เหตุวางระเบิดหลายจุดใน กทม. ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม พ.ศ.2562 ยังเป็นปริศนาว่าเกิดขึ้นมูลเหตุจูงใจอะไร? และมีใครอยู่เบื้องหลัง? แม้จะจับกุมผู้ต้องสงสัยจากชายแดนใต้ได้จำนวนหนึ่ง แต่ผู้เกี่ยวข้องจากฝ่ายความมั่นคงบางคน ก็พยายามชี้นิ้วให้สังคมเข้าใจว่ามีมูลเหตุมาจากเรื่อง ‘การเมือง’
จากเหตุวางวัตถุต้องสงสัยหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ราวห้าโมงเย็นของวันที่ 1 สิงหาคม ที่ตอนแรกทางการให้ข่าวว่าเป็นเพียง ‘ระเบิดปลอม’ แต่เช้าตรู่วันถัดมา ชาวกรุงหลายๆ คนก็ต้องตื่นตะลึง เมื่อพบ ‘ระเบิดจริง’ และเหตุระเบิดจริงๆ ในหลายพื้นที่ ทั้งใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี, อาคารมหานคร, ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, กองบัญชาการกองทัพไทย ไปจนถึงซอยพระรามเก้า 57/1
หลังจากนั้นก็มีรายงานการพบวัตถุต้องสงสัยในพื้นที่ต่างๆ ทั้งสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดง, สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์หัวหมาก, ท่าเรือยอดพิมาน, สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง, ลานจอดจักรยานยนต์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฯลฯ แม้หลายจุดเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแล้ว จะพบว่า ‘ไม่ใช่ระเบิด’ ก็ตามที
ผ่านมา 7 วัน การคลี่คลายเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ไปติดตามกัน
วางระเบิดจริงกี่จุดกันแน่?
ตำรวจได้สรุปเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับระเบิด ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม พบว่ามี 8 สถานที่ รวม 14 จุด
- หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบระเบิด 2 ลูก (ลูกหนึ่งระเบิดปลอม อีกลูกเป็นระเบิดจริง)
- ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ทางเข้า-ออกอาคารบี เกิดเหตุระเบิด 2 ครั้ง
- กองบัญชาการกองทัพไทย เกิดเหตุระเบิด 1 ครั้ง
- สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี-อาคารมหานคร เกิดเหตุระเบิด รวม 2 ครั้ง
- สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เกิดเหตุระเบิด 1 ครั้ง (ตอนแรกแจ้งว่าเป็นสปอตไลต์แตก จริงๆ คือระเบิด)
- ไฟไหม้ร้านค้าย่านประตูน้ำ 4 จุด
- ไฟไหม้ร้าน Miniso ในห้างสรรพสินค้าสยามสแควร์วัน 1 จุด
- ไฟไหม้โซนขายตุ๊กตา ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน 1 จุด
โดยเหตุการณ์ในสถานที่ 1. – 5. พบว่าเป็น ‘ระเบิดแสวงเครื่อง’ มีลักษณะการประกอบระเบิดแบบเดียวกัน ส่วนสถานที่อื่นเป็นระเบิดแสวงเครื่องเพลิง
ส่วนที่ไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับจุดอื่นๆ คือเหตุระเบิดที่ซอยพระรามเก้า 57/1 ที่เป็นระเบิดปิงปองที่กลุ่มวัยรุ่นนำมาทิ้งไว้
จับกุมผู้เกี่ยวข้องได้แล้วกี่คน
หลังเกิดเหตุตำรวจก็จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ทันที 2 คน คือ ‘ลูไอ แซแง’ อายุ 22 ปี และ ‘วิลดัน มาหะ’ อายุ 29 ปี ผู้ต้องสงสัยวางระเบิดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ถูกจับกุมได้ตั้งแต่คืนวันที่ 1 สิงหาคม ที่ จ.ชุมพร ระหว่างนั่งรถทัวร์ลงใต้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานการจับกุมอะแบ หรือแบรี่ ไม่ทราบนามสกุล ผู้จัดหาระเบิดในการก่อเหตุได้แล้วที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ในเวลาต่อมา
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกมาเปิดเผยว่า ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยได้แล้ว 9 คน
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าทีมสืบสวนคดีระเบิด กทม. ให้ข้อมูลว่า ผลจากการสืบสวนผู้ร่วมก่อเหตุน่าจะมีราว 15 คน แต่บางคนหนีออกนอกประเทศไปแล้ว
มีข้อมูลจากแหล่งข่าวที่อยู่ในชุดสืบสวนของตำรวจระบุว่า จากพยานหลักฐานที่รวบรวมมาได้น่าจะขอศาลออกหมายจับได้แล้วอย่างน้อย 7 คน คือผู้ที่ก่อเหตุที่ย่านประตูน้ำ 4 คน ศูนย์ราชการ 2 คน และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 1 คน
