ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า
จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน นั้นไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยและ SMEs อีกด้วย หวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อ
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นพูดบนเวทีแถลงผลงานในช่วง 10 เดือน ภายใต้การนำของรัฐบาลนายเศรษฐาว่า “ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ”
The MATTER จึงพูดคุยกับนักเศรษฐศาสตร์มหภาค วิมุต วานิชเจริญธรรม รองศาสตราจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าความเป็นอิสระของแบงก์ชาติคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้าง
พัฒนาการความเป็นอิสระของแบงก์ชาติไทย
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติแต่ละประเทศแตกต่างกัน แต่หากรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยของทางแบงก์ชาติอยู่เรื่อยๆ ก็อาจทำให้คุมเงินเฟ้อไม่อยู่ อย่างเช่น ตุรกี ที่ประธานาธิบดีตุรกี มีทั้งการบีบให้ธนาคารกลางต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปลดผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศไปแล้วถึง 4 คน จนส่งผลให้ประเทศเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง สำหรับแบงก์ชาติไทย ธีระชัย ระบุว่า เราเคยเจอปัญหาความเป็นอิสระในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540
อ.วิมุต มองเรื่องนี้ว่า สถาบันการเงินล้มไปเยอะ ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้ม ตอนนั้นเลยเกิดสถาบันกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งคลังและแบงก์ชาติก็มีตกลงกันว่า แบงก์ชาติจะจ่ายเงินต้น ส่วนคลังจะจ่ายดอกเบี้ย แต่บังเอิญว่า แบงก์ชาติขาดทุน ไม่มีกำไรจ่ายเงินต้น ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ กระทรวงการคลังก็ไม่พอใจ เพราะปัญหานี้กระทบกับงบนโยบาย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าขาดความเป็นอิสระ หลังจากนั้นในสังคมไทยจึงเกิดความคิดที่ว่า หากปล่อยให้รัฐบาลมีอำนาจเหนือแบงก์ชาติมากเกินไปก็ไม่ดี จึงมีการแก้กฎหมายและให้ความเป็นอิสระกับแบงก์ชาติอย่างเต็มที่
ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ?
เว็บไซต์ของ ธปท. ระบุว่า ความอิสระในการดำเนินนโยบาย (Central Bank Independence) ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ธนาคารกลางมีความน่าเชื่อถือ และดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพการเงินได้
เนื่องจากธนาคารกลางเป็นองค์กรที่สามารถพิมพ์เงินได้เอง ‘ไม่จำกัด’ ขณะที่รัฐบาลคือผู้ที่ต้องการใช้เงิน ดังนั้น ธนาคารกลางจึงต้องมีความเป็นอิสระ เพื่อขีดเส้นระหว่างผู้พิมพ์เงินและผู้ใช้เงินออกจากกัน และเพื่อให้ธนาคารกลางมีความเป็นอิสระ สามารถดูแลเงินเฟ้อได้ดี และไม่ได้เป็นปัจจัยลบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
บทความของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรื่องความสำคัญของความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ยังระบุว่า ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ และ รัฐบาลและธนาคารกลางต่างมีหน้าที่และบทบาทที่ตนเองต้องรับผิดชอบ ซึ่งต้องหารือกัน ไม่ใช่แทรกแซงกัน เพื่อให้เกิดการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานที่สำคัญลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน
สอดคล้องกับคำตอบของ อ.วิมุต “แบงก์ชาติต้องเป็นอิสระ” โดยเขายกตัวอย่างว่า การจะขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย ล้วนเป็นเครื่องมือที่แบงก์ชาติใช้เพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจ ไม่ก็นโยบายการเงิน ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักแบงก์ชาติในการทำนโยบายการเงินของประเทศ
แต่อาจพูดได้ว่า ‘เป้าหมาย’ ของแบงก์ชาตินั้นไม่ได้เป็นอิสระ เนื่องจากเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน ต้องเป็นการตกลงกันระหว่างการคลังและธนาคารกลาง เช่น ปัญหาเงินเฟ้อว่าทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง
“ทว่าการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติอีกที เพราะมีอิสระที่จะทำตามเห็นสมควร เพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ”
อ.วิมุต เสริมว่า หากต้องการให้แบงก์ชาติมีอิสระในการใช้เครื่องมือจริงๆ เพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองไม่ควรมาแทรกแซง นอกจากนี้ เขายังอ้างอิงถึงคำพูดของแพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวว่า กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญมากๆ ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ
ว่ามีข้อบกพร่องอยู่ เนื่องจากแบงก์ชาติไม่ได้จะเป็นอิสระจากรัฐบาล หรือ แยกเป็นเอกเทศเลย ต้องเข้าใจก่อนว่า ความเป็นอิสระดังกล่าวคือ อิสระในการใช้เครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เห็นร่วมกันกับการคลัง
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าการพูดถึงแบงก์ชาติในลักษณะนี้เหมือนเป็นการปูทางให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้คลังสามารถปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้
อ.วิมุตเล่าย้อนให้ฟังว่า ก่อนที่ พ.ร.บ.ธุรกิจการเงิน ปัจจุบันจะออกมา เคยมีการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติในยุครัฐบาลทักษิณ รวมถึงรัฐบาลยุคก่อนหน้านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองเคยมีการกดดันผู้ว่าแบงก์ชาติมาก่อนเช่นกัน เพื่อให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล
”การรักษาเงินเฟ้อให้ต่ำ เพื่อให้เงินบาทมีเสถียรภาพเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การพยายามทำให้ผู้ว่าแบงก์ชาติอยู่ใต้อำนาจรัฐมนตรีคลังเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ”
ไม่ลดดอกเบี้ย กระทบประชาชนที่มีรายได้น้อย?
อ.วิมุต ตอบว่า อย่างแรกถ้ารัฐบาลจะช่วยประชาชนเรื่องดอกเบี้ย ต้องคิดก่อนว่ามันคือดอกเบี้ยอะไร เพราะการที่ธนาคารจะปล่อยเงินกู้ ธนาคารก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง จนมีการแบ่งชนชั้นลูกค้า ทั้งลูกชั้นดี ลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้ารายย่อย
ฉะนั้น ประชาชนส่วนใหญ่คงไม่ใช่ลูกค้าชั้นดี ดังนั้นผลประโยชน์ของการลดดอกเบี้ยก็ส่งผลกับคนที่ไม่ผิดนัดชำระ ไม่ใช่กับคนที่กำลังเดือดร้อน ที่เป็นกลุ่มที่แทบไม่มีกำลังจะจ่ายดอกเบี้ยคืน และมักจะผิดนัดชำระ
เขาระบุต่อ นอกจากนี้ การที่รัฐบาลสั่งให้ธนาคารไปลดดอกเบี้ยให้กลุ่มดังกล่าวอีก พวกเขาก็คงไม่ทำตาม เพราะจะเกิดหนี้เสียจำนวนมหาศาล ดังนั้น ความต้องการของรัฐบาลที่ต้องการให้ลดเบี้ยให้ประชาชน ต้องลองดูดีๆ ว่าจะตกมาถึงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ หรือเปล่า
ดอกเบี้ยไทยต่ำมากแล้ว หากเทียบกับประเทศอื่น
อ.วิมุต ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก หรือ อยู่ที่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ฉะนั้น การลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ ในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
สรุปแล้วรัฐบาลต้องย้อนคิดว่า การดำเนินนโยบายของตนสอดคล้องกับพันธกิจของธนาคารกลางหรือเปล่า คำพูดที่ว่า นโยบายของแบงก์ชาติไม่สอดคล้องกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ นั้นไม่ถูกต้องเพราะดอกเบี้ยเราต่ำมากแล้ว ควรไปย้อนดูที่ต้นตอของปัญหาดีกว่า ว่าทำไมเศรษฐกิจเราถึงไม่เติบโต เช่น ความสามารถในการแข่งขัน การลงทุน ศักยภาพของแรงงาน
“รัฐบาลควรใช้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการหารือกับแบงก์ชาติ แต่ต้องฟังเสียงและเข้าใจเขาด้วย เพราะธนาคารกลางมีพันธกิจที่ตกลงไว้กับรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น หากรัฐบาลต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องไปปรับที่เป้าหมายหรือนโยบายและปรึกษากับแบงก์ชาติในปีต่อๆ ไป” อ.วิมุต กล่าวปิดท้าย