‘รถเมล์’ เป็นขนส่งมวลชนที่อยู่คู่ประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่ถ้าถามว่านานแค่ไหนก็คงเดาได้ไม่ยาก เพราะดูจากสภาพรถ อายุก็คงไม่ใช่น้อยๆ เผลอบางทีเราอาจจะเคยขึ้นรถเมล์คันเดียวกับคุณตาคุณยายเลยก็ว่าได้
ซึ่งนั่นก็คือ ‘ปัญหา’ ที่ทำให้รถเมล์ไทยถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความที่อยู่มานาน แต่ไม่ได้ถูกบูรณะตามยุคสมัยอย่างเต็มที่ ทั้งสภาพรถ ระบบการจัดการ และการให้บริการ จึงทำให้ใครหลายคนถึงกับหันหลังให้กับรถเมล์ ไปเลือกใช้ขนส่งมวลชนอื่นๆ แทน และก็ผลการรายงานประจำปีก็เผยว่า ผู้ใช้บริการรถเมล์ในปัจจุบันน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่ถึงหลายคนจะบอกลารถเมล์ไทยไปแล้ว แต่อีกมุมหนึ่ง ก็ยังมีกลุ่มคนที่หลงใหลในรถประจำทางหลากสี และมีความฝันอยากจะเห็นรถเหล่านี้พัฒนาให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับของต่างประเทศ นั่นก็คือ ‘ชุมชนคนรักรถเมล์’ เพจเฟซบุ๊กที่อัปเดตความเคลื่อนไหวและข่าวประชาสัมพันธ์ในแวดวงการรถเมล์ รวมถึงเล่าประวัติบอกต่อความเป็นมาของรถเมล์แต่ละสายได้อย่างเจาะลึกและละเอียด
The MATTER จึงติดต่อ คุณอ่ำ หรือ มารุต จันทน์โรจน์ ผู้ดูแลเพจชุมชนคนรักรถเมล์และเว็บไซต์ bangkokbusclub.com ซึ่งมีความสนใจในเรื่องราวของรถเมล์มาเป็นเวลานาน เพื่อพูดคุยถึงปัญหาของรถเมล์ไทยในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ในการพัฒนารถเหล่านี้ในอนาคต
ถ้าพร้อมแล้วก็ออกรถกันเลย
ทำไมถึงสนใจรถเมล์ไทย สนใจมานานแล้วหรือยัง?
จริงๆ ชอบรถเมล์ตั้งแต่ 4-5 ขวบแล้วครับ ประมาณปี พ.ศ.2535-2536 เพราะเดิมทีที่บ้านไม่มีรถ ก็เลยได้นั่งรถเมล์เป็นประจำตั้งแต่เด็ก ด้วยความเป็นเด็กผู้ชายก็จะสนใจรถ รู้สึกว่าเท่ดี พอโตมาก็เก็บรายละเอียดมากขึ้น
สนใจเฉพาะรถเมล์ไทย หรือสนใจรถเมล์ทั่วโลกเลย?
ไม่ได้สนใจของต่างประเทศขนาดนั้นครับ
เสน่ห์ของรถเมล์ไทยคืออะไร?
ด้วยความที่ตอนนั้นผมเป็นเด็ก ผมเลยชอบรูปลักษณ์ของมันมากกว่า ในยุคที่มันยังดูใหม่ๆ อยู่นะ (หัวเราะ)
มีประสบการณ์ที่จำไม่ลืมเกี่ยวกับการขึ้นรถเมล์มั้ย?
เคยรอดตายเพราะขึ้นรถเมล์คันนั้นไม่ทัน น่าจะประมาณช่วง ม.2 ตอนนั้นรถเมล์คันที่จะกลับออกตัวก่อนที่ผมจะเดินลงสะพานลอย ก็คือวิ่งไปขึ้นไม่ทันนั่นแหละ ปรากฏว่ารถคันนั้นมีช่างกลยิงกัน ตรงป้ายรถเมล์ก่อนถึงบ้านผม ถ้าเกิดผมขึ้นรถคันนั้นทันก็คงจะอยู่ในเหตุการณ์นั้นพอดี แต่พอดีขึ้นไม่ทันก็เลยรอดไป เฉียดตาย (หัวเราะ)
วัตถุประสงค์ของการตั้งเพจ ‘ชุมชนคนรักรถเมล์’ คืออะไร?
