“ไม่ได้ชอบผู้ชายหรอกเหรอ?”
“นึกว่าเลิกชอบผู้หญิงไปแล้ว”
“ทำมาบอกว่าเป็นไบ เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นเกย์เต็มตัว”
ใครเคยได้รับคำพูดรูปแบบนี้ เมื่อเราเผยตัวว่าเราเป็นไบเซ็กชวล (Bisexual) บ้าง? การเผยตัวนั้นๆ ไม่ได้หมายถึงเพียงการคัมเอาต์ แต่นั่นอาจหมายถึงการใช้ชีวิตของเราด้วย การที่เราปรึกษาเพื่อนเกี่ยวกับใครสักคนที่เรากำลังคุยด้วยอยู่ การบอกพ่อแม่ว่าเรารักใครสักคน หรือการบอกกับคนรักเมื่อตัวเราเองพร้อม ว่าเราไม่ใช่คนรักต่างเพศหรือคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น ฯลฯ แม้แต่คนที่น่าจะเข้าใจเรามากที่สุดบนโลก บางครั้งยังตั้งคำถามเหล่านั้นกับเราเลย
การตัดสินเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เราใช้เพื่อรับรู้โลกรอบตัวของเรา อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การตัดสินของเรานั้นห่างไกลจากคำว่าข้อเท็จจริงที่ไร้อคติอยู่มากนัก ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งที่พวกเขาตัดสิน เช่นนั้นเกณฑ์ของพวกเขาจึงอาจมาจากมุมมองที่ห่างไกล และถูกบิดเบือนด้วยอคติที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะมี อคติซึ่งสังคมมอบให้เขาจากโครงสร้างที่ไม่ได้คิดไว้สำหรับทุกคน และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คำพูดที่ออกมาก็ไม่ได้เจ็บปวดน้อยไปกว่ากันเลย
คำพูดเหล่านั้นแม้ผู้พูดอาจไม่คิดอะไร แต่สำหรับผู้ฟังนอกจากมันจะเป็นการด้อยค่าหรือดูถูกแล้ว สิ่งที่มันเป็นยังหมายถึงการลบเลือนส่วนหนึ่งของตัวตนเราอีกด้วย นั่นคือหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่ชาวไบเซ็กชวลต้องพบเจอ เมื่อพวกเขาพูดคุยเกี่ยวกับตัวตนของตัวเอง
มนุษย์มักเผลอมองโลกเป็นสีขาวกับดำ หากไม่ใช่ 1 ก็ต้องเป็น 2 ซึ่งการมองโลกเช่นนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของเรา เมื่อต้องเอาตัวรอดผ่านการรับรู้โลกให้เร็วที่สุด แต่บ่อยครั้งการมองโลกแบบขาวกับดำเอง ก็มาจากสิ่งที่สังคมปลูกฝังเรามาได้ด้วย เวลาเราพูดถึงเรื่องรสนิยมทางเพศและการมองกลุ่มคน บ่อยครั้งมันมักมาจากการปลูกฝังมากกว่า เช่นนั้นแล้วคำถามที่ต้องมาคุยกันคือ สังคมปลูกฝังอะไรมาจนทำให้คนจำนวนมากลบเลือนตัวตนของไบเซ็กชวลไป?
หนึ่งในความเป็นไปได้ อาจพบได้ในงานวิจัยที่มองการลบเลือนตัวตนของไบเซ็กชวลผ่านแง่มุมหลากหลาย เช่น ค่านิยมสังคม สื่อ และกฎหมาย ชื่อ Bisexual erasure revisited: Exploring how norms of temporality produce bisexual in/visibility โดยดีแลน สแตนฟอร์ด (Dylan Stanford) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวูลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย
“การเป็นไบเซ็กชวล คือความคลุมเครือ หรือความไม่แน่นอนในระบบการมองรสนิยมทางเพศ ซึ่งมักถูกลบออกเพื่อจะวาดเส้นแบ่งที่ชัดเจนให้แก่มุมมองของการรักเพศตรงข้ามและการรักเพศเดียวกัน” สแตนฟอร์ดกล่าว
แม้ในวันที่ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นทางเพศสูงขึ้นมากแล้ว มนุษย์ก็ยังมักมองเรื่องต่างๆ เป็นขาวกับดำอยู่เสมอ เช่น ถ้าไม่ใช่สเตรทก็ต้องเป็นเกย์ อย่างไรก็ตาม สแตนฟอร์ดยังอธิบายต่อว่า มุมมองโลกดังกล่าวไม่ใช่รากของปัญหา แต่รากของปัญหาเหล่านั้นมาจากค่านิยม 2 ประการ นั่นคือการมองว่าความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียวเป็นเรื่องปกติ (Mononormativity) และมุมมองว่าการเป็นเควียร์เป็นเพียงลักษณะชั่วคราว (Queer Temporarily) แต่ว่า 2 ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกันยังไง?
การมีความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียวในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงความสัมพันธ์ที่มีคน 2 คนเท่านั้น แต่หมายถึงทุกการทึกทักที่ติดสอยห้อยตามมันมา เช่น ความเชื่อว่าการอยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้น คือหนทางเดียวสู่ความเติมเต็ม และการที่มันเป็นความสัมพันธ์ซึ่งสำคัญที่สุดที่คนคนหนึ่งจะมีได้ ค่านิยมนั้นๆ จึงถูกสนับสนุนโดยระบบที่ครอบเราเอาไว้ ซึ่งสแตนฟอร์ดเขียนว่า “ใครก็ตามที่เชื่อตามมุมมองนี้จะได้รับค่าตอบแทนเชิงสัญญะ สถานะทางสังคม กฎหมาย และเศรษฐกิจ” คนที่อยู่นอกเหนือความ ‘ธรรมดา’ นี้เลยมักถูกมองว่า ไม่เติมเต็ม ไม่โต ไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งก็ไปเกี่ยวข้องกับกรณีเรื่องเพศเมื่อผูกเข้ากับอีกหนึ่งประเด็น นั่นคือ Queer Temporarily
ผู้วิจัยยกหนังสือการเมืองเควียร์เรื่อง No Future โดยลี เอนเดลแมน (Lee Endelman) ที่มีมุมมองว่า โครงสร้างของโลก ณ ปัจจุบันนั้นเอื้อให้มนุษย์สร้างอนาคตเพียงเพื่อบุตรหลาน นั่นแปลความได้ว่า การเป็นอะไรอย่างอื่นที่ไม่อาจมีบุตรหลานได้ในโลกใบนี้ คือสิ่งชั่วคราว เช่นนั้นแล้วโลกใบนี้จึงมีมุมมองต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) โดยมากว่าจะไม่ยั่งยืน และจำเป็นต้องเปลี่ยนในที่สุด ซึ่งเอนเดลแมนเสนอว่า เควียร์ควรที่จะเปิดรับมุมมองนี้ แต่ก็ต้องไม่สยบยอมต่อมัน เพื่อสร้างสังคมที่ไม่มองเพียงอนาคตผ่านการสืบพันธุ์เท่านั้น
เมื่อนำ Mononormativity ที่เชื่อว่าการมีความสัมพันธ์แบบครัวเรือนทั่วไป คือหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุด ผสมเข้ากับ Queer Temporarily ที่เชื่อว่าทางเลือกของเควียร์คือการเปลี่ยนตัวเองให้อยู่ในความสัมพันธ์ที่มีลูกได้หรือสูญพันธุ์ไป สแตนด์ฟอร์ดจึงเรียกมันว่า Mono-Temporality ซึ่งเชื่อว่าคนในชุมชน LGBTQ+ ทุกคนจำต้องเปลี่ยนไปอยู่ในความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียวในท้ายที่สุด
มุมมองรูปแบบดังกล่าวบิดเบือนว่า คนที่เป็นเควียร์ คือคนที่รอการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอยู่ในค่านิยม Mono-Temporality และในตรรกะเช่นนี้ ผู้วิจัยเสนอว่า ไบเซ็กชวลไม่ได้ถูกมองว่าเป็นรสนิยมทางเพศที่รักเพศตัวเองและเพศอื่นๆ ได้อีกต่อไป แต่เป็นห้วงเวลาสุญญากาศระหว่างการเปลี่ยนแปลง จากการเป็นคนรักเพศเดียวกัน ไปสู่การรักเพศตรงข้าม
แล้วการที่คนจำนวนมากลบเลือนตัวตนไบเซ็กชวลไป มีผลกระทบอย่างไร? ลองมองย้อนไปหาวิธีการที่ผู้คนพูดถึงชาวไบเซ็กชวล เรานึกอะไรได้บ้าง?
“เสือไบ”
“บุฟเฟต์เซ็กซ์”
“เอดส์” ฯลฯ
หากเรามองตามมุมมอง Mono-Temporality แล้ว ไบเซ็กชวลคือคนที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง หรือระหว่างการเลือก เช่นนั้นแล้วคนที่เป็นไบเซ็กชวลตั้งแต่เกิดจนตายจะเป็นใคร? คำตอบที่เราสามารถไปถึงได้ก็คือ พวกเขาจะกลายเป็นคนที่ไม่เลือกไปโดยปริยาย
ทว่าทั้งหมดนั่นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากไบเซ็กชวลเป็นหนึ่งในตัวเลือกอยู่แล้ว แต่ที่แย่ยิ่งกว่าคือในโลกปัจจุบันของเรานั้น มักไม่เอื้ออำนวยให้เรามองมนุษย์อย่างเข้าใจและรอบด้าน เราเพียงทำความเข้าใจอย่างเร่งรีบผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของคนคนนั้น แล้วเหมารวมคนอื่นๆ
เมื่อเราพูดถึงการพูดคุยเกี่ยวกับชุมชน LGBTQ+ บ่อยครั้งคนที่ไม่ได้เป็นคนตรงเพศและคนรักเพศตรงข้าม มักถูกลดรูปเหลือเพียงรสนิยมทางเพศของพวกเขา ตัวอย่างเช่น สังคมมักสอนให้เด็กผู้ชายกลัวเกย์ โดยเหตุผลที่ต้องกลัวก็เพราะว่า การชอบผู้ชายคือลักษณะหลักที่สังคมมอบให้พวกเขา ทั้งๆ ที่ก็มีผู้หญิงที่ชอบผู้ชายอยู่มาก หรือการที่เด็กผู้ชายต้องเกลียดทอมนั้น เป็นเพราะพวกเขาอยู่ในพื้นที่การเกี้ยวพาราสีคนกลุ่มเดียวกัน และการชอบผู้หญิงคือสิ่งเดียวที่สังคมมอบภาพจำให้แก่ทอม ฯลฯ
อย่างนั้นการเป็นไบเซ็กชวลที่สังคมมอบตัวตนว่าเป็นคนไม่เลือกไว้ให้ ก็มักถูกลดรูปเหลือเพียงว่าพวกเขาเป็นคนโลภ เป็นเสือ ไม่คนลงเอย ไม่รักเดียวใจเดียว ฯลฯ ซึ่งมุมมองเหล่านั้นก็กระทบความเป็นอยู่ในชีวิตของไบเซ็กชวล โดยเฉพาะชีวิตรัก จะทำยังไงดี ถ้าเราบอกคนที่เรารักว่าเราเป็นไบ แล้วเขามองว่าเราเจ้าชู้? จะรู้สึกยังไง เมื่อเราถูกผู้หญิงถามว่ามีอะไรกับผู้ชายมาก่อน เราจะเป็นเอดส์หรือเปล่า? จะรู้สึกยังไง เมื่อตัวตนของเราถูกตัดสินจากส่วนส่วนเดียวในชีวิต? จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อค่านิยมของสังคมหมู่มากทำลายและลบตัวตนของเรา?
มากไปกว่านั้น ค่านิยมของสังคมที่เป็นอันตรายต่อทุกคนนี้ กลับเป็นเรื่องธรรมดาที่ถูกสนับสนุนโดยทุกระบบที่โลกเราตั้งอยู่ นั่นดูเหมือนว่าการทำความเข้าใจ จึงควรจะเป็นขั้นแรกในก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้
อาจจะต้องเริ่มจากการมองกลุ่มคนที่ถูกลบเลือน ว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก่อนเป็นอย่างแรก
อ้างอิงจาก