มีวิธีการก่อเหตุอย่างไร
ชุดสืบสวนของตำรวจยังให้ข้อมูลว่า อะแบ หรือแบรี่ เดินทางมาดูลาดเลาสถานที่เตรียมก่อเหตุใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม โดยบินด้วยสายการบินภายในประเทศมาลงที่ดอนเมือง พร้อมวางแผนที่อพาร์ตเม้นต์แห่งหนึ่งใน กทม. จากนั้นนัดพบปะพรรคพวกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านรังสิต จ.ปทุมธานี โดยใช้ยานพาหนะคือโตโยต้า ยาริส สีขาว ก่อนจะนัดหมายมอบระเบิดให้กับลูไอและวิลดันที่ห้างสรรพสินค้าเจเจมอลล์ เพื่อนำไปวางไว้ด้านหน้า สตช. ในวันที่ 1 สิงหาคม
โดยในวันเกิดเหตุ ทางตำรวจอ้างว่า ลูไอและวิลดันนั่งรถทัวร์จาก จ.ยะลา มา กทม. ลงที่หมอชิตช่วงเช้าวันที่ 1 สิงหาคม เปลี่ยนชุด 1 ครั้ง รับระเบิดจากอะแบ นั่งแท็กซี่ไปสยามพารากอน เปิดสวิตซ์ระเบิดนำไปวางไว้หน้า สตช. และกลับมาเปลี่ยนชุดอีกครั้งที่ชั้น G ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน แล้วเรียกแท็กซี่ไปหมอชิต เปลี่ยนชุดอีก 1 ครั้ง ก่อนจะนั่งรถทัวร์ลงใต้ก่อนจะถูกจับที่ จ.ชุมพร
สำหรับผู้ก่อเหตุในจุดอื่นๆ ก็ขึ้นจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มาดูลาดลาดก่อนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยไม่ได้นำระเบิดติดตัวมาด้วย แต่มารับระเบิดภายในพื้นที่ กทม.
ไม่กี่วันก่อน ตำรวจยังเข้าตรวจค้นอพาร์ตเม้นต์แห่งหนึ่งภายในซอยรามคำแหง 53 ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดที่ผู้ต้องสงสัยใช้ประกอบระเบิดก่อนนำไปไว้ในจุดต่างๆ
ทำไปเพื่ออะไร ใครอยู่เบื้องหลัง
เชื่อว่าเป็นคำถามที่ทุกคนสนใจ คือใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ และทำไปเพื่ออะไรกันแน่ ?
ผู้ต้องสงสัยที่จับกุมได้จนถึงปัจจุบันจำนวนหนึ่งมาจากชายแดนใต้ และหลายสื่อเคยรายงานข่าวด้วยว่า สาเหตุการก่อเหตุอาจเป็นการตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้ แต่ทางโฆษกรัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว
คนที่ฟันธงตั้งแต่เกิดเหตุแรกๆ ก็คือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ว่าผู้ก่อเหตุเป็น ‘พวกเดิมๆ’ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดช่วงปีใหม่ 2549 หลังการรัฐประหารของ คมช. ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาขยายความอีกครั้งว่า พวกเดิมๆ ที่ว่า หมายถึง mastermind เป็นคนที่ไม่ยอมรับกฎกติกา ไม่ยอมชอบใช้เวทีสภาในการแก้ไขปัญหา
แต่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มองว่า ถึงระเบิดที่เกิดขึ้นในไทย 80-90% จะเชื่อมโยงกับการเมือง “แต่ยากจะรู้จุดประสงค์ที่แท้จริง หรือรู้ตัวกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง” เพราะคนเหล่านี้วางแผนกันเป็นขั้นเป็นตอน
ปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ
หลังจากเหตุใหม่ๆ หลายฝ่ายก็นำคำหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อ ‘เลือกความสงบจบที่ลุงตู่’ กลับมาตั้งคำถาม ขณะที่แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นระเบิดที่หวังกลบปัญหาในขณะนี้ของรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีนายกฯ อาจทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญญาณไม่ครบถ้วนหรือไม่
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดอย่างแข็งขัน โดยบอกว่า “อย่าให้ไปบิดเบือนว่ารัฐบาลเป็นคนทำเอง ไม่มีรัฐบาลบ้าที่ไหนทำแบบนั้นหรอก เว้นแต่คนที่อยากเป็นรัฐบาลแล้วคิดจะทำ”
ส่วนครอบครัวของผู้ต้องสงสัยบางรายที่ถูกจับกุมไปแล้ว โดยเฉพาะลูไอและวิลดัน ก็ยังเชื่อในความบริสุทธิ์ของสมาชิกครอบครัวตัวเอง
ขณะที่บางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจ กรณีจับกุมผู้ก่อเหตุใน กทม. ได้ที่ จ.ชุมพร แต่กลับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในภาคใต้ นำตัวไปควบคุมไว้ที่ศูนย์พิทักษ์สันติของตำรวจที่ จ.ยะลา ว่าจะเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่
เหล่านี้คือข้อมูลโดยสรุป เกี่ยวกับเหตุระเบิดหลายจุดใน กทม. หลังเวลาผ่านมา 1 สัปดาห์เต็ม
– ที่มาภาพปก: AFP