๋าจากเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ หรือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูสีคู่คี่กับสหรัฐอเมริกา
ทั้งสองมาตรการเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายเช่นนั้น ทางเลือกแรกต้องใช้เงินตราต่างประเทศมหาศาลเพราะเรากำลังงัดข้อกับกลไกตลาดที่ถูกดึงดูดโดยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนทางเลือกที่สองก็ไม่ต่างจากซ้ำเติมความยากลำบากของประชาชน เพราะจะทำให้ภาระดอกเบี้ยโดยเฉพาะหนี้บ้านพอกพูนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ ทั้งสองมาตรการนี้ไม่สามารถการันตีได้ว่าเงินบาทจะหยุดอ่อนค่า เพราะคู่ปรับของเราคือสกุลเงินที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก
แต่จากคำตอบของสองคำถามด้านบน เราคงพอเห็นภาพว่า ‘ค่าเงินอ่อน’ ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด หากปัญหาค่าครองชีพคือสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน คงจะดีกว่าถ้ารัฐบาลพยายามแก้ไขให้ตรงจุดโดยไม่ต้องไปยุ่มย่ามกับอัตราแลกเปลี่ยน
ทางเลือกที่น่าสนใจคือการจัดเก็บ ‘ภาษีลาภลอย’ (windfall tax) จากเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานเฉกเช่นนโยบายที่บังคับใช้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป บริษัทเหล่านี้ได้รับประโยชน์เต็มๆ จากราคาพลังงานในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและเงินบาทที่อ่อนค่า อ้าแขนรับทรัพย์ก้อนใหญ่ทั้งที่ไม่ได้เพิ่มพูนประสิทธิภาพการทำงานหรือคิดค้นนวัตกรรมใดๆ ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้บริษัทร่ำรวยบนความทุกข์ยากของประชาชน รัฐก็ควรจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากรายได้ส่วนเกินแล้วนำมาใช้บรรเทาภาระค่าครองชีพ
เงินบาทจะอ่อนไปถึงเมื่อไหร่?
หากมียกมือถามคำถามข้างต้น ผมก็คงหัวเราะแห้งๆ แล้วตอบกลับไปว่า ‘ถ้าผมรู้ผมก็คงรวยไปแล้ว!’
แต่หากอยากรู้จริงๆ ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปถึงเมื่อไหร่ ผมมีแนวทางเบื้องต้นคือการมองที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ตราสารอนุพันธ์ประเภทหนึ่งซึ่งเป็นการทำ ‘สัญญาจะซื้อจะขาย’ โดยมีการกำหนดสินทรัพย์อ้างอิง ราคา และปริมาณไว้ล่วงหน้าตัวอย่างเช่น ถ้าผมอยากแลกเงิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินบาทในเดือนธันวาคมปีนี้ ผมก็สามารถเดินเข้าไปในตลาดแล้วหาคนที่ยินดีจะทำสัญญาด้วย แล้วตกลงกันว่าจะแลกเปลี่ยนในอัตราเท่าไหร่
ข้อดีของการอ้างอิงราคาในตลาดคือราคานี้ไม่ได้เกิดจากการคาดการณ์ของผมหรือผู้เชี่ยวชาญคนใดเพียงคนเดียว แต่เป็นภาพสะท้อนความรู้ความเข้าใจของเหล่านักลงทุนและนักเก็งกำไรจำนวนมากในตลาดว่าพวกเขา ‘คิดเห็น’ อย่างไรต่ออัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต อีกทั้งตัวเลขนี้ยังไม่ได้มาจากการ ‘พูดลอยๆ’ แต่เป็นการเดิมพันที่ต้องเสียเงินจริงๆ โดยอิงจากข้อมูลที่มีอยู่ในมือ
ข้อมูลล่าสุดในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของไทยปรากฏว่า ยิ่งระยะเวลาผ่านไปนานเท่าใด เงินบาทก็มีแนวโน้มแข็งค่าเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยสัญญาที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในตลาดจะสิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือนธันวาคมมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 37.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่ากว่าอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันราว 10%
สภาวะตลาดเช่นนี้เรียกว่า ‘backwardation’ ซึ่งเป็นการบอกกลายๆ ว่านักลงทุนคาดว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในปัจจุบันเป็นเพียง ‘ช็อก’ ระยะสั้น และสถานการณ์ดังกล่าวจะค่อยๆ คลี่คลายส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในอนาคต
แต่อย่างที่บอกนะครับว่านี่คือ ‘การคาดการณ์’ ของคนจำนวนมากซึ่งอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมใช้วิธีการเดียวกันนี้คาดการณ์ราคาน้ำมันซึ่งผลปรากฎว่าเหล่านักลงทุนเก็งไว้ค่อนข้างแม่นยำเลยทีเดียวว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในอนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ครับผม ต่อให้เก่งแค่ไหน การคาดการณ์ที่ผิดพลาดก็ถือเป็นเรื่องสามัญของมนุษย์ปุถุชน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon