ทุกคนล้วนมีวันที่กลับบ้านมาแล้วทิ้งตัวลงบนเตียง ยกมือขึ้นก่ายหน้าผาก พร้อมทบทวนสาเหตุของความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้น แต่เรามักจะนึกถึงแต่ความเหนื่อยล้าจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ หรือนึกถึงความเครียดที่มองเห็นผลกระทบได้อย่างชัดเจน จนลืมนึกถึงความหงุดหงิด ความกังวลใจเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน
ในหนึ่งวันเราเจอเหตุการณ์มากมาย ตั้งแต่ลืมตาตื่น หยิบมือถือมาเช็กโซเชียลมีเดีย ก้าวขาออกจากบ้านไปทำงาน จนกระทั่งกลับมาอาบน้ำนอน บางวันเราเหมารวมว่าเป็นวันที่ดี บางวันเราก็เหมารวมว่าเป็นวันที่แย่ จากการประเมินความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้น แต่บางวันเราก็ประเมินผิดจากความเป็นจริง เพราะพยายาม ‘มองข้าม’ เรื่องขี้ปะติ๋วที่สร้างความเครียดเล็กๆ น้อยๆ แล้วปัดว่าก็เป็นวันทั่วๆ ไปที่อาจจะมีเรื่องแย่หรือเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นได้บ้าง
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ในเมื่อความคิดนั้นช่วยพยุงสุขภาพจิตของเราให้ผ่านแต่ละวันไปได้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เรื่องขี้ปะติ๋วนั้นดันเกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกวัน จนวันหนึ่งมันกลายเป็นจุดพลิกผันในชีวิต แบบที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว
เล็กน้อยแต่เรื้อรัง สุขภาพจิตพังโดยไม่รู้ตัว
ไม่แปลกที่เราไม่รู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นปัญหาในชีวิต เพราะบางเรื่องดูจะเป็นปัญหาที่เล็กน้อยระดับไมโคร (micro-stress) จนเราไม่สามารถสัมผัสถึงความเดือดร้อนของมันได้ แต่ในความจริงเราเผชิญหน้ากับปัญหานั้นๆ เกือบทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที และต้นตอก็มาจากอะไรที่เราคาดไม่ถึง เช่น แฟน เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว ไปจนถึงคุณภาพชีวิตอันต้อยต่ำที่เรายอมจำนน ยกตัวอย่าง เพื่อนร่วมงานคนเดิมที่ชอบทักเราทุกวันว่า “ใส่เสื้อซ้ำอีกแล้ว, ไปทำอะไรมาสิวขึ้นเต็มหน้าเลย, ทำไมวันนี้หน้าดูโทรมจัง” หรือฟุตปาธระหว่างทางไปออฟฟิศที่ผุพังเหมือนพื้นผิวบนดวงจันทร์ เดินสะดุดจนเท้าพลิกบ่อยๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากบ่นว่าเป็นความซุ่มซ่ามของตัวเอง
มีผลการสำรวจในประเทศอังกฤษ พบว่า ผู้คนต้องเผชิญกับความเครียดระดับไมโครถึง 27 วันต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 2 ชั่วโมงต่อวัน และจากการศึกษาในปี ค.ศ.1980 ความเครียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ว่านี้ ก็ถูกพบอีกว่า สามารถสร้างผลกระทบต่ออาการทางจิตใจได้มากกว่าความเครียดจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในชีวิตเสียอีก ซึ่งเดิมทีแล้ว การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต อย่างการสูญเสียคนรัก การหย่าร้าง การตกงาน หรือการประสบอุบัติเหตุ ถูกจัดว่าเป็นสาเหตุหลักของความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต ตามที่ Social Readjustment Rating Scale ระบุไว้ (SRRC คือ มาตราส่วนวัดความเครียดที่เกิดจากเหตุการณ์ในชีวิต)
สาเหตุที่ความเครียดระดับไมโครสร้างผลกระทบในระดับมาโคร ก็เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่สำคัญในชีวิต เรามักจะเห็นได้ชัดและรู้ตัวทันทีว่าตัวเองกำลังเกิดปัญหา จากนั้นก็พยายามมองหาความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ได้อย่างทันท่วงที แต่พอเป็นเหตุการณ์เล็กๆ เราจะรู้สึกว่ามันไม่สำคัญอะไร มองข้ามหรือปล่อยวางก็ได้ และกว่าจะหาทางแก้ไขก็อาจจะสายเกินไปแล้ว