หลักๆ ก็ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร หรือการเปลี่ยนเส้นทางรถ อะไรที่เป็นสิ่งที่ผู้โดยสารต้องรู้ ทางเพจก็จะพยายามหาข่าวมากรอง แล้วก็จะรีบบอกทันที บางเรื่องก็เพื่อที่จะให้ผู้โดยสารได้เตรียมตัวทัน อาจจะมีการแชร์ข่าวสารด้วย ถ้ามีแหล่งข่าวจากต้นทางก็จะช่วยแชร์อีกที นอกจากนั้นก็จะเป็นคอนเทนต์สำหรับคนรักรถเมล์ สิ่งที่คนสนใจรถเมล์น่าจะชอบ อย่างผมก็จะเป็นประเภทนึกถึงอดีต ก็จะพาไปดูรถเมเมล์อดีต เล่าเรื่องราวในอดีต
ในเพจดูเนิร์ดเรื่องรถเมล์มากเลย รู้ทุกรุ่นทุกสาย ไปหาข้อมูลมาจากไหน?
ช่วยๆ กันหาครับ ส่วนใหญ่ของผมจะเป็นข้อมูลในอดีต เพจนี้จะมีหลายรูปแบบ ก็คือข้อมูลปัจจุบัน ข้อมูลประชาสัมพันธ์ แล้วก็ข้อมูลที่เป็นประวัติในอดีต อันนี้จะเป็นงานของผม
ในฐานะคนที่ติดตามรถเมล์ไทยมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราเห็นปัญหาอะไรบ้าง?
อย่างที่พวกเรามองเห็นอันดับแรกก็คือ สภาพรถที่เกินอายุที่ควรจะเป็น แต่รถที่ยังอยู่ที่วันนี้ บางคันมันกลับกลายเป็นรถที่ทนกว่ารถรุ่นใหม่ ๆ ที่เข้ามาแล้วไม่ทน ปลดระวางไปก่อน เมื่อมีรถรุ่นใหม่เข้ามา มันก็จะไปแทนรถที่ปลดระวางเพราะมีปัญหา มากกว่ามาแทนรถที่อายุใช้งานมากแต่ทน เราจึงเห็นรถครีมแดงยังคงให้บริการอยู่ถึง 29 ปี
มีปัญหาอะไรบ้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย?
เรื่อง ‘เส้นทาง’ ครับ ถ้าอย่างสภาพรถ บางรุ่นก็อาจจะปลดระวางไป แล้วก็มีรุ่นใหม่เข้ามาแทน ส่วนการบริการ โดยรวมผมว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ที่เป็นปัญหาและกระทบจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องเส้นทางที่ไม่อัปเดต หนึ่งคือเรื่องของการทับซ้อน แต่การทับซ้อนแล้วมีประโยชน์ก็มีนะ แต่ปัญหาจริงๆ คือเมื่อเมืองขยายมากขึ้น การให้บริการรถเมล์ยังเป็นเส้นทางเดิมๆ สายเดิมๆ อยู่ ไม่มีการอัปเดตเส้นทาง ไม่มีการสำรวจความต้องการของคนที่เพิ่มขึ้น ทำให้พอมีเส้นทางใหม่ๆ ไม่มีรถเมล์เข้าไปให้บริการ กลายเป็นว่ามีรถสองแถวเข้าไปแทน หลังจากนั้นพอรถเมล์เข้าไป ก็เลยกลายเป็นระบบขนส่งมันชนกัน รถสองแถวก็โวยอีก ทำให้เปิดเส้นทางให้กับรถเมล์ยาก ทั้งๆ ที่ตอนเปิดถนนใหม่ๆ รถเมล์ควรจะรีบเข้ามาจัดการทันที
แล้วปัญหาไหนที่เริ่มมีการพัฒนาปรับปรุงมากขึ้นแล้ว?
เรื่อง ‘จีพีเอส’ ครับ ตอนนี้เราสามารถติดตามตำแหน่งรถเมล์ได้มากขึ้นเกือบทุกสายแล้ว ผ่านแอปพลิเคชัน Viabus เมื่อก่อนเราอาจจะรอรถเมล์อย่างไม่มีความหวัง แต่ตอนนี้เรายังพอมีความหวังอยู่บ้าง อาจจะไม่ได้บอกว่าต้องรอกี่นาที เพราะตัวแปรสำคัญก็คือการจราจร แต่อย่างน้อยเราก็พอเห็นรถเมล์ในแอปพลิเคชั่น มันก็ทำให้วางแผนการเดินทางง่ายขึ้น ซึ่งรถของ ขสมก. ตอนนี้มีติดทุกคัน ยกเว้นรถที่เป็นรถเช่า
แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ผู้โดยสารทุกคน โดยเฉพาะคนที่ยังเข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟน หรือใช้แอปพลิเคชันพวกนี้ไม่เป็น
ใช่ครับ จริงๆ ควรจะมีจอแสดงสถานะรถที่ป้ายรถเมล์ด้วย เป็นมาตรฐานของป้ายรถเมล์ขนาดใหญ่ในต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งของกรุงเทพฯ ก็จะมีที่หน้าห้างสรรพสินค้า MBK ครับ
ที่ผ่านมารถเมล์ไทยทดลองอะไรไปแล้วบ้าง?
สิ่งที่เคยลองแล้วแต่ยังไม่สำเร็จก็คือ ‘ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ’ ครับ ทั้งที่เป็นตู้หยอดเหรียญ ทั้งที่เป็นระบบแบบใช้บัตร แต่สุดท้ายก็ยังต้องพึ่งพนักงานอยู่ดี ถ้าเราต้องเปลี่ยนมาเป็นระบบพวกนี้แปลว่ามันจะต้องไม่มีคนเก็บเงิน ซึ่งเคยทดลองแล้วก็เกิดการทุจริตกัน หมายถึงผู้โดยสารนะครับ เช่น บางคนไม่จ่ายเงิน หรือบางคนจ่ายโดยของที่มีลักษณะคล้ายเหรียญ แล้วมันไม่มีระบบตรวจสอบในส่วนนี้ รวมถึงลักษณะตัวรถที่อาจจะไม่เอื้อต่อการติดตั้งระบบ (ซึ่งต้องคำนึงถึงทางสัญจรภายในรถ)
ถ้าอย่างนั้นก็เหมือนเป็นการตัดช่องทางหาเลี้ยงชีพของใครหลายคนเลยน่ะสิ?
ผมมองว่ามันเป็นการพัฒนาเพื่อลดต้นทุนในการจ้างคนเก็บค่าโดยสารมากกว่าครับ ก็คงต้องค่อยๆ ปรับลดลงไป เพราะในต่างประเทศก็ไม่มีระบบที่ใช้คนเก็บเงินเหมือนกัน คือจริงๆ มันยังมีอยู่ได้ครับ แต่อาจจะต้องค่อยๆ เปลี่ยน หรือให้เขาไปทำหน้าที่ส่วนอื่นแทน เช่น งานธุรการ หรือประชาสัมพันธ์ อันนี้ในมุมที่อยากจะปรับให้ราบรื่นที่สุด ให้คนเดือดร้อนน้อยที่สุด
แต่เหมือนได้ข่าวว่าตอนนี้สแกนจ่ายได้แล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ข่าวนี้เลย?
ใช่ครับ แล้วก็ใช้บัตรด้วย ส่วนใหญ่จะประชาสัมพันธ์บนสื่อโฆษณาบนรถ แล้วเพจพวกผมก็ช่วยประสัมพันธ์ด้วย คิดว่าอาจจะต้องประชาสัมพันธ์มากกว่านี้ รวมถึงเพจทางการของเขาด้วย
คิดว่าค่าโดยสารตอนนี้สัมพันธ์กับคุณภาพของรถเมล์ที่เราใช้หรือเปล่า ทั้งรถแอร์และรถร้อน?
ค่าโดยสารตอนนี้ถูกกว่าต้นทุนตั้งนานแล้ว จริงๆ ต้นทุนของรถร้อนก็ไม่ใช่ราคานี้ แต่ถ้าถามว่าราคาที่ผู้โดยสารต้องจ่ายตอนนี้มันเหมาะสมหรือเปล่า ผมว่าแพงไป เช่น รถปรับอากาศสีฟ้า เมื่อก่อนเก็บตามระยะ 13 15 17 19 21 23 บาท รวมค่าทางด่วนแล้ว แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นระยะที่กว้างมากขึ้น ก็คือ 15 20 25 ยังไม่รวมค่าทางด่วนอีก 2 บาท
เดิมผมเคยนั่งสาย 141 จากคลองเตยไปวัดสน ซึ่งมันต้องขึ้นทางด่วน เสียค่าโดยสารทั้งหมด 13 บาท แต่ปัจจุบันต้องเสีย 22 บาท เท่ากับว่าผมต้องเสียเพิ่มเที่ยวละ 9 บาท เป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดมาก ถ้าคนไปทำงานทุกวัน ตีเป็น 20 วัน เพิ่มขึ้นวันละ 18 บาท (ไป-กลับ) แปลว่าต้องเสียเพิ่มอีก 360 บาทต่อเดือนเลย คือมันควรจะคิดราคาให้ละเอียดขึ้น นั่งตามไหนก็คิดตามนั้น ไม่ใช่ราคาที่ก้าวกระโดดเกินไป
แล้วในกรณีรถร้อน ถ้าเราเพิ่มค่าโดยสารเพื่อแลกกับคุณภาพของรถที่ดีขึ้น หรือจูงใจให้เอกชนเข้ามาร่วมด้วยมากขึ้น คิดว่าเป็นวิธีที่เวิร์กมั้ย?
ต้องถามว่ารถพวกนี้บริการให้ใคร ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รายได้น้อยใช่มั้ย ราคานี้ผมว่ามันก็เยอะอยู่ ตอนนี้ 8 บาท จากเดิมที่เคยเก็บ 3.50 บาท ครั้งสุดท้ายก็ตอนปี พ.ศ.2547 ผ่านมา 16 ปีแล้ว ถือว่าขึ้นมาเท่ากว่าๆ เหมือนกันนะ จริงๆ ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องมาแบกรับภาระเรื่องของสภาพรถด้วยการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเลย มันคือหน้าที่ของทางรัฐ หรือผู้ให้บริการมากกว่าที่ควรจะทำให้สภาพรถดีตลอด เพราะถ้าราคาแพงไป แล้วมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า รถเมล์ก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี
ก่อนหน้านี้ในโซเชียลถกเถียงกันว่า รถเมล์ควรจะปรับให้เป็นรถแอร์ทุกคัน แต่ถ้าอย่างนั้นผู้โดยสารก็ต้องจ่ายแพงขึ้น มองเรื่องนี้ว่ายังไงบ้าง?
เป็นรถแอร์หมดก็ดีนะ เพราะสภาพอากาศบ้านเราร้อน เพียงแต่จะต้องมีเงินสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ด้วย อาจจะมาจากรัฐบาลก็ได้ ในต่างประเทศก็มีระบบจ้างวิ่งเหมือนกัน ซึ่งมันก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ขับเคลื่อนได้ แต่ถ้าให้รถเมล์ได้รายได้จากผู้โดยสารส่วนเดียว ผู้ประกอบการก็ดูจะแบกรับมากเกินไป ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีเงินในการที่จะพัฒนา เหมือนที่เราเห็นว่าเอกชนต้องแข่งกันหนัก เพราะเขาได้รายไดด้จากราคาตามจริงที่ผู้โดยสารจ่าย ถ้าผู้โดยสารขึ้นมากก็ได้เงินมาก ผู้โดยสารขึ้นน้อยก็ได้เงินน้อย
แล้วการจ้างวิ่งมีปัญหาอะไรบ้างมั้ย?
ด้วยความที่ว่ามันเป็นระบบที่ต้องหาเงินเองจากผู้โดยสาร แล้วบางบริเวณที่มีผู้โดยสารน้อย เส้นทางนั้นก็จะถูกลดจำนวนรถลง ยกตัวอย่าง ชานเมือง หรือย่านลาดกระบัง มันเป็นย่านที่ผู้โดยสารอาจจะเบาบาง แต่ก็มีผู้โดยสารอยู่ ยังมีความต้องการรถเมล์อยู่ ซึ่งเขาจัดรถไว้ให้น้อย ผู้โดยสารก็เดือดร้อนมากขึ้น บางคนก็ออกรถใหม่ หรือใช้ขนส่งอื่นๆ ที่มาแทน เช่น รถสองแถว ถ้าเทียบกับรถเมล์ รถเมล์ก็ดีกว่า แต่ถ้าเทียบกับการลงทุนเป็นรถเมล์มันก็ไม่คุ้ม ดังนั้นการอุดหนุนเพื่อให้เกิดระบบรถเมล์ในการให้บริการเท่าเทียมในแต่ละพื้นที่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ
ตอนนี้รถเมล์ที่ดีที่สุดของบ้านเราคืออะไร?
รถปรับอากาศสีฟ้าที่เป็นชานต่ำครับ เพราะเป็นรถที่บริการรถเข็นของผู้พิการได้ บริการผู้สูงอายุ หรือผู้หญิงที่ใส่กระโปรงสั้น คนที่มีสัมภาระ
แล้วที่แย่ที่สุดล่ะ?
หลายคนจะคิดว่าเป็นรถครีมแดงครับ แต่ในมุมมองผม ผมว่าทุกรุ่นมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ รถครีมแดงมีสภาพอายุการใช้งานที่นานมาก อาจก่อให้เกิดมลพิษ แต่มันอยู่มากับระบบการซ่อมบำรุงที่ดีกว่ารถหลายรุ่น รวมถึงการประกอบที่ทนทานกว่าหลายรุ่นในปัจจุบันที่ปลดไปก่อน รถปรับอากาศบางรุ่นเป็นรุ่นใหม่ แต่เบาะนั่งกลับนั่งแล้วไม่สบายเลย ผมเป็นคนซีเรียสเรื่องแอร์และที่นั่งมาก เวลาขึ้นรถปรับอากาศ เลยรู้สึกว่ามันใหม่ก็จริง แต่ความสบายระหว่างเดินทางกลับสู้รถแอร์รุ่นเก่า ๆ ไม่ได้เลย และยังมีปัญหายิบย่อยอีกหลายอย่างครับ
รถที่เป็นพื้นไม้ล่ะ?
อันนั้นเป็นรถร้อนครับ แต่จริงๆ รถปรับอากาศบางคันก็เป็นพื้นไม้ แต่จะมีการกรุแผ่นโลหะทับอีกที โดยโครงสร้างพื้นฐานรถหลายคันจะเป็นพื้นไม้ อาจจะกรุด้วยวัสดุอื่นปิดหน้า เช่น แผ่นโลหะที่ใช้บนรถปรับอากาศครับ
ทำไมมันเกิดการเหลื่อมล้ำในเรื่องสภาพรถ บางคันดีก็ดีไปเลย บางคันโทรมก็โทรมไปเลย หน้าตาปิดไม่ได้บ้าง สนิมขึ้นบ้าง ทางออกมันควรจะเป็นยังไง?
ความหวังมันก็คือต้องทำให้ใหม่อย่างเดียวแล้วครับ จริงๆ ถ้าเอาไปซ่อมก็ทำได้ เอาไปทำให้ตัวถังมันดีขึ้น จะเปลี่ยนรถร้อนเป็นรถแอร์ก็ได้ แต่เขาจะมาลงทุนทำในตรงนี้หรือเปล่าเท่านั้นเอง หรือแม้กระทั่งรถปรับอากาศบางคัน ใช้ไม่กี่ปีก็ถูกปลดระวางไปก่อนรถร้อนก็มี เพราะตัวถังไม่ทน ระบบการซ่อมไม่ดี
แปลว่ารถเก่าๆ การประกอบและตัวถังดีอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องแปลงโฉมใหม่ให้ดีขึ้น?
แปลงใหม่ก็ดีครับ เพียงแต่ว่าเราต้องดูความจำเป็นอีกทีว่าเราใช้งานมากน้อยแค่ไหน เพราะเรามีรถชานต่ำแล้ว กลายเป็นว่าถ้าเราไปลงทุนต่ออายุรถชานสูงอยู่ ก็เท่ากับเราปิดโอกาสในการมีรถชานต่ำเพื่อคนสูงอายุหรือคนใช้รถเข็น โอกาสที่จะได้เห็นรถแบบนี้ก็น้อยลง เพราะเราไปต่ออายุให้กับรถที่ยุคหนึ่งมันทำหน้าที่ของมันได้ดีแล้ว อาจจะเหมาะกับการทำอย่างอื่นมากกว่า เรายังอยากให้มีรถชานต่ำเป็นหลักอยู่ เพียงแต่ว่ารถชานสูง หรือรถยุคเก่าอาจจะเหมาะกับการมาช่วยวิ่งในเส้นทางที่เป็นชานเมือง มีคนใช้น้อย หรือใช้ในเหตุการณ์ฉุกเฉินมากกว่า ไม่ได้นำมาใช้งานเป็นหลัก
อย่างน้อยถ้าเปลี่ยนเป็นรถชานต่ำเพื่อรองรับคนทุกกลุ่มได้ก็ดี รถที่มีอุปกรณ์พื้นฐานที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีระบบฟรีไวไฟหรือ usb เสียบได้ทุกเบาะ เอาแค่อุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นก่อนก็ได้ แล้วค่อยพัฒนาส่วนอื่นเสริมครับ
ในเรื่องของการให้บริการ ทำไมถึงควบคุมยากจัง อย่างเราจะเห็นคนขับขับแข่งกัน หรือกระเป๋ารถเมล์เอาลูกมาเลี้ยงบนรถ?
ตอบยากครับ (หัวเราะ) รถสาธารณะไม่ควรจะขับแบบนั้นอยู่แล้ว ก็ต้องอาศัยการร้องเรียน เพียงแต่ว่าบทลงโทษเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสอง ผมไม่แน่ใจว่ามันติดตามผลได้มากแค่ไหน หรือเป็นเคสหนักๆ ที่ออกสื่อ ที่มีการเรียกผู้ประกอบการ หรือเรียกคนขับมาเสียค่าปรับเฉยๆ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาแบบแมวจับหนู ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
โดยรวมแล้ว อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดทำให้แก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้คืออะไร?
ผมว่าเป็นเรื่องของเส้นทาง แล้วก็การไปแข่งกันเองในสนามเดิมๆ แทนที่จะเพิ่มเส้นทางให้กระจายมากขึ้น ให้แต่ละเส้นทางมีเอกลักษณ์ของตัวเอง อีกเรื่องก็คือทุนในการเดินรถ ควรจะมีคนสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย ไม่ใช่ให้ผู้โดยสารจ่ายในราคาที่แพงเกินไป ถ้าจ่ายแพงคนก็ไม่อยากขึ้น แล้วผู้ประกอบการก็จะแบกตรงนี้อยู่คนเดียว
ในฐานะผู้โดยสารและผู้เสียภาษี เรามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงคุณภาพรถเมล์ไทยยังไงบ้าง?
ในฐานะผู้ดูแลเพจ ผมกับทีมงานก็จะพยายามประชาสัมพันธ์ข่าวสารของรถเมล์ และด้วยความที่หาข้อมูลมานานและรู้ปัญหาของรถเมล์มากๆ ก็อยากจะมีพื้นที่ในการให้พวกเราได้เข้าไปร่วมพัฒนาด้วย เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่มีดีควรจะเป็นยังไง เพียงแต่เราไม่มีพื้นที่ในการเข้าไปพัฒนา ไม่มีเวทีให้เราเป็นกระบอกเสียงให้
แล้วในฐานะคนรักรถเมล์ ภาพรถเมล์ในอุดมคติเป็นยังไง?
ขอตอบกว้างๆ แล้วกันนะครับ ถ้าลงรายละเอียดน่าจะยาวมาก แต่จริงๆ คิดไว้หมดแล้ว คือรถเมล์ที่ดีควรจะเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากที่สุด ทั้งการดีไซน์ตัวรถ สภาพรถ เส้นทาง ระบบการให้ข้อมูล นอกจากรถเมล์แล้วก็ยังมีระบบอื่นที่สนับสนุนการใช้รถเมล์ด้วย เช่น ป้ายรถเมล์ มันควรจะง่ายต่อการเดินทางที่สุด แล้วยิ่งรถแต่ละคันก็ดูยากด้วย ทำเลขป้ายไม่เหมือนกันด้วย สีไม่เหมือนกันด้วย ทุกวันนี้เราจำราคารถเมล์กันแทบไม่ได้ เพราะรถมีหลายแบบมาก เลยรู้สึกว่ามันเข้าถึงยาก ไม่ค่อยเชิญชวนให้คนเข้ามาใช้บริการ
สิ่งที่ผมอยากให้เปลี่ยนก็คือเลขสาย เพราะเลขสายรถเมล์ในปัจจุบันไม่ได้บ่งบอกอะไรเลย ผมเคยคิดเรื่องของเลขสายใหม่ ให้มันบอกอะไรได้มากขึ้น เช่น ถ้าเห็น 50 นำหน้า ก็จะรู้ว่าไปทางพระราม 2 เห็น 20 นำหน้า ก็จะรู้แล้วว่าไปทางมีนบุรี