ม.112 , ม.116 , พ.ร.บ.ชุมนุม, พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และล่าสุดกับข้อหาหมิ่นศาล นี่คือส่วนหนึ่งของคดีต่างๆ ที่เบนจา อะปัญ หนึ่งในแกนนำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุมเผชิญ
ที่ผ่านมา เบนจาเคยทำงานอยู่เบื้องหลัง แต่เมื่อเพื่อนๆ แนวหน้าถูกจับกุม ทำให้เธอต้องค่อยๆ ออกมายืนเป็นแนวหน้า ร่วมเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนๆ และขึ้นเวทีปราศรัยในที่สุด แต่นอกจากมุมของการเคลื่อนไหว เบนจายังเป็นเพียงนักศึกษา ปี 1 และวัยรุ่นวัย 20 ต้นๆ เท่านั้น
The MATTER คุยกับเบนจา ถึงการเข้ามาเคลื่อนไหว ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย กับเพื่อนๆ การเห็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ถูกจับ และความตั้งมั่นที่จะสู้ต่อ แม้จะโดนคดี ม.112 และอีกหลายคดีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็บอกกับเราว่า เธอไม่เคยเสียดาย ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเลย
อะไรทำให้เบนจามาเข้าร่วมกับแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม
ต้องเล่าย้อนว่า เราจบจากเตรียมอุดมศึกษา ก็เลยรู้จักกับเพนกวินตั้งแต่สมัยเรียนเตรียมฯ แล้ว แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวด้วยกัน จนกระทั่งปี 2019 เราเข้าจุฬาฯ เพนกวินก็มาชวนไปเคลื่อนไหว ไปยื่นหนังสือ ไปถือป้าย ไปทำงาน 6 ตุลา เราก็เลยได้รู้จักเพื่อนในแวดวงนักศึกษาที่สนใจการเมืองมากขึ้น ได้มาทำกิจกรรมมากขึ้น
พอปี 2020 เราซิ่วมาธรรมศาสตร์ ตอนนั้นก็คือได้รับสายโทร.เข้ามาจาก รุ้ง ปนัสยา ว่าจะทำม็อบ สนใจมาช่วยงานไหม เราก็ไป ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้มาทำแนวร่วมธรรมศาสตร์
แสดงว่าเราสนใจในเรื่องการเมืองอยู่แล้วด้วย
ใช่ค่ะ ก็สนใจ ตามอ่าน และวิจารณ์อะไรอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอด แต่ว่าเราไม่ได้รู้จักกลุ่มก้อนทางการเมือง เพราะเราใหม่มากกับการเคลื่อนไหว คือถ้าเพนกวินไม่มาชวน เราก็ยังไม่รู้ว่าเราจะได้เคลื่อนไหวหรือเปล่าในวันนี้ อาจจะออกไปร่วมชุมนุม แต่คงไม่ได้มาทำเบื้องหลัง
จากที่เราเพิ่งพูดว่ามาทำม็อบไม่ถึงปี จนถึงตอนนี้ มองการเข้ามาเคลื่อนไหวของตัวเอง ในฐานะหนึ่งในแนวหน้าอย่างไร เคยมองไหมว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้
ไม่เคยเลย เราทำทุกอย่าง เพราะเรารู้สึกว่าเราช่วยได้ในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง ก่อนหน้านี้ก็ทำหลังบ้านตลอด จนกระทั่งช่วง 14-15 ตุลาคม 2563 ตอนที่เพื่อนแกนนำถูกจับกันหมด เราก็รันงานหลังบ้านกันตลอด แต่มันถึงจุดหนึ่งที่เหมือนกับว่าเราต้องออกมาต่อสู้ข้างหน้าบ้าง ก็เป็นครั้งแรกที่เปิดหน้าสู้จริงๆ
เคยคิดไหมว่าการเคลื่อนไหวของตัวเองที่ไม่ถึงหนึ่งปีนี้ มาไกลมากๆ เลย
เราไม่รู้เหมือนกันว่าคนอื่นมองเข้ามาอย่างไร แต่ส่วนตัวเราเอง เรารู้สึกว่ามันก็อาจมาไกลจริง เหมือนเราอยากทำอะไร เรามองว่าเราทำได้ เราก็จะทำเลย เราไม่ลังเลที่จะไม่ทำ เพราะเรารู้สึกว่าต่อให้เราไม่ได้อยู่เบื้องหลังการทำม็อบ แต่เราก็มีความตั้งใจที่จะออกไปเรียกร้อง
อุดมการณ์หรือว่าสิ่งที่ตั้งใจมาร่วมกับแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ในตอนนั้น ที่คิดว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ภาพที่เราตั้งใจสู้คืออะไร
เรารู้สึกว่าเราทนไม่ไหวกับสภาพสังคมแบบนี้ มันถึงเวลาแล้ว เรามีโอกาสแล้ว เพนกวินมันทำการเมืองมานานเนอะ มันเรียนรู้มาก่อนเรา การไปร่วมตรงนั้น ก็ถือว่าไปร่วมขบวนกับเพื่อน ได้ไปเรียนรู้ว่าในการเคลื่อนไหวกับเพื่อนๆ ว่าเป็นอย่างไร ก็รู้สึกว่าเราได้อะไรเยอะจากตรงนั้นเหมือนกัน
แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จะมีภาพจำจาก 10 ข้อเรียกร้อง มองข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นกับแนวร่วมธรรมศาสตร์ รวมถึงการเรียกร้องอื่นๆ ในขบวนยังไงบ้าง
เรามองว่าประเทศเรามันจะต้องดีขึ้นในทุกๆ ด้าน การศึกษา คมนาคม หรืออะไรก็ตาม มันควรได้รับการพัฒนา ตั้งแต่เราเด็กจนโตมา ประเทศเรามันขาดการพัฒนาตลอด มันหยุดชะงัก ทั้งๆ ที่เรามีศักยภาพที่จะไปได้ไกลกว่านี้ จะพัฒนามากกว่านี้ รวมถึงเรื่องรัฐสวัสดิการอะไรอย่างนี้ มันควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ประเทศเราควรจัดหาให้กับประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกันและมีคุณภาพ แต่ทำไมประเทศเราถึงขาดตกบกพร่องในเรื่องนี้ เราอยากเห็นทุกส่วนในประเทศดีขึ้น ทุกส่วนจริงๆ ทั้งทุกๆ ด้านและทุกพื้นที่
ส่วนเรื่อง 10 ข้อเรียกร้อง ถ้าเรายุบรวมกัน มันจะอยู่ในหมวดหมู่ของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็เป็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่เราคุ้นชินกัน ก็คือประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่ง 10 ข้อนี้เป็นแนวทางในการปฏิรูป เรารู้สึกว่าที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์มีการแทรกแซงการเมืองมาตลอด จะเห็นได้ชัดจากการรัฐประหารแต่ละครั้ง คือบางทีเราต้องยอมรับว่า เราต้องตัดวงจรตรงนี้ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในการที่ทำให้ประเทศเราก้าวต่อได้โดยที่ไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง ก็อาจต้องเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ อย่างอันดับแรกเลย ต้องวิจารณ์ได้ เราเชื่อว่าถ้าเริ่มจากการวิจารณ์กษัตริย์ได้ มันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่าง
ตอนนั้นที่เป็น staff ร่วมจัดม็อบ เมื่อเห็น impact ของ 10 ข้อเรียกร้องหลังประกาศออกไปแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
รู้สึกภูมิใจมากๆ กับสิ่งที่องค์กรของเราได้ทำไป เรารู้สึกและเห็นว่า มีหลายคนที่เริ่มออกมาพูดเรื่องนี้ แต่มันยังไม่ได้ออกมาเป็น ข้อตกลงร่วมกันสักทีว่า สรุปแล้วเราพูดได้หรือยัง ต้องกลัวอะไรไหม แต่พอเราได้เปิดทะลุฝ้ามันขึ้นไป มันมีการหลั่งไหลของ ข้อมูลต่างๆ เกิดการพูด การถก การเถียงกันมากขึ้น และหลายคนเขาก็เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เบนจาเล่าว่าก่อนหน้านี้เราอยู่ข้างหลัง แล้วพอเพื่อนโดนจับเราเริ่มมาข้างหน้า ซึ่งก็จะเห็นว่าเบนจาเริ่มโดนคดี ตอนนี้มีคดีอะไรที่โดนบ้าง และสถานะของคดีมีอะไรบ้าง
โดน 112 สี่คดี แล้วก็คดีทั่วไป พ.ร.บ.ชุมนุม, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกสองคดี ก็คดีแรกที่โดนก็เป็น ม.112 กับ ม.116 จากชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ตอนนั้นไปอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาไทย ต่อมาก็เป็นคดี ม.112 ที่ใส่คร็อปท็อปไปเดินกับรุ้ง และเพนกวินที่สยามพารากอน อีกอันนึงเป็นตอนที่ไปปราศรัยเรื่องวัคซีนของ Siam Bioscience ที่หน้าตึกศรีจุลทรัพย์ ว่ามีความเกี่ยวข้อง เกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์ แล้วก็อีกอันหนึ่งเป็นคดีสาดอาหารหมาที่สภ.คลองหลวง ที่ตอนแรกโดนแค่หมิ่นเจ้าพนักงาน แต่ภายหลังเขามาแจ้ง 112 เพิ่ม
(หมายเหตุ: จากระยะเวลาสัมภาษณ์ ถึงตอนนี้ เบนจาถูกคดีเพิ่ม คือคดีหมิ่นศาล จากการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพนกวินหน้าศาลอาญาเพิ่มด้วย)
ตอนที่เริ่มเคลื่อนไหว เคยคิด หรือเตรียมใจไว้ไหมว่ามันอาจโดนคดี แล้วคิดไหมว่ามันอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นคดีแบบ ม.112
ยอมรับตามตรงว่ามีคิดไว้บ้าง ว่าถ้าเราเปิดหน้าพูดถึงสถาบันเมื่อไหร่ เขาย่อมจับตามอง เพราะที่ผ่านมาก็โดนตลอด ใครที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ โดนทุกคน มันเป็นความเสี่ยงที่เราจำเป็นต้องประเมินว่าเราพร้อมรับกับมันไหม การออกมาครั้งนี้ เราพร้อมกับมาตรา 112 ที่เขาจะใช้กับเราไหม ก็มีการประเมินไว้แล้ว และก็เตรียมใจไว้แล้ว ว่าถ้ามันจะต้องโดน ก็คงต้องโดน
พอเริ่มได้หมาย มีวางแผนอะไรไว้บ้างไหม
(หัวเราะ) ไม่วางแผนเลย แบบโอเค โดนก็โดน ก็ไปตามนัด เรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาก็ไป ครั้งที่สองก็ไป ส่งตัวอัยการ คือเราก็ทำตามกระบวนการตามกฎหมายทุกอย่าง ไม่เบี้ยว ไม่อะไร แล้วเราก็ดำเนินกิจกรรมของเราต่อ เรารู้สึกว่า ถ้ามันจะให้เรา ยังไงเขาก็จะให้ เราก็ปล่อยมันไว้แบบนั้นแหละ อย่าให้มันเป็นอุปสรรคในการต่อสู้ของเราดีกว่า เพราะที่ผ่านมามันใช้เป็นอุปสรรคในการต่อสู้ของคนอื่นมามากพอแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องเลิกกลัวมัน และเราก็ต้องสู้ เพื่อเอามันออกไป นั่นก็คือจะนำไปสู่การยกเลิก 112
ตอนนี้การใช้ ม.112 ค่อนข้างกว้างขวาง มีเด็กๆ เยาวชนโดน ในฐานะคนๆ หนึ่งที่โดนคดีนี้ มองม.112 อย่างไรบ้าง
เรามองว่ามันเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมหนึ่ง มันเป็นกฎหมายที่เอามาใช้ปิดปากผู้เห็นต่างอย่างแท้จริง เป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก มีปัญหาในตัวเองด้วย การตีความที่กว้างไป แบบไหนคือหมิ่นประมาท แค่ตั้งคำถามนี่เรียกว่าหมิ่นประมาทไหม ทั้งอัตราโทษจำคุกที่สูงเกินไป เทียบเท่ากับข้อหากบฏ ทำไมเราวิจารณ์แล้วเป็นกบฏไปเลย นี่เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยจริงปะ คือเรารู้สึกว่านี่มัน… เราไม่ใช่ยุคแบบพ่อปกครองลูก ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เราจะวิจารณ์ตัวสถาบันไม่ได้
แล้วก็จริงๆ ในต่างประเทศ อย่างอังกฤษ เขาก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุข แต่อังกฤษไม่ใช้มาเป็นร้อยปีแล้ว จะหมิ่นควีน จะวิจารณ์ควีน เขาก็ใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป เสียค่าปรับก็จบ แต่นี่ เอาเข้าคุก โดนไป 3-15 ปี เทียบเท่าฐานกบฏอะ
แล้วยิ่งใช้เท่าไหร่มันไม่ได้ยิ่งทำให้เพิ่มศรัทธาในตัวสถาบัน สังคมมันเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ความคิดของคนรุ่นใหม่ เขาไม่ได้คิดเหมือนคนรุ่นก่อน และตอนนี้การเปลี่ยนแปลงมันกระจายอย่างรวดเร็ว คุณอาจปิดปากเราได้ตอนนี้ หนึ่งคน สองคน สามคน หรือซัก 100 คน แต่เมล็ดพันธุ์ทางความคิด มันฝังไปทั่วอาณาจักร แล้วมันกำลังรอวันเติบโต ถึงวันนั้น ต่อให้คุณเอา ม.112 มาใช้ มันปิดปากคนได้ไม่หมดหรอก แล้วยิ่งใช้มันก็จะยิ่งเป็นการทำให้คนเสื่อมศรัทธาคุณเอง
อย่างนี้เห็นว่าพอโดนคดี เบนจาก็ไปทำเรื่องกับมหาวิทยาลัยด้วย ที่ว่าโดนคดี ต้องติดคุกจะขอค่าเทอมคืน เรื่องเป็นอย่างไรบ้าง
เขาบอกว่ามันพ้นช่วงเพิ่ม-ถอนแล้ว ค่าเทอมมันเอาคืนไม่ได้ คือถ้าโดนคดีติดคุกจริงๆ มันก็มีอยู่สองทาง คือขอเรียนในนั้นกับดร็อปไปเลย การขอเรียนก็อาจต้องทำเรื่องยุ่งยากอีก ดร็อปอาจเป็นอีกทางหนึ่ง เราก็ถามว่า แล้วทางมหาวิทยาลัยมีมาตรการซัพพอร์ตนักศึกษาที่เขาโดนคดีทางการเมืองอย่างไร มาตราที่มันไม่ยุติธรรมอย่างนี้ การคุมขังที่มันไม่ชอบธรรมอย่างนี้ มหาวิทยาลัยก็ตอบกลับว่า “มันเป็นความเสี่ยงที่นักศึกษาเลือกที่จะทำเอง” เขาก็ไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรตรงนี้ เราก็แบบ อื้ม ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน very good! (ถอนหายใจ)
นอกจากเบนจาเองที่โดนคดี เราก็ต้องมาเห็นเพื่อนๆ เราโดนคดีไปด้วย
โอ้ มันเป็นอะไรที่แบบ เราไม่ควรจะ normalize สิ่งนี้เนอะ การโดนคดีมันยิ่งใหญ่นะ เมื่อปีก่อน แค่ พ.ร.บ.ความสะอาดก็ยิ่งใหญ่แล้ว สำหรับที่ขบวนการนักศึกษาเจอ แต่มาวันนี้ มันเป็น ม.112 ที่โทษร้ายแรง เรารู้สึกแบบมันไม่ถูกต้อง เรายอมไม่ได้ จริงๆ ที่จะให้สิ่งที่นำมาใช้ปิดปากเรา ยังเกิดขึ้นซ้ำๆ เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลย กับทุกคนที่โดนคดี เขาแค่ออกมาเรียกร้อง แค่ออกมาพูด ออกมาวิจารณ์ ออกมาแสดงความคิดเห็น
เราเป็นสังคมประชาธิปไตย เราควรจะรับฟังซึ่งกันและกันสิ compromise ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ไม่พอใจแล้วก็จัดการเก็บให้เรียบ อย่าให้ออกมาเคลื่อนไหวอีก มันคือการสร้างความกลัวให้คนในสังคม แต่เราไม่ควรปกครองด้วยความกลัวหรือเปล่า
เราพูดคุยกับพ่อแม่อย่างไร พอเราเคลื่อนไหว แล้วสิ่งที่เราเจอ และต้องทำมันดูค่อนข้างหนักขึ้นเรื่อยๆ
แม่เขาก็รู้แหละว่าเรามีมุมมองทางการเมืองที่ค่อนข้างแรงกล้า เดือดๆ เขาก็ไม่ได้ห้ามอะไร ถ้าเราจะคิด หรือจะวิจารณ์อะไร เขาค่อนข้างฟรี แต่เขาก็ไม่อยากให้เราอยู่ในพื้นที่แสง ถ้าอยากทำให้มันเป็นเรื่องของเบื้องหลัง ตอนแรกเราก็รับปากแหละ แต่ถึงจุดหนึ่ง เลือดนักสู้อะ มันก็ต้องออกมา ไปปิดกั้นไม่ได้จริงๆ เรารู้สึกว่าถ้าฉันต้องออกก็ต้องออกจริงๆ
ตอนที่ออกมา แม่ก็เครียดนะ เพราะว่าโดนคดี และเป็นคดีที่แรงด้วย แต่เราก็พยายามให้เขาทำความเข้าใจ ว่ามันเป็นกฎหมายแบบนี้ๆ ประเทศเรามีปัญหาอย่างไร อะไรมันส่งผลกันบ้าง แล้วกฎหมายตัวนี้มันมีปัญหาอย่างไร ซึ่งมันก็ใช้เวลาที่ให้เขาทำความเข้าใจเหมือนกันนะ เพราะว่าก่อนหน้านี้ เขาไม่เข้าใจเลยว่าเราทำอะไร ที่บอกว่าเราไปประท้วงๆ เนี่ย มันจะจริงเหรอ มันจะได้ผลจริงเหรอ เอาเวลาไปตั้งใจเรียนดีกว่าไหม ถ้าเธอไม่ชอบประเทศนี้ เธอก็รีบเรียน แล้วจะได้หนีไป แต่มันไม่ได้อะพี่ ทำอย่างนั้นแล้วเราคงรู้สึกเสียดายอะ ถ้าเราไม่ได้ออกมา
แล้วตอนนี้พ่อแม่ว่าอย่างไรบ้าง
เราว่ามันคือการ compromise กัน เอาจริงๆ เขาก็ค่อนข้าง compromise กับเราเยอะ ตอนแรกๆ เขาก็ไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เขาก็กลัว และก็เป็นห่วงเรา เรื่องอุดมการณ์อาจถกเถียงกันทีหลังได้ แต่สิ่งแรกที่เกิดขึ้นจากแม่เลยก็คือ เขาเป็นห่วงเรา เราก็พยายามให้เขาทำความเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่หนูตัดสินใจแล้ว อยากให้เคารพการตัดสินใจของหนู และไม่ว่าอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้น อย่าเพิ่งไปวิตกกังวลกับมัน เอาตรงนี้ให้ดีที่สุด เราก็จะตั้งใจเรียนในแบบของเรา และก็เคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบของเรา
สถานการณ์ในตอนหลังๆ มา เริ่มมีการสั่งฟ้อง ไม่ให้ประกันตัว ซึ่งที่ผ่านมาเพื่อนๆ ของเราก็โดน มันส่งผลต่อความรู้สึกของเราไหม
ส่งผลค่ะ มันส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมมากๆ คือกระบวนการยุติธรรมมันต้องเที่ยงตรง ไม่ใช่เอนเอียง แต่สิ่งที่เราได้รับมา จากเคสของเพื่อนเราทุกคน กลายเป็นว่ามันทำให้เราสิ้นหวังในกระบวนการยุติธรรม เราไม่โอเคกับสิ่งที่เขาทำมากๆ การคุมขัง การฝากขังระหว่างรอพิจารณาคดีอย่างนี้ แล้วไม่ให้ประกัน ทั้งที่จริงๆ สิทธิในการประกันมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้วที่เพื่อนเราสมควรได้รับ แต่ทำอย่างไรเขาก็ไม่ให้ประกันสักที เราสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมากเลยนะ แต่เราก็ยังมีหวังว่าสักวันหนึ่ง เขาจะเห็น แล้วเขาจะสำนึกได้ หรือละอายแก่ใจบ้าง ว่าสิ่งที่เขาทำมันคือความอยุติธรรม
เบนจาก็เป็นเด็กวัย 20 ต้นๆ คนหนึ่ง ก่อนหน้านี้เคยมองชีวิตตัวเองไหม ว่าชีวิตช่วงวัย 20 ปีของฉัน ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของฉันจะเป็นอย่างไรบ้าง
เรามองไว้สองทาง ถ้าไม่ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ก็คงอยู่เรียนวิศวะ จุฬาฯ จนจบปีสี่ แล้วก็ไปเรียนต่อ ป.โทที่เมืองนอก คือเราคิดง่ายๆ อย่างนั้นเลย ก็คงใช้ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัยทั่วไป ก็เรียน กิจกรรม เรื่องส่วนตัว อะไรอย่างนี้
พอมาถึงตอนนี้ ชีวิตของเราแตกต่างจากที่เราจินตนาการเยอะไหม
เป็นเรื่องดาร์กนะ มันต้องแลกอะ high risk, high return ใช่ไหม มันเป็นเรื่องที่เราต้องแลกจริงๆ ชีวิตส่วนตัวมันอาจหายไป อย่างเราเข้ามาปีหนึ่ง ยังไม่ทันได้รู้จักกับใครเยอะเลยในคณะ เราก็มาทำตรงนี้แล้ว ความสัมพันธ์กับเพื่อนในคณะเราเปราะบางมาก เราแทบจะกินข้าวกับเพื่อนที่คณะไม่ถึง 5 ครั้งด้วยซ้ำ เราไม่เคยไปกิจกรรมอะไรร่วมกับเขา เฟรชชี่ รับน้องก็ไม่ได้ทำ ในส่วนนั้นเราหายไปเลย ชีวิตส่วนตัวหายไปเยอะเหมือนกัน อืม พอมานั่งคิดดูมันก็เยอะเหมือนกันเนอะ
เรื่องเรียนก็เหมือนกัน จริงๆ เราเป็นคนให้ความสำคัญกับเรื่องเรียนมาก คือเนิร์ดมาก ตอนเริ่มเทอมมา เราก็ตั้งใจแล้ว ว่าเข้ามาด้วยคำว่าเกียรตินิยม ต้องเอาเกียรตินิยมให้ได้ แต่พอมาทำตรงนี้ มันก็ใช้เวลาพอสมควร ตอนนี้ก็ปลงแล้ว เกียรตินิยมไหมไม่รู้ เอาเป็นว่าก็เคลื่อนไหวไปแล้วเรียนให้ดีที่สุดแล้วกัน
แล้วชีวิตที่ช่วง 20 ปีต้นๆ ต้องมาต่อสู้ทางการเมือง แล้วก็ต้องมาต่อสู้คดี แล้วมาโดนคดี เรามองชีวิตระหว่างนี้อย่างไรบ้าง ว่าเฮ้ย เราอายุแค่ 20 เองนะ
มันจริงเนอะ คำนี้ เราอายุแค่ 20 ต้นๆ เองนะ (ถอนหายใจ) มองต่อสำหรับเรา เรายังสู้ต่ออะ เราไม่รู้สึกว่าอยากหยุดสู้อะไร เราต้องสู้ต่อ และเราไม่เคยเสียใจเลยที่ได้ออกมา มันก็เหมือนกับถ้าเราจะเคลื่อนไปข้างหน้า บางทีมันอาจต้องละทิ้งบางอย่างไว้ข้างหลัง เราไม่สามารถแบกทุกอย่างในชีวิตเราได้อยู่แล้ว และเราก็ได้เลือกแล้ว ก็อย่าไปเครียดกับมันเลย เรารู้สึกว่าต่างคนมันก็ต่างมีทางในการใช้ชีวิตที่ต่างกัน เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าคุ้มค่าแล้วที่ได้ทำ
หนูบอกเลยนะว่า หนูไม่เคยเสียดายเลยที่ได้ออกมาเคลื่อนไหว ต่อให้มันต้องแลกไปด้วยการที่ได้อยู่กับครอบครัวน้อยลง ชีวิตส่วนตัวหายไป เรื่องส่วนตัวบางอย่างอาจมีปัญหาจากการทำงานการเมือง เรื่องเรียน เรื่องเพื่อนเก่าๆ ที่เราเคยสนิท เราอาจไม่ได้คุยกันมากพอ เพราะเราไม่มีเวลา หนังสือที่อยากอ่าน หนังที่อยากดู ประเทศที่อยากไป อืม ไม่เป็นไร หนูไม่เสียดายจริงๆ นะ
ถ้าเราไม่ใช่คนทำม็อบ ตอนนี้เราคือคนอายุ 21 ปีคนหนึ่ง เราจะทำอะไรอยู่
ตอบได้อย่างไม่ลังเลเลย เป็นคนร่วมม็อบ (หัวเราะ) ก็จริงเนอะ พอมาคิดย้อนดู ถ้าเราไม่ทำม็อบ ยังไงเราก็คงออกมาอยู่ดี
นอกจากบทสนทนาที่ขับเคลื่อนเรื่องการเมืองกับเพื่อน เคยนั่งคุยกับเพื่อนไหมว่า ทำไมจะต้องเป็นพวกเราที่ออกมาทำแนวร่วม ทำม็อบแบบนี้
เคยๆ ก็เคยนั่งคิดนะว่า เออ ถ้าเราไม่ทำ มันจะเป็นอย่างไร ก็มีบ้างนะที่คิดไปในโลกคู่ขนาน ถ้าเกิดว่าพวกเราทั้งกลุ่มไม่ได้ทำการเมืองกัน แต่เราเชื่อว่า ต่อให้ไม่ใช่เรา มันก็ต้องมีสักกลุ่มหนึ่งที่ฉายแสงออกมาอยู่แล้ว เราทุกคนต่างรู้ว่าประเทศนี้มันบิดเบี้ยว แล้วเราเชื่อว่ามันต้องมีกลุ่มคนที่เขาอยากเปลี่ยนแปลงนั่นแหละ
แล้วทำไมต้องเป็นเด็กมหาวิทยาลัย
นั่นสิ… เด็กมหาวิทยาลัยมันดูเป็นวัยที่เหมือนจะเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่ แต่ยังมีความอยู่ในกรอบคำว่านักศึกษา นึกออกใช่ไหม มันยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังดูมีภาระทางการศึกษาอยู่ และก็ดูเป็นช่วงวัยที่กระตือรือร้น วัยที่พร้อมจะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ พร้อมที่จะทดลองไปเจอโลกกว้าง เราคิดว่ามันก็มีส่วน รวมถึงว่าการได้เรียนในเนื้อหาที่ลึกมากขึ้นตามช่วงอายุที่มันผ่านช่วงวัยรุ่นมา เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจทำให้แต่ละคนเริ่มคิดอะไรบางอย่างได้มากขึ้น เราคิดว่าน่าจะเป็นด้วยช่วงวัยด้วยแหละ
แต่พอเป็นนักศึกษาที่เป็นคนเริ่ม ไม่ใช่นักการเมือง หรือผู้ใหญ่ เราต้องแลกอะไรเยอะมากไหม
แลกเยอะ เอาจริงๆ มันเยอะมากในชีวิต แต่ว่าเราตัดสินใจแล้ว แล้วเราก็อยากให้การที่เราแลกมาเนี่ย มันเกิดขึ้นจริง อย่างน้อยถ้าเราต้องสูญเสียบางอย่างในชีวิตไป แต่ว่ามันสามารถขับเคลื่อนอุดมการณ์ ขับเคลื่อนขบวนการ แล้วมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เราว่ามันก็คุ้มกับที่แลกนะ
เบนจา และเพื่อนๆ ก็เคลื่อนไหวมา แต่ก็ถูกคุกคาม ถูกคดี มันส่งผลต่ออนาคตเราอย่างไรบ้าง
ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด อย่างน้อยเรามีคดีติดตัว เอาง่ายๆ เรื่องชิลๆ อย่างจะไปเที่ยวต่างประเทศอย่างนี้ ตัดออกเลย ต่อให้ไม่มี COVID-19 นะ การมี ม.112 ติดตัวน่าจะเป็นเรื่องยาก หลายๆ อย่างเราต้องเสียเวลาไปกับการทำ ดำเนินกระบวนการเรื่องคดี ไปพบอัยการ ไปรายงานตัว ไปตามหมายเรียก ไปนู่นนี่นั่น เสียเวลาชีวิตมาก
แล้วก็อาจส่งผลถึงขั้นว่า ในอนาคตถ้าสมมติว่าสังคมมันยังไม่ขยับไปจากนี้ การโดนคดีมันก็อาจเป็นเหมือนกับรอยแปดเปื้อนหรอ กลายเป็นผู้มีมลทินมัวหมองอะไรอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่การที่เราเป็นผู้มีมลทินมัวหมอง แต่คือกฎหมายที่เอามาปิดปากคนเห็นต่าง เราอยากให้ประเทศมันดีขึ้น เราไม่ได้จะทำร้ายประเทศหรือเปล่า แต่เราเชื่อว่า เรื่องแย่ๆ อย่าไปคิดถึงมันเลย เราเชื่อว่าเราต้องเปลี่ยนมันได้ก่อนที่อนาคตจะมาถึง
แสดงว่าสู้ไปด้วย มีความหวังไปด้วย
ใช่ค่ะ
อย่างที่เบนจาบอกว่า มันเปลี่ยนไปเยอะเนอะ มองภาพตั้งแต่วันที่รุ้งโทรมาชวน มองย้อนไปแล้วเราเห็นประเทศเปลี่ยนไปเยอะอย่างไรบ้าง
โห มันเกิดอะไรขึ้นหลายอย่างมากเลยเนอะ ปีที่แล้วมันเป็นปีแห่งการก้าวกระโดดของการต่อสู้ในสมัยใหม่ ใน Gen ใหม่เลย เราเห็นว่าคนเขาตื่นรู้มากขึ้น จากคนที่อาจไม่สนใจทางการเมือง แต่อย่างน้อยเขารู้ 3 ข้อเรียกร้อง คือ ประยุทธ์ต้องลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่มันแพร่หลายมาก และกระจายไปทั่วพื้นที่ มันอาจยังต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจร่วมกันว่า หลายๆ อย่างมันส่งผลอะไรอย่างไร ทำอย่างนี้มันดีอย่างไร แต่อย่างน้อยมันได้จุดประกายความคิดในแต่ละคน
แล้วเราเชื่อว่า เมื่อเราเริ่มจุดประกายความคิดตรงนั้น ถ้าไปขวนขวายต่อ มันจะเป็นการขยายฐานความคิดในภาพสังคมที่กว้างขึ้น ต่อให้วันนี้เราจะยังไม่ได้มีความสำเร็จที่มันเป็นรูปธรรม เพราะว่าประยุทธ์ก็ยังอยู่ รัฐธรรมนูญก็ร่อแร่ ไม่ได้แก้ ยกเลิก 112 ที่เป็นหนึ่งในปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ยังถูกใช้ แต่เชื่อว่าไม่ได้แปลว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ถ้ามองดูจริงๆ เราสร้างมาตรฐานใหม่ให้คนในสังคมเยอะมาก เราไม่เคยมี flash mob แบบม็อบตุ้งติ้ง ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ม็อบแฮมทาโร่มาก่อน เราไม่เคยได้ทะลุเพดานเรื่องสถาบันกษัตริย์มาก่อนในเวทีใหญ่ขนาดนั้น รวมถึงเราได้ทำการชุมนุมเป็นการเยอะมาก flash mob เยอะมาก เรารู้สึกว่ามันก็เห็นภาพอยู่นะ ว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างในสังคม
พอพูดถึงปีที่แล้วมันดูมีความหวัง แต่พอพูดถึงปีนี้ มันมีหลายเหตุการณ์ที่เราเห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น รวมถึงคำที่หลายคนอาจใช้ว่า ม็อบแผ่วแล้ว
ม็อบแผ่ว ก็ยอมรับว่าช่วงนี้มันซบเซา มันช่วงขาลงของม็อบ แต่มันไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเพิกเฉย เราอาจต้องมีกิจกรรมอะไรร่วมกันมากขึ้น แล้วก็ดึงสปิริตของพลังปีที่แล้วกลับมาให้ได้ เพราะว่าเราอย่าลืมว่า ทุกการออกมาของเรา มันส่งผลจริงๆ เมื่อไหร่ที่เรายังไม่ท้อ เมื่อไหร่ที่เรายังสู้ต่อ เผด็จการและศักดินาก็ยังไม่ชนะ แต่เมื่อไหร่ที่เราท้อและรู้สึกว่าไปทำไมเนี่ย ไปก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าทุกคนคิดว่าฉันไม่ออกไปหรอก ไปก็ไม่ได้อะไร มันก็จะเป็นการอวสานของม็อบแล้วหรือเปล่า
เราอาจต้องเรียนรู้กันไป ทั้งมุมมองของคนทำม็อบเอง แล้วก็มุมมองจากประชาชนเอง อาจต้องมาเรียนรู้กันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราจะไปบีบคั้นให้คุณออกมา เราก็ต้องทำการบ้านในส่วนของเราว่าในแต่ละครั้งที่มวลชนออกมา เขาจะได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมตรงนั้นอย่างไรบ้าง เขาจะได้อะไรกลับไป เขาจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราก็ต้องทำการบ้านกัน ในส่วนตัวของมวลชนเองก็อาจอยากฝากให้อดทน แล้วก็อย่าเพิ่งท้อ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นจากเราทุกๆ คนค่ะ
(หมายเหตุ: การพูดคุยนี้เกิดขึ้นการระบาดระลอกที่ 3 ของ COVID-19)
คิดว่าประเทศนี้มันเป็นประเทศแบบไหน ที่บังคับให้เด็กต้องออกมาสู้ และแลกกับอะไรมากขนาดนี้
มันไม่ปกติแล้วหรือเปล่า ที่แบบเราเป็นนักศึกษา จริงๆ หน้าที่ของเราคือเรียนหนังสือให้ดีที่สุด เพื่อให้ก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ แล้วแบบมันไม่ใช่แค่นักศึกษานะที่ออกมา เด็กมัธยมก็เริ่มออกมากันแล้ว คุณเป็นผู้ใหญ่ประเภทไหน ที่ปล่อยให้เด็กออกมาสู้ แล้วคุณทำอะไรอยู่ ทำไมเด็กเหล่านี้เขาไม่ได้มีพลังมากพอแบบที่คุณมี เขาออกมาเปลี่ยนแปลง คุณไม่อายเหรอที่คุณปล่อยให้คนเหล่านี้ เขากำลังต่อสู้เรียกร้องในขณะที่คุณกำลังทำอะไรอยู่ ห้องทำงานแอร์เย็นๆ ที่คุณทำงาน เก้าอี้ที่คุณนั่ง รถที่คุณใช้ มันก็มาจากภาษีของประชาชนทุกคน อยู่อย่างนั้นได้อย่างไรโดยที่ไม่ทำอะไรให้มันดีขึ้นเลย
ไม่ใช่แค่เบนจาคนเดียวที่ต้องแลก เด็กมัธยมเองที่ออกมา หรือเพื่อนๆ เรา คนในรุ่นเดียวกับเราหรือเด็กกว่าเราก็ออกมาเคลื่อนไหวด้วย
เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้ต้องไปจำกัดกรอบของตัวเองเหมือนกับที่ผ่านมา ถ้าเขารู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่เหมาะสม มันควรได้รับการแก้ไข เขาก็จะออกมาเพื่อแก้ไขมัน แล้วคุณไปหยุดเขาไม่ได้หรอก เพราะว่าเขาจะต้องเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ของประเทศใบนี้ต่อ สักวันหนึ่งผู้ใหญ่ก็ต้องหมุนเวียนผ่านไป เด็กจะมาแทนที่ ถ้าเขาอยากให้มันดี เขาก็จะออกมา คุณไปหยุดยั้งเขาไม่ได้อะ ต้องยอมรับกันตรงนี้เลย
เด็กต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่กลายเป็นว่ารัฐรังแกพวกเขา
ใช่ รัฐรังแกพวกเรา แต่พึงระลึกไว้เสมอเลยนะ ว่ามันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ อีกไม่นานหรอก เราไม่รู้หรอกนะว่าเส้นชัยของเรามันจะอยู่เมื่อไหร่ เราอาจจะอยู่จุดกึ่งกลางระหว่างจุดเริ่มต้น และชัยชนะ เราอาจจะอยู่ค่อนมาทางจุดเริ่มต้นหน่อย หรือเราอาจจะอยู่ใกล้จุดชัยชนะแล้วก็ได้
เราไม่มีทางรู้ได้ แต่เราต้องไปต่อ เพราะเมื่อไหร่ที่เราไปต่อ มันก็ยิ่งขยับเข้าใกล้เส้นชัยไปเรื่อยๆ