สิ่งของรอบตัวที่เราใช้ทุกวันนี้ มันอาจอยู่กับเรามาตั้งแต่จำความได้ ย้อนไปหลายชั่วอายุคน เรียกว่าเกิดมาก็เจอสิ่งนี้เลยก็ว่าได้ ความเคยชินเหล่านี้อาจทำให้เราไม่นึกเอะใจถึงที่มาของมัน ในเมื่อมันไม่ได้ถูกเสกปิ๊งขึ้นมา ใช้งานได้ทันที แล้วช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ในตอนที่ยังไม่มีใครคิดค้นสิ่งนี้ ผู้คนบนโลกใบนี้ใช้ชีวิตกันอย่างไรนะ?
เราเลยเอาเรื่องราวสะกิดต่อมเอ๊ะ มาเขย่าๆ เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ในคอลัมน์ ‘ก่อนโลกนี้จะมี…’ หยิบเอาเรื่องเก่าที่มันมีบนโลกนี้มาเล่าให้ฟังในเชิงความรู้รอบตัวนิดๆ อิงประวัติศาสตร์หน่อยๆ ค่อยๆ คลายข้อสงสัยว่าสารพัดสิ่งรอบตัวเรานั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร เดินทางกันมาไกลแค่ไหนกว่าจะเป็นสิ่งที่เราได้ใช้ในปัจจุบัน
ไม่จำเป็นต้องเป็นนวัตกรรมล้ำๆ นำสมัย เพราะอะไรใหม่ๆ เราต่างเกิดทันรับรู้ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านกันหมดแล้วไงล่ะ แต่เราจะพาไปสำรวจช่วงเวลาก่อนจะมีของทั่วไปรอบตัวเรา อย่างเครื่องถ่ายเอกสาร พัดลม กาต้มน้ำ หรือแม้แต่ยาแก้แพ้ อะไรที่อยู่กับเรามานานจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก่อนหน้านั้นเราใช้ชีวิตโดยไม่มันได้อย่างไร
สำหรับบทความแรกของคอลัมน์นี้ ขอประเดิมด้วยหนึ่งสิ่งที่อยู่กับเราตั้งแต่จำความได้ ได้ใช้มันอยู่ทุกวี่วันอย่าง ‘ชักโครก’ ของธรรมดาที่ขาดไปก็เดือดเนื้อร้อนใจใช่ย่อย โดยชักโครกที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ หมายถึงโถสุขภัณฑ์ที่กำจัดสิ่งปฏิกูลไปสู่ระบบกำจัดของเสีย ด้วยระบบระบายน้ำ หรือก็คือชักโครกแบบที่กดแล้วมีน้ำและแรงดูดมหาศาลกลืนกินทุกอย่างหายวับในพริบตา
แม้จะทำหน้าที่เพียงรองรับการขับถ่าย แต่ชักโครกในปัจจุบันเสริมฟังก์ชั่นอีกมากมาย ตีบวกความสะดวกสบายระหว่างทำธุระ ไม่ว่าจะแผ่นรองชักโครกแสนอบอุ่น สบายบั้นท้าย นั่งได้ยาวๆ เสียงหลอกๆ งงๆ ในห้องน้ำสาธารณะ เพื่อกลบเสียงจริงไม่ให้ห้องข้างๆ รู้ว่าเรากำลังปุ๋งเบอร์ใหญ่แค่ไหน ที่ฉีดน้ำทำความสะอาดเลื่อนหน้า เลื่อนหลัง แบบมือไม่ต้องล้วงเข้าไปฉีดเอง และอีกความสะดวกสบายมากมายที่อาจรอเราอยู่ในวันข้างหน้า
หากย้อนกลับไปบอกผู้คนเมื่อ 5000 ปีที่แล้ว ใครจะเชื่อกันล่ะว่าแค่ขับถ่ายจะแสนสบายขนาดนี้ เมื่อในตอนนั้นพวกเขายังมีแค่ส้วม ไม่ใช่ชักโครกในแบบที่เราใช้
แม้ชักโครกจะเป็นนวัตกรรมที่มาทีหลัง แต่มนุษย์เราไม่ได้เพิ่งขับถ่ายนี่นะ ในยุคแรกเริ่มอารยธรรมอย่าง เมโสโปเตเมีย (และต่อๆ มา) ใครที่เข้าถึงประบบประปา คนนั้นก็เข้าถึงส้วม ในรูปแบบแสนง่ายดาย อาจจะเป็นการนั่งยองแล้วถ่ายลงไปท่อระบายน้ำดินเผาใต้พื้นดินที่ต่อเข้ากับท่อระบายน้ำเมือง หรือยังเป็นกระโถนธรรมดา ที่ต้องคอยเอาของเสียไปเททิ้งแบบอัตโนมือ
แม้แต่ยุคอันรุ่งเรืองอย่างจักรวรรดิโรมัน ส้วมสาธารณะของพวกเขาเป็นเหมือนการขับถ่ายลงท่อที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา และหน้าตาของมันก็ไม่ค่อยจะมีความเป็นส่วนตัวสักเท่าไหร่นัก เพราะพวกเขาถือว่าการเข้าห้องน้ำเป็นกิจกรรมเข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อัปเดตข่าวสารวงการชาวโรมันกันที่นี่แหละ (อาจรวมถึงการอาบน้ำ ตามโรงอาบน้ำต่างๆ ไม่ใช่เพียงการเข้าส้วมเพียงอย่างเดียว)
หลังจากนั้นมาก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร เรื่อยมาจนถึงยุคกลาง ชาวบ้านร้านตลาดก็ยังขับถ่ายแล้วเททิ้งตามถนน ห้องน้ำสาธารณะก็คือการถ่ายรวมกันแล้วทิ้งลงแม่น้ำ ใช่แล้ว แม่น้ำที่กินที่ใช้กันนั่นแหละ เมื่อจัดการของเสียไม่เหมาะสม จากความเน่าเหม็นน่าสะอิดสะเอียด บานปลายเป็นเรื่องสุขอนามัยที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ อย่างโรคบิดและอหิวาตกโรคในยุโรปยุคกลาง เกิดจากผู้คนเทอุจจาระออกนอกหน้าต่างหรือขับถ่ายข้างถนน อหิวาตกโรคในถนนบรอด เขตโซโฮ เมื่อปี 1854 สาเหตุจากผู้คนใช้บ่อน้ำซึ่งปนเปื้อนอุจจาระจากส้วมบ้านใกล้เคียง ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คนในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ทำให้ลอนดอนเกิดการวางรากฐานปรับปรุงระบบสาธารณสุขจากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมา
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะได้ใช้ชักโครกที่ถูกสุขอนามัยและสะดวกสบายกับเขาสักที ได้ยินดังนี้ เซอร์จอห์น แฮริงตัน (John Harington) บุตรบุญธรรมของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 จัดให้ เขาได้สร้างชักโครกตัวต้นแบบให้กับโลกใบนี้ขึ้นมา โดยมีถังเก็บน้ำยกสูงและท่อระบายน้ำขนาดเล็กซึ่งน้ำจะไหลผ่านเพื่อชำระล้างของเสีย กันน้ำได้ด้วยน้ำมันดิน เรซิน และขี้ผึ้ง ให้ตัวเองหนึ่ง ให้ควีนอีกหนึ่ง นับว่าเป็นต้นแบบของชักโครกยุคใหม่นี้เลยก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างนั้นมันคือชักโครกต้นแบบที่อาจไม่ได้สะดวกสบายมากเท่าไหร่นัก แต่ก็มากที่สุดเท่าที่จะมีได้ในยุคนั้น เพราะต้องใช้น้ำ 7.5 แกลลอน ซึ่งถือว่ามากในยุคก่อนที่จะมีระบบประปาภายในบ้าน
แน่นอนว่าตัวต้นแบบนั้นมันอยู่ในรั้วในวัง ทำเองใช้กันเอง ชาวบ้านทั่วไปก็ยังไม่เคยได้ยลโฉม ไม่เคยรู้จัก และชักโครกต้นแบบนั้นก็ยังมีข้อบกพร่องอีกมากมาย ทั้งเรื่องของกลิ่นที่ย้อนกลับขึ้นมา ความสะอาด ระบบกำจัดของเสีย จนมันถูกแช่แข็งอยู่อย่างนั้นกว่า 200 ปี ถึงได้มีใครบางคนหยิบชักโครกต้นแบบนี้มาพัฒนาต่อ
ในปี 1775 อเล็กซานเดอร์ คัมมิง (Alexander Cumming) นักประดิษฐ์ชาวสก็อตแลนด์ แม้จะไม่ได้เป็นผู้คิดค้นมันขึ้นมา แต่เขาได้รับสิทธิบัตรสำหรับชักโครกเป็นคนแรก ด้วยการพัฒนาขึ้นมาจากต้นแบบของเซอร์จอห์น แฮริงตัน สิ่งที่ทำให้ชักโครกของเขาแตกต่างจนได้สิทธิบัตรมาครอบครองคือ ท่อรูปตัว S ใต้โถส้วมที่ใช้น้ำสร้างซีลเพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซจากท่อน้ำเสียไหลเข้ามาทางชักโครก นั่นหมายความว่า ของเสียที่ไหลลงไปแล้ว จะไม่มีวันส่งกลิ่นขึ้นมาทักทายหรือไหลย้อนกลับมาได้อีก
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้มีอีกก้าวของการพัฒนาจาก โทมัส แครปเปอร์ (Thomas Crapper) ผู้ช่างประปาในลอนดอน เขาได้พัฒนาวาล์วลูกลอย ซึ่งเป็นกลไกการเติมน้ำในถังที่ยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน
จากไอเดียของแต่ละคนประกอบร่างสร้างขึ้นมาเป็นชักโครกที่เราได้ใช้ในตอนนี้ นับจากตัวต้นแบบที่เกิดขึ้นในสหาราชอาณาจักร ได้แผ่ขยายไปไกลทั่วยุโรป เริ่มจากเหล่าชนชั้นสูง แต่ด้วยมันเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่ใครๆ ก็ต้องการ สินค้านี้จึงเป็นที่ต้องการของคนทั่วไปด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นสินค้าที่แพร่หลาย มีใช้ทั้งในบ้านเรือนทั่วไป สาธารณะ โรงแรม ห้างร้านต่างๆ
หลังจากนี้ที่เอาก้นจุ่มลงชักโครก เราอาจจะต้องนึกย้อนขอบคุณไปถึงผู้พัฒนาคนแล้วคนเล่าที่ช่วยให้เรามีที่นั่งขับถ่ายแสนสบาย ถูกสุขอนามัย ไม่มีกลิ่นย้อนขึ้นมากวนใจ กำจัดของเสียได้หมดจด ประหยัดน้ำกว่าที่เคย
อ้างอิงจาก