และเนื่องจากระดับความเครียด ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ตัวบุคคลมองสถานการณ์นั้นๆ แตกต่างกัน โดยมุมมองที่ว่าก็จะส่งผลต่อการตอบสนองต่อความเครียดอีกที ทำให้จิตแพทย์นิยามความเครียดว่าเป็น ‘ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง’ เพราะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ บางคนมีมุมมองต่อความเครียดระดับไมโครว่าเป็นแค่เรื่องเรื่องบังเอิญ ความสะเพร่า หรือความซุ่มซ่ามของตัวเอง เช่น ลืมกุญแจบ้าน ทำเอกสารสำคัญหาย ไปทำงานสาย ทะเลาะกับแฟน โดนพ่อแม่บ่น จึงทำให้พวกเขาปลงและปล่อยวางกับความเครียดดังกล่าว ไม่คิดที่หาทางออก และปล่อยเอาไว้จนเป็นปัญหาเรื้อรังในที่สุด
หาต้นตอให้พบ ก่อนไปจบที่ปัญหาสุขภาพจิต
สุดท้าย สิ่งที่เราพยายามมองข้าม ก็กลับมาเกิดขึ้นซ้ำๆ ในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ หรืออาทิตย์หน้า แล้ววันหนึ่งเราก็รู้สึกเหนื่อยล้าแบบไม่มีเหตุผล
แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นจากเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งเสมอ ถ้าเราลองเริ่มจากการ ‘ยอมรับ’ ก่อนว่าทุกเรื่องสามารถส่งผลกระทบต่อเราได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอาหารไม่อร่อย คุณภาพการนอนหลับลดลง ประสิทธิภาพการทำงานถูกรบกวน ความขี้หลงขี้ลืมที่เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ หรือข่าวสารชวนหดหู่ใจในโซเชียลมีเดีย ก็นับว่าเป็นสาเหตุได้เช่นกัน
เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา ต่อมาเราก็จะพยายามหาทางออกให้กับมัน ซึ่งอาจทำได้ด้วยการลอง ‘จดบันทึก’ เพื่อดูว่า ‘อะไร’ ที่น่าจะรบกวนจิตใจเรามากที่สุด ไล่ระดับความเล็กใหญ่ของปัญหา แล้วถามตัวเองว่าอะไรที่ควรจะจัดการก่อน หรืออะไรที่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก โดย ‘การหลีกเลี่ยง’ อาจทำได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิจวัตรประจำวันเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทุกเช้าเรามักจะชอบลืมว่าวางกุญแจบ้านไว้ไหน ทำให้ออกไปทำงานสายทุกวัน ฉะนั้น ก่อนนอนเราก็รีบเอากุญแจมาเก็บไว้ในกระเป๋า ทำอย่างนั้นจนติดเป็นนิสัย จนทำให้เราไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้อีก
หรือบางเรื่องไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเอง แต่มีสาเหตุจากคำพูดหรือการกระทำของคนอื่น ก็ลองมาดูว่า ‘ใคร’ ที่สร้างความรู้สึกเชิงลบให้กับเรา อาจจะเว้นระยะห่างออกมาจากคนเหล่านั้น เพื่อลดการปะทะอารมณ์กัน และที่สำคัญ ขจัดความคิดที่ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของตัวเอง หรือคิดว่าเราไม่สามารถแก้ไขอะไรในเรื่องนี้ได้ เพราะนั่นจะนำไปสู่การปล่อยผ่าน และทำให้ปัญหาลุกลามไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด
แต่ถ้าเกิดปัญหานั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น เกิดอาการหัวเสียจากยืนรอรถเมล์นานๆ เพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขนส่งมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันนี้ก็คงต้องพยายามหาความสุข ความสนุกสนานอื่นๆ ในชีวิตมาบาลานซ์ให้จิตใจไม่พังยับเยินไปเสียก่อนแหละนะ
จริงอยู่ที่เราไม่สามารถมีความสุขได้ตลอดทั้งวัน และการมองข้ามปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หรือมองให้เป็นเรื่องตลกบ้าง ก็ช่วยให้เราไม่ต้องแบกรับอะไรหนักจนเกินไป แต่ถ้าวันหนึ่ง เราเกิดรู้สึกท่วมท้นจนหาสาเหตุไม่ได้ ก็อาจจะต้องมานั่งคลี่ปัญหาเหล่านั้นดูอีกที เพื่อหาว่าอะไรกันแน่ที่เป็นต้นตอของความปั่นป่วนในจิตใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก